5 คำถาม อำนาจนิยม กับ ปัญหาสังคมไทย

5 คำถาม อำนาจนิยม กับ ปัญหาสังคมไทย

ajpanatda

เรื่อง: สันติสุข กาญจนประกร          ภาพ: สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ

ตัวเลขคงไม่คลาดเคลื่อนไปไกลกว่านี้นัก ราว 7-8 ปีก่อน ผมรู้จัก ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข อาจารย์ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผ่านต้นฉบับงานเขียนปึกหนึ่งในฐานะบรรณาธิการ ก่อนที่มันจะถูกเปลี่ยนรูปไปเป็นหนังสือชื่อ ‘เร่ง รัก รุนแรง: โลกชายขอบของนักบิด’

ห้วงนั้น ผมยอมรับว่าตัวเองนับถือหัวจิตหัวใจของผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้ ด้วยความที่ก่อนหน้าเป็นเวลาถึง 3 ปี เธอไปขลุกอยู่กับสิ่งที่ตัวเองสงสัย ลงสนามหาข้อมูลด้วยการไปกินไปอยู่กับเด็กแว๊น เพื่อค้นคว้าหาคำตอบให้แก่สังคมว่า ในทุกปัญหานั้นย่อมมีองค์ประกอบอันหลากหลาย เกินกว่าการรักษาเยียวยาด้วยกรรมวิธีเด็ดยอดจำเลยทิ้ง เพราะลึกลงไปจากยอดภูเขาน้ำแข็งนั้น น่ากลัวกว่าเยอะ

เวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี  ผมมีความจำเป็นต้องไปพูดคุยกับเธออีกครั้ง และนี่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องปัญหานักซิ่งบนรถมอเตอร์ไซค์ แต่ควรหมายรวมถึงสังคมทั้งสังคมที่เริ่มติดใจรสชาติของการแก้ปัญหาด้วยอำนาจ เพราะมันรวดเร็วและสะใจกว่าเป็นไหนๆ

ด้วยความปรารถนาดี นี่คือ 5 คำถามกระชับๆ และ 5 คำตอบจากเธอ

01

อาจารย์มองว่า ประชาชนมีส่วนร่วมน้อยในการแก้ปัญหาสังคมน้อยเกินไปไหม

น้อยมาก คำว่ามีส่วนร่วมคือ ในงานหนึ่งๆ คนที่จัดต้องไม่มีธง เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี อย่างอิสระ คุณเปิดใจได้แค่ไหนล่ะ ถ้าคุณมีธง มีคำตอบอยู่แล้ว มันก็แค่จัดกระบวนการเพื่อสนับสนุน คำตอบหรือความคิดนั้น  ได้แต่รูปแบบ ไม่ได้เนื้อหา เหมือนผู้ใหญ่ที่มีความรู้สึกว่าฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน  ฉันรู้ดี ยิ่งมีตำแหน่งทางสังคมเยอะ อัตตาตัวตนก็เยอะตามไปด้วย

02

ทำไมนักวิชาการถึงชอบวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการใช้อำนาจ

เพราะมันต้องมีการระดมความเห็น ต้องดูที่มาที่ไปเพื่อกำหนดนโยบาย ต้องมีวิธีการหาทางออกที่ชัดเจน การค้านมีเหตุผล คนเราเห็นต่างกัน ดังนั้น จึงต้องละเอียดและให้เวลากับมัน พอความรู้มันเบลอมันก็เบลอตั้งแต่แรก มาตรการใดที่ผูกโยงกับอำนาจ ถ้ามันด่วนทุกอย่าง ผลกระทบจะสูงมาก การใช้อำนาจควรรอบคอบและไตร่ตรอง การใช้อำนาจแบบไม่ยืดหยุ่นนั้นน่ากลัว น่าเป็นห่วงคนที่ใช้อำนาจด้วย เพราะเขาต้องแบกรับความรับผิดชอบกับการใช้อำนาจนั้น

