นักกฏหมายด้านสิทธิมนุษยชนระดมสมองตอบคำถาม “เอาอะไรมารื้อป่าแหว่ง ?” ระบุ กฏหมายปกติมีช่องทางมากมาย ถ้าจริงใจจะทำ แต่ตอที่ใหญ่กว่ากฏหมายคือ ทิฐิ ศักดิ์ศรีและพฤติกรรมระบบราชการ
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2561 ศูนย์ศึกษาสันติวิธีและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จัดวงเสวนาวิชาการเรื่อง ความคิดเห็นของนักกฏหมายด้านสิทธิมนุษยชนกรณีบ้านป่าแหว่ง” เพื่อร่วมกันหาแง่มุมด้านกฏหมาย ต่อกรณีบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่เชิงดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ โดยมีนักกฏหมาย นักวิชาการหลายสาขามาร่วมแลกเปลี่ยน พบแง่มุมกฏหมายและข้อสังเกตุจำนวนมากต่อกรณีนี้
กลัดกระดุมเม็ดแรกผิดและลาม
นายบัณรส บัวคลี่ โฆษกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพบรรยายสรุปถึงสถานการณ์ล่าสุดของโครงการว่า ตั้งแต่มีความเคลื่อนไหวใหญ่เมื่อมีนาคม 2561 จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจน ข้อตกลงที่ได้คุยกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ ที่จะกันเขตไม่ให้มีคนอยู่ และมีพิจารณาเรื่องคืนพื้นที่ก็ยังไม่เป็นจริง อย่างไรก็ตามช่วงเวลาที่ผ่านมา เครือข่ายฯ ได้รับข้อมูล และได้รวบรวมแง่มุมต่างๆ ที่ทำให้ตั้งข้อสังเกตุว่า หมู่บ้านป่าแหว่งเกิดจากการกลัดกระดุมผิดเม็ด บนฐานความเชื่อว่าถูกกฏหมาย ซึ่งเมื่อกลัดผิดแล้วก็กลัดผิดไปเรื่อยๆ คือ
เม็ดที่ 1 นิยามป่าราชการ VS ป่าประชาชน
เม็ดที่ 2.ที่มาของโครงการบนป่าเชิงดอย
เม็ดที่ 3. สนง.ศาลยืนยันขอใช้ที่ดินจากทหารปี 2542 ขณะที่หน่วยอื่นถอย
เม็ดที่ 4.ปี 2546-2549 การอนุมัติที่ดินราชพัสดุโดยผู้มีอำนาจยุคนั้น
เม็ดที่ 5 การรังวัดที่ดินเพิ่มเป็น 147 ไร่ (เพิ่มจากที่ขอ)
เม็ดที่ 6.การออกแบบก่อสร้างและปริศนาบริษัทออกแบบ
เม็ดที่ 7.ไม่เปิดเผย ไม่ประชาสัมพันธ์ ไม่แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
เม็ดที่ 8 ขั้นตอนการก่อสร้าง ระเบียบกฏหมายที่เกี่ยวข้อง
และเม็ดที่ 9 ยุคพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ?? ซึ่งคือ ณ เวลานี้จะตัดสินใจอย่างไร
โดยอธิบายรายละเอียดว่า
โครงการนี้มีการร้องเรียนต่อหน่วยงานเกี่ยวข้องและสาธารณะผ่านเว็บพันธ์ทิพย์ตั้งแต่ปี 2558 ต่อมาปี 2559 มีผู้โพสต์ภาพถ่ายมุมสูงจากเครื่องบินทำให้เห็นโครงการที่อยู่บนเขาดอยสุเทพชัดเจน เป็นเหตุให้สำนักงานศาลฯได้แถลงข่าวชี้แจง ประเด็นคือ ได้นิยามพื้นที่นี้ทางกฏหมายว่าเป็นที่ราชพัสดุ แต่นิยามของประชาชนทั่วไปเห็นว่าเป็นป่า ข้อสังเกตุคือ “ป่าของรัฐกับป่าของประชาชนมักจะนิยามไม่ตรงกันเสมอ” ซึ่งนิยามที่แตกต่างกันนี้ปรากฏให้เห็นหลายครั้งเช่นมีการทวงคืนผืนป่าจากประชาชน ขณะที่ประชาชนบอกว่าเป็นที่ทำกินมาก่อนแต่ปู่ย่าตายายเพียงไม่มีเอกสารราชการ เป็นต้น
ต่อมาคือที่มาของโครงการและลักษณะการออกแบบก่อสร้าง โดยหากมองตามแผนที่ซึ่งกรมอุทยานกล่าวอ้างระบุว่า ไม่อยู่ในเขตอุทยานฯ เพราะกันเป็นเขตที่ราชพัสดุซึ่งทหารดูแล ซึ่งวัตถุประสงค์เดิมใช้เป็นที่เลี้ยงม้า เพราะบริเวณนั้นมีกองพันสัตว์ต่าง แต่ข้อสังเกตุคือเมื่อปี 2540 มีโครงการใหญ่จะย้ายสำนักงานป่าไม้เขตและหน่วยราชการจำนวนมากไปอยู่ในพื้นที่ 1,200 ไร่ บริเวณที่ทหารและเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ รวมทั้งหน่วยงานของศาลด้วยจำนวน 106 ไร่ แต่โครงการยังไม่ทันเกิด รัฐบาลยุคนั้นไปเสียก่อน อย่างไรก็ตามเรื่องได้คาไว้ และปี 2542 มีหนังสือสอบถามความต้องการใช้พื้นที่ ซึ่งสนง.ศาลยืนยันว่าต้องการ 106 ไร่เดิมอยู่ ขณะที่หน่วยงานอื่นๆ ไม่ต้องการใช้พื้นที่แล้ว ปี 2546 -2547 มีการยืนยันขอใช้พื้นที่ และทหารตกลง ขั้นตอนมาถึงการยื่นขอต่อธนารักษ์ ซึ่งพื้นที่ที่ได้รับ 106 ไร่ ไม่มีทางเข้า เพราะทางเข้าเดิมเป็นการออกแบบรวมเป็นผังใหญ่ เลยมีการรังวัดใหม่ และขอเพิ่มเติมที่ดินให้เป็นทางขึ้น จนกลายเป็น 147 ไร่ในปัจจุบัน
