คุยกับ ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี นักวิชาการสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ ในประเด็นร้อนการต่อต้านมัสยิดใน จ.น่าน ถึงความคือหน้าการแก้ปัญหาของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และความเข้าใจของคนในสังคม
การสร้างมัสยิดใน จ.น่าน ที่ถูกต่อต้านโดยประชาชนในพื้นที่ เป็นปรากฏการณ์ที่ในพื้นที่ภาคเหนือ ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2555 ชาวบ้านที่บ้านโป่งน้ำร้อน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ก็เคยลุกขึ้นมาค้านการสร้างมัสยิดเช่นเดียวกัน นี่อาจเป็นกรณีศึกษาให้กับสังคมไทยได้ขบคิดเรื่องอยู่ร่วมกันอย่างหลากหลายในสังคมที่เรียกว่า ‘พหุวัฒนธรรม’
จังหวัดน่านมีพี่น้องมุสลิมประมาณ 60-70 คน มาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่จังหวัดน่านหลายสิบปีแล้ว แต่ที่จังหวัดน่านไม่มีมัสยิด พวกเขาต้องเดินทางไปที่ อ.เด่นชัย ระยะทางกว่าร้อยกิโลเมตรเพื่อประกอบกิจทางศาสนา จึงต้องการมีสถานที่ในการละหมาด โดยเฉพาะการละหมาดวันศุกร์อันเป็นข้อบังคับของคนมุสลิมที่จะต้องละหมาดในมัสยิด
ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ แนวทางอยู่ร่วมกันโดยต้องไม่หวาดระแวง
“ชาวบ้านมารวมตัวกัน จริงๆ ชาวบ้านก็ไม่ได้บอกว่าจะค้านการสร้างมัสยิด แต่ว่ายังมีความไม่สบายใจ มีความไม่เข้าใจว่า การปฏิบัติตามหลักศาสนาของอิสลามเป็นอย่างไร แล้วสื่อที่ผ่านมาก็ได้ยินเรื่องราวของสามจังหวัดชายแดนใต้ อันนี้เป็นบันทึกที่ชาวบ้านได้ทำถึงองค์กรของศาสนาอิสลาม ก็เลยเป็นห่วงว่าจะเหมือนเหตุการณ์ในภาคใต้ การที่มาละหมาดจะเสียงดังไหม เสียงอาซานจะรบกวนการใช้ชีวิตเขาหรือป่าว ก็เลยรวมตัวกันคัดค้านการก่อสร้างมัสยิด จนกว่าจะมีการทำความเข้าใจกัน” ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี นักวิชาการสถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวถึงสถานการณ์ในพื้นที่
นักวิชาการด้านสถาบันศาสนาฯ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวเข้าใจพี่น้องชาวน่านที่มีความหวาดระแวงตรงนี้ เนื่องจาก จ.น่านเป็นเมืองที่มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีที่เป็นของตัวเองมาตลอด เพราะฉะนั้นเมื่อศาสนาอิสลามที่ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกใหม่เข้ามาก็อาจมีความวิตกกังวล เป็นเรื่องธรรมดา
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทางคณะกรรมการฯ ก็มีมติให้กรรมการกลางในภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮองสอน ตาก จัดทีมลงไปทำความเข้าใจพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ในประเด็นที่ไม่สบายใจ คิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้
ผศ.ดร.สุชาติ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของพี่น้องมุสลิมก็คงต้องพูดคุยกันว่า ในขั้นต้นคือประชากรไม่มาก ก็ไม่ต้องถึงขั้นการทำเป็นมัสยิด ทำเป็นลักษณะ ‘บาแล’ เป็นสถานที่ละหมาดชั่วคราวไปก่อน เราก็จะลงไปคุยทั้งพี่น้องพุทธและมุสลิมที่อยู่ในพื้นที่
