1 มิถุนายน 2560 ศาลจังหวัดสกลนครนัดไกล่เกลี่ยคดีฟ้องชาวบ้านหมิ่นประมาทบริษัทเจ้าของโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ระหว่างบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด กับสมาชิกกลุ่มรักษ์น้ำอูน หลังไต่สวนมูลฟ้องครั้งแรก 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา
ที่มา : กลุ่มรักษ์น้ำอูน
สืบเนื่องเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2560 ศาลจังหวัดสกลนครได้กำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 6640/2560 ระหว่างบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด โจทก์ กับนางสาวเดือนเพ็ญ สุดไชยา กับพวกรวม 20 คน จำเลย กรณีบริษัทไทยรุ่งเรือง อุตสาหกรรม จำกัด เจ้าของโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวลในจังหวัดสกลนคร ยื่นฟ้องหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยเอกสารต่อสมาชิกกลุ่มรักษ์น้ำอูน ตำบลอุ่มจาน อำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนคร 20 ราย กรณีลงชื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มจาน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2559 เพื่อขอให้ระงับการดำเนินการบุกเบิกพื้นที่และก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเพื่อรองรับการพัฒนาโครงการโรงงานน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทางสาธารณะและลำรางสาธารณะและยื่นหนังสือฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2559 เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อศาลเรียกผู้เกี่ยวข้องเข้าห้องพิจารณา ทนายความฝ่ายโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 11 และที่ 12 โดยอ้างว่า โจทย์ทราบว่าจำเลยที่ 11 และที่ 12 ไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิด และแถลงว่าโจทก์ยังไม่ได้พูดคุยกับกลุ่มชาวบ้าน และจำเลยทั้ง 20 คนเกี่ยวกับข้อร้องเรียนคัดค้านการตั้งโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลของบริษัทของโจทก์ จึงขอเลื่อนคดีเพื่อไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวกับกลุ่มชาวบ้านก่อนหากตกลงกันได้ก็จะมาแถลงต่อศาลในนัดหน้า ฝ่ายจำเลยไม่ค้าน
โดยทั้งสองฝ่ายจึงตกลงนัดไกล่เกลี่ย ณ ศูนย์ไกล่เกลี่ยประจำศาลจังหวัดสกลนคร ในวันที่ 1 มิถุนายน 2560 นี้ และกำหนดนัดพร้อมในวันที่ 6 กรกฎาคม 2560 เวลา 09.00 น.
กลุ่มรักษ์น้ำอูน เป็นกลุ่มประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่มารวมตัวกันด้วยความสมัครใจ โดยเริ่มมีการรวมกลุ่มตั้งแต่ปี 2554 ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 เรื่องการย้ายสถานที่ตั้งหรือการขอนำกำลังการผลิตไปตั้งที่ใหม่และขยายกำลังการผลิต โดยให้บริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด ย้ายเครื่องจักรที่มีกำลังการผลิต 2,000 ตันอ้อย/วัน และขยายกำลังการผลิตเป็น 12,500 – 40,000 ตันอ้อย/วัน มาตั้งโรงงานผลิตน้ำตาลทรายอยู่ที่ตำบลอุ่มจาน ซึ่งต่อมาบริษัทได้มาชี้แจงว่าในพื้นที่เดียวกันกับที่ตั้งโรงงานน้ำตาลนั้นจะมีโครงการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล 48 – 114 เมกะวัตต์ ของบริษัทไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม จำกัด พร้อมกันด้วย
ในระยะแรกกลุ่มรักษ์น้ำอูนก่อตั้งขึ้นมาเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสารและทำหนังสือร้องเรียนให้มีการตรวจสอบโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดสกลนคร ต่อหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในปี 2555 (ร้องเพิ่มเติมในปี 2559) ซึ่ง กสม.ได้มีการดำเนินการจัดเวทีตรวจสอบตามที่ได้ร้องไป 2 ครั้ง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในลุ่มน้ำอูน อย่างต่อเนื่อง เช่น ร่วมกับโปรแกรมวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สำรวจความหลากหลายทางชีวภาพพืชพรรณสัตว์น้ำในลุ่มน้ำอูน เมื่อปี 2557 และได้นำเสนอผลการศึกษาต่อหน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและศิลปกรรม จังหวัดสกลนคร และองค์การบริหารส่วนตำบลอุ่มจาน ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร สำรวจลักษณะความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและระบบนิเวศในชุมชนลุ่มน้ำอูน กิจกรรมอนุรักษ์ฟื้นฟูพันธุ์ข้าวพื้นเมือง สามารถรวบรวมฟื้นฟูพันธุ์ข้าวพื้นบ้านกว่า 100 สายพันธุ์ เป็นต้น
ปัจจุบันกลุ่มรักษ์น้ำอูน ได้ดำเนินกิจกรรมอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง และกว้างขวางขึ้นกว่าการติดตามตรวจสอบโครงการโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล และดำเนินกิจกรรมติดตามตรวจสอบโครงการพัฒนาที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชน เช่น กลุ่มรักษ์น้ำอูน ได้ร้องขอใช้สิทธิ์ตามมาตรา 11 พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ให้มีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพต่อนิเวศวัฒนธรรมในลุ่มน้ำอูน กรณีโครงการโรงงานผลิตน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล จังหวัดสกลนคร ตลอดจนดำเนินกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นเรื่อยมาจนปัจจุบัน