“แม่น้ำเพื่อชีวิต มิใช่เพื่อความตาย!” คนปากมูนประกาศค้านเขื่อนน้ำโขง

“แม่น้ำเพื่อชีวิต มิใช่เพื่อความตาย!” คนปากมูนประกาศค้านเขื่อนน้ำโขง

20151403125920.jpg

20151403125938.jpg

14 มี.ค. 2558 สมัชชาคนจนเขื่อนปากมูลและชาวบ้านปากมูน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ลงเรือทำพิธีกรรมสืบชะตาแม่น้ำเพื่อความเป็นสิริมงคล และปล่อยป้ายผ้าระบุข้อความ “Rivers for life not for Death” แม่น้ำเพื่อชีวิตไม่ใช่เพื่อความตายจากสะพานข้ามแม่น้ำมูน แสดงจุดยืนคัดค้านการสร้างเขื่อนในลำน้ำโขง เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก 14 มี.ค.ของทุกปี หนึ่งในกิจกรรมของงาน 2 ทศวรรษปากมูน ครั้งที่ 2 เพื่อสานต่อปณิธานหิ่งห้อย 

นอกจากนั้นยังมีการอ่านคำประกาศปากมูน ระบุแบบ แผนใหม่ในการจัดการพลังงานและน้ำที่ดีกว่าเดิมย่อมเป็นไปได้! แม่น้ำเพื่อชีวิต มิใช่เพื่อความตาย! และมีคำประกาศ 4 ข้อคือ 1.เพื่อหลุดพ้นจากสังคมแห่งการกดขี่ สู่การเป็นสังคมที่เท่าเทียมเป็นหนึ่งเดียว จึงจำเป็นที่ต้องดำเนินการจัดสรรทรัพยากร และการเข้าถึงการใช้ การจัดการทรัพยากรใหม่ให้เท่าเทียมและเป็นธรรม ในฐานะความเป็นหุ้นส่วนในสังคม 2.เขื่อนคืออนุสาวรีย์แห่งการพัฒนาที่ล้มเหลว ซึ่งมีรูปธรรมความล้มเหลวที่ชัดเจนคือเขื่อนปากมูล

3.แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่กำลังถูกคุกคามอย่างหนักด้วยการสร้างเขื่อน ซึ่งจะทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากมายต่อระบบนิเวศ และชุมชนที่อาศัยดำรงค์ชีวิตจากแม่น้ำโขง โดยเฉพาะคนหาปลา 4.ควรยุติการสร้างเขื่อน และให้ผู้มีอำนาจแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนเก่าให้ได้ก่อนเช่นปัญหาเขื่อนปากมูล และหาทางเลือกการพัฒนาที่จะมีความยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม

“การต่อสู้คัดค้านเขื่อนมหันตภัย และแบบแผนของการจัดการน้ำและพลังงานในปัจจุบัน ถือเป็นการคัดค้านโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่ถูกครอบงำโดยวิธีคิดที่มุ่งหวังแต่ผลกำไรอย่างเต็มที่ และนี่คือการต่อสู้เพื่อสังคมที่อยู่บนฐานของความเสมอภาคและความสมานฉันท์ของประชาชนทั้งมวล” คำประกาศระบุ

20151403130001.jpg

คำประกาศปากมูน

ณ งาน ๒ ทศวรรษปากมูนครั้งที่ ๒ เพื่อสานต่อปณิธานหิ่งห้อย ในโอกาสวันหยุดเขื่อนโลก ๒๕๕๘

พวกเราคนหาปลาแห่งปากมูน และเครือข่ายพันธมิตรจากหลายพื้นที่ในประเทศไทย ได้ร่วมประชุมกว่า ๓๐๐ คน ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน นักวิชาการ นักกิจกรรมการพัฒนาที่รณรงค์เพื่อสร้างความสมดุลย์และยั่งยืนในการจัดการน้ำและพลังงานประชุมกันที่โขงเจียมประเทศไทย เราได้พบกัน ณ ดินแดนที่ล่มสลายจากผลกระทบจากเขื่อนปากมูล อันเป็นความขมขื่นที่ถูกยัดเยียดให้ แต่พวกเรามิเคยจำนนต่อชะตากรรมนี้ พวกเรามุ่งมั่น ต่อสู้ ผลักดัน เรียกร้องความเป็นธรรมตลอดมา

