เหลือง-แดง การต่อสู้ที่ไม่ใช่เฉพาะชนชั้นนำอีกต่อไป ผาสุก พงษ์ไพจิตร (ต่อ)

เหลือง-แดง การต่อสู้ที่ไม่ใช่เฉพาะชนชั้นนำอีกต่อไป ผาสุก พงษ์ไพจิตร (ต่อ)

วิกฤต เศรษฐกิจ 2540 มีความสำคัญมาก เพราะได้เปิดช่องให้มีการท้าทายโครงสร้างอำนาจแบบคณาธิปไตยนี้ได้ เศรษฐกิจไทยก่อนหน้านั้นไม่เคยติดลบมาเป็นเวลา 50 ปีนับแต่ปี 2493 เป็นต้นมา แต่ปี 2540 จีดีพีติดลบถึงเกือบร้อยละ 20 ทำให้ผู้ที่เป็นรัฐบาลหรืออยู่ในอำนาจขณะนั้นถูกดิสเครดิตอย่างสิ้นเชิง ในภาวะเช่นนั้นพลังนอกคณาธิปไตยจึงสามารถผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเมือง รวมทั้งรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่ก้าวไปไกล เพราะเกี่ยวโยงกับการเอาทรัพยากรของงบประมาณจากส่วนกลางมาสู่รอบนอกที่มาก ขึ้น ภาวะเศรษฐกิจวิกฤตส่งผลให้แรงผลักดันสู่การเปลี่ยนแปลงจากชนชั้นล่างและกลาง นอกกลุ่มคณาธิปไตยมีความรุนแรงขึ้น แต่ผลสะเทือนของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องใช้เวลา
 
ทักษิณ ชินวัตรผันตัวเองให้เป็นหัวขบวนที่จะท้าทายคณาธิปไตยเดิม เริ่มต้น เขาเพียงแต่จะท้าทายระบบข้าราชการรวมศูนย์และพรรคประชาธิปัตย์ที่มีสไตล์การ ทำงานและอุดมการณ์แบบเดียวกับระบบข้าราชการ คงจำได้ว่าทักษิณสัญญาจะฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยจากวิกฤตและพัฒนาเมืองไทยให้เป็น สมาชิกประเทศ OECD ให้ได้ โดยจะบริหารประเทศเสมือนหนึ่งบริษัทธุรกิจ ซึ่งหมายถึงจะลดความสำคัญของระบบข้าราชการให้อยู่ในอาณัติของผู้บริหาร และทำการปฏิรูปเปลี่ยนให้สอดคล้องกับระบบบริหารใหม่ ซึ่งชุมชนธุรกิจของไทย ชนชั้นกลาง และฝ่ายซ้ายก็สนับสนุนทักษิณอย่างแข็งขัน ต่อมาทักษิณถูกมองว่าท้าทายส่วนอื่นๆ ของคณาธิปไตยทั้งหมด ข้าราชการไม่พอใจมาก ต่างต่อต้านการปฏิรูป และทักษิณรู้ดีว่าภัยของนักปฏิรูปคือการรัฐประหาร จึงพยายามเข้าควบคุมกองทัพ ซึ่งต่อมาได้พิสูจน์ว่าเขาไม่เก่ง และได้สร้างศัตรูในกลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจสูงและเป็นชนชั้นนำฟาก สำคัญของกองทัพ
 
ช่วง แรกๆ นักธุรกิจก็ตื่นเต้นกับการเปลี่ยนแปลง แต่เมื่อพบว่าผลประโยชน์ต่างๆ เริ่มกระจุกตัวกับกลุ่มนักธุรกิจที่ห้อมล้อมทักษิณและครอบครัวจำนวนหยิบมือ เท่านั้นก็เริ่มไม่พอใจ และในที่สุด ฝ่ายรอยัลลิสต์เริ่มมีเสียงบ่น สภาวะดังกล่าวเหมือนจะพัฒนาเป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำด้วยกันเอง ดังที่เคยพบเห็นเสมอในประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่ครั้งนี้แตกต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นเดิมๆ เพราะมีตัวแปรใหม่ขึ้นในสาระบบการเมืองไทย คือ เสียงเรียกร้องจากมวลชนระดับกลางและล่างที่ประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 และปัญหาอื่นๆ ที่ได้สะสมมา พวกเขาต้องการมีส่วนร่วมในอำนาจการปกครองประเทศอย่างแท้จริง ต้องการได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่าเดิม และต้องการสินค้าสาธารณะต่างๆ เป็นเครื่องมือที่จะช่วยปรับปรุงชีวิตของเขาและลูกหลาน ทักษิณได้ฉวยโอกาสที่จะหาประโยชน์จากพลังสังคมเหล่านี้เพื่อนำตัวเองเข้าสู่ อำนาจ พ.ศ.2544 ก็ชนะการเลือกตั้งจากการเสนอนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค พักชำระหนี้เกษตรกร และโครงการสินเชื่อหนึ่งล้านบาทหนึ่งตำบล โดยนโยบายเหล่านี้คุณทักษิณไม่ได้คิดเอง มีสหายเก่าๆ ช่วยคิด เมื่อชนชั้นนำส่งเสียงไม่เห็นด้วยกับนโยบายเหล่านั้น คุณทักษิณก็รีบดำเนินการนโยบายตามที่สัญญาไว้อย่างรวดเร็วและได้รับความนิยม ล้นหลาม โดยเฉพาะจากมวลชนที่ภาคเหนือ อีสาน และชนชั้นกลางและล่างบางส่วนในเมือง นโยบายที่สำคัญคือ 30 บาทรักษาทุกโรค และนโยบายการให้เครดิตในราคาถูกในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตอบชีวิตการที่สังคมไทยได้เริ่มขยายตัวเป็นผู้ประกอบการรายย่อยรายเล็กใน เศรษฐกิจนอกภาคเกษตรมากขึ้น และแม้ในภาคเกษตรเองก็ต้องการเครดิตราคาถูกซึ่งไม่เคยได้รับมาก่อน
 
