“10 วัน 1,000 นาที ชี้อนาคตประเทศไทย” รายการพิเศษช่วงเลือกตั้งของไทยพีบีเอส เปิดพื้นที่ให้พรรคการเมืองได้แสดงวิสัยทัศน์ พร้อมแลกเปลี่ยนตอบคำถามจากภาคประชาชนใน 10 ประเด็นหลัก 10 วัน 1,000 นาที โดยเมื่อวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมพูดคุยในประเด็น “ปัญหาปากท้อง” ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องลำดับต้นๆ จากประชาชน แม้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไม่ได้หยุดชะงัก แต่ปัญหาที่แก้ไม่ตก คือ เศรษฐกิจระดับครัวเรือน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ วงจรหนี้ที่ไม่เป็นธรรม การถือครองที่ดิน และนโยบายสินค้าและพืชผลทางการเกษตร ฟังนโยบายเศรษฐกิจจากผู้สมัครพรรคต่าง ๆ และมีการให้เวลาตัวแทนประชาชนได้ตั้งคำถามต่อพรรคการเมือง
ในพื้นที่ภาคอีสาน “นายสวาท อุปฮาด” ผู้ประสานงานเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์ และชาวบ้านโนนหนองลาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ได้ร่วมตั้งคำถามสำคัญต่อพรรคการเมืองว่า “พรรคการเมืองมีนโยบายการแก้ปัญหาที่ดินทำกินอย่างไร โดยเฉพาะคนไร้สิทธิ์” ทีมงานกองบรรณาธิการเครือข่ายสื่อพลเมือง ได้พูดคุยหลังกล้องถึงความสำคัญและนิยามของคำว่า “ที่ดินคือชีวิต” ในมุมมองเขามาแบ่งปัน
เรื่องที่ดินสำคัญต่อประชาชนอย่างไร?
บ้านเรามีวิถีเกษตรที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรและในการผลิต ชาวบ้านแบบนี้เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ปัญหาคือชาวบ้านส่วนหนึ่งไม่ได้มีสิทธิในที่ดินอย่างจริงจัง มีโอกาสเข้าถึงเรื่องของปัจจัยนำมาสู่การลงทุน เข้าไม่ถึงนโยบายของภาครัฐ ทำให้พี่น้องประชาชนกลุ่มนี้ไม่สามารถก้าวทันสังคม เพราะโอกาสเข้าไม่ถึง
ซึ่งกรณีพื้นที่ที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิก็ทำให้เขายิ่งมีโอกาสน้อยลง การเรียกร้องต่อสู้นี้ใช้เวลายาวนาน มีหลายนโยบายที่ผ่านมาจะมีการแก้ไขแต่ว่าเราเข้าไม่ถึง เนื่องจากว่าเป็นคนกลุ่มน้อย อำนาจการต่อรองไม่ถึงก็ถูกปล่อยปะละเลยมาต่อเนื่อง เลยทำให้เรามาถึงวันนี้ ก็ยังต้องลำบาก ดิ้นรนต่อสู้เพื่อที่จะได้อยู่นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและคิดว่าแนวนโยบายของรัฐที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา กลุ่มคนเล็กคนน้อยตรงนี้ ยังไม่ได้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง
ถึงแม้จะมีเป็นช่วง ๆ แต่ว่าบางช่วงก็มีแนวนโยบายแต่ก็ทำได้เล็ก ๆ น้อย ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ถ้วนหน้าและเป็นนโยบายสั้น ๆ หรืออาจจะเป็นนโยบายที่ยังไม่เข้าถึงแก่นแท้ของปัญหาได้ ยังมีเงื่อนไขทางระเบียบข้อกฎหมาย ที่ยังเป็นอำนาจของฝ่ายส่วนกลางส่วนโครงสร้างชั้น ก็ส่งผลให้ปัจจุบันถึงแม้เราจะอยู่ใกล้ทรัพยากร มีทรัพยากร แต่ไม่สามารถที่จะใช้ทรัพยากรที่มีให้มีมูลค่าเท่ากับคนอื่นได้ และไม่สามารถเข้าถึง คือเป็นเรื่องที่เรามีช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่มันเป็นอยู่ ที่ดินเป็นปัจจัยหลักของเกษตรกร ซึ่งถ้าเขาไม่มีที่ดิน หรือมีที่ดินแต่ไม่สามารถเข้าถึงทุนที่เป็นปัจจัยในการพัฒนาตนเอง มีทุนแล้วก็ไม่สามารถเข้าถึงโอกาส อาจจะมีเพียงทุนเล็ก ๆ นี่คือปัญหา
ปัญหานี้ คือ ปัญหาพื้นฐาน เนื่องจากว่าสังคมเกษตรกรยังอยู่ในกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดของสังคม ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านครอบครัวที่ยังอยู่ในช่องว่างของความเหลื่อมล้ำตรงนี้ เราก็พยายามที่จะเรียกร้องและผลักดันให้พรรคการเมือง ให้นโยบายทางการเมืองเปิดและมาแก้ไขปัญหาตรงนี้อย่างจริงจัง ก็ยังไม่เกิดเพียงแต่มี แต่ยังไม่เป็นจริง แล้วเราก็เข้าไม่ถึง อาจจะมีคนบางคนบางส่วนเข้าถึงก็เป็นส่วนน้อยและนโยบายตรงนั้นก็เป็นนโยบายชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ได้ยั่งยืน
อธิบายความหมาย“ที่ดินคือชีวิต”ให้เห็นภาพชัด ๆ ได้ไหม?
