อ่าน ‘คำแถลงของประธาน กสม.’ หลัง ‘หมอสุรเชษฐ์’ ลาออกเหตุปัญหาบรรยากาศการทำงาน

อ่าน ‘คำแถลงของประธาน กสม.’ หลัง ‘หมอสุรเชษฐ์’ ลาออกเหตุปัญหาบรรยากาศการทำงาน

10 เม.ย. 2560 – หลังจากเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 น.พ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย ได้ทำหนังสือถึงประธาน กสม. เพื่อขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยระบุเหตุผลของการลาออก คือ 1.บรรยากาศไม่เอื้อให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์ อาจทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับตนเองมีอายุเกิน 60 ปี และมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง การเกิดความเครียดบ่อยๆ ส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นจนอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ และ 2.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 จะมีผลบังคับใช้ ทำให้สามารถสรรหากรรมการท่านอื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทนได้

“ผมก็เลยจำเป็นต้องฮาราคีรีตัวเองเพื่อให้องค์กรรู้ตัวบ้าง ซึ่งก็หวังว่าการลาออกของผมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงจากภายในสำคัญที่สุด องค์กรต้องเข้มแข็ง ต้องเดินหน้าเพราะองค์กรนี้เป็นประโยชน์กับสังคม ตัวบุคคลมาแล้วมันก็ต้องไป ตัวกรรมการสิทธิฯ มาแล้วก็ต้องไป” นพ.สุรเชษฐ์ ให้สัมภาษณ์กับมติชนออนไลน์

เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา เว็บไซต์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่ข้อมูลคำแถลงของประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เรื่อง การลาออกของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แจง น.พ.สุรเชษฐ์ลาออกเป็นดุลยพินิจเฉพาะตัว ทั้งไม่เข้าใจบรรยายกาศไม่เอื้อต่อการทำงานหมายถึงอะไร ระบุทุกองค์กรในสังคมระดับประเทศและระหว่างประเทศรวมทั้งองค์กรแห่งนี้ย่อมมีปัญหาในการทำงาน ดังนั้น บุคคลในแต่ละองค์กรจึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่มีให้ลุล่วงไปได้
คำแถลงระบุรายละเอียด ดังนี้

คำแถลงของประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
เรื่อง การลาออกของกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ตามที่มีกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2560 และต่อมามีการให้ข่าวและความเห็นต่าง ๆ ผ่านสื่อมวลชนมาเป็นลำดับ นั้น

เพื่อให้สาธารณชนทั่วไปทราบถึงปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ถูกต้องครบถ้วนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติขอชี้แจงให้ทราบดังนี้

1.คำถาม กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพ้นจากตำแหน่งในกรณีใดบ้าง

คำตอบ เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งแล้ว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอาจพ้นจากตำแหน่งได้ 2 กรณี คือ โดยสมัครใจ (คือการลาออก) และโดยไม่สมัครใจ (เช่น ขาดคุณสมบัติ ถูกถอดถอน หรือครบวาระ) การลาออกเป็นเรื่องดุลพินิจเฉพาะตัว ไม่อาจที่จะบีบบังคับหรือเรียกร้องให้มีการลาออกได้ และมีผลทันที

2.คำถาม เมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 จะสามารถดำเนินการสรรหาบุคคลมาเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแทนได้หรือไม่

คำตอบ ไม่สามารถดำเนินการสรรหาได้ กรณีก่อนวันที่ 5 เมษายน 2560 มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 40/2559 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ให้งดเว้นการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (รวมทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการในองค์กรอิสระอื่น) และให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ ดังกล่าว) ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งเท่าที่เหลืออยู่ และแม้ว่าต่อมาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันรุ่งขึ้นนับจากวันที่กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลาออก จะมีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 23/2560 ลงวันที่ 6 เมษายน 2560 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 40/2559 ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2559 ก็ตาม แต่ยังคงให้งดเว้นการสรรหากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (รวมทั้งกรรมการการเลือกตั้งและผู้ตรวจการแผ่นดิน) ต่อไปดังเดิมจนกว่ากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการนั้นจะมีผลใช้บังคับ (โดยอาจใช้เวลาประมาณ 1 ปี) หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

3.คำถาม บรรยากาศการทำงานอย่างไรจึงไม่เอื้อให้เกิดการทำงานที่สร้างสรรค์

คำตอบ ไม่ทราบว่ามีหมายความอย่างไร คงมีรายงานข่าวในสื่อสังคมรายหนึ่งว่า ต้องรอให้ฝุ่นหายหรือจางลงก่อน

4.คำถาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีปัญหาในการทำงานหรือไม่

คำตอบ ทุกองค์กรในสังคมระดับประเทศและระหว่างประเทศรวมทั้งองค์กรแห่งนี้ย่อมมีปัญหาในการทำงาน ดังนั้น บุคคลในแต่ละองค์กรจึงต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาที่มีให้ลุล่วงไปได้ จึงจะเป็นผลดี

5.คำถาม ในการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บางครั้งเสียงข้างน้อยไม่ยอมรับมติเสียงข้างมากจริงหรือไม่

คำตอบ ไม่เป็นความจริง ในการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 3) ส่วนใหญ่มีมติเอกฉันท์ น้อยครั้งที่มีมติไม่เอกฉันท์ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติของทุกองค์กร การขอให้ระบุมติของที่ประชุม ในรายงานผลการตรวจสอบหรือพิจารณาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในกรณีนี้ให้ตรงตามข้อเท็จจริง ย่อมสามารถกระทำได้ ในการทำงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดที่สองถึงขนาดให้ระบุรายละเอียดของการลงมติในรายงาน หรือจะมีหมายเหตุข้างท้ายรายงาน (Footnote) ในหน้าที่มีการลงนามด้วยก็ได้

6.คำถาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต้องทำหน้าที่เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ถูกต้องแท้จริง ถ้าประพฤติตนรับใช้ต่างชาติ บ่อนทำลายประเทศชาติของตน ย่อมเป็นที่เคียดแค้นชิงชังของประชาชน และอยู่ไม่ได้

คำตอบ เห็นด้วยกับคำกล่าวนี้

นายวัส ติงสมิตร
ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
9 เมษายน 2560

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