กรณีชาวบ้านทุ่งลุยลายถูกศาลพิพากษาจำคุก 4 เดือน
[/b]
สืบเนื่องจากปัญหาพิพาทที่ดิน กรณีสวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ที่ยืดเยื้อมานานกว่า 25 ปี กระทั่งเจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกุมดำเนินคดีชาวบ้าน จำนวน 10 ราย ข้อหาบุกรุก แผ้วถางและใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต ในวันที่ 1 กรกฏาคม 2554 โดยแยกฟ้องชาวบ้านทั้งหมดเป็น 4 คดี
ปัจจุบัน ศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปแล้ว 2 คดี จำนวน 4 ราย โดยพิพากษาให้จำคุก 4 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ พร้อมให้จำเลยและบริวารออกจากพื้นที่ ส่วนอีก 2 คดีที่เหลือ ศาลจังหวัดภูเขียว นัดสืบพยานโจทก์ ในวันที่ 11 และ 20 กรกฏาคม 2555 ตามลำดับ
ทั้งนี้ การกำหนดหลักทรัพย์ในศาลชั้นต้น ศาลได้พิจารณาวางหลักทรัพย์ประกันตัวผู้ต้องหา รายละ 100,000 บาท รวมทั้งสิ้น 1 ล้านบาท ต่อมาในชั้นอุทธรณ์ ศาลได้เพิ่มจำนวนหลักทรัพย์เป็นรายละ 200,000 บาท ซึ่งในรายล่าสุด กรณีนายทอง และนายสมปอง กุลหงส์ สองพ่อลูกที่ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา ต้องนำหลักทรัพย์ในศาลชั้นต้นของทั้ง 2 ราย มารวมกัน เพื่อประกันตัวลูกชายออกมาก่อน เนื่องจากมีปัญหาบกพร่องทางสมอง ส่วนพ่อต้องถูกจำคุก เพราะไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นข้างต้น แสดงให้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของอำนาจรัฐไทย ที่มีความเชื่องช้าในการตอบสนองต่อปัญหาความขัดแย้ง กระทั่งสุดท้ายปลายทาง ชาวบ้านต้องเป็นผู้แบกรับชะตากรรม ดังที่เคยเกิดขึ้นมาโดยตลอด
เหตุที่กล่าวเช่นนี้ เพราะข้อพิพาทที่ดินกรณีดังกล่าว เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 โดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และกองกำลังทหารพราน ได้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่เดิม โดยสัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินแห่งใหม่ให้รายละ 15 ไร่ เมื่อชาวบ้านบางส่วนออกจากพื้นที่ จะเข้าพื้นที่จัดสรร กลับปรากฏว่าเป็นที่ดินที่มีการครอบครองอยู่แล้ว จะเข้าที่ดินเดิมก็ไม่ได้ เพราะกลายสภาพเป็นสวนยูคาลิปตัสหมดแล้ว การเรียกร้องต่อสู้ของชาวบ้านจึงเริ่มตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา แต่สุดท้ายกลับต้องตกเป็นจำเลยในที่สุด
ในกรณีนายทอง กุลหงส์ ที่ตกเป็นผู้ต้องขัง เข้ามาอยู่ในพื้นที่พิพาทตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูซำผักหนาม เมื่อปี พ.ศ. 2516 แต่ต้องถูกขับไล่ออก และกลายเป็นคนไร้ที่ดิน ตั้งแต่นั้นมา ปัจจุบัน นางพัน กุลหงส์ ภรรยา วัย 71 ปี ต้องเลี้ยงหลาน 6 คน พร้อมกับลูกชายที่มีอาการทางประสาท ทั้งนี้ ไม่ต้องพูดถึงหลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท ลำพังจะหาเงินเลี้ยงครอบครัวยังลำบากแสนสาหัส
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เห็นว่า กรณีดังกล่าว เป็นปัญหาพิพาทที่ต้องใช้มาตรการทางนโยบายเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหา และต้องมีความ
รวดเร็ว ทันการณ์ หากล่าช้าหมายถึงความขัดแย้งที่ลุกลามบานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน การนำเรื่องดังกล่าวขึ้นฟ้องร้องต่อศาลของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เพื่อให้เรื่องดังกล่าวไปยุติที่กระบวนการยุติธรรม ก็ไม่ใช่ทางออกของการแก้ไขข้อพิพาท เพราะชาวบ้านไม่มีหลักฐานที่เป็นกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งผลของคำพิพากษาส่วนใหญ่ ชาวบ้านต้องตกเป็นผู้กระทำความผิด แต่มีคำถามสำคัญคือ “ชาวบ้านได้รับความเป็นธรรมหรือไม่” นี่ยังไม่นับรวมถึง หลักทรัพย์ในการประกันตัว กรณีนายทอง กุลหงส์ ที่ถือว่าสูงมาก ทั้งที่ไม่ใช่อาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งหากพิจารณาเทียบเคียงกับคดีเดียวกันในบางพื้นที่ จากการศึกษาพบว่า สามารถใช้บุคคลประกันตัวได้
อย่างไรก็ตาม ในกรณีดังกล่าว เครือข่ายฯขอเรียกร้องให้ กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เร่งพิจารณาให้ความช่วยเหลือโดยนำเงินจากกองทุนยุติธรรม มาใช้ในการประกันตัวชาวบ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าก่อน
สำหรับการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการพิจารณาแนวทาง มาตรการแก้ไข ให้เป็นไปตามคำแถลงนโยบายของรัฐบาลในข้อที่ 5.4 ซึ่งในกรณีดังกล่าว ชาวบ้านในนาม “ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” (ขปส.) ได้ยื่นข้อเสนอต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา
เครือข่ายฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ชะตากรรมที่เกิดขึ้นในกรณีนายทอง กุลหงส์ และประชาชนทั่วไปที่ถูกจับกุม ดำเนินคดีโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม จะเป็นบทเรียนสำคัญของสังคมไทย เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ก้าวหน้า เป็นธรรมกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนแปลงทัศนคติของผู้คนในสังคมที่มองว่า ชาวบ้านคือผู้บุกรุกทำลายป่า และเป็นตัวการที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือภัยธรรมชาติอื่นๆ หากแต่ต้องหันกลับมาพิจารณาที่ต้นเหตุของเรื่อง ว่าแท้ที่จริงแล้ว ใครกันแน่ คือตัวบงการที่แท้จริง
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.)
16 มิถุนายน 2555
[/b]
รายละเอียดเพิ่มเติมตามไฟล์แนบ
กรณีการดำเนินคดี นายทอง กุลหงส์ และนายสมปอง กุลหงส์
ชาวบ้านทุ่งลุยลาย ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