นับจากเหตุการณ์เครือข่ายประชาชนใต้ “วอล์คเอาท์” ออกจากเวทีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พบปะประชาชนภาคใต้ เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2559 หลัง นายวัส ติงสมิตร ประธาน กสม.ห้ามอ่านแถลงการณ์ของภาคประชาชนในเวที จนต้องออกมาจัดแถลงข่าวที่บันไดหน้าโรงแรม ก่อให้เกิดกระแสตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ของประธาน กสม.
จากนั้นในวันถัดมาเครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้กว่า 58 องค์กร ออกแถลงการณ์ร่วมอย่างเป็นทางการตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ของนายวัสและมีข้อเรียกร้องให้ปลดจากตำแหน่ง พร้อมระบุจะติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง (อ่านแถลงการณ์ด้านท้าย)
ปัญหาในประเด็นเรื่องการอ่านแถลงการณ์ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ชุดที่ 3 ที่มีนายวัสเป็นประธาน เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งแรกในเวที กสม.พบประชาชนที่ จ.ขอนแก่น โดยขบวนการอีสานใหม่ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่ละเมิดสิทธิ์ และนักศึกษา นักกิจกรรมในภาคอีสาน ได้ขออ่านแถลงการณ์ข้อเสนอปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติในภาคอีสาน แต่ประธาน กสม.ปฏิเสธที่จะรับฟังและวอล์คเอาท์ออกจากห้องประชุม (คลิกอ่านข่าว)
ทีมข่าวพลเมือง สัมภาษณ์ เอกชัย อิสระทะ ผู้ประสานงานเครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนเขาคูหา อ.รัตภูมิ จ.สงขลา หนึ่งในเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิชุมชนจากกรณีเหมือนหินในภาคใต้ ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและมุมมองความหวังของประชาชนที่ต่อการทำงานของ กสม.ทั้งคณะ ในภาวะทางสังคมการเมืองที่ประชาชนต้องการการหนุนเสริมเรื่องสิทธิในปัจจุบัน
เล่าเหตุการณ์จุดฉนวนจี้ปรับประธานกรรมการสิทธิฯ
กสม.จัดเวทีพบประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งก็มีทั้งภาคประชาชน หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรต่าง ๆ มาร่วมกัน ประมาณ 300 คน การประชุม 2 วัน วันแรกมีการแบ่งกลุ่มย่อยไประดมความคิดเห็นว่าแต่ละประเด็น แต่ละหมวดเป็นอย่างไร ส่วนวันที่ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือว่าในช่วงเช้าก็มีการนำเสนอจากตัวแทนของแต่ละกลุ่มขึ้นมาบนเวที แล้วพวกเราหลายส่วนที่มาพบปะกันแล้วในส่วนขององค์กรภาคประชาชน คือผู้ที่ได้รับผลกระทบและถูกละเมิดสิทธิ์ในพื้นที่ภาคใต้ จากโครงการเมกะโปรเจกต์ หรือจากประเด็นต่างๆ มารวมตัวกัน เพราะฉะนั้นเราก็มีการคุยกันว่าน่าจะมีแถลงการณ์ เอกสารอย่างเป็นทางการที่จะสื่อสารไปยังหน่วยงานของภาครัฐ โดยเฉพาะโดยตรงไปถึงนายกรัฐมนตรี
เราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เพราะคิดว่าการแถลงการณ์ แถลงข่าวน่าจะเป็นเรื่องปกติที่ภาคประชาชนก็ควรที่จะต้องใช้สิทธิในการแถลงด้วย ประกอบกับทาง กสม.ก็มีกำหนดการที่ต้องเร่งรีบเดินทางกลับกรุงเทพฯ เราจึงคิดว่าคงต้องใช้ช่วงเวลาของการอภิปรายช่วงท้ายนี้ จึงได้ไปของผู้ดำเนินรายการซึ่งเป็นอาจารย์ที่อยู่ในพื้นที่ อาจารย์ท่านก็อนุญาต บอกว่าช่วงท้ายหากภาคประชาชนจะแถลงก็แถลงได้เลย