ในขั้นตอนการก่อสร้างมีข้อสังเกตุในรายละเอียดมากมาย เช่น กรณีเป็นราชพัสดุ หากมีการขอใช้ที่ดินต้องดำเนินการในระยะ 2 ปี แต่กรณีนี้ที่ดินที่ได้มาในปี 2549 แต่ไปตั้งงบประมาณก่อสร้างในปี 2556 หรือการออกแบบบ้านพักข้าราชการแต่ละซี มีกำหนดว่าพื้นที่ใช้สอยไม่เกินกี่ตารางเมตร แต่อาจารย์ด้านวิศวะดูแผนผังบ้านพัก 45 หลังในโครงการนี้พบว่าใช้พื้นที่กว่า 40 ไร่ ซึ่งข้อสังเกตุของการใช้พื้นที่นี้เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่เหมือนกับที่ดินที่หน่วยงานอื่นได้รับซึ่งต้องใช้ประโยชน์ที่ดินให้สูงสุด
ในส่วนของการออกแบบ หลักการออกแบบก่อสร้างจะต้องพิจารณาจากสภาพพื้นที่ และความลาดชัน เช่นที่เราไปพักบ้านพักในอุทยานเราจะสังเกตุเห็นการปลูกสร้างอาคารกระจายกันไปตามสภาพพื้นที่ว่าโซนใดจะสร้างได้กี่หลัง แต่การออกแบบของหมู่บ้านป่าแหว่งนี้วางจากแผนผังหรือไม่ จึงสร้างบ้านเป็นแถวเหมือนบ้านตุ๊กตา หรือบ้านจัดสรร เมื่อพื้นที่บางส่วนไม่เหมาะสน ก็ถากหรือถมดินเพิ่ม จนเมื่อฤดูฝนที่ผ่านมาเกิดเปลี่ยนสภาพดินเมื่อเจอน้ำจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังพบข้อสงสัยกรณีผู้อำนวยการสำนักบริหารงานออกแบบและก่อสร้างสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับบริษัทซึ่งได้รับคัดเลือกเป็นผู้ออกแบบโครงการ รวมถึงการแบ่งแยกสัญญาและไม่แจ้งในระบบจัดซื้อจัดจ้างของรัฐให้ครบถ้วน ซึ่งประเด็นนี้อยู่ระหว่างการร้องเรียน ปปช.และ สตง.ตรวจสอบอยู่
ในประเด็นของการไม่แจ้งตัวแทนประชาชน ตามข้อกฏหมาย พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร หน่วยราชการจะก่อสร้างใด ให้นำแบบแปลนไปให้หน่วยงานท้องถิ่นดู ซึ่งล่าสุดอบต.ดอนแก้วได้ทำหนังสือขอแบบแปลนไป ในตอนแรกได้รับตอบว่าจะให้ แต่จนบัดนี้ยังไม่ได้
“ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งจากการติดตามข้อมูลหมู่บ้านป่าแหว่ง ซึ่งพบข้อสงสัยจากการกลัดกระดุมผิดอย่างต่อเนื่อง เมื่อมาถึงยุคปัจจุบันและมีคำถามที่ว่าจะเอากฏหมายอะไรมารื้อนั้น เครือข่ายฯ จึงต้องขอมุมมองจากนักกฏหมายผู้เชี่ยวชาญ แต่ก่อนหน้านี้เครือข่ายพบข้อมูลตัวอย่างว่า ในปี 2535 เคยมีมติครม.ให้ความเห็นชอบแผนของกรมอุทยานฯ กรณีมีสนามกอล์ฟอยู่ในพื้นที่ ซึ่งมีคำว่า “รื้อย้าย” อยู่”
ด้านนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังการเจรจากับรมว.สุวพันธ์ นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด ชุดระดับท้องถิ่นมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เป็นประธาน มีมติไปแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคมว่า ให้รื้อย้ายบ้านพัก 45 หลัง ส่วนอาคารชุด 9 หลังให้รื้อย้ายอย่างมีเงื่อนไขโดยขอให้นำคนที่เข้าไปอยู่แล้วลงมาอยู่ด้านล่าง นอกเขตป่าก่อน ซึ่งเป็นมติที่ตรงกับความต้องการประชาชน จากนั้นได้ส่งเรื่องมายังคณะกรรมการระดับชาติ แต่ขณะนี้ยังไม่ประชุมแต่อย่างใด
อดีตคปก.ชี้กฏหมายปกติมากมาย ถ้าจริงใจจะทำ
นายสมชาย หอมละออ อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย ประธานคณะกรรมการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนากล่าวว่า คำถามที่ว่า “เอาอำนาจอะไรมารื้อ” เป็นคำถามที่ทำให้หลายคนที่มีส่วนที่ต้องรื้อไม่กล้าจะทำ อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าหนทางกฏหมายปกติมีทางที่จะทำได้ โดยในมุมนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ยึดติดเพียงตัวบทกฏหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่คำนึงถึงกฏธรรมชาติ และความเป็นธรรมด้วย ดังนั้นข้อแก้ตัวของหน่วยราชการที่อ้างว่าดำเนินการถูกตามตัวบทกฏหมายแล้วไม่มีกฏหมายใดให้อำนาจไปรื้อได้ ไม่สามารถรับฟังได้ ในมุมมองของสิทธิมนุษยชน
นายสมชายกล่าวว่าในมุมมองด้านสิทธิมนุษยชนมองว่าสิทธิชุมชนเป็นสิทธิตามธรรมชาติ รัฐธรรมนูญยอมรับสิทธินี้ และสิทธิชุมชนแสดงออกโดยความเชื่อ บรรทัดฐาน จารีตประเพณีที่ชุมชนยึดถือ นอกจากนั้นยังมีสิทธิการมีส่วนร่วม ตรวจสอบรัฐ โครงการและนโยบายของรัฐ โดยเฉพาะโครงการที่มีผลกระทบต่อบุคคลและชุมชน ประชาชนทั้งประเทศ เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการดำเนินโครงการที่ไม่ชอบธรรม และอ้างกฏหมายมารับรองการกระทำนั้น ถ้าสังคมหรือประเทศนี้ยอมให้การกระทำอย่างนี้เกิดขึ้นได้ที่เชียงใหม่ ย่อมเกิดขึ้นได้ในที่อื่นเช่นกัน นอกจากนั้นยังขัดต่อหลักนิติธรรม นิติรัฐเพราะรัฐต้องเป็นแบบอย่างเมื่อถูกวิจารณ์ยังไม่ชี้แจงแก้ไข จะไปปกครองฝ่ายธุรกิจที่มีโครงการต่างๆมากมายได้อย่างไร จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน บุคคล และชุมชนได้อย่างไร
