26 มี.ค. 2559 ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กว่า 500 คน ในเขต อ.บำเหน็จณรงค์ และ อ.จัตุรัส เดินทางมาร่วมวงโสเหล่กินข้าวฟังเรื่องเล่าคนอีศาน (ล้อมวงพูดคุย) กันอย่างคึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า โดยร่วมพิธีทำบุญ ถวายภัตตาหารเพล และร่วมรับประทานอาหารกลางวัน จากนั้นจึงเป็นวงเสวนาแลกเปลี่ยน “ผลกระทบถ่านหินและประสบการณ์การต่อสู้ของชาวบ้าน” โดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด จ.เลย และชาวบ้านจาก อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ
ผู้สื่อข่าวรายงานงาน กิจกรรมของชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ จัดขึ้นในบริเวณที่ดินของชาวบ้านในเครือข่ายแห่งหนึ่ง หลังจากที่ต้องเปลี่ยนแปลงสถานที่ในการจัดงานมาแล้ว 3 ครั้ง เนื่องจากพบว่ามีการกดดันเจ้าของสถานที่ ไม่ให้อนุญาตให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ใช้สถานที่ในนการจัดกิจกรรม
สืบเนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่ทหารและหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงในพื้นสั่งห้ามจัดทอดผ้าป่าสามัคคีเพื่อระดมทุนในการต่อสู้คัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินบำเหน็จณรงค์ ซึ่งมีกำหนดจัดงานในวันที่ 26-27 มี.ค. 2559 โดยระบุว่าผิดกฎหมาย เป็นภัยต่อความมั่นคง และสร้างความแตกแยกในชุมชน ทำให้ชาวบ้านต้องเลื่อนการจัดงานผ้าป่าออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่จัดงานมาร่วมวงโสเหล่ฯ ครั้งนี้แทน
สำหรับงานในวันนี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.บำเหน็จณรงค์ ทั้งในและนอกเครื่องแบบกระจายกำลังสังเกตการณ์อยู่โดยรอบ โดยไม่ได้มีการออกคำสั่งให้ชาวบ้านหยุดการทำกิจกรรมแต่อย่างใด
แสวง พรีพรม อดีตผู้ใหญ่บ้านคำพิงพัฒนา หมู่ 15 อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ กล่าวว่า มีความกังวลมากเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพจากโรงงานถ่านหินและการแย่งชิงน้ำ ตนเองเคยไปแม่เมาะ เห็นสภาพหมู่บ้านแล้วน่ากลัวมาก ชาวบ้านเป็นโรงมะเร็งตาย คนที่แม่เมาะต้องซื้อน้ำกิน ถ้าตนเองต้องซื้อน้ำกินคงตายแน่ๆ
อีกประเด็นหนึ่งคือ การแย่งชิงน้ำซึ่งแถวนี้มีเขื่อนลำคันฉูที่ส่งน้ำให้ชาวบ้านมีปริมาณน้ำเพียง 42.6 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่พื้นที่เกษตรกรรมของทั้งอำเภอมีมากถึง 90,000 ไร่ แม้บริษัทจะบอกว่า จะไม่แย่งน้ำชาวบ้านหรอก แต่ชาวบ้านไม่เชื่อเพราะปริมาณน้ำที่เรามีเหมือนน้ำในแก้วเพียงแก้วเดียว 42.6 ล้าน ลบ.ม. ถ้าโรงไฟฟ้าต้องการน้ำก็คงไปเจรจากับหน่วยงานรัฐและรัฐคงปล่อยน้ำจากเขื่อนไปให้โรงงานก่อน ส่วนพวกเราชาวนาต้องรอไปก่อน
