จับตาการประชุม CEDAW อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบที่เจนีวา นักปกป้องสิทธิผู้หญิงจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย – สกต.เข้าร่วม พร้อมชวนติดตามความเคลื่อนไหวผ่านเพจเฟซบุ๊ก “จากเจนีวาสู่ไทยแลนด์ ภารกิจแม่หญิงตามติดประชุม CEDAW”
รวมส่งกำลังให้แม่ๆก่อนขึ้นเครื่อง 9 โมงนี้ค่ะ
โพสต์โดย The Story of แม่หญิงไฟ้ท์ เมื่อ วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2017
2 ก.ค. 2560 เมื่อช่วงเช้าวันที่ 1 ก.ค. 2560 วิรอน รุจิไชยวัฒน์ หรือ แม่ไม้ ตัวแทนจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย และ ปรีดา ปานเมือง หรือ หนุ่ย กรรมการฝ่ายสตรีสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ออกเดินทางไปที่เมืองเจนรีวา ร่วมติดตามการประชุมเพื่อรายงานสถานการณ์ของผู้หญิงในประเทศไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women : CEDAW) และร่วมรายงานถึงสถานการณ์ของผู้หญิงในประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้ด้วย
สืบเนื่องจากวันที่ 5 ก.ค.ที่จะถึงนี้ รัฐบาลไทยจะต้องเข้าร่วมรายงานสถานการณ์ของผู้หญิงในประเทศไทย ภายใต้อนุสัญญา CEDAW ซึ่งเป็นอนุสัญญาเพื่อสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่มุ่งเน้นสิทธิสตรี รวมถึงประเด็นต่าง ๆ ด้านสิทธิมนุษยชน ของสตรีทั่วโลก และยังเป็นหนึ่งในสนธิสัญญาแห่งสหประชาชาติ ที่รัฐภาคีให้สัตยบรรณเป็นวงกว้างที่สุดทั่วโลก
“ตื่นเต้นมากเลย กังวลมากไปต่างประเทศเป็นครั้งแรกเลย ไม่เคยออกจากบ้าน จากป่าไกลขนาดนี้มาก่อน นี่ให้ลุงเขาสานหวดนึ่งข้าวให้ใหม่เลย จะได้เอาไปนึ่งข้าวกินที่นั่นได้ เขาบอกว่ามีหม้อนึ่งข้าวได้” แม่ไม้ ตัวแทนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิจากกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด บอกเล่าความรู้สึกด้วยน้่ำเสียงกังวลถึงการเดินทางไกลครั้งนี้ แต่ไม่ว่าจะกังวลแค่ไหน การเดินทางไกลครั้งนี้ก็มีประโยชน์ของชุมชนอยู่ข้างหลัง จึงต้องทำให้ได้
แม่ไม้บอกด้วยว่าเธอได้รวบรวมข้อมูลของผู้หญิงกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย ที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองและชาวบ้านในชุมชนจากเหมืองแร่ที่เข้าทำลายสิ่งแวดล้อมและบ้านเกิดของพวกเธอ จนผู้หญิงเหล่านี้ต้องถูกฟ้องร้องในข้อหาร่วมกันชุมนุมสาธารณะและในอีกหลายข้อหา นอกจากนั้นยังถูกข่มขู่และทำร้ายร่างกาย ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำเสนอให้ผู้เข้าร่วมประชุม CEDAW ด้วย
ด้าน ปรีดา กรรมการฝ่ายสตรีสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ในฐานะตัวแทนผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาต่อสู้พร้อมกันกับผู้ชายในชุมชนเพื่อการเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินในรูปแบบโฉนดชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ ในฐานะสมาชิกของ สกต. โดยในการต่อสู้เพื่อมีชาวบ้านผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ถูกลอบสังหารไปเป็นจำนวนมาก การเดินทางของเธอในครั้งนี้ เพื่อเป็นหนึ่งในตัวแทนสตรีนักปกป้องสิทธิที่จะร่วมส่งเสียงให้เวทีประชุม CEDAW ได้ทราบว่ายังมีผู้หญิงในประเทศไทยอีกจำนวนมากที่ไม่มีสิทธิในที่ดินทำกิน ถูกเลือกปฏิบัติ ถูกข่มขู่ทำร้ายร่างกาย และถูกลอบสังหาร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเทศไทย ได้เป็นภาคี เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2528 และมีผลบังคับใช้กับไทย เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2528 และนอกจากรัฐบาลไทยที่จะต้องเข้าร่วมรายงานสถานการณ์ในวันที่ 5 ก.