ซึ่งเมื่อเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม จะดำเนินการอย่างไร นายสมชายกล่าวว่าถ้ารัฐบาลนี้มีเจตจำนงจะแก้ไขให้ถูกต้อง ย่อมทำได้เพราะหนทางกฏหมายปกติ ก็มีทางที่จะทำได้หลายกรณี เช่น ตรวจสอบว่ามีการทุจริตหรือไม่ ถ้าสืบค้นพบว่าทุจริตย่อมยกเลิกได้ กรณีนี้ เมื่อคณะกรรมการที่รัฐเป็นผู้ตั้งขึ้นมายังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ตามสิทธิ ย่อมเป็นที่น่าสงสัย ควรต้องตรวจสอบให้ชัดเจน หรือตรวจสอบว่ามีความไม่ชอบด้วยกฏหมายหรือไม่ ถ้าหากไม่ชอบด้วยกฏหมาย ย่อมยกเลิกเพิกถอนได้ หรือจะใช้แนวทางโอนที่ดินให้ประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติก่อน โดยมองที่เจตนารมณ์ เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวให้คนรุ่นหลัง
“มีความเป็นไปได้สูง ถ้ารัฐมีเจตจำนงชัดเจน เพื่อยืนยันหลักการคุ้มครองสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ส่วนหนทางสุดท้ายที่ตนไม่อยากแนะนำ คือการฟ้องร้อง เพราะสุดท้ายความเป็นธรรมอยู่ที่ปลายปากกา อาจไม่ใช่ความเป็นธรรมที่แท้จริง อยากให้รัฐใช้อำนาจหน้าที่ตนเองมี ส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเสียก่อนมากกว่า”
ที่มาของพื้นที่ป่าไม่ชัดเจน
นายสรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่าหลักการปกครองบ้านเมืองด้วยกฏหมาย มีประเด็นสำคัญคือ ทุกคนต้องเสมอภาคภายใต้กฏหมายเดียวกัน แต่เหตุการณ์นี้ดูเหมือนว่าขั้นตอนการทำโครงการ ไม่เสมอภาคกับผู้อื่น ซึ่งไม่เป็นไปหลักการปกครองด้วยกฏหมาย และกฏหมายต้องไม่ขัดแย้งกับศีลธรรม ต้องเป็นไปตามกฏธรรมชาติและมีความเป็นธรรม
สำหรับโครงการนี้ตนมีข้อสังเกตุเรื่องที่ดิน โดยตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้ป่าดอยสุเทพเป็นป่าหวงห้าม เมื่อพ.ศ.2492 และต่อมา พ.ศ.2500 กฏหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกมาเป็นประมวลกฏหมายที่ดินตาม ม.8 ซึ่งสาระสำคัญคือ บรรดาที่ดินทั้งหลายอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้อธิบดีมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษา และดำเนินการคุ้มครอง ป้องกันได้ตามควรแก่กรณี อำนาจหน้าที่ดังว่านี้ รัฐมนตรีจะมอบหมาย ให้ทบวงการเมืองอื่นเป็นผู้ใช้ก็ได้ ประเด็นหลักคือ ป่าผืนนี้ เป็นป่าสงวน ป่าหวงห้าม คือมีกฏหมายกำหนดแล้ว ไม่สามารถจะประกาศเป็นอย่างอื่นได้ ออกหนังสือสำคัญที่หลวงไม่ได้ แต่สมมติว่าทำได้ ในปีพ.ศ. 2502 ครม.มีมติให้เป็นอุทยานแห่งชาติซึ่งต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาประกาศให้เป็นอุทยาน ซึ่งควรต้องไปดูแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.2524 เพราะตนเห็นว่าพื้นที่นี้อยู่ในเขตอุทยานเดิม เพราะไม่มีอุทยานแห่งชาติที่ไหนที่จะประกาศเฉพาะ ยอดและกลางเขา แต่ไม่ประกาศตีนเขาด้วย ซึ่งหากตรวจสอบว่าเป็นเช่นนั้น ก็อาจสามารถใช้อำนาจตามมาตร 22 ของ พรบ.อุทยานแห่งชาติ ยื่นข้อเรียกร้องให้กรมอุทยานฯ เอาหมู่บ้านป่าแหว่งออกและฟื้นฟูสภาพ เนื่องจากสาระสำคัญของ มาตรา 22 นี้คือในกรณีที่มีการฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ เป็นเหตุให้มีสิ่งปลูกสร้างขึ้นใหม่ หรือมีสิ่งอื่นใดในอุทยานแห่งชาติ ผิดไปจากสภาพเดิม ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้กระทำความผิดทำลายหรือรื้อถอนสิ่งนั้นๆ ออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติ หรือทำให้สิ่งนั้นๆ กลับคืนสู่สภาพเดิม แล้วแต่กรณีถ้าผู้กระทำความผิดไม่ปฏิบัติตาม หรือถ้าไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด หรือเพื่อป้องกัน หรือบรรเทาความเสียหายแก่อุทยานแห่งชาติ พนักงานเจ้าหน้าที่ จะกระทำดังกล่าวแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งเสียเองก็ได้ตามสมควรแก่กรณี และผู้กระทำความผิดมีหน้าที่ชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไป ในการที่พนักงานเจ้าหน้าที่กระทำการเสียเองนั้น
