แอมเนสตี้ฯ เผยสถานการณ์โทษประหาร’57 เพิ่มสูง รัฐใช้ปราบปรามอาชญากรรม-ก่อการร้าย

แอมเนสตี้ฯ เผยสถานการณ์โทษประหาร’57 เพิ่มสูง รัฐใช้ปราบปรามอาชญากรรม-ก่อการร้าย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่รายงานรายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตทั่วโลก ประจำปี 2557 ระบุมีการใช้โทษประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ หลังจากรัฐบาลหันมาใช้โทษประหารชีวิตเพื่อปราบปรามอาชญากรรมและการก่อการร้าย โดยจีนประหารชีวิตบุคคลมากกว่าประเทศอื่นใดในโลก แต่รัฐบาลเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับทำให้ไม่สามารถหาจำนวนที่แท้จริงได้ รองลงมาคือ อิหร่าน ซาอุดิอาระเบีย อิรัก และสหรัฐฯ 

– รัฐได้ใช้โทษประหารชีวิตเพื่อปราบปรามอาชญากรรม การก่อการร้าย และจัดการกับความไม่สงบในประเทศ ทั้งๆ ที่เป็นวิธีการที่มีข้อบกพร่อง 

– จำนวนโทษประหารชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอียิปต์และไนจีเรีย โดยทั่วโลกมีการใช้โทษประหารชีวิต 2,466 ครั้ง เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับปี 2556 

– จากข้อมูลที่บันทึกได้ มีการประหารชีวิต 607 ครั้ง ลดลงเกือบ 22% เมื่อเทียบกับปี 2556 (ไม่นับการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นในจีน ซึ่งมากกว่าจำนวนการประหารชีวิตทั้งโลกรวมกัน) 

– จำนวนประเทศที่มีการประหารชีวิตยังอยู่ที่ 22 ประเทศ เท่ากับปี 2556

20150104130245.jpg

1 มี.ค.2558 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลรายงานสถานการณ์และโทษประหารชีวิตทั่วโลก ปี 2557 ระบุมีจำนวนประเทศที่ใช้โทษประหารชีวิตมากอย่างน่าตกใจ ทั้งนี้เพื่อแก้ปัญหาภัยคุกคามต่อความมั่นคงทั้งที่เป็นเรื่องจริงหรือเป็นสิ่งที่คิด ไม่ว่าจะเป็นภัยก่อการร้าย อาชญากรรม และการก่อความไม่สงบในประเทศ

จำนวนโทษประหารชีวิตที่มีการบันทึกข้อมูลได้ในปี 2557 เพิ่มขึ้นเกือบ 500 ครั้งเมื่อเทียบกับปี 2556 ส่วนใหญ่เป็นเพราะการเพิ่มขึ้นอย่างมากในอียิปต์และไนจีเรีย รวมทั้งการสั่งลงโทษประหารชีวิตคนจำนวนมากในทั้งสองประเทศในบริบทของการก่อความไม่สงบในประเทศและความไร้เสถียรภาพทางการเมือง

ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยว่า รัฐบาลที่ใช้โทษประหารชีวิตเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมกำลังหลอกตัวเอง ไม่มีหลักฐานใดที่ชี้ว่าการประหารชีวิตจะมีส่วนช่วยในการป้องปรามการก่ออาชญากรรมได้ดีกว่าการลงโทษชนิดอื่น 

“แนวโน้มที่มืดมนของการใช้โทษประหารชีวิตของรัฐบาลทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ผล ในการรับมือกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงที่เป็นจริงหรือที่คิดเอง และเพื่อรักษาความปลอดภัยของสาธารณะ เป็นแนวโน้มที่ชัดเจนในปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องน่าละอายที่รัฐจำนวนมากทั่วโลกกำลังเอาชีวิตประชาชนมาล้อเล่น ทั้งนี้โดยการสั่งประหารชีวิตคนเพราะ “การก่อการร้าย” หรือการปราบปรามการก่อความไม่สงบโดยเชื่อว่าเป็นมาตรการในการป้องปรามทั้ง ๆ ที่เป็นการเข้าใจผิด”

แต่มีข่าวดีในปี 2557 เช่นกัน เนื่องจากจำนวนการประหารชีวิตที่บันทึกได้ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ หลายประเทศยังหันมาใช้แนวทางเชิงบวกเพื่อมุ่งหน้าสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต 

ประเทศที่ประหารชีวิตมากสุด 

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่จีนประหารชีวิตบุคคลมากกว่าประเทศอื่นใดในโลกรวมกัน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเชื่อว่ามีการประหารชีวิตหลายพันคน และการลงโทษประหารชีวิตในจีนทุกปี แต่รัฐบาลเก็บข้อมูลเหล่านี้เป็นความลับทำให้ไม่สามารถหาจำนวนที่แท้จริงได้ 