ท่านก็อนุญาตบนเวที เราก็คิดว่าไม่มีอะไร เพราะจริง ๆ การแถลงของพวกเราเราก็ต้องรับผิดชอบตัวเราเองอยู่แล้วว่าเราแถลงไปจะเป็นอย่างไร แต่ว่าท่านประธาน กสม.ที่นั่งอยู่ตรงโซฟาด้านข้างเวที ท่านกลุกขึ้นมาบนเวที แล้วก็โบกไม้โบกมือห้ามไม่ให้เราแถลงข่าว
มี 2-3 เรื่องที่เรารู้สึกสงสัยกับท่าทีแบบนี้ เพราะว่าถ้าเป็นประชาชนทั่วไปหรือว่าเป็นคนที่อาจไม่เข้าใจประเด็นเนื้อหาเรื่องของสิทธิมากนัก เราก็จะไม่รู้สึกกังวล แต่ท่านเป็นถึงประธาน กสม.ซึ่งท่าทีต่อกันในความเป็นมนุษย์ เราก็คิดว่าท่าทีท่านควรจะมีการสื่อสารอย่างที่น่าจะสื่อสารกันอย่างที่ผู้ที่มีวุฒิภาวะ มากกว่าการออกมาโหวกเหวกโวยวาย เหมือนกับเราไม่ใช่คนที่อยู่ในห้องนั้น เหมือนกับเราเป็นคนข้างนอกที่ไม่เคยเจอกันแล้วเดินเข้ามาทำลายเวทีการประชุม ซึ่งไม่น่าจะใช่
มันน่าจะเป็นเรื่องของการคุยกันดี ๆ แล้วบอกว่าเอาหละ ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวจะเป็นอย่างนี้อย่างนั้น แต่การเป็นอย่างนี้อย่างนั้น เราบอกว่าเราไม่ได้ไปเกี่ยวกับวาระของท่านแต่เราเกี่ยวอยู่ในเนื้อหาช่วงของการอภิปราย ซึ่งเราก็มีสิทธิในการขอแถลงอย่างเป็นทางการ เพื่อที่จะสื่อสารให้กับสังคมได้รับรู้ด้วยว่าเราคิดอย่างไร
เพราะฉะนั้นโจทย์ที่เราพบก็คือว่า ถ้าท่านมีวุฒิภาวะและการแสดงออกแบบนั้น อย่างที่บอกครับ เราคิดว่า กสม.ก็ควรเป็นผู้มีคุณวุฒิด้านสิทธิมนุษชน ควรเป็นผู้ที่มีวุฒิภาวะ เป็นผู้ที่สามารถสื่อสารอย่างเข้าใจ และฟังมนุษย์ได้ แต่ผมรู้สึกว่าถ้าท่านมีพฤติกรรมแบบนี้ และการใช้ท่าทางแบบที่มีอำนาจแบบนั้นในการสั่งการให้คนของท่านต้องทำภาระกิจที่เหมือนกับว่าเราจะไปละเมิดหรือบุกรุกเวทีของเขา ผมรู้สึกว่าท่าทีอย่างนั้นไม่เหมาะสม
แล้วหลังจากนั้นท่านก็พูดว่าเดี๋ยวจะพูดให้ฟัง เราก็นั่งฟังอยู่อีกประมาณ 1-2 นาที คิดว่าท่าจะอธิบายหรือพูดคุยกันต่อประเด็นที่เกิดขึ้น แต่ท่านก็แถลงในสิ่งที่ท่านอยากจะแถลงให้พวกเราฟังอีก ซึ่งเราก็รู้สึกว่าประเด็นที่กำลังจะคุยกันท่านก็ไม่คุย ท่านกำลังนำพยายามนำเสนอไปในสิ่งที่ท่านต้องการ อย่างนี้ความหมายคืออะไร เราก็เลยแสดงออกว่าเราคงเคารพท่านไม่ได้ จึงวอล์คเอาท์ออกจากห้อง ภาคประชาชนที่มีอยู่ประมาณครึ่งหนึ่งของห้องก็วอล์คเอาท์ออกมา แล้วมาแถลงข่าวด้านหน้า
การแถลงข่าวเราไม่ได้เตรียมประเด็นของท่านไว้เลย เราเตรียมประเด็นเนื้อหาที่จะสรุปสถานการณ์เรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษชนในพื้นที่ภาคใต้ทุกประเด็นที่มีอยู่ ซึ่งรายละเอียดอยู่ในแถลงการณ์อยู่แล้ว แต่ว่าประเด็นของท่านเป็นประเด็นที่ต้องโดดขึ้นมาบอกว่าเราต้องแถลงซ้ำทั้งที่ไม่มีเอกสาร ว่าท่าทีต่อประชาชน ต่อการฟัง นักสิทธิมนุษยชนเบื้องต้นก็ควรจะต้องมีการฟังอย่างตั้งใจ และฟังอย่างที่จะเอาความจริงจากเนื้อหาเรื่องราวเหล่านั้นออกมา แล้วดึงมาสู่ประเด็นที่จะมาพูดคุยและถกเถียงกันอย่างที่มีท่าทีต่อความเป็นมนุษย์ด้วยกัน
ผมคิดว่านี่คือเรื่องที่เรารู้สึกเรียกร้องมาก และเราคิดว่าหากว่าท่านที่เป็นประธาน กสม.ทำอย่างนี้น่าที่จะต้องทบทวน ผมคิดว่าข้อเสนอแรกที่ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ก็ออกแถลงการณ์เป็นฉบับที่ 2 ไปแล้วเมื่อเช้านี้ (26 ส.ค. 2559) ว่า อยากให้มีการทบทวนในบทบาทหรือตำแหน่งของประธาน
เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของ กสม.ทั้ง 7 ท่าน อาจจะต้องมาพูดคุยและทบทวนบทบาทหน้าที่ใหม่ว่า บทบาทหน้าที่ของท่านซึ่งจะนำพาองค์กรไปอีก 6 ปี
ถ้าบทบาทเป็นอย่างนี้ผมคิดว่าควรรีบทบทวนเลยครับ เพราะว่าบทบาทของประธานสามารถทำภารกิจได้อีกหลายประเด็น แล้วกลไกการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ซึ่งภาคประชาชนเราเองคิดว่าการมีส่วนร่วมในการออกระเบียบ กฎเกณฑ์ หรือกติกาทั้งหลายของ กสม.ก็น่าจะถูกติดตามมากขึ้น และการที่ท่านเองมีบทบาทอย่างนี้ ทำให้พวกเรารู้สึกว่ากติกา หรือกลไกของกรรมการสิทธิฯ ที่จะมาปกป้องสิทธิของชาวบ้านมันจะบกพร่องไปอย่างไร นี่คือสิ่งที่อาจต้องเพิ่มวาระเข้ามา
ถ้ามาตรการเบื้องต้น การทบทวนเบื้องต้น ถ้ามีและทำให้พวกเราเข้าใจได้ หรืออาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบทบาทของคณะกรรมการภายใน อันนี้เป็นข้อเรียกนร้องในขั้นต้น แต่ถ้าหากว่ายังไม่มีการปรับเปลี่ยนก็อาจมีมาตรการขั้นที่ 2-3 ซึ่งอาจจะต้องคุยกัน
ประเด็นแบบนี้อาจต้องเชิญชวนพี่น้อง องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนด้วยว่ากับกรณีแบบนี้ ที่เราต้องมีประธานกรรมการสิทธิฯ แบบนี้ไปอีก 6 ปี อาจต้องมีการชวนพูดคุยกันว่าเราอาจต้องแสดงบทบาทของพวกเราอย่างไรกับเรื่องนี้
ทบทวนการหน้าที่กรรมการสิทธิฯ ชุดก่อนหน้า
กสม.ที่เกิดขึ้นมาในประเทศไทยเรา พวกเราเองในส่วนภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวอยู่ก็ถือว่าเป็นความหวัง โอเคในสมัยแรกก็เป็นยุคสมัยที่ทำให้เราพอจะมีความหวังต่อการคุ้มครองและปกป้องสิทธิ์ ในยุคที่ 2 เราเห็นการทำงานของ กสม.บางท่าน โดยเฉพาะคุณหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ซึ่งก็ทำงานอย่างเต็มที่และเห็นชัด
มีหลายบทที่มีข้อสรุปชัดเจนตรงกัน อย่างในที่ประชุมของพวกเราในภาคใต้ที่คุยกันชัดว่า ประเด็นที่ กสม.ช่วยเราได้ก็คือ 1.การมาหยุดกระบวนการละเมิดสิทธิ์ของเรา การลงพื้นที่เป็นปฏิบัติการที่ดีที่สุด กสม.อย่างคุณหมอนิรันดร์ลงพื้นที่อย่างน้อยกลไกของรัฐหรือกลไกของทุนที่ละเมิดสิทธิ์จะหยุดชะงัก และทำให้เรามีเวลาที่จะตั้งตัว จัดการระบบข้อมูล เตรียมความคิดเห็น เตรียมประเด็น สามารถมาสู้กันเรื่องนี้ได้ ผมคิดว่ารูปแบบนี้ใช่ และสิ่งที่ กสม.ได้เรียกข้อมูลก็เป็นส่วนที่ 2 ที่จำเป็นมากกว่าการนั่งฟังอย่างเดียว เรียกข้อมูลมาตรวจสอบ ทั้งเอกสาร ทั้งการประชุมและพูดคุยตรงนี้ดึงประเด็นออกมาได้
ส่วนที่ 3 สิ่งที่เราต้องการก็คือว่าตัวมติหรือความคิดเห็นที่ต้องออกมาของ กสม. แม้ว่าจะมีหลายกรณีที่ล่าช้าไปบ้าง แต่ก็มีอีกหลายกรณีที่ทันเหตุการณ์ อย่างที่เขาคูหาเราได้ใช้มติของ กสม. ข้อมูลพยานในชั้นศาล ซึ่งคุณหมอนิรันดร์ก็ได้เข้าไปอ่านเอกสารที่ได้มาจาก กสม. ซึ่งก็เป็นผลดีต่อประชาชนอย่างชัดเจนว่า กสม.ได้ตรวจสอบอะไรมาแล้วบ้าง มีเหตุผลมีหลักการอย่างไร และนำไปสู่การคลี่คลายปัญหา ซึ่งเอกสารนี้ถูกใช้ในศาลอย่างเป็นทางการ นี่ก็เป็นสิ่งที่อยากเห็นต่อไป
จับตากรรมการสิทธิฯ ชุดปัจจุบัน
