‘การใช้สื่อ และ คนรุ่นใหม่’ พลเมืองแบบไหนในโลกดิจิทัล

‘การใช้สื่อ และ คนรุ่นใหม่’ พลเมืองแบบไหนในโลกดิจิทัล

อินเทอร์เน็ต เป็นหนึ่งช่องทางการสื่อสารในยุคดิจิทัล ทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย “การรู้เท่าทันสื่อ” จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ประชาชนสามารถทำความเข้าใจ รู้เท่าทัน ข้อมูลข่าวสารที่ตนเองรับมาได้

6 พ.ย. 2560 วงเสวนา “พลเมืองแบบไหนในโลกดิจิทัล” ในสัปดาห์ รู้เท่าทันสื่อ “MIDL Week 2017 : พลังพลเมืองดิจิทัล” จัดโดยสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส), ศูนย์ประสานงานเครือข่ายการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย, Documentary Club และWarehouse 30 ระหว่างวันที่ 6-10 พ.ย. 2560 ที่ warehouse 30 กรุงเทพฯ

โดยวิทยากร

1.ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(iLaw)
2.วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง : หัวหน้าโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา(สกว.)
ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

 

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw)

ถ้าเราดูสื่อแล้วคิดว่าสื่อรอบด้านแสดงว่า “ผิด” แสดงว่าเราไม่รู้เท่าทัน สิ่งที่เราเห็นผ่านสื่อความจริงคือสิ่งที่ถูกคัดกรองแล้ว ทั้งการห้ามยั่วยุ ห้ามมีเนื้อหาก่อให้เกิดความแตกแยก มีข้อห้ามมากมาย ซึ่งทั้งหมดอยู่ภายใต้เส้นสีเทา ที่มีข้อจำกัดของกฎหมายความมั่นคง นอกเหนือเส้นสีเทามันเป็นข้อมูลที่ไม่ได้นำเสนอ ถ้าเราเสพสื่อแล้วคิดว่ามันเป็นความจริงทั้งหมด แสดงว่าเราไม่รู้เท่าทัน

เวลาเราพูดถึงเท่าทันสื่อ เราก็ไม่ได้หวังให้คนต้องรู้ทุกอย่าง ใน 20 เรื่องบางครั้งคนอาจจะอินแค่ 1 เรื่องก็ได้ แล้วเลือกเดินหน้าต่อในเรื่องนั้น ทำการบ้าน และทำความเข้าใจ หาข้อมูลต่อให้มากขึ้น หรือบางครั้งคนก็เลือกสื่อดูเพื่อบันเทิง เขาจำและเชื่อแล้วนำไปพูดต่อก็เพื่อความบันเทิง ซึ่งไม่ได้แปลว่าเขาไม่เท่าทันสื่อ

ในปัจจุบัน จะเห็นว่า เด็กโตมากับเทคโนโลยี กล้าที่จะตั้งคำถามและทดลองใช้เทคโนโลยี แต่ในขณะเดียวกัน นักวิชาการก็พยายามที่จะให้เด็กทำความเข้าใจและรู้เท่าทัน ผมคิดว่ามันมีปัญหา เพราะเด็กมีแนวโน้มที่จะเข้าใจเรื่องตัวเอง เรื่องที่อยู่ใกล้ตัว เทคโนโลยีก็เป็นเรื่องใกล้ตัวเด็กอยู่แล้ว ที่น่าเป็นห่วงน่าจะเป็นผู้ใหญ่มากกว่า เพราะเราไม่ได้โตกับมากับเทคโนโลยี อาจจะยังไม่กล้าที่จะลอง ที่จะใช้เทคโนโลยี

ยกตัวอย่างเรื่อง “พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์” ที่คนให้ความสนใจ ทุกคนอินเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่จะบอกหรือแนะนำให้ห้ามโพสต์แบบนั้น แบบนี้ ก็ไม่ได้ ดีที่สุดเราแค่แนะนำให้เขารู้ เช่นการโพสต์ข้อความ ว่าถ้าโพสต์ไปแบบนี้จะเกิดผลกระทบจากการโพสต์ข้อความแบบไหน ต้องโดนอะไรบ้าง โทษเป็นอย่างไร ตรงนี้ควรให้เขารู้ การเท่าทันสื่อก็คงจะเหมือนกัน

ผมคิดว่า อินเทอร์เน็ตสร้างพื้นที่ให้คนสื่อสารได้จริง แต่อินเทอร์เน็ตจะเปลี่ยนแปลงโลกได้นั่น ผมว่าฝัน เพราะเอาเข้าจริงการใช้สื่อสื่อสารข้อมูลนั้นก็แค่สร้างความเข้มแข็งในชุมชนเดียวกัน ในกลุ่มที่คิดเหมือนกันกับเรา แต่เรามักเผลอไปเข้าใจว่าสิ่งที่ทำออกไปมันส่งผลต่อคนจำนวนมาก จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่จะสร้างสังคมใหม่ ความจริงมันยาก ผมไม่เชื่อว่าพลังดิจิทัลเปลี่ยนแปลงได้ แต่พลังดิจิทัลจะเป็นต้นทางในการคุยต่อในเรื่องนั้น เช่น เรื่องที่เราคุยอยู่ในอินเทอร์เน็ต แล้วสื่อกระแสหลักนำเรื่องมาพูดคุย ทำให้เห็นคนที่คุยเรื่องราวนั่นชัดขึ้น ซึ่งเมื่อคนรู้ข้อเท็จจริงที่หลากหลาย นำมาประกอบมันขึ้นมา ถึงตอนนั้นมันจะเป็นพลังขึ้นมาได้

วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง : หัวหน้าโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา (สกว.)

