กระบวนการพุดคุยเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งตัวแทนจากรัฐไทยเดินทางไปพูดคุยข้อตกลงเพื่อทางออกของปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยกับกลุ่มผู้คิดต่างหรือบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา
จังหวะของการปรับเปลี่ยนการเมืองไทยในช่วงนี้ อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน “พูดคุยเพื่อสันติภาพชายแดนใต้” แต่ด้านภาคประชาสังคมและคนในพื้นที่ ซึ่งขับเคลื่อนประเด็นนี้มาตลอดยังคงมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้กันอย่างต่อเนื่อง
นางสาวมัสตะห์ มะกุล เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (Civic women) ยังคงลงพื้นที่พูดคุยกับกลุ่มผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ถึงแม้ว่าในระดับโต๊ะเจรจาจะยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ แต่งานของภาคประชาสังคม เครือข่ายผู้หญิงฯนั้นยังคงขับเคลื่อนกันต่อไป
“การทำกิจกรรมแสวงหาสันติภาพ หรือพูดคุยถึงเรื่องสันติภาพในพื้นที่ กิจกรรมนี้ ถ้าหยุดก็เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แล้วถ้าเรามานับหนึ่งใหม่ก็เท่ากับว่าที่ผ่านมาเราก็ไม่ได้ทำอะไรเลย ดังนั้นเราควรที่จะสานต่อพร้อมๆกับว่า ดูว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น เหตุการณ์กรุงเทพเป็นอย่างไร บ้านเราตอนนี้เป็นอย่างไร เอาคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดทั้งฝ่ายรัฐ ภาคประชาสังคม ชาวบ้าน เอาจิ๊กซอว์มาต่อกันให้ได้ ทุกคนถือจิ๊กซอว์มาคนละใบเรามาต่อกันให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ถึงแม้วันนี้มันจะไม่สำเร็จ แต่เราต้องตั้งความหวังว่า เราต้องทำ ทำอะไรเพื่อบ้านเกิด ทำอะไรเพื่อปัตตานี ทำอะไรเพื่อสามจังหวัดเรา เราแสวงหาสันติภาพเช่น การจะทำอะไรก็แล้วแต่ที่จะแสวงหาสันติภาพจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงว่ามาพูดคุยเพื่อสานเสวนาแล้วก็จบ เราต้องลงพื้นที่ไปดูว่า ผู้หญงิงทีได้รับผลกระทบเป็นอย่างไร เด็กกำพร้าเป็นอย่างไร อยู่อย่างไร ชาวพุทธมุสลิมเขาอยู่กันอย่างไร เราเอาของในอดีตแล้วมาประยุกต์ใช้กับปัจจุบันให้ได้ แล้วคิดว่าในดนาคตเราก็แก้ปัญหาไม่ยาก”
อ. ฮาร่า ชินทาโร่ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มองว่าปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและมีความคาดหวังที่ต้องการผลักดันประเด็นเหล่านี้ให้เป็นอีกวาระที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญ โดยนำบทเรียนความขัดแย้งจากประเทศเพื่อนบ้านมาปรับใช้
“ต่อไปนี้อยากให้รัฐจัดโครงสร้างอำนาจที่มีเอกภาพ ไม่ใช่ว่าฝ่ายบริหารพูดแบบหนึ่ง และฝ่ายความมั่นคงพูดอีกแบบหนึ่ง อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ถ้าเป็นแบบนี้มันเป็นไปไม่ได้หรอกว่าจะเกิดการเจรจาสันติภาพ เพราะฉะนั้นขอให้มีเอกภาพ เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าต้องให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะถ้าที่อื่นประเทศอื่นก็จะถือว่าเป็นวาระที่สำคัญมาก อย่างเช่นที่ฟิลิบปินส์ ปัญหามินดาเนากลายเป็นวาระแห่งชาติ เพราะเป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศ เพาะฉะนั้นก็เป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว แล้วของรัฐไทยมีความจริงจังแค่ไหน ยังน่าตั้งคำถามมาก”
การเมืองไทยในกรุงเทพเอง ก็ประสบกับปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ โดยหลังมีการยุบสภา ก็มีกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 นี้
นายแวหะมะ แวกือจิก ผู้อำนวยการสถานีวิทยุมีเดียสลาตัน จ.ปัตตานี มองว่าถือเป็นโอกาสหนึ่งของคนในพื้นที่ ในการเสนอความต้องการสู่พรรคการเมืองหรือรัฐบาลชุดต่อไปที่จะเข้ามาบริหาร ถึงกรณีการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ถ้ามีการเลือกตั้งในอนาคตข้างหน้า ที่เป็นรูปธรรมทางการเมืองคือพรรคการเมือง ถ้าการพูดคุยคือทุกวาระหนึ่งที่ทุกคนเห็นด้วย น่าจะมีการบรรจุเข้าเป็นโยบายในพรรคการเมือง ว่าพรรคของท่านต้องการมองสันติภาพในสามจังหวัดแบบไหน มีลายลักอักษร นำเสนอแก่พี่น้องประชาชนว่าจะเลือกพรรคของท่านหรือไม่อันนี้มันเป็นเหตุการณ์ที่เหมาะเจาะกับเวลา อย่างน้อยมันจะเป็นดัชนีชี้วัดว่ากระบวนการพูดคุยอยู่ในใจประชาชนมากน้องแค่ไหน”
ความคาดหวังของผมคือสันติภาพต้องเกิดขึ้นแน่นอนในสามจังหวัด แต่ในรูปแบบไหน การเจรจาเป็นรูปแบบหนึ่งหรือมีมิติอื่นๆอีกหรือไม่ก็เป็นสิ่งที่หน้าสนใจ ภาคประชาสังคมในพื้นที่ก็ต้องทำงานในเป้าหมายเดียวกันคืออยากเห็นสันติภาพที่ถาวรจริงๆในพื้นที่ที่เป็นความคาดหวังของเรา”