วงประชุมได้แลกเปลี่ยนในประเด็นนี้หลายกรณี เช่น กรมอุทยานฯ ได้มาแถลงข่าวระบุแนวเขตว่า หมู่บ้านป่าแหว่งอยู่นอกเขตอุทยาน และเคยมีผู้ฟ้องศาลปกครองขอนำสืบเพื่อตรวจสอบแนวป่าเดิม มีการยกฟ้องว่าผู้ร้องไม่มีอำนาจฟ้อง ซึ่งอยู่ระหว่างอุทธรณ์ อย่างไรก็ตามปัญหาแนวเขตป่าที่ไม่ชัดเจนได้ถูกหยิบยกมาอภิปรายมาก
นายสุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความจากสมาคมนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าพื้นที่บริเวณนี้เป็นข้อพิพาทกันมานาน โดยมีการประกาศ 3 กฏหมายในพื้นที่เดียวกันคือ 1.พื้นที่สงวนหวงห้าม โดยกรมที่ดิน 2.ป่าสงวนแห่งชาติ โดยกรมป่าไม้ และ3.ป่าอุทยานโดยกรมอุทยาน แต่วิธีทำแผนที่ต่างกัน ไม่เป็นเส้นเดียวกัน และต่างคนต่างถือกฏหมายของตัวเอง ยังไม่เคยมีการพิสูจน์แนวเขตว่าอยู่แนวเดียวกันหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าตอนกรมอุทยานทำแนวเขตต้องมีข้อตกลงกับทหารแน่ ประเด็นคือมีการขยับแนวเขตเลี่ยงทหารหรือไม่ หรือเป็นเส้นแนวเขตของทหารอยู่แล้วและใช้เส้นนั้นเป็นแนว ซึ่งเท่าที่รู้คืออุทยานไม่ได้ทำแนวเขตใหม่ แต่เอาแผนที่ของป่าสงวนมาย่อส่วนในแผนที่และประกาศเป็นกฤษฎีกา และ 2 กรมเถียงกันมาตลอด หากต้องการทราบแนวที่ชัดเจน ก็ให้เอาแผนที่ 3 ฉบับนี้ในอัตราส่วน 1 ต่อ 50000 มาทาบ หากมีเส้นใดเส้นหนึ่งทับที่ทหารก็ถือว่าเป็นเขตป่าแล้ว แต่ปัจจุบันอ้างเพียงแผนที่จากกรมอุทยานแห่งเดียว ซึ่งมีปัญหาเรื่องเขตแนวมาโดยตลอด และไม่แน่ใจว่าโครงการ 1 Map ทำหรือไม่ แต่เถียงกันมาตลอดและนานมากตั้งแต่บริเวณขุนช้างเคี่ยน มีคดีฟ้องร้องหลายคดี ดังนั้นจุดนี้เสนอว่าถ้าเอาแนวแผนที่มาเทียบพิสูจน์ว่าแนวเขตที่ชัดเจนได้ หากทั้ง 3 แนวเขตกันที่ทหารออกก็จะได้ชัดเจนไป นอกจากนั้นที่บริเวณเขามีอีกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกรมพัฒนาที่ดิน เคยมีมติครม.ให้กรมพัฒนาที่ดินไปตรวจสอบแนวเขตพื้นที่เขา ซึ่งเมื่อเป็นที่เขา ทางน้ำ ลำเหมือง เป็นที่สาธารณะ ซึ่งต่อให้ประกาศเป็นที่ราชพัสดุ ก็มีพื้นที่สาธารณะทับซ้อนอยู่ การจะใช้ประโยชน์ที่ดินต้องใช้กฏหมายหลายฉบับประกอบกัน จะอ้างว่าเป็นที่ราชพัสดุอย่างเดียวไม่ได้
แนะใช้ ม.22 พ.ร.บ.อุทยานดำเนินการ
อ.สมชาย หอมละออ เห็นว่าเมื่อพิจารณาถึงสภาพพื้นที่กับความเหมาะสมและชอบธรรมแล้ว พื้นที่แห่งนี้ไม่เหมาะสมที่จะสร้างเป็นที่อยู่อาศัย แต่ประเด็นน่าพิจารณาต่อคือพื้นที่แห่งนี้ควรจะเป็นป่าหรือเป็นอุทยานมากกว่า ซึ่งถ้าในข้อเท็จจริงทางกฏหมายยังไม่เป็นที่อุทยานฯ ก็สามารถทำให้เป็นที่อุทยานได้โดย พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ และเมื่อเป็นที่อุทยานแล้วก็สามารถดำเนินการตาม ม.22 ได้ ปัญหาอยู่ที่รัฐบาลจะทำหรือไม่
นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย กล่าวว่า ควรพิจารณาว่าพื้นที่นี้เหมาะจะทำอะไร สูงชันขนาดนี้ เหมาะเป็นที่อยู่อาศัยหรือไม่ และการอนุญาตให้ทำได้ ปกติการเป็นที่ของทหารใช้ได้เพราะใช้ฝึกรบ แต่เมื่อหน่วยอื่นมาใช้ต้องเหมาะกับวัตถุประสงค์ในการใช้ จะทำเป็นที่อยู่อาศัยไม่ควรทำ ส่วนจะเป็นเขตอุทยานจริงหรือไม่ต้องเป็นโจทย์ไปตรวจสอบแผนที่ท้ายกฏหมายมาพิจารณาต่อไป
ที่ประชุมระบุในแง่ของการก่อสร้างอาคารว่ากระทบกับสิ่งแวดล้อม ความสวยงามของป่าดอยสุเทพหรือไม่ โดยเมื่อเราดูจาก google earth หรือมองจากเครื่องบินก็จะเห็นทัศนอุจาดของเขาทั้งลูก เพราะเป็นอาคารที่ไม่เข้ากับป่า ซึ่งโดยหลักสถาปัตย์จะต้องก่อสร้างโดยไม่กระทบกับสภาพแวดล้อม เกิดสิ่งแปลกแยก และตั้งข้อสังเกตุว่าควรจะเพิกถอนกฏกระทรวง ที่ยกเว้นให้หน่วยงานของรัฐไม่ต้องขออนุญาตก่อสร้างในพื้นที่หรือไม่ ตลอดจนต้องทำการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนต้องแสดงแบบแปลนต่อหน่วยงานท้องที่ด้วย เพราะเชื่อว่าหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยละเว้นตามข้อนี้ ซึ่งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่ในมาตรา 5 บัญญัติว่า “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทําใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทํานั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้
อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนดำเนินการค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากจนถึงทุกวันนี้ ศาลรัฐธรรมนูญแทนไม่ได้วินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับสิทธิรัฐธรรมนูญโดยตรงของประชาชน ขั้นตอนการตีความมีมากมายและต้องผ่านหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นถ้าหากประชาชนหรือองค์กรใดสามารถยื่นตีความการกระทำเกี่ยวกับสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานของรัฐน่าจะเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนได้โดยง่าย
ระบุขัดรัฐธรรมนูญและกฏหมายมหาชน
ดร.ศักดิ์ณรงค์ มงคล ผอ.ศูนย์ช่วยเหลือประชาชนทางสังคมและกฎหมาย มหาวิทยาลัยรังสิตกล่าวว่า การหาทางออกเรื่องนี้ไม่ควรยาวนานมาเกือบปี แต่เนื่องจากคู่เห็นต่างจากเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันตุลาการ เลยไม่มีใครกล้าพูด สิ่งที่สังคมกังขาจึงไม่ค่อยชัด เพราะเหมือนการพูดฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตามสิ่งที่สาธารณะชนมองต่อเรื่องนี้ มีมุมที่ว่า “ไม่ผิดกฏหมายแต่ไม่เหมาะสม” ซึ่งคำว่าไม่เหมาะสมเหมือนจะเลื่อนลอย แต่ที่จริง คำว่าไม่เหมาะสม ในหลักของกฏหมายมีคำอธิบายว่าไม่ชอบด้วยกฏหมายอยู่ในตัวด้วย
ดร.ศักดิ์ณรงค์กล่าวว่าในหลักกฏหมายมหาชน การใช้อำนาจของรัฐต้องชอบด้วยกฏหมายใน 4 ประเด็นคือ 1.ต้องมีกฏหมายให้อำนาจ 2.ไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฏหมายให้อำนาจ 3.ต้องชอบด้วยวัตถุประสงค์ 4. ต้องชอบด้วยกระบวนการและขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ ซึ่งกรณีนี้การใช้อำนาจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์และไม่ชอบด้วยกระบวนการและขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ จนส่งผลให้การทำโครงการนี้ไม่ชอบด้วยกฏหมายในระดับที่รุนแรง
โดยประเด็นไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์นั้น ว่าด้วยเนื้อหาและกระบวนการ เห็นได้จากจากพื้นที่ก่อสร้างที่ยังถกเถียงว่าใช้ได้หรือไม่ แต่ถ้าหากว่าใช้ได้ และขออนุญาตใช้แล้ว พื้นที่นี้ยังมีปัญหาว่ามีสภาพเป็นพื้นที่ป่า ลาดชันและใช้เพื่อทำกิจกรรมลักษณะที่อยู่อาศัยไม่ได้ นอกจากนั้นยังขัดต่อหลักการได้สัดส่วน หรือหลักพอสมควรแก่เหตุ ซึ่งเป็นหลักกฏหมายทั่วไปของรัฐธรรมนูญ โดยกิจกรรมหรือมาตรการที่หน่วยงานรัฐจะเลือกใช้ทุกกรณีจะต้องสอดคล้องกับหลักการได้สัดส่วนที่มี 3. องค์ประกอบย่อยที่ต้องครบถ้วนคือ 1.หลักการตอบวัตถุประสงค์ ในที่นี้คือสร้างโครงการนี้แล้วมีบ้านพักให้ข้าราชการตุลาการ 2.หลักความจำเป็น คือถ้ามีทางเลือก ได้เลือกทางที่กระทบต่อสิทธิคน ชุมชน ประโยชน์สาธารณะน้อยที่สุดหรือไม่ 3.หลักการได้สัดส่วน คือต้องชั่งน้ำหนักว่าถ้าจะกระทบกับส่วนต่างๆ ได้สัดส่วนหรือไม่ ในกรณีนี้ไม่เพียงแต่กระทบกับชุมชน ยังกระทบต่อทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะด้วย หลักการเหล่านี้ศาลปกครองได้นำมาปรับใช้ในกรณีที่มีปัญหาการใช้อำนาจของรัฐหลายเรื่อง
ประเด็นความไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์ยังอธิบายได้จากรัฐธรรมนูญปี 60 นำเป้าหมายความสมดุลย์และยั่งยืนมากล่าวไว้ในเรื่องสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นเป้าหมายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของรัฐด้วยว่ามุ่งไปสู่ความสมดุลย์และยั่งยืนด้วย แต่หากพิจารณาโครงการนี้ ปัจจุบันเห็นว่าระบบนิเวศน์เสียไปหมด แหล่งน้ำด้านล่างคือแหล่งน้ำสำรองน้ำประปาของเมืองเชียงใหม่ ดังนั้นจึงไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์ตามหลักได้สัดส่วนและที่รัฐธรรมนูญรับรอง
