ภาพ / ข่าว : ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็
7 พ.ย.61 เวลา 10.00 น. ที่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู กลุ่มชาวบ้านจากพื้นที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ในนาม “กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได” เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ของบริษัทเอกชน ซึ่งกลุ่มชาวบ้านหวั่นเกรงว่าการทำเหมืองจะรุกล้ำพื้นที่ป่าอนุรักษ์ของชุมชน และให้ตรวจสอบว่าพื้นที่ขอประทานบัตรเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ตาม พ.ร.บ.แร่ 2560 หรือไม่
การประกอบกิจการเหมืองแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ดังกล่าว มีเนื้อที่ 175 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา ตามคำขอต่ออายุประทานบัตรที่ 1/2553 (ประทานบัตรที่ 27221/15393) อยู่บนพื้นที่ภูผาฮวก ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง โดยเมื่อวันที่ 14 มี.ค.61 ที่ผ่านมา ศาลปกครองอุดรธานี ได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการ เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติฯ และเพิกถอนคำสั่งต่ออายุประทานบัตร ที่ออกให้ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ในท้องที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู แต่ทว่าคู่ความได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ผู้ประกอบการก็ได้ดำเนินกิจการโดยการระเบิดภูเขาและขนถ่ายลำเลียงหิน เข้า-ออก ระหว่างพื้นที่เหมืองเรื่อยมา
นายอุเทน อินทร์เจริญ เป็นตัวแทนชาวบ้านยื่นหนังสือและกล่าวว่า กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้ก่อตั้งขึ้นมาเป็นระยะเวลากว่า 25 ปีแล้ว เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ซึ่งหากมีการปล่อยให้ผู้ประกอบการ ยังคงทำเหมืองแร่หินอยู่ในพื้นที่จะเกิดความเสียหายที่ไม่อาจเยียวยาหรือทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิม จึงอยากให้ทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบพื้นที่การทำเหมืองแร่ของบริษัทเอกชนบนภูผาฮวก เนื่องจากชาวบ้านมีความห่วงกังวลว่าจะมีการทำเหมืองรุกล้ำเกินกว่าขอบเขตคำขอประทานบัตร และอยากให้ตรวจสอบว่าเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำหรือป่าน้ำซับซึม ตามกฎหมายแร่ พ.ศ.2560 ได้กำหนด ไม่ใช่พื้นที่เพื่อการทำเหมืองหรือไม่
“การดำเนินกิจการเหมืองแร่หินดังกล่าวอาจมีผลเป็นการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของป่าและแหล่งซับน้ำ ซึ่งใช้ประโยชน์ด้านเกษตรกรรมของพื้นที่ รวมทั้งประชาชนไม่อาจเข้าใช้ประโยชน์จากป่า ทั้งแง่ของการดำรงชีพ การประกอบอาชีพ นอกจากนี้การระเบิดและรถบรรทุกขนแร่จากเหมืองโดยใช้เส้นทางที่ผ่านชุมชน ก็อาจส่งผลกระทบด้านเสียงและฝุ่นละออง ซึ่งเป็นปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อีกด้วย” นายอุเทนกล่าว
ด้านนายเกรียงวิชญ์ เตชวิทยไวทิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดมารับข้อร้องเรียนของกลุ่มชาวบ้าน ได้กล่าวว่า ตนก็เพิ่งมาปฏิบัติราชการที่จังหวัดหนองบัวลำภูได้ประมาณ 1 เดือน ยังไม่ทราบรายละเอียดของปัญหาในพื้นที่ที่กำลังดำเนินการทำเหมืองแร่หินปูน แต่ทั้งนี้ ตนก็จะนำข้อร้องเรียนของกลุ่มชาวบ้านนำเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาต่อไป อย่างไรก็ดี เนื่องจากว่าปัจจุบันตามขั้นตอนของคดีปกครองอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ของคู่ความ คงต้องรอคำตัดสินของศาลเป็นที่สุด
“ทราบว่าตอนนี้ทางกลุ่มชาวบ้านได้ยื่นคำร้องขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครอง โดยให้เหมืองแร่หินปูนยุติประกอบกิจการเอาไว้ก่อน จนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลเป็นที่สุด ดังนั้นก็อยากให้พี่น้องอดใจรออีกสักนิด ก็จะทราบผลการพิจารณาของศาล ซึ่งในส่วนของจังหวัดไม่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการใดๆในช่วงนี้” นายเกรียงวิชญ์ กล่าว