“ใช่! ว่าบริษัทไม่ได้แย่งน้ำ แต่คุณแบ่งน้ำจากแก้วเดียวของเราไปก่อน ก่อนที่จะส่งให้ชาวบ้าน นั่นเท่ากับแย่งน้ำเรา นี่ยังไม่นับปริมาณน้ำที่ต้องเก็บไว้ในเขื่อนเพื่อรักษาสภาพเขื่อนอีก 9 ล้าน ลบ.ม. นี่เป็นประเด็นที่ผมกังวลมากที่สุดต่อสถานการณ์ของบ้านเรา” แสวงกล่าว
พรทิพย์ หงษ์ชัย ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย กล่าวว่า ยินดีและดีใจที่ได้มาเจอพี่น้องที่บำเหน็จณรงค์ เห็นพี่น้องมีที่ดินและความอุดมสมบูรณ์มาก อยากให้รักษาเท่าชีวิต ที่จริงเป็นคนชัยภูมิ แต่ได้ไปอยู่เมืองเลย และไปเจอผลกระทบเหมืองทองคำที่เมืองเลยซึ่งมีเหมืองเกิดขึ้นมาแล้ว แต่ที่นี่ยังไม่เกิด อยากให้รักษาต่อสู้ไว้ไม่ให้เกิด
พรทิพย์ กล่าวด้วยว่า เคยไปดูโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ผลกระทบหนักมาก ระยะทางถึง 100 กิโลเมตร น้ำ อาหารกินไม่ได้ เช่นเดียวกับที่เมืองเลย เดิมเคยเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์มาก หาอาหารได้จากธรรมชาติ หาได้ทั้งในภูเขาและร่องเขา แต่ตอนนี้เราได้รับผลกระทบจากโลหะหนัก ชาวบ้านได้รับสารหนักในร่างกาย ที่ตายเยอะมากที่สุดคือด้วยโรคมะเร็ง หน่วยงานรัฐประกาศห้ามกินปูปลาอาหารในลำน้ำเพราะมีสารโลหะหนัก
ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด เล่าว่า ครั้งแรกที่บริษัทมาบอกก็บอกว่าจะสร้างโรงเรียน สร้างตลาดให้ คิดว่าหมู่บ้านจะเจริญ ลูกหลานได้ทำงานในหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงยอม เมื่อเหมืองเปิดทำการ มีเสียงระเบิดวันละ 2 ครั้ง ก้อนหินร่วงลงมาในบ้าน เสียงการผลิตแร่ทั้งวันทั้งคืน ชาวบ้านทนไม่ไหวและสู้มาเกือบ 10 ปีแล้ว
“เราต้องซื้อน้ำกิน น้ำใช้มาตั้งแต่ปี 2552 มีคดีมากมาย เราสู้ถึงชั้นศาล แต่เราก็สู้ ในที่สุดบริษัทก็ถอนฟ้อง เพราะอะไร! เราสู้บนความถูกต้อง เรามีทุนความเข้มแข็ง เราเจอผลกระทบแล้ว ที่นี่โรงไฟฟ้ายังไม่ได้สร้าง เราควรจะต้องสู้ เรามีสิทธิในการแสดงออกทางกฎหมาย เราไม่ได้มีอาวุธ” พรทิพย์กล่าว
พรทิพย์ กล่าวด้วยว่า วันนี้มีเจ้าหน้าที่มาดูแลความสงบเรียบร้อยให้พวกเรา ถ้าที่เมืองเลย ชาวบ้านเจอแต่ตำรวจพร้อมชุดปราบจลาจล เจอคดี เจอการคุกคาม ถูกทำร้ายร่างกายจากการลุกขึ้นมาต่อสู้คัดค้าน นี่เป็นประสบการณ์
“สิทธิของเราคือ คนที่อยู่ที่นี่ เป็นคนดั้งเดิม เรามีสิทธิชุมชนดั้งเดิมที่จะรักษาบ้านเกิดให้กับลูกหลานของเรา อยากให้กำลังใจพี่น้อง เราต้องอดทนให้มาก พี่น้องจะต้องเจออะไรมากกว่านี้” ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด ให้กำลังใจในการต่อสู้