ส่วนประเด็นที่ไม่ชอบด้วยกระบวนการและขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญ คือโครงการที่กระทบสิ่งแวดล้อม ชุมชน ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม เริ่มจากการให้ข้อมูล และให้แสดงความคิดเห็น โดยรัฐธรรมนูญระบุว่าต้องมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะต้องทำรายการผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ แต่ในข้อเท็จจริงโครงการนี้ไม่มีการมีส่วนร่วมทั้งการให้ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งอาจเกิดจากความเคยชินของหน่วยงานรัฐที่ต้องการให้โครงการผ่านสะดวก ก็อาจจะไปยึดเอาพระราชกฤฎีกาว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2546 ซึ่งเขียนแบบเปิดช่องว่า หน่วยงานรัฐที่จะทำโครงการ จะรับฟังความคิดเห็นก่อนก็ได้ และถ้าหากมีการเรียกร้องให้จัดการมีส่วนร่วม หน่วยงานรัฐก็จัดก็ได้ เหมือนการมีส่วนร่วมเป็นดุลยพินิจ ทำหรือไม่ก็ได้ แต่ในข้อเท็จจริงเป็นอำนาจบังคับ ไม่ใช่อำนาจดุลพินิจ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า หากเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมกระทบทรัพยากรธรรมชาติ และสิทธิชุมชน ต้องจัดให้มีส่วนร่วม ถ้าไม่มีส่วนร่วมถือเป็นการกระทำที่มิชอบ แนวคำพิพากษาของศาลปกครองมีแนวทางว่า ถ้าชุมชนมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หน่วยงานรัฐจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเสมอ ดังนั้นเรื่องนี้ไม่ชอบทั้งเชิงเนื้อหาและกระบวนการ
ส่วนจะรื้อได้ไหม ? ด้วยอำนาจอะไร? ดร.ศักดิ์ณรงค์ กล่าวว่าอำนาจเกิดจาก 1.รัฐเสียหาย 2.ประชาชนและชุมชนเสียหาย รื้อได้ เรื่องนี้รัฐเสียหายเพราะรัฐเป็นเจ้าของทรัพยากร ป่าไม้ ที่ดิน ที่ราชพัสดุของรัฐ ประชาชนและชุมชนเสียหาย เพราะการที่ประชาชนจะอ้างสิทธิชุมชนได้มีจุดเกาะเกี่ยว สามารถอ้างสิทธิ์ได้ กรณีนี้จึงเป็นการละเมิดของเจ้าหน้าที่ ทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย ต้องรีบแก้ไข หมู่บ้านตรงนั้นเป็นภัยต่อทรัพยากรที่เหลือทั้ง สัตว์ ลำธาร ทรัพยากรที่อันตรายต่อชุมชน มีแต่เสียหายมากกว่าที่เสียหายมาแล้ว
ใช้ พรบ.จัดซื้อจัดจ้าง จำหน่ายพัสดุได้
นายชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษด้านกฏหมาย องว่าประเด็นกฎหมายเป็นเรื่องเล็ก แต่ประเด็น “ศักดิ์ศรีองค์กร” มีส่วนสำคัญ โดยเมื่อเกิดประเด็นขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพเริ่นต้น ฝ่ายทหารได้พยายามเข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ย เชิญเข้าไปพูดคุยในค่ายกาวิละ มีแม่ทัพเป็นประธาน แต่ตัวแทนศาลไม่เข้าร่วม ขณะที่คนที่มาเรียกร้องเป็นชาวบ้านธรรมดา ยอมไม่ได้มันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีอีกเช่นกัน และในกรณีการเจรจากับ รมว.และมีมติให้รื้อ แต่ก็มีผู้ไม่เห็นด้วย มีการตั้งกรรมการขึ้นมา ขั้นตอนก็ยุ่งยาก ส่งรายชื่อกันไปมา ตนเห็นว่าเป็นเรื่องของทิฐิที่ส่งผลต่อนโยบาย
ส่วนที่ระบุว่าประเด็นกฎหมายเป็นเรื่องเล็ก เพราะกฎหมายมีทางออกเยอะแยะไปหมด บางคนบอกว่าให้ใช้ม.44แต่ผมไม่เห็นด้วย เพราะกฎหมายปกติมีอยู่แล้ว รวมถึงกฎระเบียบ กฎกระทรวง ล่าสุดมีพรบ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560ที่ออกมาใหม่ มีส่วนที่2 ที่ว่าด้วยคณะกรรมการวินิจฉัยการจัดซื้อจัดจ้าง ตามมาตรา27 ปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีความเห็นกันมากว่าทุบไม่ได้ แต่ทำไมจะทุบไม่ได้ ถ้าทำเป็นการจำหน่ายพัสดุไป ตามมาตรา29(4) ให้อำนาจคณะกรรมการชุดนี้ยกเว้น หรือผ่อนผันการไม่พึงปฎิบัติตามกฎกระทรวงหรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ ทำไมจะทำไม่ได้ ส่วนเรื่องค่าเสียหาย ฝ่ายบริหารเป็นคนทำฝ่ายบริหารก็ต้องรับผิดชอบ เพราะความเสียหายตอนนี้เรื่องภาพลักษณ์ ความแตกสามัคคีเป็นเรื่องสำคัญ ใครไปซื้อของในตลาดจะไปเจอป้าย “ร้านนี้ไม่ขายให้คนที่อยู่ป่าแหว่ง” มันเสียมากกว่านี้ ข้าราชการส่วนใหญ่บอกทำให้ถูกกฎหมาย ชาวบ้านบอกฝ่ายศาลทำไม่ถูก เกิดแบ่งแยกกัน ความเสียหายต่อสังคมเชียงใหม่และภาพรวมมีมาก ต้องรีบแก้ไข สรุปคือประเด็นการตัดสินใจฝ่ายบริหารต้องรับเต็มๆ เพราะเป็นเจ้าของงบประมาณ และเป็นคนตัดสินใจ และเป็นคนรักษาการตามพรบ.พัสดุ ทำตามกฎหมายได้ 100%”
ถึงจุดวิกฤติจริยธรรม ต้องกอบกู้
อ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติวิธีและความขัดแย้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า เราอยู่ในวิกฤตของความชอบธรรมของความรู้ วิกฤตความชอบธรรมของกฎหมาย วิกฤตความชอบธรรมของวิชานิติศาตร์ วิกฤตความชอบธรรมของศาล เราคาดหวังได้แค่ไหนต่อการตัดสินใจใดโดยคนที่อยู่ตรงนั้นไม่รู้สึกว่าเขาจะต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจ เลยเป็นการโยนความรับผิดชอบโดยปราศจากสำนึกของความเร่งด่วนเลยว่าต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งให้ก้าวพ้นจากวิกฤตนั้น
