PM2.5 ในลมหายใจคนเชียงใหม่
นับเป็นเวลาสิบกว่าปีมาแล้วที่จังหวัดเชียงใหม่และภูมิภาคเหนือบนประสบปัญหาวิกฤติหมอกควันซึ่งทำให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าเป็นค่าที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ และคนในภูมิภาคนี้ประสบกับภาวะเจ็บป่วยกับโรคทางเดินหายใจและโรคอื่นๆ อย่างหนักในทุกๆ ปีเมื่อเข้าหน้าแล้ง
สำหรับมลพิษทางอากาศ PM2.5 นี้ เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกิดจากทั้งการเผาไหม้เครื่องยนต์พาหนะ การเผาวัสดุเศษพืชทางการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม ซึ่งฝุ่นจิ๋วนี้สามารถเข้าไปถึงในถุงลม ในปอด และเข้าสู่กระแสโลหิตได้ ส่งผลให้เกิดโรคทางเดินหายใจ และโรคปอดต่างๆ ถ้าได้ปริมาณมากหรือสะสมต่อเนื่องเป็นเวลานาน ก็อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอด หรือโรคหัวใจ
หลายปีที่ผ่านมา ภูมิภาคเหนือบนได้สรุปสาเหตุหมอกควันพิษเหล่านี้ว่า มีสาเหตุหลักมาจากการเผาไหม้ไฟป่าหรือการเศษวัสดุธรรมชาติทางการเกษตร รวมถึงมีหมอกควันข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้านซึ่งปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเช่นกัน จึงทำให้ฤดูกาลช่วงนี้ (กุมภาพันธ์- เมษายน) ปรากฏหมอกควันอันเกิดจากการเผาไหม้อย่างหนัก จนเป็นที่มาของนโยบายห้ามเผาโดยเด็ดขาดในเขตประเทศไทย ส่วนประเทศเพื่อนบ้านเราทำได้เพียงขอความร่วมมือลดการเผา
การออกกฎหมายห้ามเผาโดยเด็ดขาดนี้ทำให้นอกจากเกษตรกรจำนวนไม่น้อยต้องเดือดร้อน เนื่องเพราะพื้นที่การเกษตรบางแห่งมีความจำเป็นต้องเผาแล้ว ยังทำให้ยามเกิดไฟป่าแต่ละครั้ง เกิดการลุกไหม้อย่างหนัก เนื่องเพราะมีการสะสมของเชื้อเพลิงในป่า จนทำให้ทุกๆ ปี แม้จะมีมาตรการห้ามเผา แต่ภาวะฝุ่นพิษ PM2.5 ก็ยังเกิดขึ้นทุกครั้ง โดยเฉพาะในอำเภอเมืองเชียงใหม่จะประสบปัญหาหนักกว่าที่อื่น
ด้วยเหตุนี้จึงมีหลายฝ่ายหลายองค์กรที่พยายามช่วยกันแสวงหาทางออกร่วมกันเพื่อบรรเทาภาวะฝุ่นพิษคลุมเมืองเชียงใหม่ให้อยู่สถานะที่เกิดผลกระทบให้น้อยที่สุด
ป่า “เต็งรัง” กับไฟป่าภาคเหนือ ในมุมมองเจ้าหน้าที่รัฐ
ป่าไม้ภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นเป็นป่าผลัดใบและป่าผสม ซึ่งสัดส่วนของป่าผลัดไม้มีมากกว่าเกินครึ่ง และประเภทพื้นที่ป่าที่เกิดไฟป่ามากที่สุดคือ ป่า “เต็งรัง” เนื่องจากเป็นป่าโปร่ง ผลัดใบ และใบไม้แห้งลุกติดไฟง่าย
ในเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การจัดการป่าเต็งรัง การจัดการไฟป่าตามระบบนิเวศน์” นุชิต จันทาพูน หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าจอมทอง ได้กล่าวว่า ตนเองได้เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าสถานีไฟป่า เมื่อปี 2552 ต้องดูแลพื้นที่ควบคุมไฟป่าในเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าบ้านโฮ่ง จ.ลำพูน เนื้อที่รับผิดชอบทั้งหมด 379 ตารางกิโลเมตร และอุทยานแห่งชาติออบหลวง จ.เชียงใหม่ เนื้อที่ 553 ตารางกิโลเมตร มีภารกิจต้องดำเนินงานดับไฟในแต่ละปีประมาณ 6,000 ไร่
“แต่เรามีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ดับไฟเพียง 20 กว่าคน แบ่งเป็น 3 ชุด ชุดหนึ่งประมาณ 8 คน 8 คนนี้รับผิดชอบ100 ตารางกิโลเมตร”
ด้วยสัดส่วนการดูแลพื้นที่กับอัตรากำลังคนที่ยากจะดูแลได้ทั่วถึง ทางสำนักไฟป่าจึงต้องทำงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ และมีโอกาสได้เรียนรู้กับผู้ใหญ่บ้าน บุญตัน กาละวิน และเครือข่ายลุ่มน้ำจอมทอง 21 หมู่บ้าน จึงทำให้เห็นว่า การดำเนินงานจะได้ผลต้องร่วมมือกับชาวบ้าน
“ปี 2553 ผมมีโอกาสได้เรียนรู้กับผู้ใหญ่บ้านบุญตัน เห็นวิธีการของแกกับลูกบ้านในการจัดการไฟแล้วผมก็เห็นดีด้วย เพราะป่าเต็งรังนั้นเป็นป่าที่มีสภาพพร้อมรับไฟและต้องเกิดไฟ ถึงจะดี ไม่ใช่ว่าไฟป่าไม่ดีไปหมดทุกอย่าง”
นุชิต จันทาพูน กล่าวว่าพื้นที่ดำเนินงานของเขาประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ เป็นป่าเต็งรัง ซึ่งสภาพป่าไม้ของป่าเต็งรัง ส่วนใหญ่เปลือกหนา พร้อมรับไฟ และลูกไม้หรือเมล็ดหลายชนิดเปลือกมีน้ำมัน นั่นคือ ต้องถูกไฟเผา เปลือกถึงจะกระเทาะออกและแตกเมล็ดหยั่งรากลงดิน ตรงข้ามถ้าไม่มีไฟเลย น้ำมันที่หุ้มเปลือกไว้ก็จะทำให้เกิดเชื้อราและตายไปในที่สุด
“แล้วธรรมชาติของคนท้องถิ่น ป่าเต็งรังเป็นป่าที่คนเข้าไปอยู่แล้ว ไปหาอาหาร ใช้สอยตามวิถีชาวบ้าน ซึ่งก็เสี่ยงจะเกิดไฟป่าสูงอยู่แล้ว แต่การเกิดไฟป่าในป่าเต็งรังไม่ใช่ว่าจะไม่ดีเสียทีเดียว มันก็มีด้านดีนะครับ เป็นการช่วยกระตุ้นการแตกเมล็ด การทำลายโรคแมลงต่างๆ และป่าเต็งรังถ้าจะรอให้ใบไม้ย่อยสลายใช้เวลาหลายปี แต่ถ้าเราไม่เผา หรือไฟไม่ไหม้ เวลาเพียง 3-4 ปี ใบไม้จะหนา 10 เซนติเมตร ถ้าไฟเข้าถึงทีหนึ่ง ป่าไม้จะเสียหาย ลูกไม้ส่วนใหญ่จะตายหมด แต่ถ้าไฟไม่แรงเกินไป ปล่อยไฟลุกอย่างมีการควบคุมอย่างวิธีการ “ชิงเผา” ลูกไม้ที่โตระดับหนึ่งจะรอด จึงมีความจำเป็นชิงเผาในพื้นที่”
แม่เตี๊ยะใต้ กับการ “ชิงเผา” เพื่อคนในเมือง
เมื่อมีคำถามว่า ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 กำลังทำร้ายสุขภาพคนในเมือง อันมีสาเหตุเพราะการเผาไหม้ ที่อื่นหรือที่ไหนๆ ใครๆ เขาก็ดับไฟกัน แต่ทำไมชาวบ้านแม่เตี๊ยะใต้กลับทำตรงกันข้าม ?
