ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบเหตุอุทกภัย พร้อมสั่งการให้อพยพชาวบ้านชุมชนริมหนองหาร ออกจากพื้นที่อย่างเร่งด่วน ปภ.สกลนครตั้งศูนย์อพยพชั่วคราว ด้านรองอธิบดีกรมชลประทานจับตามวลน้ำไหลลงโขง
29 ก.ค. 2560 อิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่อ่อนตัวจากพายุเซินกา ทำให้ฝนตกหนักและน้ำไหลหลากเข้าท่วมหลายพื้นที่ ล่าสุด สถานการณ์บริเวณเทศบาลเมืองสกลนครฝนหยุดตกแล้วและปริมาณน้ำลดลง ยังคงมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านเพจเฟซบุ๊ก ท่าอากาศยานสกลนคร กรมท่าอากาศยาน เผยแพร่ข้อมูลล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 18.30 น. ระบุกรมท่าอากาศยานประกาศ NOTAM ปิดทางวิ่ง 05/23 (R/W 05/23) และทางขับสาย A (Taxiway A) ณ ท่าอากาศยานสกลนครต่อไปจนถึงวันจันทร์ที่ 31 ก.ค. 2560 เวลา 23.59 น. เพื่อแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมขังบริเวณทางขับสาย A (Taxiway A)
สำหรับผู้โดยสารที่มีกำหนดการเดินทางในช่วงวันและเวลาดังกล่าว สามารถติดต่อเพื่อเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินหรือขอยกเลิกการเดินทางกับสายการบินได้โดยตรงดังหมายเลขต่อไปนี้ สายการบินไทยแอร์เอเชีย 042 724 134, สายการบินนกแอร์ 042 713 044 และท่าอากาศยานสกลนคร 042 724 044 – 46
ผู้ว่าฯ สกลให้อพยพชาวบ้านชุมชนริมหนองหาร
วันนี้ (29ก.ค.60) ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ส่วนหน้า ศาลากลางจังหวัดสกลนคร ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร พร้อมด้วยกองบัญชาการมณฑลทหารบกที่ 29 และส่วนราชการทุกภาคส่วน ร่วมกันติดตามสถานการณ์น้ำและเป็นศูนย์สั่งการให้ความช่วยเหลือประชาชน
วิทยา จันทร์ฉลอง ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า เบื้องต้นได้จัดเรือท้องแบน 50 ลำ แบ่งเป็น 6 สาย ออกแจกจ่ายถุงยังชีพในเขตเทศบาลนครสกลนคร จัดกระสอบทรายป้องกันเครื่องปั่นไฟของโรงพยาบาลสกลนคร จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 5 แห่ง โดยภาพรวมความเสียหายทั้ง 18 อำเภอ พบผู้ประสบภัยกว่า 6,858 ครัวเรือน 25,799 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 23,331 ไร่ สิ่งสาธารณประโยชน์เสียหาย จำนวน 3 แห่ง
ผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนคร กล่าวอีกว่า ขณะนี้เป็นห่วงชาวบ้านที่อยู่ตามริมน้ำหนองหาร ต้องอพยพอย่างเร่งด่วน เพราะหากมีมวลน้ำมาอีกรอบสอง น้ำจะขึ้นสูงฉับพลันการให้ความช่วยเหลือจะเป็นไปอย่างลำบาก ได้กำชับให้หน่วยเรือที่เข้าไปช่วยเหลือชุมชนริมหนองหาร นำประชาชนออกมาจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด
ปภ.สกลนครตั้งศูนย์อพยพชั่วคราว
ธาราพันธ์ มหาศิริพันธ์ ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดสกลนคร ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ จ.สกลนคร ตั้งศูนย์อพยพชั่วคราวช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ให้ความช่วยเหลือด้านที่พักและอาหาร ภายในศูนย์ทำอาหารแจกจ่ายผู้ประสบภัยภายในศูนย์และบริเวณใกล้เคียง แต่ยังต้องการทั้งอาหารแห้งและวัตถุดิบในการทำอาหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่จะคอยให้ความช่วยเหลือ
สำหรับผู้อยพส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวจึงต้องมีพยาบาลคอยดูแลอยู่ตลอด โดยขณะนี้ยังมีผู้ขอความช่วยเหลือเข้ามาเรื่อยๆ และมีบางส่วนที่ขอออกไปดูบ้านของตัวเองในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อให้สะดวกต่อการช่วยเหลือได้มีการแบ่งพื้นที่ประสบภัยออกเป็น 6 โซนโดยแต่ละโซนจะมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยต่างๆ ประจำตามจุดนั้นๆ และมีผู้คอยประสานงานกับส่วนกลางอยู่ตลอดเพื่อให้กระจายความช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ 5 จุดอพยพช่วยผู้ประสบภัย ได้แก่
1.บริเวณโรงยิมบนศาลากลางจังหวัดเป็นศูนย์ที่ใหญ่ที่สุดขณะนี้มีผู้ประสบภัยภายในศูนย์ 450 คน
2.โรงเรียนอนุบาลสกลนคร ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร มีผู้ประสบภัยภายในศูนย์ 200 คน
3. บ้านพักเด็กและครอบครัว ต.ธาตุนาเวง อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร มีผู้ประสบภัยภายในศูนย์ 20 คน
4. วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร มีผู้ประสบภัยภายในศูนย์ 100 คน
