มีส่วนร่วมสร้าง ศานสันติสุขสู่ชายแดนใต้

มีส่วนร่วมสร้าง ศานสันติสุขสู่ชายแดนใต้

15-12-54 ศานสันติสุขสู่แดนใต้.mpg (Embedding disabled, limit reached)

          ปรกติเวลาที่หน่วยงานของรัฐดำเนินโครงการหรือก่อสร้างอาคารเพื่อสาธารณะมักจะปรึกษาแค่ผู้เชี่ยวชาญหรือสถาปนิกผู้ออกแบบ แต่ที่เทศบาลนครจังหวัดยะลา มี“โครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติ  7 รอบ 84พรรษา สามจังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่จะสร้างขึ้นในปีหน้า ซึ่งในครั้งนี้มีการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนในจังหวัดเข้าร่วมแลกเปลี่ยนและนำเสนอแนวทางเพื่อให้สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น สามารถตอบสนองความต้องการของคนในพื้นที่ รวมถึงสะท้อนความหลากหลายแต่เป็นหนึ่งเดียวของสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย
            ครั้งนี้ เครือข่ายภาคประชาชนในจังหวัดยะลา ทั้งผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา นักวิชาการ ปราชญ์ชาวบ้าน รวมถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดกับข้าราชการของเทศบาลนครจังหวัดยะลา ในการออกแบบอาคาร โดยผู้ร่วมพูดคุยทุกฝ่ายต้องการให้เป็นอาคารที่สะท้อนอัตลักษณ์ของคนในพื้นที่สามจังหวัด และสามารถใช้ประโยชน์ได้ตรงตามความต้องการของชุมชนมากที่สุด
            ดำรงค์ สุวรรณรัตน์ ที่ปรึกษาชุมชนบ้านร่ม จ.ยะลา หนึ่งในผู้ร่วมวงเสนา กล่าวว่า “การที่ทุกคนทุกฝ่ายมามีส่วนร่วมในการเป็นช่างเจียระไน ออกแบบครั้งนี้ จะช่วยให้ที่ ชิ้นงาน หรือเพชรน้ำงามอันหนึ่ง ซึ่งเป็นเพชรธรรมดาๆนี่แหละ แต่ว่าให้มันมีคุณค่าขึ้นมาด้วยน้ำมือ ด้วยน้ำใจ ด้วยความสามารถของทุกคน”
            เช่นเดียวกับ สุมัยยะห์ ดีมะแอ ตัวแทนจากสภาเด็กและเยาวชนเทศบาลนครยะลา กล่าวถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมคิดในโครงการนี้ว่า อย่างน้อยวันนี้เธอเองก็ได้แสนอแนะในสิ่งที่เธอต้องการ ในฐานะที่เป็นบุคคลที่ต้องใช้ประโยชน์จากที่แห่งนี้
          ซึ่งผลจากการช่วยกันออกแบบก่อสร้างครั้งนี้ ทำให้ได้พื้นที่ใช้สอยคือลานและตลาดริมน้ำให้เป็นพื้นที่ของคนในชุมชนมาพบปะกัน   มีพิพิธภัณฑ์เมือง ศูนย์แนะแนวการศึกษา และศาลาสุขภาพเพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ในชุมชน  รวมทั้งมีสนามยาลอสามัคคี สนามกีฬาขนาดใหญ่
          นอกจากนั้นยังนำเอาความโดดเด่นของความหลากหลายทางศาสนา เชื้อชาติ วัฒนธรรม มาปรากฏอยู่ในสถาปัตยกรรมของตัวอาคารด้วย
          พงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรี เทศบาลนครยะลา มองว่า การได้ร่วมกันแสดงออกถึงความคิดเห็นเช่นนี้ถือเป็นการเริ่มสร้างสันติสุขและเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมในพื้นที่
          “คิดว่าโครงการเฉลิมพระเกียรตินี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมสร้างสันติสุขที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วยหลักคิดก็คือ เรามีพื้นที่กลางที่จะได้นำสิ่งที่เป็นอัตลักษณ์ เป็นวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ไม่ว่าชาวมุสลิมก็ดี ชาวไทยพุทธก็ดีและชาวไทยเชื้อสายจีน ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจและความเคารพในความแตกต่างทางวัฒธรรม”
            “ที่ผ่านมามันพิสูจน์ได้ชัดเจนว่าชุมชนท้องถิ่น เค้าสามารถกำหนดสิ่งที่เค้าต้องการได้อย่างชัดเจน นี่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เค้าภาคภูมิใจ รักษา และหวงแหน แล้วทำให้เค้าสามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเค้าเองได้ ความขัดแย้งทั้งหลายที่เกิดขึ้น ถ้าหากว่า เค้าได้จัดการด้วยตัวเค้าเอง ผมเชื่อมั่นว่ามันจะประสบความสำเร็จและไปสู่ความสงบสุข” ธีรพล  นิยม สถาปนิกโครงการ สถาบันอาศรมศิลป์ กล่าว
            สิ่งที่ได้ในวันนี้ แม้จะเป็นเพียงแบบร่าง และยังมีหลายขั้นตอนในการดำเนินงาน   แต่การร่วมสร้างตั้งแต่เริ่มต้นโดยคนในพื้นที่เอง   ย่อมหมายถึงการเริ่มสร้างพื้นที่สาธารณะทางสังคมในสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการแก้ปัญหาระหว่างกันของคนในชุมชนอย่างแท้จริงต่อไปในอนาคต
    
          ยาห์ซีฟุด อับดุลเลาะห์ นักข่าวพลเมือง รายงาน
 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