รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช : อ่านระหว่างบรรทัดแถลงการณ์บีอาร์เอ็น เปิดแนวรบการเมืองระหว่างประเทศ

รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช : อ่านระหว่างบรรทัดแถลงการณ์บีอาร์เอ็น เปิดแนวรบการเมืองระหว่างประเทศ

10 เม.ย. 2560 สื่อมวลชนไทยต่างระดมรายงานข่าวการเผยแพร่แถลงการณ์ของ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ถึงการเจรจาเพื่อสันติภาพแห่งปาตานี ภายหลังจากที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบกว่า 26 จุด ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้รวมทั้ง 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาในช่วงกลางดึกของคืนวันที่ 6 เม.ย. ที่ผ่านมา

ที่มาแถลงการณ์: http://telegra.ph/BRN-STATEMENT-10-APRIL-2017-04-09

 

ต่อไปนี้คือบทวิเคราะห์ของ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช นักวิจัยอิสระที่ศึกษาเรื่องความขัดแย้งในภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกอยู่ที่ Australian National University ต่อแถลงการณ์ดังกล่าว และสิ่งที่พวกเขาต้องการบอกให้เราได้รู้

0000

บีอาร์เอ็นไม่ได้สื่อสารกับสาธารณะมานาน การออกแถลงการณ์ครั้งสุดท้ายคือเมื่อเดือนตุลาคม 2558 แถลงการณ์ครั้งนี้ออกมาในท่ามกลางเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นหลายระลอก การปฏิบัติการที่ใช้คนมากที่สุดคือในคืนวันศุกร์ที่ผ่านมาซึ่งมีการก่อเหตุระเบิดและเผาใน 18 อำเภอทำให้เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้างในปัตตานี การโจมตีนั้นต้องการแสดงให้เห็นศักยภาพทางการทหารมากกว่าทำลายชีวิต ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเครือข่าย “นักรบฟาตอนี” ยังคงมีอยู่อย่างกว้างขวาง

แถลงการณ์นี้ออกในนามของ “BRN Information Bereau” ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่ออกแถลงการณ์เมื่อสองปีก่อนซึ่งนำโดยนายอับดุลการิม คาลิบ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแทนการพูดคุยของปาร์ตี้บีในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

หัวใจสำคัญของแถลงการณ์อยู่ที่ข้อเสนอ 3 ข้อดังนี้

  1. การพูดคุยต้องเกิดจากความต้องการของทั้งสองฝ่ายซึ่งสมัครใจที่จะหาทางออกร่วมกันและจะต้องมีบุคคลที่สาม (ประชาคมนานาชาติ) เป็นผู้สังเกตการณ์
  2. ผู้ไกล่เกลี่ยต้องมีความน่าเชื่อถือและมีคุณสมบัติที่เป็นไปตามมาตรฐานการปฏิบัติของนานาชาติ เช่น ต้องมีความเป็นกลาง ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้ไกล่เกลี่ยจะต้องดำเนินการพูดคุยตามกระบวนการที่คู่เจรจาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงกัน
  3. กระบวนการเจรจานั้นต้องได้รับการออกแบบและได้รับความเห็นชอบจากคู่เจรจาทั้งสองฝ่ายก่อนเริ่มต้น

กล่าวโดยรวม ข้อเสนอ 3 ข้อนี้สะท้อนถึงสิ่งที่บีอาร์เอ็นน่าจะเห็นว่าเป็นความบกพร่องของการพูดคุยภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งนับว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ของการแก้ไขปัญหาในภาคใต้เพราะเป็นครั้งแรกที่มี “การพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ” โดย พล.ท. ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติในขณะนั้นและนายฮัสซัน ตอยิบ ตัวแทนของบีอาร์เอ็นได้ลงนามในฉันทามติร่วมว่าด้วยกระบวนการพูดคุยสันติภาพ (General Consensus on Peace Dialogue Process) ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 การพูดคุยดำเนินไปหลายเดือนอย่างกระท่อนกระแท่นจนในที่สุดก็ต้องยุติลงเมื่อรัฐบาลประกาศยุบสภา