03

สังคมที่ชื่นชอบการใช้ยาแรงจัดการปัญหา สะท้อนถึงอะไร

เคยตั้งสมมติฐานตอนที่ทำวิจัยภาคสนามเรื่องเด็กแว๊น ตอนนั้นใครๆ ก็มองว่าระบบที่ล้มเหลวสุดคือการเมือง แต่โดยส่วนตัวคิดว่า เป็นระบบการศึกษามากกว่า เพราะเราไม่เข้าใจและไม่มีความรู้ในเรื่องทางสังคมศาสตร์ การศึกษาเน้นความรู้ไปทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว

ทางสังคมศาสตร์เราเชื่อว่า การใช้อำนาจคือความรุนแรงอย่างหนึ่ง การใช้อำนาจเหนือผู้อื่น เป็นการกดทับ ที่ใดมีอำนาจ ที่นั่นย่อมมีการต่อต้านเสมอ ยกตัวอย่างครอบครัวหนึ่ง ถ้าแม่รักลูก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่แม่ใช้อำนาจกับลูกโดยการตี แม่อาจหยุดพฤติกรรมลูกได้แค่ชั่วคราว ถ้าต่อต้านแบบเบาๆ ก็คือทำหูทวนลม ถ้าหนักหน่อยอาจหนีออกจากบ้านเลย เพราะเด็กเข้าใจผิดไปว่าแม่ไม่รัก ดังนั้น การใช้ความรุนแรงไม่ใช่ทางออกของอะไรทั้งสิ้น

อำนาจในการควบคุมตัวเองต่างหากที่สามารถสร้างสังคมสร้างสรรค์ได้ วิธีการเคารพซึ่งกันและกัน งดการใช้ความรุนแรงซึ่งกันและกัน แต่ทำไมคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจตรงนี้

04

การจัดการปัญหาด้วยวิธีอำนาจนิยม จะทิ้งมรดกอะไรไว้ให้แก่สังคม

คนที่ยอมสยบต่ออำนาจจะเป็นพวก passive คือยอมจำนน ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์ เราเคยยอมสยบอยู่ใต้อำนาจ ไทยเคยมีทาส เลิกทาสเเล้วก็ยังอยากอยู่ใต้ผู้นำอยู่ดี ฝังรากลึก ถ้าระบบการศึกษาไม่เข้มแข็ง คนก็ไม่กล้าคิด ยิ่งถ้ามีระบบอำนาจมากดทับอีก ยิ่งทำให้เราไม่กล้าเป็นตัวของตัวเอง

การยอมจำนนต่อผู้มีอำนาจนั้น มีอีกประเภทหนึ่งซึ่งไม่มีความมั่นใจในตัวเอง คือรออำนาจคลายตัว หรือฉันมีวิธีการของฉันคือการเงียบ มันก็คือ resistance อย่างหนึ่งใช่ไหม พออำนาจคลายจึงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่บางส่วน แต่ถ้าอำนาจไม่คลาย แล้วกระบวนการทางปัญญาล่ะ ความเสียหายที่น่ากังวลคือ ภาวะไม่กล้าคิดสร้างสรรค์ ไม่กล้าทำอะไรที่เป็นประโยชน์

เหมือนเราประชุม ผู้นำเป็นคนที่มีอำนาจแข็งตัวมาก ในที่ประชุมก็ไม่มีใครกล้าแสดงความคิดเห็น  เพราะอำนาจย่อมไม่รับความต่าง แต่ความต่างนั้นทำให้เกิดการพัฒนาที่เหมาะสม ยกเว้นแต่ผู้มีอำนาจนั้นเปิดใจรับฟัง แล้วกล้ารับผิดชอบกับอำนาจของตัวเอง หรือผลที่ตามมาหรือเปล่า

05

ทางออกจากการใช้อำนาจแก้ปัญหาคืออะไร

ในเชิงนโยบาย ต้องทำตามหลักการ จากข้อมูลที่ตกผลึก ข้อมูลที่หลากหลายของทุกกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้อง คือต้องยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างและหาข้อสรุป แล้วนโยบายจะออกมาในรูปแบบประนีประนอม รูปแบบที่อยู่ด้วยกันได้ในสังคม เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว ต้องปลูกฝังเรื่องแบบนี้ตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่แค่คำขวัญเหมือนๆ กันทุกปี แล้วเด็กก็แค่ได้ไปนั่งโต๊ะนายกฯ นั่งเครื่องบิน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