พ่อหลวงตัน หรือ บุญตัน กาละวิน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 ตำบลสบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ก็ตอบว่า
“ก็เพราะรักคนในเมืองนั่นแหละ เราถึงเผา”
นับตั้งแต่เกิดวิกฤติหมอกควันในเมืองเชียงใหม่และมีมาตรการห้ามเผาเกิดขึ้นในภูมิภาคเหนือบน ชาวบ้านแม่เตี๊ยะใต้ก็ปฏิบัติตามคำสั่งด้วยดี แต่พวกเขาก็พบว่าไฟป่าก็ไม่ได้ลดลงเลย ยังคงเกิดขึ้นทุกปี บางปีไฟก็ลุกลามอย่างหนัก เวลาที่ทางหน่วยงานป่าไม้ขอความร่วมมือชาวบ้านมาเป็นอาสาสมัครดับไฟป่า การดับไฟแต่ละครั้งก็ไม่ได้ง่าย บางครั้งก็ได้ยินข่าวการเสียชีวิตของอาสาสมัครอันเกิดจากการปฏิบัติงานดับไฟ พ่อหลวงจึงเห็นว่า มาตรการห้ามเผาเสียทีเดียว น่าจะใช้ไม่ได้ เพราะมันคือการสะสมเชื้อเพลิง ถ้าเรากำจัดเชื้อเพลิงก่อนบางส่วนในช่วงเวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะดูจากการปฏิบัติของคนรุ่นก่อน ยามพวกเขาเข้าป่า จะมีการเผาไฟไปก่อนบ้างเล็กๆ น้อยๆ และทำแนวกันไฟ พอถึงช่วงฤดูไฟป่าจริงๆ ก็มักจะเสียหายไม่มาก
“ชาวบ้านเราซึ่งเป็นอาสาสมัครขึ้นไปดับ จะเจอปัญหาเยอะมาก ทั้งเรื่องความชัน ทิศทางลม บางทีก็เอาไม่อยู่ และเราก็จะเห็น จุดที่เกิดไฟไหม้บ่อย เกิดซ้ำๆ ทุกปี ก็เลยคิดว่าเราไปเผาก่อนและควบคุมไฟให้มันถูกเผาในปริมาณที่พอดีๆ ไม่ได้เผาไปหมด ทำแนวกันไฟไปด้วย อย่างน้อยที่สุดตอนที่มันเกิดไฟป่าในช่วงที่เราไม่สามารถควบคุมได้ มันจะได้ไม่ไหม้หนัก ไฟป่าจะเกิดขึ้นน้อยถ้าเชื้อเพลิงมีน้อย และชาวบ้านเราก็ไม่ต้องเสี่ยงอันตรายมาก”
พ่อหลวงบุญตันเริ่มต้นชวนชาวบ้านปฏิบัติการสวนกระแสคือการชิงเผา โดยใช้คนที่กำลังวังชาดีประมาณ 60-70 คน มาทำงานร่วมกัน มีการกำหนดวัน กำหนดพื้นที่ (พื้นที่ดูแลของบ้านสบเตี๊ยะใต้ประมาณ 1,800 ไร่) ออกแบบการเผา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาชิกหมู่บ้านเป็นอย่างดี
การชิงเผาของพ่อหลวงตันและชาวบ้านสบเตี๊ยะใต้ ปรากฏว่าได้ผลลัพธ์ที่น่าทึ่งจนทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ นักพัฒนาและนักวิชาการให้การยอมรับ ว่าเป็นหนทางที่ดีหนทางหนึ่ง เพราะเมื่อฤดูไฟป่ามาถึง พื้นที่นี้เกิดไฟป่าน้อยมาก
“ถ้าเราป้องกันจริงจังมากขึ้น ไม่ให้เกิดไฟป่าเลยจะดีกว่าไหม?”