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่เป็นห้าอันดับแรกของประเทศที่มีการประหารชีวิตบุคคลจำนวนมากในปี 2557 ได้แก่ อิหร่าน (ตัวเลขอย่างเป็นทางการ 289 ครั้ง แต่เชื่อว่ามีอย่างน้อย 454 ครั้งหรือกว่านั้น แต่ทางการไม่ได้ยอมรับ) ซาอุดิอาระเบีย (อย่างน้อย 90 ครั้ง) อิรัก (อย่างน้อย 61 ครั้ง) และสหรัฐฯ (35 ครั้ง) 

ยกเว้นประเทศจีน มีข้อมูลการประหารชีวิตอย่างน้อย 607 ครั้งในปี 2557 เปรียบเทียบกับ 778 ครั้งในปี 2556 ลดลงกว่า 20% 

มีการบันทึกข้อมูลการประหารชีวิตใน 22 ประเทศในปี 2557 เท่ากับจำนวนประเทศในปีก่อนหน้านี้ ถือว่าลดลงอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับ 20 ปีก่อนในปี 2538 ซึ่งในขณะนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลบันทึกข้อมูลการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นได้ 42 ประเทศ ชี้ให้เห็นแนวโน้มที่ชัดเจนในระดับโลกของรัฐต่าง ๆ ที่ออกห่างจากโทษประหารชีวิต 

“ตัวเลขเหล่านี้เป็นสัญญาณบ่งชี้อย่างชัดเจนว่า โทษประหารชีวิตกำลังกลายเป็นอดีต มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังคงประหารชีวิตบุคคล ซึ่งพวกเขาต้องส่องกระจกทบทวนอย่างจริงจัง และถามตัวเองว่ายังคงต้องการจะละเมิดสิทธิการมีชีวิตรอดต่อไปหรือไม่ หรือจะเข้าร่วมกับประเทศส่วนใหญ่ในโลกที่ละทิ้งการลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรมมากสุดเช่นนี้” ซาลิล เช็ตติกล่าว 

โทษประหารชีวิตประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ณ วันที่ 31 มกราคม 2558 มีนักโทษประหารรวมทุกประเภทจำนวน 649 คน ชาย 597 คน หญิง 52 คน กว่าครึ่งหนึ่งเป็นนักโทษในคดียาเสพติด ด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลมีข้อเสนอแนะสำหรับเมืองไทยดังนี้ 

ประกาศพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการแม่บทว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 3 โดยมีเจตจำนงที่จะออกกฎหมายให้ยกเลิกโทษประหารชีวิตในท้ายที่สุด
เสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อลดจำนวนความผิดทางอาญาที่มีบทโทษประหารชีวิต 

ลงนามและให้สัตยาบันรับรองพิธีสารเลือกรับฉบับที่สองของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Second Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights) ที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิต

ความมั่นคงของรัฐ 

แนวโน้มของรัฐที่ใช้โทษประหารชีวิตเพื่อปราบปรามภัยคุกคามต่อความมั่นคงเป็นเรื่องน่ากังวลและเห็นได้ชัดเจนทั่วโลก โดยเฉพาะในจีน ปากีสถาน อิหร่าน และอิรักซึ่งต่างประหารชีวิตบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับ “การก่อการร้าย”

ปากีสถานเริ่มประหารชีวิตบุคคลอีกครั้ง หลังเหตุโจมตีอย่างโหดร้ายต่อโรงเรียนในกรุงเปรชวาร์โดยกลุ่มฏอลีบัน โดยมีการประหารชีวิตเจ็ดคนเมื่อเดือนธันวาคม ทั้งรัฐบาลยังประกาศจะประหารชีวิตผู้ที่ถูกลงโทษในข้อหา “ก่อการร้าย” เพิ่มเติมอีก ในปี 2558 ยังคงมีการประหารชีวิตหลายครั้งและเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในจีน ทางการใช้โทษประหารชีวิตเป็นเครื่องมือในเชิงป้องกันตามนโยบายการรณรงค์การปราบปรามอย่างหนัก (“Strike Hard”) ที่กระทำต่อผู้ที่ลุกฮือในเขตปกครองตนเองซินเจียง อุยเก๋อ ทางการประหารบุคคลอย่างน้อย 21 คนในปีที่ผ่านมา ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีทำร้ายหลายครั้ง โดยมีสามคนที่ถูกตัดสินประหารชีวิตเนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นในสนามกีฬาต่อหน้าคนดูหลายพันคน

“ในปีของการประหารชีวิตแบบรวบรัดและโหดร้ายของกลุ่มติดอาวุธ นับเป็นเรื่องที่เป็นข้อกังวลระดับโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นเรื่องน่าสมเพชที่รัฐบาลหันมาประหารชีวิตมากขึ้น โดยใช้เป็นวิธีแก้ปัญหาการก่อการร้ายและอาชญากรรม” ซาลิล เช็ตติกล่าว