“ผมไม่ได้ประสงค์ที่ว่าวิชานิติศาสตร์เป็นวิชาที่ไม่ดี แต่มันอดไม่ได้ เพราะนักนิติศาสตร์ระดับยอดสุดใช้กฎหมาย ทำลายความมั่นใจของเรา วิชานี้จะกอบกู้วิชาตัวเองขึ้นมาเพื่อให้ความชอบธรรมในการรับผิดชอบใหม่ได้อย่างไร ทุกวิชาต้องช่วยกันรับผิดชอบ เพราะเรื่องนี้มันสะท้อนถึงความรับผิดชอบของสาขาวิชา มันไม่ใช่แค่คิดคำนวณว่าเสียหายเท่าไหร่ถึงจะตัดสินใจ แต่ยิ่งช้าก็ยิ่งเสียหาย แต่หลายคนยังรู้สึกทอดน่องได้ ผมคิดว่าสำนึกชนิดนี้แหละเป็นอุปสรรคของการตัดสินใจที่มีคุณค่าต่อเรื่องที่เราคิดว่าสำคัญในวันนี้ ดังนั้นต้องเอาหัวใจที่เป็นห่วงต่อความรับผิดชอบร่วมกันในสังคม ซึ่งมีสาระสำคัญมากกว่าการกอบกู้หรือรักษาศักดิ์ศรีของอะไรก็แล้วแต่ ทุกสถาบันล้วนมีวิกฤตภายใน สิ่งสำคัญคือสังคมต้องการสำนึกร่วมกัน และจะทำอะไรที่เคารพตัวเองน่าภาคภูมิใจมากว่านี้ไม่ได้แล้วหรืออย่างไร
เหนือกว่ากฏหมายคือทิฐิและพฤติกรรมระบบราชการ
ดร.ศักดิ์ณรงค์ ยังกล่าวในประเด็นนี้ว่าว่า สังคมไทยฝากความหวังไว้ที่สถาบันตุลาการสูงมาก แต่เมื่อเกิดเรื่องนี้ ไม่แน่ใจว่าคนที่มีส่วนตัดสินใจในสำนักงานศาลยุติธรรมคิดถึงเรื่องนี้แค่ไหนว่าสังคมไทยเป็นห่วง คนในสำนักงานศาลยุติธรรมที่อยู่ตรงปลายยอดนั้นก็คือศาลเก่าหรือศาลปัจจุบันที่เข้ามาทำงานบริหาร ดังนั้นระบบความคิด จารีต ค่านิยมที่มีจะแผ่มายังงานบริหารในสำนักงานศาลยุติธรรม กระบวนการตัดสินใจเมื่อการเกิดปัญหาขึ้น แล้วตอบสนองกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หรือปฎิกิยาทางสังคมอย่างไรก็มีผลมาจากสิ่งที่เป็นความคิด จุดยืน ทัศนคติของท่าน ด้วยความเคารพและรักสถาบันตุลาการมาก ตนคิดว่าประเด็นนี้ต้องคิดให้มาก
“เราได้บทเรียนว่าคุณภาพการตัดสินใจต่อปัญหาทำนองนี้ ขึ้นอยู่กับความแข็งตัว หรืออ่อนตัวทางความคิด ทัศนคติ จุดยืนของคนที่มีอำนาจตัดสิน กรณีนี้ผมคิดว่าท่านแข็งตัวมาก แยกตัวเองจากสังคม มากและก็มองปฎิกิริยา ข้อคิดเห็นจากสาธารณะ มองเหตุมองผลคนอื่นๆ แล้วผลักออกไปหมด ท่านวางท่าทีแบบนั้น ซึ่งนี้เป็นเรื่องการบริหาร แต่ถ้าทัศนคติแบบนี้มีผลต่อคดี การไม่อ่อนตัว จะรับฟังใครได้ แล้วคุณภาพการตัดสินจะได้คุณภาพอย่างไร เพราะเหตุผล ความคิดเห็นอื่น ข้อโต้แย้งอื่น มุมมองทัศนะ หลักการอื่นถูกปฎิเสธได้จากจุดยืนแบบนี้ นี่คือปัญหาใหญ่มาก”
ดร.ศักดิ์ณรงค์ กล่าวว่าการกำหนดทางเลือกหรือทางออกให้กับสังคม เป็นเรื่องที่ต้องเป็นพหุ หลากหลาย รับฟัง ตรวจสอบ ย้อนแย้งกันถึงจะได้คุณภาพออกมา แต่ถ้าแยกตัวออกไปเช่นกรณีนี้ ทำให้คุณภาพไม่ออก สังคมก็จะไว้วางใจกันไม่ได้
นายบัณรส บัวคลี่ โฆษกเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกล่าวว่า พบข้อสังเกตุเรื่องกฏหมายที่จะนำไปสู่การพิจารณาแก้ไขปัญหานี้ได้ และคณะกรรมการระดับจังหวัดก็ได้เสนอไป เช่น ข้อกฎหมายเรื่องพรบ.สิ่งแวดล้อมเราเสนอตั้งแต่แรกว่าที่ตรงนี้มันกระทบต้องประกาศเขตคุ้มครอง และโดยอำนาจของรัฐมนตรีสามารถมีคำสั่งรื้อย้ายสิ่งที่มีผลกระทบออกไปได้ ทางเลือกการประกาศเขตอุทยาน พรบ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ ปี 2560 ที่ผ่านมามีมติครม.ยกเว้นเรื่องต่างๆมากมาย มีความเป็นไปได้ แต่ประเด็นคือผู้เกี่ยวข้องกลัวมีปัญหา สิ่งที่ภาคประชาชนสัมผัสได้ด้วยตัวเองคือ สิ่งที่ใหญ่กว่าข้อกฏหมายคือนอกจากทิฐิ ศักดิ์ศรีแล้ว คือ พฤติกรรมของระบบราชการเองที่ทุกคนไม่กล้าไปแตะต้อง กลัวที่จะไปกระทบกับผู้มีอำนาจแล้วถูกจัดการในแง่ของข้อกฎหมาย และพยายามผลักดัน ม.44 เพื่อตัวเองไม่ต้องรับผิดชอบ
นายสรรพสิทธิ์ คุมประพันธ์ ผู้ชำนาญการประจำคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในประเด็นนี้ว่า กรณีนี้เป็นการเผชิญกับผู้มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยคดี หรือใช้อำนาจตีความกฏหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับสถาบันจะถูกทำลาย เพราะมีคำถามกับสังคมอยู่แล้วว่าในทางกฎหมายไม่สามารถใช้ตีความแบบนี้ได้ เพียงแค่ในวงอภิปรายนี้ก็พบว่าขัดต่อกฏหมายหลายฉบับ หลายกรณี
