รายงานโดย: ตาล วรรณกูล
เวทีสมัชชาสภาผู้ชมผู้ฟังรายการภูมิภาคเหนือบน ภายใต้กลไกขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้ชมรายการ เมื่อวันที่ 5-6 สิงหาคม 2559 ที่โรงแรม เดอะปาร์ค อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีข้อเสนอจากทางเครือข่ายประเด็น
ผู้ชมผู้ฟังรายการของไทยพีบีเอส ได้เสนอเรื่อง ความเหลื่อมล้ำ เป็นประเด็นร่วมต่อการสื่อสาร ด้วยเห็นว่าทุกประเด็นปัญหา ไม่ว่า ด้านทรัพยากร ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านคุณภาพชีวิต เด็ก เยาวชน และผู้สูงวัย ด้านความเท่าเทียมทางเพศ คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ ด้านสิทธิชุมชนและการกระจายอำนาจ ล้วนประสบปัญหาเรื่องโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่กำหนดมาจากส่วนกลาง การรวบอำนาจไว้กับรัฐ
จนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน ความเหลื่อมล้ำของสิทธิการจัดการ เช่น สิทธิของชุมชนกับสิทธิของรัฐ ความเหลื่อมล้ำทางเพศ ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิต ความเหลื่อมล้ำในเรื่องสิทธิประชาชน สิทธิพลเมือง ของกลุ่มชาติพันธุ์ คนไร้รัฐ คนไร้สัญชาติ กระทั่งเรื่องของความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบประกันสุขภาพ ที่ทำให้คนมีโอกาสเข้าถึงชีวิตที่ดีที่ไม่เท่าเทียมกัน
ด้วยเหตุนี้ ความเหลื่อมล้ำ จึงเป็นประเด็นร่วมจากทุกประเด็นที่เห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องร่วมกันผลักดันแก้ไขจากหลายฝ่าย รวมถึงสามารถให้แต่ละประเด็นสามารถผลักดันปัญหาที่ตนทำงานหรือขับเคลื่อนอยู่โดยเชื่อมโยงประเด็นร่วม เพื่อให้เกิดพลังในการสื่อสาร
ข้อเสนอการขับเคลื่อนของเครือข่ายประเด็นปัญหาสังคมร่วมกับสื่อไทยพีบีเอส
1) ควรเปิดเวทีให้ผู้ผลิตรายการและชาวบ้านเจ้าของปัญหามาเล่าถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ความจำเป็นในชีวิตของพวกเขา อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ หรือ ปัญหาทรัพยากร และกำหนดวาระการพบเจออย่างต่อเนื่อง
2) เปิดเวทีสังเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา ทิศทางแนวโน้ม ร่วมกับทีมผู้ผลิตเพื่อให้เห็นการเชื่อมโยงของปัญหา เพื่อจะได้นำเสนอได้หลากหลายมิติ มีความครอบคลุม อาทิ เรื่องของชนเผ่า ชาติพันธุ์
3) เปิดให้สื่อท้องถิ่นได้ร่วมพัฒนาประเด็นและเป็นเครือข่ายการสื่อสารสาธารณะร่วม
ข้อเสนอต่อผู้ผลิตสื่อของไทยพีบีเอส
1) ผลิตรายการที่ให้ข้อมูลความรู้เชิงลึก มีการศึกษารอบด้าน เชื่อมโยงปัญหา
2) ติดตามประเด็นปัญหาที่ยังไม่ยุติอย่างต่อเนื่อง
3) ให้ทีมผู้ผลิตเห็นการเชื่อมโยงของปัญหา
4) ผลิตสื่อให้เข้าใจง่าย น่าสนใจ มีความสนุก ชวนคิด ชวนติดตาม