“ผมเชื่อว่าการลงไปคุยแบบพี่แบบน้องน่าจะเป็นทางออกที่ดี เราก็เข้าใจดีว่าพี่น้องที่อยู่ตรงนั้นยังไม่มีความเข้าในในศาสนาอิสลามก็ต้องเป็นความรับผิดชอบขององค์กรศาสนาของมุสลิมที่จะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง” นักวิชาการด้านสถาบันศาสนาฯ กล่าว
ผศ.ดร.สุชาติ ให้ความเห็นต่อมาว่า บางครั้งข่าวตามสื่อกระแสหลักอาจมีเรื่องของความรุ่นแรงหรืออะไรต่างๆ ซึ่งต่างจากความสัมพันธ์จริงๆ ในพื้นที่ เช่นที่ภาคใต้เองพี่น้องชาวพุทธและชาวมุสลิมที่อยู่กันด้วยความเอื้ออาทรต่อกันมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย สิ่งเหล่านี้เราอาจจะเอามาพูดคุยกันมากขึ้น เพื่อที่เราจะได้เข้าใจกันและอยู่ร่วมกันโดยไม่หวาดระแวงอีกต่อไป
ศาสนาสถานศูนย์รวมที่คนทุกศาสนาควรมีได้
ต่อคำถามถึงการเปรียบเทียบระหว่างการมีมัสยิดของศาสนาอิสลามกับศาสนาอื่น ผศ.ดร.สุชาติ อธิบายว่า จริงๆ แล้วจะเปรียบเทียบทางพุทธศาสนาก็เปรียบเทียบเหมือนกับวัดที่เป็นศูนย์รวมของพี่น้องชาวพุทธในการประกอบพิธีทางศาสนา ศูนย์รวมของชุมชน มัสยิดก็เช่นกัน
ทางศาสนาอิสลามมัสยิดต้องเป็นศูนย์รวมในการทำกิจกรรมทุกอย่างทางศาสนา ถือว่าเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่พี่น้องจะได้มาทำความเข้าใจในศาสนา นอกจากเวลาเรามาละหมาดก็มีการอบรมสอนทางศาสนาให้ ซึ่งแน่นอนเรื่องคำสอนก็ต้องเป็นเรื่องที่ดี
เพราะฉะนั้นเมื่อมีชุมชน มีตัวคนแล้ว 60 คน 70 คนในจังหวัดระดับหนึ่ง ก็เป็นลักษณะที่เพียงพอที่ผู้คนจะมารวมตัวกันมาร่วมกันมาร่วมละหมาดร่วมกัน ส่วนจะเป็นมัสยิดหรือไม่ หรือจะเป็นแค่บาแลผมคิดว่าตรงนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
“อย่างน้อยเรื่องสถานที่ที่เขาอยากจะมารวมตัวกันเพื่อจะมาประกอบกิจกรรมทางศาสนาเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นสำหรับคนที่เป็นมุสลิมด้วยเช่นกัน เพียงแต่ว่าเราจะต้องทำบนพื้นที่ของความเข้าใจ บนพื้นที่ฐานของการพูดคุย เป็นที่ยอมรับ ไม่ใช่ทำบนพื้นที่ฐานของความหวาดระแวงหรือบนพื้นที่ฐานความขัดแย้ง ซึ่งมันอาจจะนำสู่เรื่องไม่ดีเกิดขึ้น” ผศ.ดร.สุชาติกล่าว
เหตุการณ์กับภาพสะท้อนของสังคมไทย
ผศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่า จริงๆ แล้วสังคมไทยเป็นสังคมที่มีความหลากหลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ประกอบด้วยความหลายของคนที่มาอยู่ร่วมกัน จริงๆ ไม่ใช่เฉพาะสังคมไทย ทุกประเทศทุกสังคม มีสังคมไหนที่เป็นสังคมเดียว ชาติพันธุ์เดียว แม้แต่ในภาคใต้ก็ไม่ได้มีแต่คนมาลายู ยังมีวัดในภาคใต้มากมาย
จริงๆ แล้วเราต้องตระหนักว่า เราจะต้องอยู่กันด้วยความหลากหลายและมองความหลากหลายเป็นสิ่งที่งดงาม เป็นสิ่งที่เราจะต้องอยู่ด้วยกัน เอื้ออาทร ช่วยเหลือกัน ไม่ใช่มองคนที่แตกต่างเป็นสิ่งแปลกปลอมเป็นสิ่งที่จะมาทำลาย สิ่งเหล่านี้สังคมไทยก็ต้องตระหนักให้มาขึ้นในการอยู่รวมกันอย่างหลากหลายมากขึ้น
“เรื่องการศึกษาของไทยเราที่เน้นเรื่องความเป็นไทย เราก็ต้องทำความเข้าใจว่าความเป็นไทยเราก็ต้องประกอบด้วยผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ความเชื่อทางศาสนา ความแตกต่างทางชาติพันธุ์ก็ต้องมีเรื่องของประเพณีวัฒนธรรมที่เราต้องทำความเข้าใจและเคารพซึ่งกันและกัน” ผศ.ดร.สุชาติ กล่าว