สำหรับชุดนี้เห็นอยู่ 2 ท่าน คือคุณอังคณา นีละไพจิตร และคุณเตือนใจ ดีเทศน์ คิดว่าทั้ง 2 ท่านก็แสดงความจริงใจ มีความพร้อมที่อยากจะทำภารกิจนี้ แล้วเราก็คิดว่าอบอุ่น แต่ว่าในขณะเดียวกัน พอเห็นบทบาทของประธาน กสม.กับภาพรวมของบทบาทของ กสม.เราก็ไม่แน่ใจว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการที่จะพูดคุยจนกระทั่งมีมติที่จะไปหนุนช่วยการปกป้องสิทธิของประชาชนมันจะทำได้จริงแค่ไหน อันนี้คือสิ่งที่เราเห็นว่าตำแหน่งประธานก็มีความจำเป็น
เราอยู่ท่ามกลางประชาชนเกือบ 300 คน แต่ท่านแสดงท่าทีบทบาทในเชิงอำนาจแบบนั้นท่ามกลางสาธารณะ เราคิดว่าเอ๊ะ… ถ้าในที่ประชุมของคณะกรรมการแค่ 7 ท่าน แล้วถ้าท่านมีบทบาทและภาวะแบบนั้นจะเป็นอย่างไร อะไรจะเกิดขึ้น
ความหวังที่เคยมีท่ามกลางความสิ้นหวังของประชาชนหลายกลุ่มต่อการทำงานของคณะกรรมการสิทธิฯ ในภาวะทางสังคม การเมืองที่ในปัจจุบัน
ผมคิดว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ คือเวลาพูดถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน ประเด็นที่พวกผมซึ่งอยู่ในฐานการทำงานกับชุมชนและการจัดการทรัพยากรเราจะมองมิติทางการเมืองอาจจะน้อยกว่า อันนี้อาจเป็นปัญหาที่เราไม่ได้ติดตามลงลึกว่าในมิติโครงสร้างเป็นอย่างไร แต่ถ้าถาม ผมคิดว่าโดยโครงสร้างกลไกกรรมการสิทธิมีความจำเป็น แต่ว่าที่ไปที่มาและกระบวนการคัดสรร อันนี้ก็เป็นโจทย์อีกโจทย์ใหญ่ที่เราก็ไม่ได้ติดตามรายละเอียด
ถามจริงๆ ว่าเราได้ไปใส่ใจรายเอียดไหมว่าที่ไปที่มา กลไก กระบวนการที่ได้มาคัดสรรเป็นอย่างไรบ้าง แต่ว่าที่ผ่านมาเราได้ใช้ประโยชน์ เพราะฉะนั้นการได้ใช้ประโยชน์และทำให้เกิดการปกป้องสิทธิของพวกเราได้บ้าง ถ้าถามผม ผมก็คิดว่ากลไกโครงสร้างนั้นจำเป็นต้องมี แต่จะทำให้สมบูรณ์หรือใกล้เคียงกับคำว่าสมบูรณ์ของการปกป้องสิทธิอย่างไร อาจเป็นเรื่องที่ต้องมาช่วยกันดู แต่ถ้าเราไม่มีเลยก็กลายเป็นคำถามเหมือนกันว่าเราจะคาดหวังกับอะไร เหมือนกับปัจจุบันที่เวลาเราเห็นเรื่องนี้ ถ้ากลไกมันเป็นแบบนี้ก็ทำให้เราสนใจมากขึ้น
ต้องขอบคุณท่านประธาน กสม.ด้วยที่ทำให้พวกเราคิดว่า เอ๊ะ… กสม.ที่เราละเลยต่อการตรวจสอบ หรือดูที่ไปที่มา ดูกระบวนการคัดสรร ดูองค์ประกอบของกระบวนการ และดูไปต่อว่าเนื้อหารายละเอียดของระเบียบกลไกเป็นอย่างไร ตรงนี้ท่านทำให้เราสนใจมากขึ้นว่ากระบวนการเหล่านี้น่าจะต้องเข้าไปจับตามากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเราอาจต้องยอมรับว่าพวกผมเองก็ละเลย คาดหวังว่าอาจต้องมีการติดตามมากขึ้นและต้องช่วยกันกำกับ
จากภาคประชาชนด้านฐานทรัพยากรถึงกรรมการสิทธิฯ เพื่ออนาคตการปรับปรุงบทบาทหน้าที่ในการปกป้องสิทธิ์ที่ดีขึ้น
สิ่งที่อาจต้องเริ่มต้นใหม่ จากประเด็นที่ยืนยันไปแล้วว่า 1.การลงพื้นที่ของ กสม. 2.การเชิญหน่วยงานมาพูดคุย ให้ข้อมูลและเอกสารโดยตรง 3.การประมวลเป็นข้อสรุป มติ ข้อคิดเห็นของกสม.ออกมา 3 อย่างนี้ถือเป็นภาระกิจหลักที่ช่วยพวกเราได้ แต่สิ่งที่จำเป็นไปมากกว่านั้น และก่อให้เกิดความกังวลและเป็นห่วงแล้วก็คือกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกขั้นจะเป็นอย่างไร
ที่ผ่านมาเราอาจเห็นบางหน่วยงานที่ทำหน้าที่นี้เหมือนกันแต่เรียกเอกสารอย่างเดียว และเอกสารนี่เองเป็นข้ออ่อนของประชาชนและชุมชนอยู่แล้วว่าเรามักไม่มีเอกสาร ไม่มีเนื้อหาที่เป็นเอกสารอ้างอิง แต่ส่วนราชการมักจะมี เพราะฉะนั้นการที่ได้ทั้งตัวเอกสารและข้อมูลจริง รูปธรรมในทางปฏิบัติ การลงพื้นที่ มีความจำเป็นมากพอๆ กับการที่จะเรียกร้องเอกสาร เพราะฉะนั้นกระบวนการหลังจากนี้ถ้าหากว่าทัศนคติหรือมุมมองของคณะกรรมการไม่เข้าใจก็จะกลายเป็นปัญหา