ในแถลงการณ์นี้ บีอาร์เอ็นเรียกร้องว่ากระบวนการการพูดคุยจะต้องได้รับการออกแบบและเห็นชอบจากทั้งสองฝ่ายตั้งแต่ต้น ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การริเริ่มเกิดจากเจรจากันระหว่างรัฐบาลไทยและมาเลเซีย โดยทางมาเลเซียได้พยายามร้องขอ แกมบีบบังคับให้บีอาร์เอ็นเข้าร่วมโดยแทบไม่มีเวลาตั้งตัว การปรึกษาหารือในสภาองค์กรนำ (Dewan Pimpinan Parti –DPP) เกิดขึ้นหลังการลงนามไปแล้ว แต่ก็มีมติให้เดินหน้าต่อ บีอาร์เอ็นไม่ได้เข้าร่วมอย่างเต็มที่ในช่วงแรก แต่ก็ได้พยายามพลิกเกมด้วยการยื่นข้อเสนอ 5 ข้อในเวลาต่อมา

เงื่อนไข 5 ข้อได้แก่

  1. รัฐบาลไทย (หรือที่พวกเขาเรียกว่า “นักล่าอาณานิคมสยาม”) ต้องยอมรับให้มาเลเซียเป็นผู้ไกล่เกลี่ย (mediator) ไม่ใช่แค่ผู้อำนวยความสะดวก (facilitator)
  2. การพูดคุยจะเกิดขึ้นระหว่างชาวปาตานีซึ่งนำโดยบีอาร์เอ็นกับรัฐบาลไทย
  3. ในการพูดคุยจะต้องมีพยานจากประเทศอาเซียน OIC และองค์กร NGO ต่างๆ
  4. รัฐบาลไทยต้องยอมรับว่าชาวมลายูปาตานีมีสิทธิในความเป็นเจ้าของดินแดนปาตานี
  5. รัฐบาลไทยต้องปล่อยผู้ถูกคุมขังในคดีความมั่นคงทุกคนและยกเลิกหมายจับทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคดีความมั่นคงโดยไม่มีเงื่อนไข

ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นทำให้รัฐบาลไทยไม่สามารถจะเดินหน้าต่อได้เพราะไม่สามารถหาคำตอบร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ มีการขอให้ทางบีอาร์เอ็นเขียนอธิบายข้อเรียกร้องเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งในช่วงนั้นมาเลเซียเองก็เข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญและอาจจะเรียกว่า “ล้ำเส้น” มีข้อกังขาเกี่ยวกับบทบาทของมาเลเซียในเรื่องความเป็นกลาง มีการตั้งข้อสงสัยว่ามาเลเซียอาจจะมีส่วนอย่างสำคัญในการร่างคำอธิบายข้อเรียกร้องใน “เอกสาร 38 หน้า” เพื่อผลักให้การพูดคุยเดินต่อไปได้ ซึ่งในช่วงนั้นทางฝ่ายทหารของบีอาร์เอ็นได้ออกมาประกาศผ่านยูทูปไปแล้วว่าขอยุติการพูดคุยกับรัฐบาลไทย

เนื้อหาบางตอนในแถลงการณ์นี้จึงมีน้ำเสียงวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นกลางของ “ผู้ไกล่เกลี่ย” (หรือในภาษาที่รัฐบาลไทยยอมรับได้คือ “ผู้อำนวยความสะดวก”) อยู่มากพอสมควร ดังที่ได้ระบุไว้ในข้อที่ 2 ของข้อเสนอแนะ แกนนำของบีอาร์เอ็นเองมีความสัมพันธ์แบบ “ทั้งรักทั้งกลัว” มาเลเซีย เป็นความลับที่รู้กันดีว่าผู้นำของบีอาร์เอ็นหลายคนอาศัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านนี้ ฉะนั้นมาเลเซียจึงมีอำนาจกดดันให้พวกเขาเข้าร่วมการพูดคุย มิเช่นนั้นก็อาจเสี่ยงที่จะถูกจับกุมหรือส่งกลับประเทศไทย การพึ่งพิงมีผลทำให้พวกเขาต้องเกรงใจ ก่อนหน้านี้ก็มีกระแสข่าวถึงข้อเสนอที่จะให้ประเทศอื่นเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกแทน ซึ่งหากเป็นไปได้ก็จะทำให้บีอาร์เอ็นมีอิสระในการต่อรองมากขึ้น