ค.นี้ องค์กร Protection international (PI) สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) และสมาคมผู้หญิงกฎหมายและการพัฒนาแห่งเอเซียแปซิฟิก (APWLD) ยังได้จัดทำรายงานสถานการณ์ของภาคประชาสังคมเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้หญิงที่ถูกละเมิดสิทธิภายใต้อนุสัญญาฉบับนี้ในประเทศไทย
อีกทั้งได้เชิญผู้หญิงจาก 2 เครือข่าย คือ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดจังหวัดเลย และตัวแทนผู้หญิงจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ที่ถูกละเมิดสิทธิจากการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง และการเข้าไม่ถึงสิทธิในที่ดินทำกินไปร่วมติดตามการประชุมและร่วมรายงานถึงสถานการณ์ของผู้หญิงในประเทศไทยในการประชุมครั้งนี้ด้วย
ปราณม สมวงศ์ ตัวแทนจาก PI กล่าวว่า ในอนุสัญญา CEDAW มีหลักการสำคัญ 3 ประการคือ 1.ความเสมอภาคเชิงเนื้อหา หรือความเสมอภาคเชิงผลลัพธ์ 2.การไม่เลือกปฏิบัติ และ 3.พันธกรณีที่รัฐต้องปฏิบัติตาม ซึ่งหลักการทั้ง 3 ประการนี้ เน้นย้ำว่า ความเสมอภาคจะต้องเกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มิใช่เฉพาะ “บนกระดาษ” การมีเพียงกฎหมายและนโยบายยังไม่เพียงพอ หากผู้หญิง ยังไม่ได้รับความเสมอภาคในชีวิตประจำวัน
ปราณม กล่าวด้วยว่า อนุสัญญา CEDAW มีบทบัญญัติที่ครอบคลุมการส่งเสริม การคุ้มครอง และการทำให้สิทธิมนุษยชนของผู้หญิงเป็นจริง โดยอนุสัญญานี้ ผูกพันรัฐให้ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบโดยไม่ชักช้าและโดยทุกวิถีทางที่เหมาะ สม รวมทั้งในการตรากฎหมายด้วย
อย่างไรก็ตามแม้อนุสัญญา CEDAW จะมีข้อผูกพันที่รัฐไทยต้องดำเนินการ แต่การเลือกปฏิบัติในทุกด้าน ยังคงเกิดขึ้น รวมทั้งด้านนโยบายกฎหมายด้วย กฎหมายที่เลือกปฏิบัติยังคงจำกัด ห้าม หรือไม่รับรองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง และ ยังคงปล่อยให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้น กฎหมายเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงไม่ได้ใช้สิทธิมนุษยชนของตน และไม่ได้พัฒนา ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มีบทบาทสำคัญในการปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่พวกเธอยังตกภายใต้การข่มขู่คุกคาม
“ในการประชุมในครั้งนี้เราได้จัดทำรายงานคู่ขนานกับรัฐไทยเรื่องสถานการณ์ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและข้อสเนอแนะต่อรัฐไทย จึงอยากเชิญชวนร่วมติดตามการประชุมในครั้งนี้อย่างใกล้ชิด และอยากเชิญชวนเป็นส่งกำลังใจให้กับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทั้ง 2 ท่านที่ได้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้” ตัวแทนจาก PI ระบุ
ทั้งนี้ PI ได้จัดทำเพจแฟซบุ๊กชื่อ “จากเจนีวาสู่ไทยแลนด์ ภารกิจแม่หญิงตามติดประชุม CEDAW” โดยประชาชนสามารถติดตามการรายงานข่าวสารการเข้าร่วมประชุม 2 ตัวแทนนักสิทธิผู้หญิงจากประเทศไทยได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป