กลุ่มรักษ์น้ำอูนเข้ากรุง จับตา ‘คชก.’ พิจารณา EIA โครงการโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล จ.สกลนคร ชี้ปรับลดกำลังการผลิตลง ย่อมกระทบ EIA ทั้งยังไม่ชี้แจงพื้นที่เหลือจะใช้ประโยชน์อย่างไรในอนาคต ด้าน คชก. ลงแจงชาวบ้าน ไม่เห็นชอบรายงานรอบที่ 2 หลังพิจารณาเกือบ 5 ชั่วโมง
12 มิ.ย.2560 เวลา 13.00 น.ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ด้านอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคที่สนับสนุน ได้มีการประชุมเพื่อพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA/อีไอเอ) โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทราย ของบริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด (ฉบับปรับปรุง)
ตัวแทนกลุ่มรักษ์น้ำอูนจำนวนหนึ่งได้เดินทางมาถึง สผ.ตั้งแต่เช้าตรู่เพื่อคอยติดตามผลการประชุม ภายหลังจากที่ทราบว่าได้มีการส่งรายงานฉบับปรับปรุงเข้ามายัง สผ. เมื่อวันที่ 26 พ.ค. 2560 และจะมีการประชุม คชก. เพื่อพิจารณารายงานในวันนี้ (12 มิ.ย.2560) โดยที่กลุ่มรักษ์น้ำอูนได้ทำหนังสือไปยังเลขาธิการสผ. เพื่อขอเข้าชี้แจงข้อห่วงกังวลและปัญหาเรื่องโครงการโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ จ.สกลนคร ในการประชุมครั้งนี้ พร้อมกันนี้ได้มีตัวแทนของประชาสังคมจังหวัดสกลนครเข้าร่วมชี้แจ้ง พร้อมทั้งนักวิชาการในท้องถิ่นบางส่วนได้ส่งเอกสารชี้แจงมาก่อนหน้านี้แล้ว
ต่อมาในเวลาเกือบ 18.00 น. ภายหลังจากที่ประชุม คชก. ได้มีมติแล้ว นายอิศรพันธ์ กาญจนเรขา ผู้อำนวยการกลุ่มงานอุตสาหกรรม สำนักวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฝ่ายเลขา คชก. ได้เดินมาแจ้งแก่สมาชิกกลุ่มรักษ์น้ำอูนที่มาเฝ้ารอติดตามฟังผลการพิจารณาจนย่ำเย็น ว่า คชก.มีมติไม่เห็นชอบรายงาน EIA และบริษัทจะต้องแก้ไขรายงานเข้ามาใหม่
ทั้งนี้ โครงการโรงงานผลิตน้ำตาลทรายแห่งนี้ จะตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร รายงานก่อนหน้านี้ได้ระบุกำลังการผลิต โรงงานน้ำตาลในระยะที่ 1 ขนาด 12,5000 ตันอ้อยต่อวัน และระยะที่ 2 กำลังการผลิต 40,000 ตันอ้อยต่อวัน และในบริเวณเดียวกันจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลกำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ในระยะแรก และขยายเป็น 114 เมกะวัตต์ในระยะสอง แต่ภายหลังรายงานอีไอเอไม่ผ่านการพิจารณาในรอบแรก บริษัทระบุว่าจะลดกำลังการผลิตลง 12,500 ตันอ้อย/วัน และโรงไฟฟ้าชีวมวลก็ลดกำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ลงเช่นกัน
บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด หรือ “กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง” ภายใต้เครื่องหมายการค้า ‘ลิน’ เป็นกลุ่มผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ของประเทศมีสายการผลิตทั่วประเทศ
การประชุมพิจารณารายงาน EIA (ฉบับปรับปรุง) ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ครั้งนี้ ดำเนินการหลังจากที่ คชก. มีมติไม่เห็นชอบรายงานฉบับหลัก 14 ประเด็นหลัก และ 163 ประเด็นย่อย เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2559 โดยตัวมีตัวแทนกลุ่มรักษ์น้ำอูน และตัวแทนฝ่ายบริษัทเข้าชี้แจงต่อคณะ คชก.ด้วย
บำเพ็ญ ไชยรักษ์ ชาวบ้านโคกสะอาด ตัวแทนกลุ่มรักษ์น้ำอูนที่เข้าชี้แจงกับ คชก. กล่าวว่าประเด็นสำคัญที่ได้ชี้แจงต่อ คชก. คือเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญในรายงาน EIA ฉบับปรับปรุง คือการปรับลดกำลังการผลิตลงจากรายงานฉบับหลักที่ไม่ผ่านความเห็นชอบก่อนหน้านี้ ซึ่งหากมีการปรับลดกำลังการผลิตลงย่อมทำให้สาระสำคัญของพื้นที่และผังโครงการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญต่อการพิจารณาผลกระทบและมาตรการในการป้องกันด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอันเป็นเจตนารมณ์สำคัญของการพิจารณารายงาน EIA
