วันนี้(5 ส.ค.60) บินข้ามลวดหนามครั้งที่6 ตอน “ความจริง” ซึ่งเป็นเทศกาลภาพยนตร์สั้นครึ่งวันที่มีภาพยนตร์เข้าร่วม 13 เรื่อง ประกอบด้วยภาพยนตร์ชุด 11 ความจริง จากโครงการเกี่ยวก้อย ผลงานเพื่อนพ้องของจะอุ๊ (ชัยภูมิ ป่าแส) และบิลลี่ (พอละจี รักจงเจริญ)และภาพยนตร์รับเชิญเปิดและปิดเทศกาลอย่างละ 1 เรื่อง โดยมีสื่อสารประเด็นหลักถึงความจริงในสังคมที่คนบางกลุ่มกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ได้จัดฉาย ณ สมาคมฝรั่งเศส เชียงใหม่
พ่อหลวงสมชาติ หละแหลม ผู้นำชุมชนบ้านกลาง จ.ลำปาง – บอกเล่าเรื่องราวหลังจากได้ดูหนังจบว่ารู้สึกเศร้ามาก เพราะเป็นเรื่องราวที่สะท้อนสิ่งที่ชาติพันธุ์กำลังเผชิญอยู่ เห็นความดิ้นรนและพยายามปกป้องพื้นที่ของตนเอง ตอนนี้กลุ่มชาติพันธุ์กำลังเผชิญปัญหาคล้ายๆกัน ตกอยู่ภายใต้มายาคติผิดๆของสังคมมายาวนาน ซึ่งหลักๆมี 3 ประการ คือ ถูกมองว่าเป็นคนที่ทำลายป่า เป็นภัยต่อความมั่นคง และเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เช่น กรณีบิลลี่ที่อออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิการดำรงอยู่ของชุมชน ที่อาจจะขัดอำนาจบางอย่างก็ถูกอุ้มหาย หรือกรณีจะอุ๊ ที่ถูกวิสามัญฆาตกรรม หรือแม้กระทั่งพ่อเด่น คำแหล่
จากสถานการณ์ที่กลุ่มชาติพันธุ์ประสบตอนนี้ ทำให้ต้องออกมาเรียกร้องสิทธิชุมชน ที่โดนกดทับหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเขตอุทยานทันซ้อนพื้นที่ของเรา หรือกฎหมายอื่นๆ เขาได้ต่อสู้ และพยามอธิบายเรื่องราวมากว่า 30 ปี ตอนนี้กลับถูกภายนอกมองว่าพาชาวบ้านไปประท้วง ไปก่อความวุ่นวาย หรือแม้กระทั่งเราไปยืนหนังสือถึงเรื่องการรุกป่าของนายทุน ก็ทำให้เราไม่ได้แตกต่างจากบิลลี่ อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้สมชาติ ยังกล่าวอีกว่า ในปีพ.ศ.2540 ยังมีรัฐธรรมนูญยอมรับสิทธิชุมชน ใช้สิทธิชาติพันธุ์ในการแสดงความคิดเห็น แต่ตอนนี้เราทำมาได้ ชุมชนเพียงอยากให้รับรู้และเข้าใจว่าคนที่นี่มีวิถีชีวิตที่อยู่กับป่ามานาน มีกฎ ระเบียบ กติกา การฟื้นฟูดูแลป่ามาช้านานแล้ว เราไม่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะเรื่องของนโยบาย สิ่งที่เกิดขึ้นในหนังสะท้อนชีวิตจริงบอกเรื่องราวที่ชุมชนต้องเผชิญ ตอนนี้หากเราอยากพูดความจริงเราต้องยอมรับการสูญเสียบางอย่าง และคิดว่าคนที่ออกมาเคลื่อนไหวสุ่มเสี่ยง มีความไม่ปลอดภัย บิลลี่และจะอุ๊อาจจะไม่ใช่คนสุดท้ายที่เราต้องสูญเสียแน่นอน
สถานการณ์ที่ชาติพันธุ์เผชิญอยู่เป็นสถานการณ์ที่ย่ำแย่มากที่สุด ช่วงหลายสิบปีทีผ่านมาเราเอาความจริงมาพูด แต่เมื่อความจริงเหล่านั้นไม่เป็นที่ยอมรับ หลายชุมชนก็ทิ้งความจริงไป หาวิธีการใหม่ อย่างบ้านบ้านกลาง 30 ปีมานี้ เราพยามยามทำให้คนยอมรับให้ได้ว่าเรารักษา ฟื้นฟู ดูแลป่า เราต้องสร้างพื้นที่รูปธรรม
ความจริงบางอย่างไม่ถูกสื่อนำเสนอ อย่างการถูกกดจากอำนาจรัฐจนต้องทิ้งชุมชน ต้องเปลี่ยนจากการทำไร่ข้าว ไปเป็นไร่ข้าวโพด หรือนำไปสู่ยาเสพติด สิ่งเหล่านี้ไม่ถูกไปพูด เราอยากให้เอาความจริงตรงนี้มาพูดด้วย หลายครั้งถูกกระทำแต่ไม่มีช่องทางในการช่วยเหลือเรา เช่น กรณี อ.งาว จังหวัดลำปาง มีการข่มขู่ ยึดคืนพื้นที่ ตัดยางพารา แต่ไม่มีข่าวเลย แม้ว่ามีความพยายามทำชุมชนให้เข้มแข้ง สร้างการสื่อสาร แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงนโยบายได้