แม่น้ำเพื่อชีวิต มิใช่เพื่อความตาย! คำประกาศในการประชุมผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนนานาชาติครั้งแรกที่เมืองคูริทิบา ประเทศบราซิลเมื่อปี ๒๕๔๐ และคำประกาศการประชุมผู้เดือดร้อนจากเขื่อนนานาชาติ ครั้งที่สอง เมื่อปี ๒๕๔๖ ที่ราษีไศล ประเทศไทย และในวันนี้ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๘ พวกเราขอประกาศ ดังนี้

๑.) ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา สังคมสมัยใหม่ ซึ่งได้เจริญขึ้นมาจาก การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติไปจากสังคมชนบท ซึ่งมันได้พัฒนาเงื่อนไขการกดขี่ใหม่ ในรูปแบบซึ่งพวกเราเรียกว่า การพัฒนากระแสหลักที่ไม่ตอบสนองความต้องการของคนจนคนชายขอบซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม ดังนั้นเพื่อหลุดพ้นจากสังคมแห่งการกดขี่ สู่การเป็นสังคมที่เท่าเทียมเป็นหนึ่งเดียว จึงจำเป็นที่ต้องดำเนินการจัดสรรทรัพยากร และการเข้าถึงการใช้ การจัดการทรัพยากรใหม่ให้เท่าเทียมและเป็นธรรม ในฐานะความเป็นหุ้นส่วนในสังคม ซึ่งจะบรรลุผลได้ก็แต่การลดเงื่อนไขสังคม ที่ในปัจจุบันถูกกุมสภาพอยู่โดยกลุ่มนายทุน พร้อมกับสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง ให้รุ่งเรืองทั่วทุกย่อมหญ้า

๒.) มีการกล่าวอ้างตลอดมาว่าเขื่อนขนาดใหญ่นำมาซึ่งการพัฒนา ปัจจุบันนักสร้างเขื่อนยังกล่าวอ้างอีกว่า เขื่อนขนาดใหญ่มีความสำคัญต่อการบรรเทาปัญหาความยากจน คำกล่าวดังว่านั้นเป็นเพียงเรื่องหลอกลวงทั้งเพ ยุคสมัยของเขื่อนขนาดใหญ่ได้นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำ ไม่เสมอภาคระหว่างคนชนบท คนในเมือง ระหว่างคนหาปลากับอุตสาหกรรม ที่นับวันจะขยายกว้างมากขึ้นทุกที เขื่อนคืออนุสาวรีย์แห่งการพัฒนาที่ล้มเหลว ซึ่งมีรูปธรรมความล้มเหลวที่ชัดเจนคือเขื่อนปากมูล

๓.) แม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติ กำลังถูกคุกคามอย่างหนักด้วยการสร้างเขื่อน และแผนการสร้างเขื่อนจำนวนมาก การสร้างเขื่อนเหล่านี้จะทำให้เกิดผลกระทบอย่างมากมายต่อระบบนิเวศ และชุมชนที่อาศัยดำรงค์ชีวิตจากแม่น้ำโขง โดยเฉพาะคนหาปลา
    
๔.) เราจำเป็นที่จะต้องปกป้องวิถีชีวิตของพวกเรา การคัดค้านเขื่อนในแม่น้ำโขง ไม่ใช่การคัดค้านการพัฒนา แต่การพัฒนาแบบเขื่อน เขื่อน มันล้มเหลวอย่างชัดเจนแล้ว จึงควรยุติการสร้างเขื่อน ในขณะเดียวกันเราขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจได้แก้ไขปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนเก่าให้ได้ก่อน เช่นปัญหาเขื่อนปากมูล และหาทางเลือกการพัฒนาที่จะมีความยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม

การต่อสู้คัดค้านเขื่อนมหันตภัย และแบบแผนของการจัดการน้ำและพลังงานในปัจจุบัน ถือเป็นการคัดค้านโครงสร้างทางการเมืองและสังคมที่ถูกครอบงำโดยวิธีคิดที่มุ่งหวังแต่ผลกำไรอย่างเต็มที่ และนี่คือการต่อสู้เพื่อสังคมที่อยู่บนฐานของความเสมอภาคและความสมานฉันท์ของประชาชนทั้งมวล

แบบแผนใหม่ในการจัดการพลังงานและน้ำที่ดีกว่าเดิมย่อมเป็นไปได้! แม่น้ำเพื่อชีวิต มิใช่เพื่อความตาย!

ประกาศ ณ ปากมูน โขงเจียม ประเทศไทย
๑๔ มีนาคม ๒๕๕๘

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