เมื่อเราถามคำนี้ไป พ่อหลวงตันก็ตอบว่า “ถ้าไม่มีไฟป่าในป่าเต็งรังจะดีกว่าไหมในทางวิชาการป่าไม้ผมไม่รู้ แต่ผมรู้ว่า โอกาสที่เราจะป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าขึ้นได้นั้นมีน้อยมาก เพราะตลอดชีวิตที่ผมเกิดมาก็เห็นไฟป่าเกิดขึ้นทุกปี ออกมาตรการอะไรมาก็แล้ว จับ ปรับ ขังคุก ก็แล้ว ก็ยังเห็นทุกปี”
ดังนั้น เมื่อห้ามไฟป่าไม่ให้เกิดขึ้นไม่ได้ ทางที่ดีที่สุดก็คือ ผ่อนหนักให้เป็นเบา และหลังจากหลายหน่วยงานของภาครัฐยอมรับวิธีการชิงเผาของพวกเขา ทางกรมป่าไม้ให้ความร่วมมือในยุทธวิธีชิงเผา การเกิดจุดฮอตสปอตในพื้นที่บริเวณนี้ก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่า นุชิต จันทาพูน ได้ยืนยันแล้วว่า การชิงเผามีความจำเป็นสำหรับป่าเต็งรัง เช่นเดียวกับอาจารย์หนุ่ม ดร. วัชรพงษ์ ธัชยพงษ์ ก็มองว่า
“ไฟมีประโยชน์และจำเป็นสำหรับป่าเต็งรังครับ”
นักวิชาการหนุนเสริมการจัดการเชื้อเพลิง
10 ปีเต็มแล้ว ที่ ดร.วัชรพงษ์ ธัชยพงษ์ นักวิชาการจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความสนใจในเรื่องการจัดการไฟป่าโดยชาวบ้าน ในพื้นที่บ้านสบเตี๊ยะใต้ ซึ่งสิ่งที่ชาวบ้านทำ อาจารย์บอกว่า มีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับหมดเลย ไม่ว่าเรื่องของกระแสลม ความกดอากาศที่พอดี ไม่ทำให้หมอกควันวนอยู่ในแอ่งกระทะ หรือชนิดของป่าไม้อย่างป่าเต็งรังที่ออกแบบตัวเองมาเพื่อรับมือกับไฟป่า
ดร.วัชรพงษ์ ธัชยพงษ์ มีความเชื่อในศักยภาพและภูมิความรู้ดั้งเดิมของชาวบ้าน อีกทั้งเชื่อมั่นว่า ผู้ที่จะจัดการสิ่งแวดล้อมได้ดีก็คือผู้ที่ใช้ชีวิตใกล้ชิดสิ่งแวดล้อมนั้นๆ แต่สำหรับการจะสื่อสารกับสังคม ซึ่งมีคนหลายกลุ่ม คำอธิบายในเชิงหลักการเพื่ออธิบายกับสังคมและการสนับสนุน ต่อยอดความรู้ให้ชาวบ้าน เป็นสิ่งที่นักวิชาการจะต้องเข้ามามีบทบาทส่งเสริมตรงนี้
“ผมเริ่มเข้ามาในหมู่บ้านสบเตี๊ยะใต้ประมาณปี 2552 มาพร้อมกับคุณเดโช ไชยทัพ (นักพัฒนาเอกชนภาคเหนือ) พ่อหลวงตัน ตอนนั้นมาใหม่ๆ ยังมีป้าย “ไฟมาป่าหมด” ติดเต็มไปหมด เพราะแต่ก่อนเรามีความเชื่อว่า ไฟป่าคือตัวทำลายป่า จึงต้องป้องกันไฟ ไม่ให้ไฟเกิดขึ้นเลย แต่ปรากฏว่าตอนที่ผมไปเรียนปริญญาเอกที่แคลิฟฟอร์เนีย ผมได้เจอกับความรู้อีกชุดหนึ่ง เขาบอกว่า ถ้าไฟไม่มา ป่าหมด เพราะระบบนิเวศน์มีการพึ่งพาไฟ พอกลับมาบ้านเรา ก็ได้เจออาจารย์ ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ อาจารย์บอกว่า ป่าบ้านเราต้องมีการพึ่งพาไฟ และมาเจอพ่อหลวงบุญตัน ก็บอกเหมือนกันว่าถ้าไม่มีไฟตายเลย เราก็มาศึกษากันว่าจริงไหม เราทำการศึกษาเสร็จประมาณปี 2554” (ผลงานการวิจัยของอาจารย์วัชรพงษ์ ธัชยพงษ์ อาทิ เรื่อง “การศึกษาปัจจัยการชิงเผาที่มีผลต่ออัตราการลุกลามของไฟในการชิงเผาป่าเต็งรัง”, เรื่อง “การศึกษาอิทธิพลของลมที่มีต่อการเผาไหม้ของไฟผิวดินและการถ่ายเทความร้อนลงสู่ผิวดิน”)