5) มีความกล้านำเสนอปัญหาของชาวบ้านและความไม่เป็นธรรมในสังคม
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ข้อเสนอของเครือข่ายประเด็นมีความสอดคล้องกับนโยบายและแนวทางของ ส.ส.ท. แต่อาจจะมองอีกข้างของกระจกในมุมของการพัฒนาที่ยั่งยืนที่จะสร้างความร่วมมือกัน
ขณะที่ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานกรรมการนโยบาย ได้กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องความเหลื่อมล้ำของภาคเหนือตอนบนนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ เรียกว่าเป็นความเหลื่อมล้ำในเรื่องรายได้และสิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่เรื่องนี้ไทยพีบีเอสก็ได้ทำงานหนักมาตลอดเกือบ 2 ปี โดยเราเริ่มต้นที่คำถามว่า เราจะแก้ไขความเหลื่อมล้ำนี้ได้อย่างไร ซึ่งข้อสรุปนี้ไม่ใช่แค่ไทยพีบีเอสที่คิด แต่เป็นข้อสรุปของสมัชชาปฏิรูป ซึ่งไทยพีบีเอสได้นำมาใช้ในการทำงาน โดยต้องปรับความสัมพันธ์ในเชิงอำนาจใหม่ นั่นคือ ลดอำนาจรัฐ ตัดอำนาจทุน เพิ่มอำนาจประชาชน จึงถือได้ว่าข้อเสนอเรื่องนี้ตรงกับทิศทางใหญ่ที่ทางไทยพีบีเอสได้เคยทำงานกันมานานแล้ว
นอกจากนี้ ทพ.กฤษดา กล่าวในช่วงผู้อำนวยการไทยพีบีเอส พบปะกับผู้ชมผู้ฟังรายการของไทยพีบีเอส และ อภิปราย เรื่อง “ไทยพีบีเอสในวันนี้และการปรับตัวของภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป” โดยกล่าวถึงความเป็นสื่อสาธารณะว่า ไทยพีบีเอสเป็นหนึ่งใน 44 ของสื่อสาธารณะในโลก ซึ่งสื่อสาธารณะจะได้เงินมาโดยวิธีใดวิธีหนึ่งที่ไม่ใช่การค้าหรือโฆษณา อย่างเช่น เอ็นเอชเค ของญี่ปุ่น บีบีซี ของอังกฤษ
โดยกระบวนการคิดของสื่อสาธารณะก็เพื่อจะได้ไม่ต้องตอบสนองการค้า เพราะโดยทั่วไปสื่อมักจะถูกนำไปใช้เพื่อการค้า บีบีซีถูกตั้งมาเป็นเจ้าแรกของโลก โดยเก็บค่าลิขสิทธิ์ทีวี เอ็นเอชเคก็เช่นกันก็เก็บอีกแบบ ส่วนของไทย เราได้นำเอาภาษีเหล้าบุหรี่มาใช้ ไม่ได้ใช้เงินของรัฐบาล เราไม่ได้แย่งเงินรัฐบาล แต่เราเอาเงินจากภาษีเหล้าและบุหรี่มา โดยมีภารกิจว่าเราจะทำสิ่งดี ๆ ให้สังคม
สื่อสาธารณะมีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 อย่างคือ 1. ต้องเป็นอิสระ ทั้งอิสระจากการค้า และ อิสระจากรัฐบาล เราต้องไม่เป็นกระบอกเสียงของภาครัฐ ถ้าเราเป็นกระบอกเสียงของภาครัฐเมื่อไหร่ ข่าวของเราก็จะไม่น่าเชื่อถือ เพราะมันจะเป็นการโฆษณาให้กับภาครัฐ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ร่วมมือกับภาครัฐ เราร่วมมือกับภาครัฐได้ เมื่อไหร่ที่ภาครัฐทำดีๆ ไทยพีบีเอสต้องนำเสนอ แต่ไม่ใช่ว่าเราเป็นฝ่ายค้าน รัฐบาลไหนมาเราตีหมด ไม่ใช่ แต่เราสามารถร่วมสิ่งดีๆ ได้ ความอิสระตรงนี้จึงมุ่งตรงสู่ประโยชน์ของประชาชน