ถ้าประเด็นสำคัญเราคิดว่า 3 ประเด็นแรกนี้กับการให้น้ำหนักการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการและขั้นตอนน่าจะเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคสมัยหลังนี้
คือพวกเราก็เรียกร้องเชิงโครงสร้างนะ คิดว่าถ้า กสม.จะไปให้พ้นการแก้ปัญหาเป็นรายๆ ก็อาจต้องมาดูการละเมินสิทธิเชิงนโยบายและกฎหมาย ซึ่งน่าจะกลายเป็นเรื่องหลักที่หลังจากนี้เราก็มีข้อเสนอในเวทีที่ประชุมไปแล้วว่า กสม.อาจต้องเข้ามาดูว่าตั้งแต่ในระดับนโยบายที่ออกมา การจัดทำนโยบายแผนพัฒนาภาคใต้หรือแผนพัฒนาประเทศทั้งหมด การจัดการเหมืองทั่วประเทศ การศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ทำได้หรือไม่ เพื่อคลี่คลายและแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ไม่ใช่ไปแก้รายย่อยๆ แล้วกฎหมายที่ว่าทีกระบวนการมีส่วนร่วมนั้นมีจริงหรือเปล่า มันทำให้สิทธิของชาวบ้านและชุมชนถูกลิดรอนหรือไม่ ถ้าพบแล้วก็แก้เลย
ถ้าเป็นอย่างนี้จะทำให้คนอยู่ในกรอบของกฎหมาย และกระบวนการที่จะติดตามมาตรการทางกฎหมาย การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งพวกเราก็จะได้สิทธิเท่ากัน ไม่จำเป็นต้องมาคลี่คลายปัญหาเป็นรายๆ อันนี้คือความคาดหวังว่า กสม.ยุคใหม่ถ้าขยับไป ผ่านเหตุการณ์แบบนี้ไปได้ก็น่าจะต้องทำ
การลุกขึ้นห้ามอ่านแถลงการณ์อาจไม่ได้สะท้อนแค่ความคิดของตัวบุคคล แต่อาจบอกถึงบริบทของสังคมในปัจจุบัน แล้วเราจะผ่านข้อจำกัดตรงนี้ไปได้อย่างไร
อาจจะต้องมีการเคลื่อนไหวมากขึ้น ผมคิดว่าทางเดียวที่พวกเราทำได้ก็คือการที่ต้องรวบรวม เคลื่อนไหว ผมคิดว่าการตรวจสอบจะเข้มข้นขึ้นหลังจากนี้ อย่างน้อยมาตรการแรกภายในช่วงเริ่มต้นสัปดาห์ 1 – 2 สัปดาห์ เราจะดูท่าทีว่ากสม.มีท่าทีอย่างไรต่อสิ่งที่พวกเรามีข้อเสนอ และเราอาจมีหนังสืออย่างเป็นทางการไปถึง กสม.ว่าขอให้ทบทวนบทบาท ส่วนปฏิกิริยาตอบรับจะเป็นอย่างไรค่อยมาว่ากันเป็นช็อตๆ แต่เราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงแน่นอน หากปล่อยไปอย่างนี้ เราคงไม่รอไปถึง 6 ปี ไม่ต้องรอเลือกตั้งกันใหม่
สำนักข่าวสิ่งแวดล้อมเผยบทสัมภาษณ์ ประธาน กสม. แฉเบื้องหลังเบรคอ่านแถลงการณ์
ด้าน นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ให้สัมภาษณ์พิเศษ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม เพื่ออธิบายความในสิ่งที่เกิดขึ้น โดยสรุปประเด็นว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครือข่ายชาวบ้านธรรมดาอาจเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าประธานไม่ให้พูด ซึ่งความจริงก็สามารถชี้แจงได้ตรงนั้นทันที แต่ส่วนตัวได้รักษาหน้าของ กสม.คนหนึ่งไว้ ซึ่งในที่สุดการรักษานั้นก็ทำให้ตัวเองบาดเจ็บ แต่ก็โอเคมีจิตใจมั่นคงพอแม้จะมีกระแสเรียกร้องให้ปลดออก
“ในอดีตผมเป็นผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา รับเงินเดือนเท่ากับประธานศาลฎีกาและนายกรัฐมนตรี ผมมาเป็นประธาน กสม.ค่าตอบแทนน้อยกว่า ผมไม่ได้มีผลประโยชน์ใดในการมาอยู่ที่นี่ หากถูกปลดจริงผมก็กลับไปทำงานที่เดิมไม่เดือดร้อน” นายวัส กล่าว พร้อมตั้งคำถามว่า คนที่กลัวการถูกปลดแท้จริงคือใคร