5. วัดป่าสุทธาวาส ถนน สุขเกษม ต.ดงมะไฟ อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร
รายงานสถานการณ์น้ำท่วมภาคอีสานจากกรมบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เมื่อเวลา 7.00 น. หลังจากฝนตกหนักทำให้น้ำไหลหลากท่วมขัง 40 จังหวัด สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 21 จังหวัด ส่วนพื้นที่ที่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ 19 จังหวัด ได้แก่ จ.สกลนคร สุโขทัย ลพบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ศรีษะเกษ มุกดาหาร อุบลราชธานี อุตรดิตถ์ พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน พิจิตร พระนครศรีอยุธยา ระนอง ชุมพร อำนาจเจริญ
สามารถสอบถามขอความช่วยเหลือศูนย์อพยพชั่วคราวช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมได้ผ่านเบอร์ 042-711771 หรือ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 สกลนคร สายด่วน 1784, 042-728-208, 042-728256 ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสกลนคร สายด่วน 1567,042-712094
รองอธิบดีกรมชลประทานจับตามวลน้ำไหลลงโขง
ทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงสถานการณ์น้ำของศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (Swoc)ว่า ฝนที่ตกหนักจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เซินกา” (Sonca) ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร ส่งผลให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำห้วยน้ำบ่อ อ่างเก็บน้ำห้วยเดียก อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น และอ่างเก็บน้ำภูเพ็ก
โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ความจุเก็บกักสูงสุด 2.66 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างฯ 3.05 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 127 ของความจุอ่างฯ ทำให้มีน้ำล้นทำนบดิน และกัดเซาะสันเขื่อนลึกประมาณ 4 ม. ยาว 20 ม. ทำให้มีน้ำทะลักลงสู่ด้านท้าย ไปรวมกับปริมาณน้ำในลำนำธรรมชาติที่มีปริมาณมากอยู่แล้ว จึงทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ
ดังนั้นจุดที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือ เส้นทางการไหลของน้ำในเขตเมืองสกลนครเกือบทั้งหมดจะไหลไปรวมลงสู่หนองหาร และระบายออกทางลำน้ำก่ำเพียงลำน้ำเดียว ก่อนจะไหลไปลงแม่น้ำโขง แต่เนื่องจากลำน้ำก่ำมีปริมาณน้ำเต็มความจุของลำน้ำแล้ว ทำให้การระบายน้ำจากหนองหาร ไม่สามารถระบายได้อย่างสะดวก จึงทำให้เกิดการท่วมขัง เบื้องต้น กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 2 จุด ที่บ่อบำบัดน้ำเสีย จ.สกลนคร และหนองสนม เพื่อเร่งระบายน้ำ หากไม่มีปริมาณน้ำมาเพิ่มเติมคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในเร็ววันนี้
ชลประทานสกลนครเร่งผลักดันน้ำลงแม่น้ำโขง
สภาพพื้นที่มีฝนตกต่อเนื่องมากว่า 2 วัน ในพื้นที่ จ.สกลนคร สมทบกับน้ำที่ไหลลงมาจากเทือกเขาภูพานทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ริมแม่น้ำสายหลัก 4 สาย คือ 1.ลำน้ำอูน 2.ลำน้ำสงคราม 3.ลำน้ำก่ำ และ 4.ลำน้ำยาม ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าจับตาและเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่
วัชรพงษ์ ศรีสำราญ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำ และปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน อ.พังโคน จ.สกลนคร ให้ข้อมูลว่า สถานการณ์ ลำน้ำอูนตอนนี้น้ำล้นตลิ่งไปแล้ว 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมในหลายอำเภอ ดังนี้ อ.พังโคน อ.เจริญศิลป์ อ.วานรนิวาส อ.สว่างแดนดิน มวลน้ำจากลำน้ำอูนจะไหลงสู่ลำน้ำสงคราม ไปลงน้ำโขงที่ อ.ทาอุเทน จ.นครพนม
ขณะที่ลำน้ำก่ำ สถานการณ์น่าเป็นห่วง น้ำได้เข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรแล้ว ตอนนี้ตามเส้นทางน้ำได้มีการติดตั้งเครื่องพลักดันน้ำให้ไหลเร็วขึ้น 4 เครื่อง และจะติดตั้งเพิ่มในเร็ววันนี้อีก 25 เครื่อง เพื่อผลักดันน้ำให้ลงสู่แม่น้ำโขงได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ น้ำจะไหลลำน้ำก่ำลงจะไหลไปที่หนองหาร ผ่าน อ.โคกศรีสุพรรณ และไหลลงสู่น้ำโขงที่ อ.นาแก จ.นครพนม
สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้พื้นที่ทางการเกษตรและนาข้าวเสียหาย หากฝนตกต่อเนื่องอาจทำให้มวลน้ำเพิ่มขึ้นและไหลช้าลง อย่างไรก็ตามคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ในสัปดาห์นี้