WWF เปิดรายงานเพื่อสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ เผยผืนป่าในไทยเพิ่มขึ้น

WWF เปิดรายงานเพื่อสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ เผยผืนป่าในไทยเพิ่มขึ้น

WWF International รายงานแห่งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ Living Planet Report 2018 ตรวจสอบความสมบูรณ์ของโลก เผยดัชนีชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมในมิติต่างๆ ชี้ความหลากหลายทางชีวภาพกำลังเสื่อมถอย ส่วนไทยเป็น 1 ใน 2 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่มีอัตราการฟื้นตัวของผืนป่า โดยรายงานฉบับนี้เปิดให้ดาวโหลดอย่างเป็นทางการพร้อมกันแล้วทั่วโลก

การดำรงอยู่ของมวลมนุษยชาติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการบริโภค การใช้พลังงาน และปรนเปรอสังคมด้วยวัตถุนิยมที่แลกมาด้วยเงิน รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่กำลังขยายตัว กำลังเป็นปัจจัยหลักที่ผลักให้สมดุลย์ธรรมชาติ และความยั่งยืนเดินหน้าสู่สภาวะสูญสลาย WWF-Living Planet Report2018 รายงานสุขภาวะสิ่งแวดล้อมของโลกที่จัดทำขึ้นทุก ๆ 2 ปี เปิดตัวอย่างเป็นทางการเป็นวาระที่ 12 ในปีนี้ พร้อมกับฉายภาพของ ผืนป่า สรรพชีวิตที่อาศัยอยู่ทั้งบนบก ใต้ทะเล หรือแหล่งน้ำจืด สภาพภูมิอากาศ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเสียงเรียกร้องให้ทุกคนทำ “หน้าที่” ที่มีต่อโลก ปฏิวัติวิธีคิดเสียใหม่ เพื่อต่อลมหายใจให้โลกนี้และธรรมชาติได้ฟื้นคืนสู่สมดุลย์

“งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า ป่าไม้กำลังถูกทำลายมากขึ้นเรื่อย ๆ มหาสมุทร และแม่น้ำ เสื่อมสภาพไปจากน้ำมือของมนุษย์เรานี้เอง แผ่นดินทุกตารางนิ้ว สัตว์ป่าแต่ละสายพันธุ์ ที่กำลังสูญสลายหายไป จากพื้นที่ป่าที่ลดลงเป็นดัชนีสำคัญที่สร้างแรงกระทบอย่างมหาศาลต่อสภาวะแวดล้อมของดาวเคราะห์ที่เรากำลังอยู่อาศัยนี้ การทำลายชีวิตเหล่านี้คือการทำลายสิ่งที่ค้ำจุนเราในปลายทาง นั่นคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ” มาร์โค แลมเบอตินี่ ผู้อำนวยการทั่วไป WWF-International กล่าว

รายงาน Living Planet Report ซึ่งวิจัย และ วิเคราะห์แนวโน้มของสิ่งแวดล้อมของโลก ระบุว่า ประชากรปลา นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก และสัตว์เลื้อยคลานกำลังลดปริมาณลงอย่างต่อเนื่องไม่หยุด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 60% นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 ถึง ค.ศ.2014 และสิ่งมีชีวิตที่หายไปจากโลกส่วนใหญ่มีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมและการดำรงชีวิตของมนุษย์ อาทิ การลดลงของพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจากการรุกล้ำใช้พื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตร

“จากแม่น้ำ จนถึงป่าฝนเขตร้อน และทิวเขาต่าง ๆ งานวิจัยพบว่าจำนวนสัตว์ป่าลดลงอย่างมากนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 เป็นต้นมา และเมื่อเราเห็นตัวเลขสถิติแล้วก็ต้องยอมรับว่าน่ากลัว แต่เราก็ยังไม่สิ้นหวัง เรายังมีโอกาสที่เราจะออกแบบเส้นทางแห่งอนาคตที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกับสภาพธรรมชาตินี้อย่างยั่งยืน รายงานของ WWF ทำให้เราตรวจสอบสุขภาวะของโลกใบนี้ พร้อมกับเริ่มต้นคิดใหม่ทำใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลง และทุกคนร่วมด้วยช่วยกันได้” ศาสตราจารย์ เคม นอร์ริส ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ ZSL (Zoological Society of London) กล่าว

Young children with small carps (cyprinid fish sp.). Tonle Sap River, Cambodia (Kampuchea).

