อยากจะฟื้นฟูป่า ฟื้นฟูป่าอย่างไร?

อยากจะฟื้นฟูป่า ฟื้นฟูป่าอย่างไร?

คุยกับนักผู้เชี่ยวชาญเรื่องป่าไม้ จตุภูมิ มีเสนา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และจิราภรณ์ มีวาสนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กับการฟื้นฟูป่า แนวทางการฟื้นฟูจะต้องเป็นอย่างไรถึงจะใกล้เคียง

จตุภูมิ มีเสนา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากจะมีหน้าทีสำรวจป่าและฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมเเล้ว เขายังได้เป็นหนึ่งคนในคณะทำงานฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ราชพัสดุ หรือพื้นที่ก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการด้วย

เมื่อเราถามคำถามถึง ทำไมถึงต้องสำรวจป่ากันก่อนในช่วงนี้? …เขาตอบว่า ช่วงหน้าฝนเป็นช่วงที่เหมาะสมช่วงหนึ่งที่ต้นไม้ในป่าจะออกดอก ออกผลและร่วงหล่นลงมา เราจะเข้าสำรวจป่า และเก็บเมล็ดไม้ต่างๆ กลับมาเพาะกล้าในเรือนเพาะชำ การเข้าสำรวจป่าก็เพื่อที่จะเช็คในเรื่องของพันธุ์ไม้ที่สอดคล้องกับพื้นที่จริงๆ ในการฟื้นฟู อย่างกรณีพื้นที่บ้านพักข้าราชการตุลาการ เพราะว่า จะได้มีความสมบูรณ์ใกล้เคียงกัน กับป่าจริงๆ โดยให้มีความหลากหลายในพื้นที่ ทั้งไม้โครงสร้างหลายๆชนิดตั้งแต่พื้นล่างของป่า จนถึงเรือนยอด

อะไรคือป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง ? …  คือว่าความต่างของป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ คือ ป่าเต็งรัง จะเป็นไม้ผลัดใบ จำพวก เต็ง รัง ตึง พลวง เหียง คือช่วงหน้าแล้งเขาจะผลัดใบ ส่วนเบญจพรรณ ในสมัยก่อนจะถูกเรียกไม้จำพวกไม้มีค่าต่างๆ เช่น ชิงชัน ประดู สัก มะค่า แดง เป็นไม้ที่มีมูลค่า

แต่จริงๆแล้ว ถ้าดูโดยละเอียดป่าดอยสุเทพก็จะเป็นป่าผสมผลัดใบ คือผสมทั้งเบญจพรรณ และเต็งรัง ทำให้ความหลากหลายของป่ามากขึ้นไปอีก อันที่จริงป่าผืนนี้ เป็นคล้ายๆ ตู้กับข้าวของคนที่อยู่รอบๆป่าผืนนี้ มีพืชที่ให้ผลผลิตโดยไม่ใช้เนื้อไม้ เช่น ใบและผลของต้นมะเม่า ที่ใช้ทำแกงป่าก็อร่อย ใบของต้นชะมวง ที่ใช้หอหมูย่าง และใช้ทำอาหารที่มีรสเปรียวได้หลายชนิด และพชืต่างๆเป็นเป็นสมุนไพรก็มีอยู่มากมาย สังเกตดูถือว่าเป็นป่าที่สมบูรณ์ เพียงแต่โครงสร้างป่าไม่เหมือนป่าดิบ ก็เลยมองกันว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม ซึ่งจริงๆไม่ใช่ป่าเสื่อมโทรม…

 


จิราภรณ์ มีวาสนา นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 หรือ “อุ้ยจิ” ที่เด็กเรียกขาน ผู้ที่เคยสำรวจและเก็บรวบรวมข้อมูลและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย แถมยังเชี่ยวชาญเรื่องการเพาะเมล็ดพันธุ์ไม้จากป่าด้วย

ถามสั้นๆ จากการเดินสำรวจป่าเชิงดอยสุเทพระยะทาง 2 กิโลเมตรรอบๆ อ่างเก็บน้ำแม่จอกหลวง เจออะไรบ้าง ?…

วันนี้เราเดินทางป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง …การเดินของเราวันนี้ไม่ผิดหวังเลย เราพบพันธุ์ไม้ที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูป่าผสมผลัดใบ ที่มีความทนแล้ง ทนสภาพทางธรณีวิทยา ที่หน้าดินน้อย เป็นหินเยอะ พืชเหล่านี้กำลังออกดอกออกผลหลายชนิดเลย ยกตัวอย่างเช่น ช้างน้าวหรือตาลเหลือง เราได้เจอต้นขว้าว ต้นกระทุ่ม ต้นตีนนก ต้นแดง กระเจียว โมกเครือ ต้นส้าน พืชเหล่านี้เราสมควรเก็บเมล็ดกลับมาเพาะ แล้วนำไปปลูกฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกเปิดโล่ง แสงเยอะ มีน้ำน้อย และอีกความโชคดีมาก คือ เจอต้นคำมอกน้อย ตาลเหลืองหรือช้างน้าว ขว้าว หรือกระทุ่ม 4-5 ชนิดนี้แน่นอนแล้วว่าเราสามารถจะเพาะพันธ์ได้

ต้นคำมอกหลวง หรือ ต้นคำมองช้าง มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยที่ดอยสุเทพ

ถามถึงการฟื้นฟูป่า…จะปลูกอะไรดี และเริ่มอย่างไร ? …. 

การฟื้นฟูป่าแบบนี้เราสามารถทำได้สองอย่างคือ ฟื้นฟูโดยเมล็ดเลย หรือเอา เอาเมล็ดไปเพาะก่อน แต่โดยส่วนตัวเสนอทำทั้งสองแบบ คือ เอาเมล็ดไปโปร่ย แต่ต้องมีการจัดการกับเมล็ดก่อน เพื่อเร่งการงอกให้เขา กับอีกแบบคือ เอามาเพาะเป็นกล้าในเรือนเพาะชำก่อน เพื่อที่จะเอาไปปลูกในปีหรือสองปีถัดไป

หลักการฟื้นฟูป่า ทั่วๆไป หากเราฟื้นฟูระบบนิเวศ เราจะต้องมีไม้หลายๆ แบบ หลายๆ กลุ่มประเภท หลายๆ เรือนยอด มีทั้งโตเร็วและโตช้า เพื่อจะให้เกิดความหลากหลาย เพื่อให้เขาเอื้อกันเองในระบบนิเวศ อีกอันหนึ่งที่น่าสนใจคือ การปลูกพืชที่มีผลเป็นอาหารสัตว์ เวลานกกิน แล้วเดินหรือบินไปถ่ายอีกที่หนึ่ง ก็จะเป็นอีกกลไกหนึ่งในการช่วยเราฟื้นฟูป่าด้วย

แล้วเรื่องหน้าดินที่หายไป จะปลูกพืชอะไรดีละ ? … ส่วนพืชที่จะใช้สำหรับยึดหน้าดินนั้น เนื่องจากพืชแต่ละชนิดมีคุณสมบัติยึดหน้าดินอยู่แล้ว แล้วแต่ความลึก ตื้น ต่างกันไป อย่างเช่น โมกเครือ ที่เป็นไม้เลื่อยขนาดเล็กแต่ว่าลักษณะของเขาจะแผ่ออกกว้าง พืชชนิดนี้จึงช่วยลดแรงปะทะของน้ำฝน แม้รากจะไม่ลึก แต่ในระดับผิวดินจะช่วยในการป้องกันการชะล่างผังทลายของดิน และที่สำคัญโตเร็วด้วย ซึ่งจะสามารถคลุมดินได้เร็ว …ต้นขว้าวและต้นกระทุ่ม สองต้นนี้ รากของเขาจะมีความอวบแน้น ซึ่งจะทนแล้งได้ดี รากจะอวบๆ อ้วนเหมือนกับโสม ในหน้าแล้ง เขาก็จะใช้พลังงานในตัวของเขาเองอยู่รอดไปได้ … ต้นหนอนตายหยาก นอกจากจะช่วยกำจัดแมลงแล้ว รากของต้นหนอนตายหยากลงดินลึกมากเลย พอลงลึกพืชชนิดนี้จึงเหมาะที่จะช่วยยึดหน้าดินได้ดีในระดับหนึ่ง ซึ่งพืชแต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกัน จึงเป็นที่มาของการเสนอให้ปลูกพืชหลายๆชนิด โตเร็วโตช้าก็ต้องปลูก ส่วนไม้โตช้าที่ต้องปลูก เพราะสำคัญตรงที่ ไม้โตช้าจะอายุยืน เราต้องการไม้กลุ่มนี้ เป็นไม้ชั้นเรือนยอดสูงสุด กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ช่วยป้องกันเรื่องแสง เราจะลดโลกร้อน เราต้องมีไม้กลุ่มนี้ ที่จะเป็นหลังคาบ้ายนให้เรา ลดแรงกระแทกของน้ำฝน ซึ่งเมื่อตกลงมาเจอไม้เหล่านี้ก็จะลดแรงประทะลงเรื่อยๆ และรากของไม้ยืนต้นก็จะช่วยยึดหน้าดิน ซึ่งทั้งหมดนี้ พืชแต่ละชนิดมีบทบาทที่จะฟื้นหน้าดินแบบระยะเร่งด่วน ระยะกลาง และระยะยาว

ดูการคลิปเดินสำรวจป่าดอยสุเทพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ค.61 เพื่อเเยกพันธุ์ไม้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