“จริงๆ แล้วตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 2 ผมก็เริ่มระแคะระคายและได้ข่าวว่ามีการเคลื่อนไหว หลังจากที่ผมมีแนวคิดจะแบ่งคณะอนุกรรมการสิทธิฯ ใหม่ให้มีความเหมาะสม ซึ่งคงจะมีแรงต้านอยู่ด้วยเช่นกัน เพราะอนุกรรมการบางชุดจะถูกยุบไปรวมกับชุดอื่น
“ที่ผ่านมามีปัญหาบางอย่าง เช่น คณะอนุกรรมการบางชุดก็ทำงานอุ้ยอ้าย กสม.บางคนก็รับผิดชอบงานอนุกรรมการถึง 3 ชุด แล้วถามว่าจะมีเวลาทำงานยังไง เมื่อตั้งอนุกรรมการขึ้นมาก็เอาเครือข่ายของตัวเองมาเป็นส่วนใหญ่ จนมีข้อครหาว่ามีการตั้งอนุกรรมการในเครือข่ายพวกเดียวกันหมด ไม่มีความหลากหลาย แทนที่จะมีอย่างน้อย 2 ฝ่ายมาช่วยกันกลั่นกรอง ดังนั้นต่อไปถ้าจากอนุกรรมการ 3 ชุด เหลือ 2 ชุด ก็จะมีคนบางคนที่อยู่ในนั้นอาจจะหลุดออกไป
“นอกจากนี้ยังมีเทคนิคหลายอย่างที่อนุกรรมการใช้ เช่น บางเรื่องการตรวจสอบควรจะเสร็จแล้วแต่ชะลอไว้ไม่ให้เสร็จ เพื่อใช้อำนาจของอนุกรรมการในการเรียกเอกสารข้อเท็จจริงไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอื่น เพราะในเรื่องที่ร้องเรียนมันจบแล้ว เป็นต้น ความจริงมีมากกว่านี้อีก ก่อนหน้าที่ผมเข้ามาก็ไม่เคยรู้ว่ามีการทำกันแบบนี้งานก็เลยช้า มันมีปัญหาเยอะกว่านี้แต่เรื่องเหล่านี้ก็กำลังแก้ไขอยู่ ซึ่งในตอนนี้ก็แก้ไขไปในระดับหนึ่ง” นายวัส กล่าว (คลิกอ่านข่าว)
000
แถลงการณ์ฉบับแรก
แถลงการณ์ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลปัจจุบัน ได้มีการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิต สังคม วิถีวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันนำไปสู่การละเมิดสิทธิชุมชนตามมา อาทิ เช่น 1. นโยบายการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ที่รัฐบาลได้ประกาศเดินหน้าโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสองฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ ที่จะต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล และท่าเรือน้ำลึกบ้านสวนกง จังหวัดสงขลา รวมถึงการเกิดขึ้นของโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกันอีกมากมาย เช่น การก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมระหว่างท่าเรือสองฝั่ง การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม การสร้างเขื่อน และการเปิดพื้นที่การลงทุนแบบใหม่ที่เรียกว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดสงขลา 2. โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และโรงไฟฟ้าเทพา ที่มีการเร่งรัดดำเนินโครงการอย่างมีนัยยะในช่วงปีที่ผ่านมา 3. โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่เกิดขึ้นอย่างกระจัดกระจายทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้ ซึ่งพยายามหลบเลี่ยงข้อระเบียบ หรือขั้นตอนการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่ความขัดแย้งในหลายพื้นที่ 4. นโยบายการทวงคืนผืนป่าที่ได้มีการตรวจยึดพื้นที่ทำกินดั้งเดิมของชุมชนอย่างไม่แยกแยะ อันส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในการดำรงชีวิตของเกษตรกรชาวไร่ ชาวสวนยาง ในหลายพื้นที่ 5. การละเลยไม่คุ้มครองสิทธิของชนกลุ่มน้อย หรือกลุ่มชาติพันธุ์ภาคใต้ ได้แก่ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล กลุ่มมันนิ (ซาไก) จนนำไปสู่ปัญหาอื่นๆเช่น การถูกรุกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การสูญเสียที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชาวเล หรือการรับรองสิทธิพลเมืองของกลุ่มมันนิ 6. สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังไม่มีแนวทางหรือทางออกในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบ และยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นรายวัน ทั้งที่โดยหลักการแล้วการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการต่าง ๆ เหล่านี้จะต้องอาศัยความละเอียดอ่อนที่รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องพึงระวังถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว อีกทั้งต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย หรือข้อระเบียบต่าง ๆ ในการกลั่นกรองก่อนการดำเนินโครงการอย่างรอบด้าน มิเช่นนั้นแล้ว ก็จะนำไปสู่การละเมิดสิทธิของประชาชนและสิทธิชุมชนเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจาการละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ มีความเห็นว่านโยบาย และหลายโครงการที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นไม่เหมาะสมที่จะได้รับการตัดสินใจผลักดันเดินหน้าในรัฐบาลเฉพาะกิจ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการออกแบบหรือสร้างกติกาทางสังคมแบบใหม่ ภายใต้เจตนารมณ์ของรัฐบาลเองที่ต้องการปฏิรูปประเทศนี้ให้ดีกว่าเดิม ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดบรรยากาศของความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมในภาคใต้ อันเกิดขึ้นจากความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างผู้ดำเนินนโยบายกับชุมชนผู้ได้รับผลกระทบ ก็ซึ่งกำลังนำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านในชุมชนด้วยกันเอง ซึ่งเป็นความขัดแย้งอีกรูปแบบหนึ่งที่กำลังขยายวงเพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องป้องกันการละเมิดสิทธิที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเสนอให้รัฐบาลยุติ หรือทบทวนการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการดังที่ได้กล่าวแล้วเบื้องต้น และให้หันมาสร้างบรรยากาศของประเทศไปสู่ความสมานฉันท์ปรองดอง และสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ด้วยความเคารพ |
แถลงการณ์ฉบับที่ 2
แถลงการณ์เครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้จัดเวที กสม.พบประชาชนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม พ.