อรนุช ผลภิญโญ กลุ่มรักษ์คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในพื้นปัญหาโรงงานยางพารา กล่าวว่า ที่คอนสารไม่ได้ปลูกยางพาราเราปลูกข้าวกิน ที่คอนสารมีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำผุดหลายแห่ง แต่รัฐและทุนกำลังหลอกชาวบ้าน ให้ข้อมูลที่ไม่เพียงพอ โดยพยายามบอกว่าโรงงานดีอย่างไร กรณีโรงงานยางพารา เจ้าของโรงงานบอกว่า เศรษฐกิจคอนสารจะดี คนจะมีงานทำ แต่เรายังไม่เคยเห็นเลยว่าพื้นที่โรงงานที่ไหนทำให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดีจริงๆ ยิ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว ผลกระทบยิ่งจะร้ายแรง ตอนนี้ที่คอนสารเรามีหลักคิดว่า ถ้ายังไม่สร้าง เราก็ไม่ควรให้มันสร้าง อันนี้เป็นหลักคิดสำคัญ
“ที่นี่น่าสนใจมาก ที่เห็นผู้นำหมู่บ้านเข้มแข็งมากและออกมากับชาวบ้านจริงๆ แต่ก็ยังสงสัยว่า ทำไมรัฐจะต้องห้ามทำบุญ ต่อไปเขาคงห้ามเราหายใจ แต่อยากให้พี่น้องรู้ว่า สิ่งที่รัฐห้ามเรานี้คือ รัฐกำลังอ่อนแอ เราจึงต้องเข้มแข็งไว้ และสู้ด้วยความจริง การต่อสู้ของพี่น้องนั้นเป็นการต่อสู้ระยะยาวแน่นอน อยากให้กำลังใจพี่น้องต่อสู้ต่อไป” อรนุช กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานกิจกรรมในวันนี้ว่า ช่วงเวลา 10.30 น. กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ได้พาตัวแทนเครือข่ายชาวบ้านและนักวิชาการ ไปลงพื้นที่ทะเลสีดอ หนองน้ำธรรมชาติ เพื่อดูสภาพพื้นที่ที่ตั้งของโรงไฟฟ้า ซึ่งในบริเวณนั้นมีชาวบ้านที่กำลังต้มเกลือและจับปลาเป็นจำนวนมาก
บึงทะเลสีดอ เป็นบึงน้ำธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ขนาด 300 ไร่ เป็นแหล่งน้ำและแหล่งหาปลาของชาวบ้าน โดยทะเลสีดอนี้ทางโรงไฟฟ้าจะขอใช้น้ำเพื่อการประกอบกิจการในเหมืองแร่
ต่อมาเวลา 11.00 น. ชาวบ้านบางส่วนได้เดินทางไปถวายเพลที่วัด มีการกรวดน้ำคว่ำขันให้เจ้ากรรมนายเวร และรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน มีชาวบ้านหลายหมู่บ้านที่นำอาหารมาตั้งเป็นโรงทาน และมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันคึกคักเกี่ยวกับกรณีที่ทหารห้ามจัดผ้าป่ากลุ่มชาวบ้าน
นอกจากนั้น ยังการระดมทุนของเครือข่ายที่มาร่วมงาน โดยเบื้องต้นได้เงินราว 50,000 บาท แล้ว ซึ่งเดิมชาวบ้านตั้งใจจะทำการระดมทุนทอดผ้าป่า แต่ทหารได้ประกาศไม่ให้จัดดังที่เป็นข่าวก่อนหน้านี้
ที่มาภาพ: เพจเฟซบุ๊ก เหมืองแร่ ชัยภูมิ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: เหตุเพราะใช้คำ ‘ระดมทุนต่อสู้’ ทหาร-ตร. ห้ามชาวบ้านค้านโรงไฟฟ้าฯ จัดผ้าป่า ชี้เป็นภัยความมั่นคง (คลิกอ่าน)