สังคมเราส่วนใหญ่ยังพึ่งพาตรงนี้เป็นปัจจัยในการผลิต และเป็นปัจจัยในการยังชีพที่ต้องพึ่งพาอีกในการอนาคต และถ้าใครขาดปัจจัยเรื่องของพื้นที่ทำกินเรื่องของที่ดิน มองว่าครอบครัว วิถีชีวิตไม่ยั่งยืนแน่นอน ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าถ้าเราไปประกอบอาชีพเป็นลูกจ้าง เราไม่มีทางรู้ว่าจะถูกเลิกจ้างเมื่อไร หรือว่าในอนาคตด้านหนึ่งเขาพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีไปไกลแล้ว วันข้างหน้ามีเครื่องยนต์กลไกมาทดแทน ตรงนั้นคือปัญหาของคนกลุ่มนี้ที่จะเป็นปัญหารุนแรงตามมา
ฟังตัวแทนพรรคการเมืองตอบคำถามในเรื่องของการแก้ปัญหาที่ดินแล้วเป็นอย่างไรบ้าง?
ถ้าฟังจากการนำเสนอกับประเด็นปัญหาที่เราเผชิญมา 30-40 ปี ก็คล้าย ๆ เดิม แต่ก็ยังพอเห็นมุมว่ามันจะมีช่องทาง แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอที่จะไปสู่การแก้ปัญหาของชาวบ้านกลุ่มนี้ ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่มีการดำเนินการอย่างชัดเจนจริง ๆ เปลี่ยนกระบวนการในการดำเนินการหรือแก้ไขปัญหาหรือพลิกแนวนโยบายอย่างจริงจัง
ผมว่าปัญหานี้ก็จะเป็นแบบนี้ต่อไป จริง ๆ แล้ว คือ การรับรองสิทธิ์จะต้องทำอย่างจริงจังและให้กระบวนการพี่น้องชาวบ้านมีส่วนในการหาทางออกร่วมอย่างจริงจัง ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่คิดถึงรูปแบบที่เห็นแค่ตัวปัญหาข้างบน แต่ไม่ได้เห็นรากเหง้าปัญหาจริง ๆ ของชาวบ้าน ซึ่งการรับรองสิทธิ์ ผมคิดว่าถ้าไม่ดำเนินการให้ชาวบ้านเข้าถึงสิทธิ์ มันจะเป็นแค่สิทธิ์บางส่วนเหมือนเดิม ผมคิดว่ามันก็ยังไม่เพียงพอไปสู่การรับรองสิทธิถึงปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพี่น้องชาวบ้านได้อย่างจริงจัง
เดิมรัฐบาลก็มีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) อยู่?
คทช. ในช่วงที่ผ่านมาก็มีความพยายาม แต่วันนี้ผมก็คิดว่าประกาศพื้นที่ในการดำเนินการได้ไม่กี่พื้นที่ ไม่กี่แปลง ซึ่งการที่ประกาศหรือทำได้ก็ยังไม่ไปสู่การแก้ไขปัญหาได้จริงจัง เพราะสิทธิจริง ๆ แล้วก็ยังมีการจำกัด มีการกำหนด ให้ทำได้ไม่เต็มเหมือนกับสิทธิอย่างอื่น ยังมีปัญหาตรงนี้อยู่ และวันนี้ก็ยังเชื่อว่ามีความพยายามที่จะทำแนวคิดส่วนบน ยังไม่เป็นแนวคิดที่มีส่วนร่วมในภาคประชาชนจริง ๆ
แล้วมีข้อเสนอในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินอย่างไรดี?
ผมคิดว่าเรื่องนี้มันต้องถกให้กระบวนการการมีส่วนร่วม เนื่องจากว่ามีปัญหาของคนเล็กคนน้อย มันมีทั้งเหมือนและแตกต่าง มีทั้งวิถีชีวิต มีการใช้พื้นที่ที่แตกต่างกัน จะใช้กรอบเดียวในการแก้ปัญหาไม่ได้ บริบทต่างกันมาก และวิถีชีวิตก็ต่างกัน ความเชื่อก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งผมคิดว่ามันจะต้องจำแนก จำต้องเข้าถึงสิทธิของชุมชนจริง ๆ เนื่องจากสังคมไทยมีหลากหลายสิทธิ หลากหลายชนเผ่า หลากหลายความเชื่อ