สื่อถูกประกอบสร้างทางสังคม ซึ่งไม่ใช่ความจริงที่ประกอบจากความจริงทั้งหมด เวลาเราพูดถึง “รู้เท่าทันสื่อ” ควรจะรู้ว่าใครเป็นเจ้าของกิจการนั้น เขามีผลประโยชน์หรือเกี่ยวข้องกับสื่อนั้นอย่างไร

ปัจจุบันเป็นยุคของดิจิทัล คนธรรมดามีอำนาจในการควบคุมข่าวสารมากขึ้น แต่ก็ยังถูกคัดกรองโดยรัฐ เช่นประเทศจีนมีการกำกับสื่อออนไลน์อย่างเบ็ดเสร็จ รัฐอยากให้ประชาชนเห็นอะไรก็คัดกรองให้ประชาชนเท่านั้น ในช่วงหลังเริ่มมีการพัฒนาไป โดยรัฐใช้เอกชนเป็นตัวกลางในการควบคุมเนื้อหามากขึ้น แต่ในประเทศไทยยังไม่ค่อยมีการพูดถึงเอกชน ขณะที่ในต่างประเทศมีการพูดถึงเยอะ

ผมมองว่าทุกอย่างถูกประกอบสร้างขึ้นและสื่อก็ถูกคัดกรองผ่านสายตาคนที่เล่าอยู่แล้ว แน่นอนว่าสื่อใหม่สำคัญ แต่สื่อเก่าที่เป็นวิชาชีพก็มีความสำคัญมากขึ้นด้วย คนต้องการสื่อที่เชื่อถือได้ สื่อกระแสหลักต้องหน้าเชื่อถือ เวลาเราฟังก็ต้องใช้ความจริงด้านหนึ่ง ฟังแล้วก็สามารถที่จะประเมินว่าหลักฐานของเขา เหตุผลที่เขาใช้มันเหมาะสมหรือไม่ แล้วเรามีความสามารถในการหาข้อมูลอื่นไหมถ้าสุดท้ายเราก็เห็นต่าง และเราสามารถที่จะประเมินได้ว่าอะไรจริงอะไรไม่จริง

“การศึกษาการรู้เท่าทันสื่อ” จำเป็น แต่เรายังไม่ได้ออกแบบการศึกษาให้ดีขนาดนั้น ทฤษฎีการศึกษาคือการเอาชุดการศึกษาไปยัดอยู่ในหัวของคน แต่ในอินเตอร์เน็ตสร้างการศึกษาที่มีการเชื่อมต่อ มีการมีส่วนร่วม เป็นเรื่องของการเชื่อมโยง การปฏิบัติจริง การสร้างสรรค์ มีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งที่พยายามทำความเข้าใจการเท่าทันสื่อของเด็กด้วยทักษะการใช้เครื่องมือในการดึงเนื้อหาของสื่อกระแสหลักมีมาปรับเปลี่ยนเพื่อสื่อความหมายในอีกรูปแบบหนึ่ง และเด็กสมัยนี้สามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลมาปรับแต่งและสร้างมีมใหม่ๆ ได้ เช่น เด็กกลุ่มหนึ่งชอบแฮรี่พอตเตอร์ วันหนึ่งเด็กมองเห็นปัญหาเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมทางเพศ จึงรณรงค์ใน “แคมเปญเฮอร์ไมโอนี่ ความเท่าเทียม” ทำให้เกิดมิติที่ดูเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์

ผมคิดว่าการศึกษามันช่วยตรงนั้นได้ การสร้างสำนึกของความเป็นพลเมือง สร้างความรู้ให้เท่าทันสื่อดิจิทัลเป็นมิติทางเทคโนโลยีและอีกด้านหนึ่งมันก็เป็นมิติทางวัฒนธรรม

ศิโรตม์ คล้ามไพบูรณ์ : นักวิชาการและสื่อมวลชน

ผมคิดว่าอินเทอร์เน็ตคือช่องทาง มันไม่ใช่จุดหมาย มันเป็นช่องทางหนึ่งที่เทคโนโลยีสร้างขึ้น ผมไม่คิดว่าอินเทอร์เน็ตจะสร้างสังคมประชาธิปไตย สังคมที่เป็นธรรมและสังคมแห่งการเรียนรู้ได้

อินเทอร์เน็ตสำหรับคนจำนวนมากมันคือ อุตสาหกรรมของข้อมูลข่าวสาร ขึ้นอยู่กับว่าคนที่ผลิตข้อมูลข่าวสาร ผลิตอะไรเข้าไป

ความน่าสนใจคือ ทุกคนสามารถผลิตคอนเทนต์ แต่จะทำยังไงให้คนผลิตคอนเทนต์ลงไปบนอินเตอร์เน็ตเท่ากันๆ คอนเทนต์ที่ผู้รับนั่นรับฟังเท่ากัน ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่ โจทย์ใหญ่กว่าคือ ทำอย่างไรให้คนผลิตคอนเทนต์เข้าไปสู่อินเตอร์เน็ตได้เท่าๆ กัน หลังจากนั้นคือ สกิลของแต่ละคนว่า ทำอย่างไรให้คอนเทนต์ของแต่ละคน ถูกรับฟัง และเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้

……………………………………….

ดูคลิปเสวนา “พลเมืองแบบไหนในโลกดิจิทัล”

https://web.facebook.com/jam.genjam/videos/902109096613074/

โดยวิทยากร

1.ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ : โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน(iLaw)
2.วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง : หัวหน้าโครงการอินเทอร์เน็ตศึกษา(สกว.)
ดำเนินรายการโดย ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