24 พ.ค. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 22.20 น. วันที่ 23 พ.ค. 2559 สมพร ช่วยอารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาคณิตศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ได้โพสต์ภาพและข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว Somporn Chuai-Aree ระบุ
“ผมเพิ่งได้รับหนังสือสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา จากเพื่อนร่วมงานดังภาพแนบครับ… ในฐานะที่ถ้าท่านเป็นนักวิชาการเช่นผม ท่านควรจะทำเช่นไรครับ? เหตุผลที่ว่าทำไมผมออกมาตั้งคำถามกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ผมตั้งคำถามเพื่ออะไร? ผมได้ตอบตอนไปดูงานที่ญี่ปุ่นไปแล้วส่วนหนึ่ง ม.อ.น่าจะเปิดเวทีดีเบตเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินกันสักยกก็คงจะดีนะครับ อาจจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมครับ”
ส่วนภาพที่โพสต์เป็น สำเนาหนังสือของทางราชที่ กห. 0484.63/113 จากมณฑลทหารบกที่ 42 (มทบ.42) ค่ายเสนาณรงค์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ลงวันที่ 21 เม.ย. 2559 เรื่อง ขอความร่วมมือการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เรียน อธิการบดี ม.อ.หาดใหญ่ ลงนามโดย พล.ต.วิรัชช์ กมลศิลป์ ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42
มีเนื้อหาว่า ตามที่มีกลุ่มมวลชนมีการเคลื่อนไหวและต่อต้าน กรณีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาในพื้นที่ จ.สงขลา โดยมีกลุ่มแกนนำในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียง กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนักวิชาการ และกลุ่มประชาสังคม หรืออาจมีบุคลากรในหน่วยงานของท่านบางคนไม่เข้าใจการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา อาจหันไปให้การสนับสนุนให้ความร่วมมือ
“มณฑลทหารบกที่ 42 จึงขอความร่วมมือจากท่านทำความเข้าใจกับบุคลากร เพื่อให้ทราบถึงวิธีการดำเนินงานในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา” ข้อความในหนังสือระบุ
ในตอนท้ายของสำเนาเอกสาร เขียนระบุสำเนาแจ้งไปยังคณะบดีคณะวิศวะฯ และคณะบดีคณะวิทยาศาสตร์ รวมทั้งมีการระบุชื่อ ‘ดร.สมพร’ นอกจากนี้ยังมีการนัดประชุมหารือกับอาจารย์และบุคลากรที่เดินทางไปดูงานที่ญี่ปุ่นกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ในวันที่ 25 พ.ค. 2559 นี้ด้วย
จากโพสต์ดังกล่าว ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กจำนวนมากให้ความสนใจมาคลิกแสดงความรู้สึก แชร์ต่อ รวมทั้งโพสต์ให้กำลังใจ และแสดงทัศนะต่อกรณีที่เกิดขึ้นอย่างหลากหลาย
หลังจากนั้น เครือข่ายพลเมืองสงขลา ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึก ลงวันที่ 24 พ.ค. 2559 แสดงความคิดเห็นต่อการทำหนังสือฉบับนี้ ดังนี้ 1.การทำหนังสือดังกล่าวเป็นการทำเกินอำนาจหน้าที่ สะท้อนถึงวิธีคิด และการไม่เข้าใจต่อความเป็นจริงของสังคม 2.การทำหนังสือฉบับดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิ และเป็นการคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพทางวิชาการ
เครือข่ายพลเมืองสงขลา ให้ข้อมูลด้วยว่า กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินซึ่งไม่เคยมีอยู่ในแผนของจังหวัดมาก่อน ปัจจุบัน จ.สงขลา มีโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติ จะนะ จำนวน 2 โรง กำลังการผลิต 1,500 เมกกะวัตต์ ในขณะที่จ.สงขลาเรา ใช้ไฟฟ้าสูงสุดเพียง 480 เมกกะวัตต์ในปี 2557 กำลังการผลิตนี้มากเพียงพอต่อ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างอยู่แล้ว
อีกประเด็นคือ ปัญหามลพิษที่มากับโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ก่อสร้างมาก่อนแล้ว อย่างกรณีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต มีคำพิพากษาของศาลออกมาแล้ว ให้ กฟผ.แก้ไขปัญหา แต่กฟผ. ก็ยังไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ เครือข่ายพลเมืองสงขลา จึงออกมาร่วมกันคัดค้านด้วยเหตุผลเบื้องต้น ดังกล่าว
การคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน เครือข่ายพลเมืองสงขลามีข้อเสนอในการจัดการพลังงานใหม่ทั้งระบบ พร้อมทางเลือกในการจัดการพลังงาน หากแต่เรื่องราวเหล่านี้ต้องอาศัยการพูดคุยปรึกษาหารือกัน การที่นักวิชาการหลายท่านได้ออกมาตั้งข้อสังเกต ออกมาให้ข้อมูล รวมถึงการศึกษาวิจัยร่วมกับประชาชนในพื้นที่ในการแสวงหาทางเลือกทางออกให้กับสังคม ย่อมเป็นสิ่งที่ดี
แต่หนังสือฉบับดังกล่าวแสดงนัยยะแฝงถึงการสกัดกั้นการแสดงออกทางความคิดของกลุ่มคนที่เห็นต่าง ซึ่งบทบาทเหล่านี้ ไม่ควรเป็นบทบาทของทหารในยุคปฏิรูป ซึ่งแนวทางการปฏิรูปพลังงานไทยไม่ใช่แนวทางการใช้พลังงานถ่านหินอย่างแน่นอน
“เครือข่ายพลเมืองสงขลา ต้องการสังคมที่ดี การเปิดพื้นที่พูดคุยจึงมีความจำเป็น นี้เป็นเรื่องความมั่นคงของประชาชน การใช้พลังงานถ่านหินจะทำลายฐานทรัพยากรในการดำรงชีวิตมีความสำคัญและจำเป็นของเรา จึงขอความร่วมมือจากท่าน ขอให้ท่านให้ความร่วมมือกับประชาชน โดยยุติบทบาทการสนับสนุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และขอคืนหนังสือฉบับดังกล่าว เปลี่ยนบทบาทมาเป็นคนกลางจัดเวทีนำข้อมูลของทั้งสองสามฝ่ายที่มีความคิด และข้อมูลต่างกันมาเปิดให้ประชาชน สาธารณะชนได้พิจารณาอย่างตรงไปตรงมา นำไปสู่การปฏิรูปจริง ๆ” หนังสือเครือข่ายพลเมืองสงขลา ระบุ
หนังสือดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้