2. มุ่งประโยชน์ของประชาชน ไทยพีบีเอสต้องมุ่งตรงที่ประโยชน์ของประชาชน อะไรที่เป็นประโยชน์ของประชาชนแล้ว เราทำได้
3. คุ้มค่า ด้วยความที่เรารับเงินจากช่องทางพิเศษ คือ ได้จากภาษีเหล้าและบุหรี่มาทำงาน 1.5 เปอร์เซ็นต์ ก็ปีละ 2 พันล้าน เราเองก็ต้องถูกตรวจสอบว่า เราจะสามารถทำงานให้คุ้มค่ากับเงินเหล่านี้ไหม ถ้าเขาคิดว่าเราทำงานไม่คุ้มค่า เขาก็อาจจะคิดว่าเอาเงินสองพันล้านนี้ไปทำอย่างอื่นไหม
ดังนั้น วิธีจะคิดประเมินว่า เราทำงานคุ้มค่าหรือไม่ มองได้ 2 แบบ คือ หนึ่ง มีคนดูที่มากเพียงพอ ถึงจะบอกว่าคุ้มค่าได้ หารเฉลี่ยต่อหัวแล้ว เงิน 2 พันล้านคุ้มค่ากับคนดูจำนวนมากทั่วประเทศ แต่ว่าสิ่งนี้เป็นเชิงปริมาณ เชิงปริมาณใช่ว่าจะนำมาตัดสินผลงานได้อย่างเดียว ถ้าเราไม่สามารถสร้างคนดูจำนวนมากได้ เราก็อาจใช้เกณฑ์ประเมินในเกณฑ์ที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสังคมได้ โจทย์จึงมีสองแบบ คือ โจทย์เชิงปริมาณ กับ โจทย์เชิงคุณภาพ ถ้าเราสร้างคนดูจำนวนมากไม่ได้ เราก็ต้องถามว่า เราได้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสังคมมากน้อยอย่างไร คุ้มค่าไหม
ขณะที่ พงษ์พิพัฒน์ มีเบญมาศ ตัวแทนผู้ชมผู้ฟังจากจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้สะท้อนความเห็นของผู้ชมที่มีต่อแนวทางรายการของไทยพีบีเอสว่า “หากจะถามถึงความคุ้มค่าของการทำงานของไทยพีบีเอส ผมคิดว่าเราไม่ต้องไปคิดอะไรให้มากมาย เอาแค่ สามข้อที่เป็นแนวทางของไทยพีบีเอส ที่บอกว่า มุ่งอิสระ มุ่งประโยชน์ของประชาชน และคุ้มค่า สามคำนี้คนไทยพีบีเอสลองทบทวนดูว่ามันเป็นจริงไหม คุ้มค่าจริงไหม”
“ผมอยากตั้งคำถามถึงสามแนวทางนี้ เราเป็นอิสระจริงไหม อย่างเรื่องเรตติ้งคนดู ถ้าเราไปยึดติดว่าต้องมีคนดูมาก ซึ่งรายการที่มีคนดูมากส่วนใหญ่ก็เป็นรายการมอมเมาประชาชน แล้วไทยพีบีเอสจะอยากเป็นสถานีที่ผลิตรายการให้มีคนดูเยอะ ๆ อยู่อีกหรือ? สำหรับผม ผมคิดว่าตัวชี้วัดที่สำคัญของไทยพีบีเอสคือ ความเปลี่ยนแปลงของสังคม เราไปวัดกันที่ว่า สิ่งที่เราทำมันเปลี่ยนแปลงสังคมไปสู่สิ่งที่ดีได้จริงไหม มันเปลี่ยนแปลงได้จริงหรือไม่ ต่อให้ใครต่อใครจะคิดว่ามันเป็นรายการของเอ็นจีโอ ถามว่าแล้วมันเป็นอิสระไหม เอ็นจีโอไปควบคุมสถานีหรือเปล่า แล้วรายการที่ว่าเหล่านั้นมันให้ประโยชน์กับประชาชนไหม ปัญหาชาวบ้านมันได้รับการแก้ไขจริงไหม ตรงนี้ต่างหากที่ควรเป็นตัวชี้วัด
บางเรื่องบางรายการอาจเป็นหนัง สารคดี แต่มันอาจประยุกต์ใช้กับพื้นที่ได้ ทำให้พื้นที่ที่ถูกกล่าวถึงได้นำไปพัฒนาประเด็นเรื่องราวต่อไป ขณะที่พื้นที่อื่นๆ ก็ได้ขยายแนวคิดนี้มาใช้กับพื้นที่ของตน อันนี้แหละคือความเปลี่ยนแปลงที่มีคุณค่า ไมใช่ยอดคนดูเป็นล้านคน แล้วมันไม่เปลี่ยนแปลงอะไรเลย หรือนำคนไปสู่สิ่งไม่ดี ไม่พัฒนา ประเทศไม่ก้าวหน้าอะไรเลย” พงษ์พิพัฒน์ กล่าว