ศ.2559 ณ โรงแรมบุรีศรีภู อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งมีประชาชนจากเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ รวมถึงข้าราชการ นักวิชาการ และตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ทั่วทุกจังหวัดในภาคใต้เข้าร่วมกว่า 300 คน การประชุมดังกล่าวมีการวิเคราะห์สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิทธิชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ และการระดมข้อเสนอเพื่อให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติชุดใหม่ ได้นำไปปฏิบัติเพื่อปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบการละเมิดสิทธิให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต โอกาสนี้ ทางเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ ได้จัดทำข้อเสนอเตรียมออกเป็นแถลงการณ์ เพื่อนำผ่านสื่อมวลชนไปยังรัฐบาลให้หยุดการดำเนินนโยบาย โครงการ หรือกิจการที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการละเมิดสิทธิชุมชนในภาคใต้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต และด้วยหวังจะให้คณะกรรมการสิทธิฯ ได้รับทราบเนื้อหาสาระของข้อเสนอในแถลงการณ์ดังกล่าวด้วย โดยได้ประสานงานกับคณะกรรมการสิทธิฯ บางท่านไว้ล่วงหน้า เพื่อขอช่วงเวลาก่อนการปิดเวทีการประชุมในการจัดแถลงข่าวนี้ แต่กลับได้รับการปฏิเสธจาก นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ด้วยท่าทีที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ดำรงตำแหน่งนี้ ทั้งๆ ที่เนื้อหาสาระในคำแถลงการณ์ดังกล่าวนั้นมิได้กระทบต่อคณะกรรมการสิทธิฯ ชุดนี้แต่อย่างใด หากเป็นการสื่อสารไปยังรัฐบาลเท่านั้น เป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมดรู้สึกไม่พอใจต่อท่าทีดังกล่าว จึงได้ประท้วง นายวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ด้วยการเดินออกจากห้องประชุมก่อนที่จะกล่าวปิดการประชุมแล้วเสร็จ จากนั้นเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ทั้งหมด ได้ใช้พื้นที่หน้าห้องประชุมอ่านแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวต่อหน้าสื่อมวลชน พร้อมกันนี้ ได้มีการกล่าวตำหนิท่าทีที่ไม่เหมาะสมของประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ซึ่งทราบมาว่า ในเวที กสม.พบประชาชนที่ได้จัดไปก่อนหน้านี้ในภาคอื่นๆ ก็เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการปิดกั้นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน อันเป็นการกระทำที่ขัดแย้งอย่างยิ่งต่อคุณสมบัติที่เหมาะสมของผู้ที่จะทำหน้าที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกละเมิดสิทธิชุมชนภาคใต้ จึงมีฉันทมติร่วมกันว่า ไม่สามารถยอมรับการปฏิบัติหน้าที่ของ นายวัส ติงสมิตร ในฐานะประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้อีกต่อไป ด้วยว่าการรับรู้ การได้ยินเสียง คือต้นทางของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน หากไม่รับฟังก็ไม่อาจรู้ข้อเท็จจริง หากไม่รับรู้ข้อเท็จจริงก็ไม่อาจวินิจฉัยคุ้มครองใครได้ การรับฟัง จึงเป็นคุณสมบัติสำคัญยิ่งของผู้เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทุกคน แต่พฤติกรรมของ นายวิส ติงสมิตร หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เราจึงขอตำหนิการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทั้งหมด แสดงความรับผิดชอบด้วยการเปลี่ยนตัวบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการสิทธิฯ ต่อไป เพื่อแก้ไขภาพลักษณ์ และเรียกความศรัทธา ความเชื่อมั่นขององค์กรดังกล่าวนี้กลับคืนมาอีกครั้ง |