สมชาติ หละแหลม ทิ้งท้ายว่า ชุมชนพยายามรวมตัวเพื่อความเข้มแข็ง และเอาความเป็นจริงมาพิสูจน์ไม่ว่าจะนานเท่าไหร่ แม้ว่าสถานการณ์ที่เกิด ผู้นำที่ออกมาเคลื่อนไหวมีความเสี่ยงต่อชีวิตและครอบครัว เราก็ทำใจ และจะทำความจริงของเรา ให้เป็นที่ยอมรับให้ได้
ธงชัย ชคัตประสิทธิ์ ผู้กำกับและนักข่าวพลเมือง กล่าวว่า ในฐานะคนทำข่าว เราไม่สามารถนำเสนอทุกอย่างได้ทั้งหมด ต้องปกป้องแหล่งข่าวเราด้วย มีหลายครั้งสิ่งที่สื่อเสนอไปละเมิดแหล่งข่าว ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปต้องมีความระวังด้วย แต่หนังสามารถเล่าเรื่องได้โดยไม่ต้องกลัวว่าถูกฟ้อง หรือเปิดเผยแหล่งข่าว และหนังสามารถตั้งคำถาม เปิดประเด็นใหม่ได้ หนังกับข่าวจึงทำหน้าที่ต่างกัน แต่สามารถไปเสริมกันได้
คนทำข่าวเป็นเหมือนสื่อกลางที่ไปหาความจริงด้วยตัวเอง หรือจากประจักษ์พยาน ความจริงของแต่ละคนก็อาจไม่เหมือนกัน ถ้าเราไปหาอีกคนจะเจอความจริงอีกชุด ความจริงอาจจะมีหลายชุดก็ได้ ในส่วนหนังนั้นสามารถเอาเรื่องทั้งหมดมาเล่าได้ อาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ เช่น กรณีจะอุ๊ ภาพรวมพื้นที่ เราเห็นว่ากล้องเยอะ พอเกิดเหตุการณ์ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่พิจารณาจากภาพเหตุการณ์ แต่มันกลับถูกปิดเอาไว้ เรื่องนี้มันสะท้อนอะไรบางอย่าง หรือ กรณีการลักลอบตัดไม้ในป่าสาละวิน ก็ยังคงเห็นว่ามีการนำไม้ออกมาเรื่อยๆ ไม่สามารถสาวไปถึงตัวการหรือทำอะไรได้มากนัก
ธงชัยกล่าวอีกว่า การจัดฉายหนังครั้งนี้จะเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดการย้อนทวนเรื่องราวอีกครั้ง ถึงแม้ว่าว่าสถานการณ์เคยเป็นกระแส แต่เงียบไปเพราะมีเรื่องอื่นๆประเด็นอื่นขึ้นมา หนังครั้งนี้จะทำให้คนในสังคมกลับมาสนใจอีกครั้ง และจะกลับมาทวงถามความจริงที่ยังไม่ถูกเปิดเผย
ธงชัยยังทิ้งท้ายว่า เราต้องทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด รวมตัวกันทำสื่อ สร้างช่องทางสื่อสารของตัวเอง เพื่อให้สังคม ภายนอกรับรู้ เปิดเผยให้นานาชาติรับรู้ เพราะพลังสื่อสารของเราทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับตัวเราว่าเองว่าจะทำมันหรือไม่
สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าสังคมที่ข้อมูลถูกผลิตและส่งผ่านได้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะข้อมูลจะไหลเร็วมาก หากเราไม่สามารถทำให้เรื่องราวของเราให้เป็นประเด็นหลักทางสังคม เรื่องราวของเราจะถูกสร้าง และกลืนหายไป
สำหรับหนังที่ฉายทั้งหมดมีธีมร่วม ทำให้เห็นปัญหาซ้อนทับสามเรื่อง คือ ทัศนคติที่มีชาติพันธุ์ เป็นอุดมการณ์ สองเรื่องกฎหมาย วิสามัญ อุ้มหาย และสามสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งการวิสามัญ อุ้มหาย ไม่ได้เกิดเฉพาะกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เป็นปัญหาที่คนในสังคมเผชิญ เป็นปัญหาของสังคมไทยโดยรวมๆ เมื่อตกเป็นผู้ถูกกระทำแล้วจะกลายเป็นเรื่องที่ยุงยากมาก
พอไปบวกกับอคติทางชาติพันธุ์ที่สังคมไทยมีกับชนกลุ่มน้อย มองว่าคนกลุ่มนี้เป็นปัญหากับสังคมไทย ทำลายป่า สร้างความมั่นคงให้ประเทศ กลายเป็นสองแรงบวก และสามอยู่ภายใต้สถานการณ์แบบปัจจุบัน ที่กลไกทางกฎหมายทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงกลายเป็นสามชั้นซ้อนทับกัน แต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้สังคมไทยดำเนินอยู่ได้ Deep society หรือสังคมพันลึก เป็นกลุ่มคนที่สนใจเรื่องราวทางสังคมฝังรากอยู่ในไทยมายาวนาน แม้ว่าจะไม่มีสิทธิ แต่กลุ่มนี้จะมีโอกาสทำอะไรบางอย่างในอนาคต