“ปัญหาคือเมื่อเป็นไปถึงขนาดนี้แล้วหากจะยืนยันเอาที่พักให้ข้าราชการตุลาการไม่กี่คน แต่มันมีผลทำลายสถาบันยุติธรรมซึ่งเป็นเรื่องอันตรายร้ายแรงต่อศาล และประเทศ อย่างอำนาจบริหารก็เห็นกันอยู่แล้วว่าไม่ถูกต้องแต่ไม่มีใครกล้าไปแตะ มันไม่ใช่การถ่วงดุลอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ นั่นหมายถึงว่าฝ่ายบริหารไม่สามารถใช้อำนาจหน้าที่ในการรักษากฎหมาย เพราะกลัวว่าจะกระทบต่อองค์กรตุลาการซึ่งมีหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดคดี ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญโดยตรงที่ระบุว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจอย่างหนึ่ง นิติบัญญัติมีอำนาจอย่างหนึ่ง ตุลาการอย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าอำนาจตุลาการไม่ยอมรับกฎหมายซึ่งประเทศชาติจะเสียหายมาก”
นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมายเห็นว่า สิ่งที่จะต้องดำเนินการต่อจากนี้คือ 1.แง่มุมไหนที่ยังไม่ชัดเจน ต้องพิสูจน์ให้ชัดเจน เช่น เรื่องเขตพื้นที่ 3 เขตที่ซ้อนทับกัน ต้องพิจารณาแผนแนบท้ายของแต่ละฝ่ายเป็นอย่างไร ประเด็นที่อ้างว่าไม่ต้องทำEIA แต่โครงการนี้หากดูตามกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว มีคนเคยฟ้องมาแล้วว่าโครงการใดที่มีผลกระทบกับชุมชน สุขภาพอนามัย หรือส่วนได้เสียสำคัญ โดยจะต้องให้ข้อมูล และต้องฟังความเห็นก่อน ซึ่งในกรณีนี้ไม่ได้ทำ ก็เป็นการผิดกระบวนการในการทำโครงการ
2.ประเด็นที่ระบุว่าองค์กรท้องถิ่น หรืออบต.จะต้องได้รับข้อมูลก่อนเป็นเรื่องสำคัญ อบต.สามารถโต้แย้งได้เลยว่าถ้าไม่ให้ ส่งไปแล้วไม่ตอบ อบต. สามารถใช้สิทธิ์ทางศาลปกครองได้
3.ประเด็นทุจริต เป็นสิ่งที่สังคมให้น้ำหนัก ถ้ามีข้อเท็จจริง จะทำให้ล้มทั้งกระดานได้
4.ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาเราพูดถึง 2 ประเด็นคือมิติของประเพณีวัฒนธรรมซึ่งได้ย้ำจนเข้าใจกันแล้ว แต่คนภายนอกอาจจะไม่เข้าใจชัดเพราะวัฒนธรรมประเพณีที่ลึกซึ้ง แต่ประเด็นที่ต้องตอกย้ำคือ ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม หรือระบบนิเวศ ซึ่งไม่เฉพาะวันนี้แต่เสียหายในอนาคตด้วย ซึ่ง กฎหมายปกติในพรบ.สิ่งแวดล้อมได้กล่าวไว้ชัดเจนว่า ใครก็ตามที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมต้องชดเชย ต้องชดใช้ ระบบนิเวศในประเทศไทย ไม่เฉพาะคนเชียงใหม่ได้รับผลกระทบ เพราะหากระบบนิเวศตรงไหนในประเทศเสียหายจะกระทบกับคนไทยทั้งประเทศ เพราะถ้าพื้นที่นั้นรักษาระบบนิเวศได้ดี ระบบภูมิอากาศจะเป็นวงจรปกติ ระบบภูมิอากาศที่เปลี่ยนเกิดจากระบบนิเวศที่เสียหาย ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ระบบนิเวศเสียหายด้วย
5.มองในเงื่อนไขความสัมพันธ์ระหว่างศาล เข้าใจว่าศาลปกครองน่าจะทำหน้าที่ตรวจสอบได้ ในกรณีนี้เป็นการตรวจสอบสำนักงานธุรการของศาลหรือฝ่ายบริหารของศาล การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ซึ่งต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทุกอันที่เกี่ยวข้องในการบังคับใช้อำนาจในการปกครอง เราไม่ได้เข้าไปแทรกแซงในกระบวนการตัดสินคดีซึ่งเป็นอิสระโดยแท้ แต่หน่วยงานบริหารของศาลที่ใช้อำนาจบริหารต้องถูกกำกับโดยทุกฝ่ายได้หมด ตรงนี้ต้องแยกให้ชัด เพราะคนเข้าใจว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ผู้พิพากษา แต่คนที่ใช้อำนาจที่ผิดพลาดเป็นสำนักงานบริหารของศาล เราไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับความเป็นอิสระของศาลที่ต้องมีอยู่ในอนาคต
นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพกล่าวว่า ฟังมุมมอง มุมมคิด มุมวิเคราะห์ และมีข้อเสนอที่จะต้องไปดำเนินการต่อ พบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นใหญ่กว่าป่าแหว่ง เหมือนสังคมแหว่งจากระบบที่รวน ระบบราชการไม่กล้าทำในสิ่งที่ชอบธรรม ระบบตุลาการก็นิ่งเฉย มันเป็นเรื่องใหญ่มากที่ประชาชนจะปกป้องสิ่งแวดล้อม ปกป้องสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน จะปกป้องสังคมหรือว่าเราจะปฎิรูปสังคมต่อไป เป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกต้องการการขับเคลื่อนร่วมจากหลายมิติเพื่อให้กรณีนี้จบลงอย่างที่สังคมมีความหวังต่ออนาคตได้