ศาลยกฟ้อง! คดีเรียกค่าเสียหายกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ 50 ล้าน ติดป้าย “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง” ทำบริษัทเหมืองทองเสียชื่อเสียง ศาลเชื่อชาวบ้านได้รับผลกระทบจริง ถึงจะไม่มีหน่วยงานใดระบุอย่างชัดเจน ชาวบ้านสู้อย่างสุจริต
วันนี้ (30 มี.ค.59) เมื่อเวลาประมาณ 09.40 น. ศาลจังหวัดเลยมีคำพิพากษาสั่งยกฟ้องในคดีป้ายซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านและบริเวณหมู่บ้านค้านเหมือง ที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องแพ่งชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย 6 คน ข้อหาละเมิด เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท จากการทำให้เสียชื่อเสียงและถูกเกลียดชัง
ธีรพันธุ์ พันธุ์คีรี ทนายความของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ สรุปคำพิพากษาของศาลในคดีดังกล่าวว่า ศาลเชื่อว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบจริง ถึงจะไม่มีหน่วยงานใดระบุอย่างชัดเจนว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นมาจากเหมืองก็ตาม ชาวบ้านสู้อย่างสุจริตและชอบธรรมเป็นไปตามครรลองคลองธรรม จึงพิพากษายกฟ้อง
คำพิพากษาดังกล่าวสร้างความดีใจให้กับชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน ราว 60 คน ที่เดินทางมาที่ศาล จ.เลย เพื่อร่วมฟังคำพิพากษาในวันนี้ตั้งแต่เช้า
คดีดังกล่าวสืบเนื่องจาก เหตุการณ์เมื่อปี 2558 ชาวบ้านได้ร่วมกันทำซุ้มประตูหมู่บ้าน และได้เขียนข้อความว่า “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง” รวมถึงได้ติดป้ายเล็กๆ โดยมีข้อความว่า “ปิดเหมืองฟื้นฟู” บริเวณรอบหมู่บ้าน ซึ่งเป็นกิจกรรมรณรงค์ของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ โดยทางบริษัท ทุ่งคำ จำกัด กล่าวหาว่า การกระทำของจำเลยทั้ง 6 คน จงใจละเมิดต่อบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย จึงเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินจำนวน 50 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี จากเงินต้น และให้รื้อถอนป้ายดังกล่าว
ภาพ: ป้ายซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้าน-และป้ายในหมู่บ้านที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี
สำหรับคดีที่บริษัท ทุ่งคำ จำกัด ฟ้องกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ถึงปัจจุบันมีทั้งหมด 19 คดี โดยในจำนวนนี้เมื่อปี 2558 มีการทำความตกลงให้มีการขนแร่แลกการถอนฟ้องคดีไปแล้ว 8 คดี แต่ยังมีคดีฟ้องร้องตามมาอีกหลายคดี และบางคดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ (คลิกอ่าน: ประมวลคดีเหมืองแร่เมืองเลย VS กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด)
นอกจากนี้ ในวันที่ 16 พ.ค. 2559 นี้ จะมีการพิพากษาคดีในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2557 ที่ชาวบ้านถูกชายฉกรรจ์เข้าปิดล้อมและทำร้ายเพื่อให้มีการขนแร่ ซึ่งมีการฟ้องนายทหาร 2 นาย
ส่วนการดำเนินกิจการของบริษัทฯ ในปัจจุบัน ได้หยุดการประกอบกิจการมาประมาณ 3 ปี และขณะนี้อยู่ระหว่างการขอต่ออายุการใช้พื้นที่ป่าและที่ ส.ป.ก.ในการประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ
ยื่นหนังสือค้านเปิดประชุม สภา อบต.เขาหลวง หวั่นมีวาระให้พื้นที่เหมือง
ต่อมาเมื่อเวลาประมาณ 11.30 น. หลังจากศาลมีคำตัดสินยกฟ้องในคดีฟ้องติดป้าย “หมู่บ้านนี้ไม่เอาเหมือง” เรียกค่าเสียหาย 50 ล้าน กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย เดินทางไปที่อำเภอวังสะพุง เพื่อยื่นหนังสือกับนายอำเภอขอคัดค้านการขอเปิดประชุมสภา อบต.เขาหลวง สมัยวิสามัญ ครั้งที่1/2559 ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเรื่องการขอต่ออายุขอเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็ก ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง
การยื่นหนังสือครั้งนี้มีปลัดอำเภอวังสะพุงมารับหนังสือแทนนายอำเภอวังสะพุงซึ่งติดภาระกิจ เมื่อยื่นหนังสือเสร็จกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ จึงแยกย้ายกลับบ้าน