ในประเทศอื่นๆ อย่างเกาหลีเหนือ อิหร่าน และซาอุดิอาระเบีย รัฐบาลยังคงใช้โทษประหารชีวิตเป็นเครื่องมือปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองต่อไป 

รัฐอื่นๆ ที่ใช้โทษประหารชีวิตเพื่อแก้ปัญหาอาชญากรรมแต่ไม่สำเร็จได้แก่ จอร์แดนซึ่งได้ยกเลิกข้อตกลงยุติการประหารชีวิตชั่วคราวเป็นเวลาแปดปีเมื่อเดือนธันวาคม หลังจากได้ประหารชีวิตนักโทษคดีฆ่าคนตาย โดยรัฐบาลประกาศว่าเป็นความพยายามที่จะยุติการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมที่รุนแรง ในอินโดนีเซีย รัฐบาลประกาศแผนการประหารชีวิตผู้ค้ายาเสพติดเป็นส่วนใหญ่ โดยอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของสาธารณะ และถือเป็น “ความเร่งด่วนระดับชาติ” ตามคำสัญญาที่ให้ไว้เมื่อปี 2558 

การเพิ่มขึ้นอย่างมากของโทษประหารชีวิต 

มีการเพิ่มขึ้นอย่างมากของจำนวนโทษประหารชีวิตที่มีการบันทึกได้ในปี 2557 เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนหน้านี้ กล่าวคือจำนวนอย่างน้อย 2,466 ครั้งเทียบกับ 1,925 ครั้ง ถือว่าเพิ่มขึ้นกว่าหนึ่งในสี่ ส่วนใหญ่เนื่องจากการสั่งลงโทษในประเทศไนจีเรียและอียิปต์ ซึ่งศาลที่นั่นลงโทษประหารชีวิตชีวิตบุคคลคราวเดียวหลายร้อยคน 

ในไนจีเรีย มีบันทึกข้อมูลการใช้โทษประหารชีวิต 659 ครั้งในปี 2557 เพิ่มขึ้นกว่า 500 ครั้งเมื่อเทียบกับจำนวน 141 ครั้งในปี 2556 ศาลทหารได้ตัดสินประหารชีวิตทหารประมาณ 70 นายในปีที่แล้วในการไต่สวนหลายคดี ศาลพบว่าพวกเขามีความผิดในข้อหาขัดขืนคำสั่งในระหว่างสงครามการขัดกันด้วยอาวุธกับกลุ่มโบโกฮาราม

ในอียิปต์ ศาลลงโทษประหารชีวิตอย่างน้อย 509 ครั้งในปี 2557 มากกว่าปีที่ผ่านมากว่า 400 ครั้ง ทั้งนี้รวมถึงการสั่งลงโทษประหารชีวิตหมู่ต่อบุคคล 37 คนในเดือนเมษายนและ 183 คนในเดือนมิถุนายนภายหลังการไต่สวนคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อจำเลยจำนวนมาก 

วิธีการและอาชญากรรม 

วิธีการประหารชีวิตที่ใช้ในปี 2557 ประกอบด้วยการตัดศีรษะ การแขวนคอ การฉีดยา และการยิงเป้า การประหารชีวิตเกิดขึ้นในที่สาธารณะสำหรับกรณีประเทศอิหร่านและซาอุดิอาระเบีย 

ผู้ที่ถูกลงโทษประหารชีวิตมักเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมที่ไม่ร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการลักทรัพย์ ความผิดฐานยาเสพติด และความผิดด้านเศรษฐกิจ ทั้งยังมีการใช้โทษประหารชีวิตกับบุคคลในข้อหา “มีชู้” “หมิ่นศาสนา” หรือ “พ่อมดหมอผี” ซึ่งไม่ควรถือเป็นความผิดทางอาญาเลยด้วยซ้ำ หลายประเทศใช้ “อาชญากรรม” ทางการเมืองที่มีนิยามกำกวมเพื่อประหารบุคคลที่เห็นต่าง ทั้งที่เป็นผู้เห็นต่างจริงหรือคิดว่าเห็นต่าง 

ข้อมูลจำแนกตามภูมิภาค 

ทวีปอเมริกา 

สหรัฐฯยังคงเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่ยังประหารชีวิตบุคคล แม้จำนวนการประหารชีวิตจะลดลงจาก 39 ครั้งในปี 2556 เหลือ 35 ครั้งในปี 2557 สะท้อนถึงการลดลงอย่างต่อเนื่องของการใช้โทษประหารชีวิตในประเทศนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีเพียง 17 รัฐที่ยังประหารชีวิตบุคคลในปี 2557 (ลดลงจากเก้ารัฐในปี 2556) โดยมีเพียงสี่รัฐที่ประหารชีวิตบุคคลรวมกันถึง 89% ได้แก่ เท็กซัส มิสซูรี ฟลอริดา และโอคลาโฮมา รัฐวอชิงตันได้ทำข้อตกลงยุติการประหารชีวิตชั่วคราวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ จำนวนโทษประหารชีวิตโดยรวมลดลงจาก 95 ครั้งในปี 2556 เป็น 77 ครั้งในปี 2557 