ข้อเสนอใหญ่สุดในแถลงการณ์ดูจะเป็นเรื่องการร้องขอให้ประชาคมนานาชาติเข้ามามีส่วนร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์และการปฏิบัติตามหลักสากล ประเด็นหนึ่งที่ฝ่ายขบวนการปลดปล่อยปาตานีพึงพิจารณาคือการเรียกร้องในเรื่องนี้ย่อมหมายรวมถึงการที่ฝ่ายขบวนการจะต้องถูกตรวจสอบตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศด้วย เหตุการณ์ความรุนแรงหลายครั้งที่ผ่านมามีพลเรือนผู้บริสุทธิ์ที่ตกเป็นเหยื่อ โดยเฉพาะเด็ก องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศได้ออกมาประณามเหตุการณ์เหล่านี้อย่างรุนแรง

ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมากเกี่ยวกับการพูดคุยสันติภาพ/สุข ในปัจจุบันคือมาราปาตานีนั้นคุมกองกำลังในพื้นที่ได้เพียงไร บีอาร์เอ็นเข้าร่วมด้วยหรือไม่ เป็นที่ชัดเจนว่าบีอาร์เอ็นไม่ได้เข้าร่วมการพูดคุยในกรอบปัจจุบัน สมาชิกบีอาร์เอ็นที่เข้าร่วมกับมาราปาตานีมาในนามส่วนตัว มีความเห็นที่แตกต่างกันของสมาชิกบีอาร์เอ็นในเรื่องการพูดคุยสันติภาพ บีอาร์เอ็นในฐานะองค์กรยังยืนยันเรื่องข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ในขณะที่สมาชิกบางส่วนต้องการที่จะเปิดโอกาสและทดลองดู สิ่งที่ควรจะย้ำคือไม่มีกลุ่มใดที่ออกมาปฎิเสธกระบวนการสันติภาพในเชิงหลักการ ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ระหว่างบีอาร์เอ็นกับมาราปาตานีอาจจะไม่ถึงกับเป็นศัตรู แต่มีลักษณะของการแข่งขันกันอยู่

หลักใหญ่ใจความในแถลงการณ์นี้เป็นการย้ำข้อเสนอเดิมที่ได้เคยยื่นให้กับรัฐบาลไทยไปแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง อาจมองได้ว่าบีอาร์เอ็นลดจำนวนข้อเรียกร้องลงก็เป็นได้เพราะไม่ได้พูดถึงทั้ง 5 ข้อ บีอาร์เอ็นอาจกำลังพยายามเสนอกรอบการพูดคุยใหม่ที่แยกต่างหากจากมาราปาตานี การเคลื่อนไหวครั้งนี้อาจเป็นความพยายามแย่งชิงการนำ แต่ก็คาดเดาได้ไม่ยากว่าข้อเรียกร้องนี้จะถูกปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงเช่นเคย เพราะประเด็นเรื่องการยกระดับไปสู่สากล (internationalization) เป็นสิ่งที่รัฐไทยหวาดกลัวที่สุด ซึ่งก็เป็นปัญหาใหญ่ที่มาราปาตานีประสบมาโดยตลอด

ถ้าใครจะสามารถทำให้รัฐไทยสามารถทะลุกรอบคิดหรือมายามติในเรื่องนี้ได้ กระบวนการสันติภาพในภาคใต้ก็คงจะเดินหน้าไปกว่านี้มากแล้ว

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