แคลิฟฟอร์เนียเกิดเหตุไฟป่าที่รุนแรงที่สุดในปีที่ผ่านมา เพราะสาเหตุการสะสมของเชื้อเพลิงที่ต่อเนื่องกันมายาวนานหลายปีเพราะไม่เคยมีไฟป่าเลย ทำให้นักวิชาการของเขายิ่งยอมรับมากขึ้นว่า ป่าต้องการไฟ
“ไม่ใช่แค่แคลิฟฟอร์เนียตอนบนที่เจอปัญหานี้ ทางยุโรปเองก็กำลังมีสภาพป่าคล้ายๆ กัน คือมีต้นไม้ตายในป่าเยอะมากและมีการสะสมเชื้อเพลิงบนผิวดิน ทำให้เขาเริ่มยอมรับเรื่องป่าต้องการไฟ นั่นจึงแสดงว่า องค์ความรู้ของโลกเปลี่ยนไปแล้ว”
การทำงานศึกษาวิจัยของอาจารย์วัชรพงษ์ และคณาจารย์ท่านอื่นๆ มีส่วนผลักดันที่ทำให้องค์ความรู้ในการชิงเผาของชาวบ้านแม่เตี๊ยะใต้ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ และกรมป่าไม้ได้นำเอานโยบายชิงเผามาเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิบัติในการลดหมอกควันไฟป่าในแต่ละปี (หมายเหตุ : ในพื้นที่ที่สามารถปฏิบัติได้ร่วมกับชาวบ้าน
2 นวัตกรรมช่วยจัดการไฟและเตือนภัยจากฝุ่นควัน
ดร.มานะ แซ่ด่าน อาจารย์วิศวกรรมเครื่องกลจากรั้วสถาบันเดียวกันกับอาจารย์วัชรพงษ์ ธัชยพงษ์ ซึ่งมีโอกาสรับรู้เรื่องของชาวบ้านในการจัดการเชื้อเพลิง “ชิงเผา” จึงเกิดแรงบันดาลใจ สร้างนวัตกรรมใหม่ คือ โดรนชิงเผามาร่วมทดลองเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนแนวคิดเรื่องการจัดการเชื้อเพลิงในรูปแบบของแม่เตี๊ยะโมเดล
โดรนชิงเผาของอาจารย์มานะ นับเป็นโดรนช่วยชิงเผาตัวที่ 3 ของโลก ที่กำลังอยู่ในระหว่างการทดลองประสิทธิภาพ โดยมีระบบการปฏิบัติงาน 2 ระบบ คือ ปล่อยโดรนขึ้นไปยังจุดที่ต้องการจุดไฟ และกดรีโมทปล่อยลูกบอลเชื้อเพลิง ซึ่งทันทีที่ตกลงพื้นก็จะเกิดการสันดาปและลุกไหม้
“โดรนชิงเผายังอยู่ในช่วงเริ่มต้น มีกลไกการทำงานสองส่วน ส่วนแรก คือ โดรน และอีกส่วนคือระบบคำสั่งปล่อยลูกบอล ตอนนี้ยังควบคุมการปฏิบัติทั้งสองอย่างได้ไม่ดีนัก แต่ถ้าทำได้สำเร็จ ก็จะช่วยพ่อหลวงตันได้อีกเยอะ”
นอกจาก โดรนชิงเผาแล้ว ยังมีเครื่องวัดขนาดฝุ่นละออง PM 2.5 จาก ดร.อาทิตย์ ยาวุฑฒิ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ที่นำมาแสดงให้ดูเพื่อตรวจสอบค่าฝุ่นละอองว่าอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายหรือยัง ถ้าใกล้อันตรายแล้ว จะได้แจ้งเตือนและหาวิธีปฏิบัติการดูแลตัวเองและดูแลอากาศร่วมกันก่อนจะวิกฤติมากขึ้น