เอเชียแปซิฟิก

ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มด้านการใช้โทษประหารชีวิตแตกต่างกันไปสำหรับปี 2557 โดยมีบันทึกการประหารชีวิตเกิดขึ้นในเก้าประเทศ น้อยกว่าปีก่อนหน้าหนึ่งประเทศ ปากีสถานได้ยกเลิกข้อตกลงยุติการประหารชีวิตพลเรือน มีการบันทึกข้อมูลได้สองในสามของการประหารชีวิตทั้งหมดในภูมิภาค โดยยังไม่รวมข้อมูลในประเทศจีนหรือเกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นประเทศที่ไม่สามารถยืนยันข้อมูลได้ อินโดนีเซียประกาศแผนรื้อฟื้นการประหารชีวิต ส่วนใหญ่กับกรณีพ่อค้ายาเสพติดในปี 2558 

แปซิฟิกยังคงเป็นภูมิภาคเดียวในโลกที่แทบจะปลอดจากโทษประหารชีวิต แม้ว่ารัฐบาลของทั้งปาปัวนิวกินีและกีริบาติได้เริ่มรื้อฟื้นการประหารชีวิตหรือนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่ 

แอฟริกาช่วงที่ต่ำกว่าทะเลทรายซาฮารา 

แอฟริกาช่วงที่ต่ำกว่าทะเลทรายซาฮารามีพัฒนาการที่สำคัญในปี 2557 กล่าวคือมีข้อมูลการประหารชีวิต 46 ครั้งในสามประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับ 64 ครั้งในห้าประเทศเมื่อปี 2556 ลดลง 28% มีเพียงสามประเทศที่คาดว่ายังคงประหารชีวิตบุคคล ได้แก่ อิเควทอเรียลกินี โซมาเลีย และซูดาน 

มาดากัสการ์เดินหน้าสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติรับรองร่างพระราชบัญญัติยกเลิกโทษประหารชีวิตเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม โดยอยู่ระหว่างการรอให้ประธานาธิบดีลงนามเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย 

ยุโรปและเอเชียกลาง 

เบลารุสเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ยังมีการประหารชีวิตบุคคล โดยมีการประหารอย่างน้อยสามคนในปีที่ผ่านมา เป็นการยกเลิกข้อตกลงยุติการประหารชีวิตที่ใช้มา 24 เดือน การประหารชีวิตเกิดขึ้นอย่างเป็นความลับ โดยครอบครัวและทนายความมักได้รับแจ้งหลังจากประหารชีวิตไปแล้ว 

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ 

ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือยังคงใช้โทษประหารชีวิตอย่างกว้างขวางต่อไป โดยเฉพาะกรณีอิหร่าน อิรัก และซาอุดิอาระเบียซึ่งมีการประหารชีวิตบุคคลถึง 90% ของทั้งภูมิภาค และคิดเป็น 72% ของข้อมูลระดับโลก (ไม่รวมประเทศจีน) 

มีการบันทึกข้อมูลการประหารชีวิตในแปดประเทศในปี 2557 เพิ่มขึ้นสองประเทศจากปี 2556 มี 16 ประเทศที่ยังใช้โทษประหารชีวิต ซึ่งถือว่าเป็นประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ 

ตัวเลขโดยรวมของการประหารชีวิตในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือลดลงจาก 638 ครั้งในปี 2556 เป็น 491 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว ทั้งนี้ไม่รวมจำนวนการประหารชีวิตบุคคลหลายร้อยคนในอิหร่าน ซึ่งทางการไม่ยอมรับข้อมูลอย่างเป็นทางการ ในปี 2557 ทางการอิหร่านยอมรับว่ามีการประหารชีวิต 289 ครั้ง อย่างไรก็ดี จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เชื่อว่ามีการประหารชีวิตอีก 454 ครั้ง ทำให้จำนวนการประหารชีวิตทั้งหมดอยู่ที่ 743 ครั้ง 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านโทษประหารชีวิตทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น ไม่ว่าจะเป็นความผิดทางอาญาประเภทใด ไม่ว่าผู้กระทำผิดจะมีบุคลิกลักษณะใด หรือไม่ว่าทางการจะใช้วิธีประหารชีวิตแบบใด โทษประหารชีวิตละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตและเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รวมทั้งงานวิจัยมากมายจากนานาประเทศได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโทษประหารชีวิตไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของอาชญากรรม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