กลุ่มอนุประเทศลุ่มแม่น้ำโขง หรือ Greater Mekong Region เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีสภาพความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแหล่งหนึ่งของโลก โดยมีรายงานว่ามีสัตว์เลี้ยลูกด้วยนมอาศัยอยู่กว่า 430 สายพันธุ์ มีสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบกมากกว่า 800 ชนิด มีนกมากกว่า 1,200 สายพันธุ์ มีปลามากกว่า 1,100 ชนิด และพืชพรรณมากกว่า 20,000 สายพันธุ์ที่นี่

“แต่ปัจจุบันภูมิประเทศในเขตดังกล่าว มีสภาพพื้นที่ป่าสีเขียวลดน้อยลงไปถึงกว่า 3 ส่วน ซึ่งสร้างผลกระทบทางตรงต่อสัตว์ป่าที่ไม่มีที่อยู่อาศัย จากข้อมูลของ Living Planet Report ปีนี้พบว่า พื้นที่ป่าที่เป็นบ้านของเสือที่ลดลง ส่งผลถึงประมาณประชากรเสือในภูมิภาคนี้โดยตรง โดยในปี ค.ศ.2016 เอเชียสร้างถนนไปกว่า 11,000 กิโลเมตร แน่นอนว่า ถนนที่ตัดผ่านพื้นที่ป่า ทำให้ที่อยู่ของเสือหายไป เราต้องแน่ใจว่าความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์เราไม่ได้ถูกแลกมาด้วยต้นทุนทางธรรมชาติของสิ่งอื่น ๆ

ถ้าหากเราไม่เริ่มหยุด และคิดว่าชีวิตเหล่านี้มีค่าควรแก่การดูแลรักษา เมื่อมาถึงวันหนึ่งที่เราอาจจะไม่เจอะเจอสัตว์เหล่านี้ให้ดูแลอีกต่อไป และวันนั้นก็อาจจะไม่ไกลจากวันนี้ก็เป็นได้” สจ๊วต แชปแมน ผู้อำนวยการฝ่ายงานอนุรักษ์ WWF พื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงกล่าวพร้อมกับบอกว่าทรัพยากรในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง คิดเป็นสัดส่วนถึง 5-8% ที่ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเดินไปข้างหน้า

Air pollution with black smoke from chimneys and industrial waste.

“มีรายงานว่าภายในปี ค.ศ.2050 สภาพพื้นที่กว่า 50% ของปัจจุบันของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงอาจกลายสภาพเป็นเมืองใหญ่ นั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นพื้นที่ป่าในภูมิภาคนี้ลดลงอย่างต่อเนื่องในอัตราที่รวดเร็ว ความหลากหลายของพืชพรรณก็ลดลงไม่ต่างกัน ต้นไม้ใหญ่บางสายพันธุ์เริ่มเหลือน้อยลงและตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์จากการถางทำลายป่าเพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ในการทำการเกษตรของมนุษย์ พื้นที่ป่าของบริเวณลุ่มน้ำโขงจะหลงเหลืออยู่เพียง 30 ล้านเฮคเตอร์ภายในอีกไม่เกิน 10 ปีข้างหน้าหากไม่เร่งดำเนินนโยบายอนุรักษ์อย่างจริงจัง”

“ประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักอนุรักษ์อย่างต่อเนื่อง และมีการทำงานเพื่อดูแลผืนป่า รวมถึงพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม เป็นที่น่ายินดีที่ในรายงานล่าสุด พบว่าในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวด้านตัวเลขของผืนป่าที่เพิ่มขึ้น เป็นไปในทิศทางบวก หากเปรียบเทียบกับประเทศใกล้เคียง” นางสาวเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย กล่าว

ทั้งนี้ รายงานจาก WWF ในกลุ่มพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงกลับพบตัวเลขการฟื้นตัวของป่าในประเทศไทย ซึ่งถือเป็น 1 ใน 2 ประเทศที่มีอัตราการฟื้นตัว หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคที่พบเพียงอัตราการแผ้วถางทำลายที่เพิ่มขึ้น

โดยสถิติในรอบ 10 ปีจากปี ค.ศ.2005-2015 พบพื้นที่ป่าในประเทศไทยเพิ่มขึ้นราว 0.19% คิดเป็นพื้นที่ป่า 31.6% ของพื้นที่ทั้งประเทศ เช่นเดียวกับประเทศเวียดนามที่มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 1.44%

“WWF อยากให้ทุกภาคส่วน ตั้งแต่ภาคประชาชน กลุ่มธุรกิจ ภาครัฐ ช่วยกันขับเคลื่อนแนวทาง และนโยบายที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท ดูแลไปจนถึงป่าไม้และผืนน้ำ เราต้องเร่งเมือเพื่อดำเนินการปกป้องสภาพความหลากหลายทางชีวภพของโลกใบนี้ และธรรมชาติของเราเพื่อให้ตัวเลขความสูญเสียหยุดลงที่เท่านี้ และมีแต่จะเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ขึ้นในอนาคต”

00000

เกี่ยวกับ Living Planet Report 2018

Living Planet Report 2018 จัดทำขึ้นเป็นฉบับที่ 12 โดย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF-International) ถือเป็นรายงานความเป็นไปของสิ่งแวดล้อม และสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบที่สุดฉบับหนึ่งของโลกที่ถูกนำไปใช้อ้างอิง และเผยแพร่อย่างแพร่หลาย ซึ่งรวมไปถึงข้อมูลดัชนีชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพ และคุณภาพของสิ่งมีชีวิตของสายพันธุ์ต่าง ๆ สามารถดาวโหลดข้อมูลรายงาน Living Planet Report 2018 ได้ที่ www.panda.org/lpr/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