“เครื่องวัดตัวนี้คอนเส็ปต์ของมันคือเพื่อแจ้งเตือนภัยอย่างรวดเร็ว เพราะว่า ตอนมีวิกฤติหมอกควัน ค่า พีเอ็ม 2.5 มันไม่เกินมาตรฐาน แต่เรามองไม่เห็นดอยสุเทพแล้ว เราเลยแปลกใจว่าเอ๊ะ เครื่องมันเสียหรือเปล่า แต่ค่าฝุ่นจะเยอะในช่วงตอนเช้า กลางวันลดลง และมากในตอนเย็น กลุ่มนักวิชาการเราก็เลยคิดว่าเราน่าจะมีเซนเซอร์ที่สามารถตรวจจับได้รวดเร็ว และเตือนภัยประชาชน ถ้าฝุ่นมักมาก”
โดยเครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองของอาจารย์อาทิตย์เครื่องนี้ จะสามารถวัด PM2.5 PM10 ความชื้น อุณหภูมิ และส่งผลข้อมูลเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ ประมวลค่าเฉลี่ยออกมา
“ฝุ่นละอองเป็นพิษเกิดขึ้นจากหลายสายทางไม่ว่า รถยนต์ การเผา ตึก โรงแรม และโดยเฉพาะรถยนต์ เทคโนโลยีคอมมอนเรล ทำให้เกิดอนุภาคที่เล็กขึ้น ซึ่งองค์การอนามัยโลกก็ได้ประกาศแล้วว่า ควันรถจากดีเซลทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง โดยประกาศมาเมื่อปี 2012 และมีรายงานผลจากทางการแพทย์ยืนยันว่า มันอันตรายจริงๆ”
อาจารย์อาทิตย์ให้ข้อมูลกับผู้ฟังเพื่อจะได้รับทราบว่ากระบวนการจัดการฝุ่นควันเป็นพิษมิได้มีสาเหตุมาจากเผาเชื้อเพลิงจากธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ อีก
และทั้งหมดนี้คือความพยายามหาทางออกที่จะช่วยลดกลุ่มหมอกควัน ค่าละอองฝุ่นเกินค่ามาตรฐานที่เป็นอันตรายกับชีวิตคนของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ต่างพยายามเต็มที่ตามความรู้ความสามารถเฉพาะทางที่แต่ละคนมี โดยเฉพาะความพยายามลดควันไฟจากสาเหตุการเผาในช่วงวิกฤต ซึ่งในหลายปีให้หลังมานี้ได้ลดลงอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากข้อมูลฝ่ายสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภาคเหนือ ในปี 2558 พบว่า พื้นที่การเผาสะสมจาก 3,123,901 ไร่ (22.6% ของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่) ลดเหลือเพียง 813,035 ไร่ (5.9% ของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่) จึงเป็นสัญญาณที่ดีอันเกิดจากความร่วมไม้ร่วมมือกันของชุมชนและหน่วยงานทุกฝ่าย
ซึ่งเราแน่ใจว่า ยังมีอีกหลายวิธีเพื่อจะช่วยลดฝุ่นควันในช่วงวิกฤติ 61 วันนี้
มาช่วยกันคนละมือละไม้ เพื่อที่เราจะก้าวข้ามวังวนฝุ่นควันไปด้วยกัน
(เนื้อหาจาก: เวทีเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “การจัดการป่าเต็งรัง การจัดการไฟป่าตามระบบนิเวศน์” และ “การทดลองการจัดการเชื้อเพลิงด้วยเทคโนโลยีโดรน” จัดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 ที่บ้านแม่เตี๊ยะ ต.สบเตี๊ยะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่)