ที่สำคัญยังไม่มีคำชี้แจงว่าพื้นที่เหลือจากผังการก่อสร้างโครงการเดิมมีแผนการใช้ประโยชน์อย่างไร มีโครงการอะไรในอนาคต ไม่มีการระบุถึงแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในอนาคตที่ชัดเจน
นอกจากนี้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ตั้งโครงการก่อนที่รายงาน EIA จะได้รับความเห็นชอบ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพขณะจัดทำการศึกษา อันเป็นการดำเนินการก่อนได้รับความเห็นชอบรายงาน EIA ซึ่งตามรายงานการประชุม คชก. ที่ได้มีมติไม่เห็นชอบรายงาน EIA (14 ธ.ค. 2559) ก็ได้ระบุชัดเจนว่า จากการตรวจสอบพื้นที่ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2559 พบว่า โครงการได้ดำเนินการตัดต้นไม้ ปรับสภาพพื้นที่ และเตรียมรังวัดที่ดินเพื่อขุดบ่อเก็บน้ำดิบต่าง ๆ ภายในพื้นที่โครงการแล้ว ซึ่งถือเป็นการดำเนินการก่อสร้างก่อนที่จะได้รับความเห็นชอบรายงาน EIA และไม่สอดคล้องกับแบบแสดงรายละเอียดการเสนอรายงาน (สผ.6) ที่นำเสนอในรายงานฯ เดือนต.ค. 2559 ซึ่งระบุสถานภาพโครงการยังไม่ดำเนินการก่อสร้าง
อีกทั้งในตอนนั้น คชก. ได้มีความเห็นว่า เห็นควรให้ฝ่ายเลขามีหนังสือแจ้งกรมโรงงานอุตสาหกรรม และองค์การบริหารส่วนตำบล ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาสั่งอนุญาต พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง
ชาติชาย พุทธิไสย ผู้ใหญ่บ้านโคกสะอาด ต.อุ่มจาน กล่าวว่าที่ผ่านมาบริษัทได้มีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่หรือก่อสร้างโครงการก่อนได้รับอนุญาต เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่พื้นที่สาธารณะ เช่น ลำห้วยสาธารณะ หนองน้ำสาธารณะ และระบบนิเวศในพื้นที่ เช่น การถมคลองดินที่ อบต.ขุดเพื่อประโยชน์สาธารณะ นอกจากนี้ในพื้นที่โครงการยังมีถนนสาธารณะหลายเส้นผ่านกลางพื้นที่โครงการ ซึ่งหากมีการดำเนินการก่อสร้างจะเกิดผลกระทบต่อการใช้ประโยชน์สาธารณะร่วมกัน
การเปลี่ยนแปลงพื้นที่โครงการครั้งนั้นยังได้ก่อความขัดแย้งกับประชาชนในพื้นที่ โดยในช่วงปลายปี 2559 ชาวบ้านได้เห็นการนำเครื่องจักรเข้าบุกเบิกเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ตั้งโครงการ จนเป็นเหตุให้มีชาวบ้านในนามกลุ่มรักษ์น้ำอูนร่วมกันลงชื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกองค์การบริหารตำบลอุ่มจาน เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2559 เพื่อขอให้ระงับการดำเนินการบุกเบิกพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทางสาธารณะและลำรางสาธารณะ และยื่นหนังสือต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มจาน เพื่อคัดค้านโครงการฯ เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2560
แต่ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2560 ศาลจังหวัดสกลนครได้มีหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องถึงชาวบ้าน 20 คน ในคดีที่บริษัท ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ยื่นฟ้อง นางสาวเดือนเพ็ญ สุดไชยา และพวกรวม 20 คน ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มรักษ์น้ำอูน ชาวบ้านโคกสะอาด ต.อุ่มจาน อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร กล่าวหาว่า ชาวบ้านทั้ง 20 คน หมิ่นประมาท อันเนื่องมาจากการใช้สิทธิโดยสุจริตยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ อบต. ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องของศาลจังหวัดสกลนคร
ที่มาภาพ: Supaporn Malailoy