ทักษิณ ฉวยโอกาสที่จะหาประโยชน์จากพลังสังคมเหล่านี้ที่จะนำตัวเองเข้าสู่อำนาจ จากนั้น เขาเสนอนโยบายอื่นๆ อีกเป็นระลอก รวมทั้งสัญญาจะขจัดความจน ดำเนินนโยบายอุดหนุนราคาพืชผลเกษตรอย่างต่อเนื่อง พ.ศ.2547-48 เมื่อเผชิญกับแรงต้านของกลุ่มคณาธิปไตยเดิมและผู้ที่เคยสนับสนุนเขามากขึ้น ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทักษิณก็ท้าทายต่อไป โดยเสนอตัวเองเป็นนักการเมืองประชานิยม ที่อิงความชอบธรรมสู่อำนาจเพราะได้รับเสียงเลือกตั้งจากประชาชนและเน้นภาพ พจน์นักการเมืองที่อุทิศตัวเพื่อประชาชน เป็นปรปักษ์กับกลุ่มที่พยายามปกป้องอำนาจเดิม อันได้แก่ ข้าราชการ นายธนาคาร นักวิชาการ นักหนังสือพิมพ์ และผู้พิพากษา
 
อย่าง ไรก็ตาม คุณทักษิณยังไม่เคยมีท่าทีมาก่อนลงสนามการเมืองว่าจะเป็นคนที่ต้องการ เปลี่ยนแปลงระบบแบบพลิกผัน จริงๆ แล้ว เขาอยากเข้ามาปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองและครอบครัวในเรื่องธุรกิจ ฯลฯ แม้อาจมีความต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยบ้างแต่ในขณะนั้นอาจไม่ค่อยชัดเจน เสียงเรียกร้องจากมวลชนชั้นล่างเป็นแรงจูงใจและแรงผลักที่สำคัญ การเลือกตั้งครั้งที่สองคุณทักษิณชนะถล่มทลาย เขาสัญญากับผู้สนับสนุนว่าจะเป็นรัฐบาลถึง 25 ปี ตามแบบมหาธีร์ที่มาเลเซียและลีกวนยูที่สิงคโปร์ ถือว่าเป็นผู้ประกอบการทางการเมืองอย่างแท้จริงที่สามารถฉวยประโยชน์จาก ภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และทำให้ตัวเองอยู่ในความนิยมได้อย่างเนิ่นนาน
 
ณ จุดนี้ คณาธิปไตยกลุ่มเดิมร่วมมือกันเพื่อดีดทักษิณออกจากสาระบบ แต่มีตัวแปรใหม่ที่ทำให้ส่วนหัวของชนชั้นนำขยายขอบเขตออกไป นั่นคือ ชนชั้นกลางชาวกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ที่ตอนต้นเคยสนับสนุนโครงการของคุณทักษิณ ภายหลังไม่เห็นด้วยกับแนวโน้มสู่การเมืองประชานิยม เพราะตระหนักดีว่ากลุ่มตนเสียเปรียบด้านจำนวน แต่ได้เปรียบในการเข้าถึงอภิสิทธิ์ต่างๆ จึงไม่ไว้ใจต่อแนวโน้มสู่นโยบายประชานิยม ด้วยเกรงว่าจะเป็นภัยกับเขาในอนาคต ขบวนการเสื้อเหลืองจึงเกิดขึ้นในปี 2548 เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มชนชั้นกลางเมือง กลุ่มคนเสื้อเหลืองอ้างว่า ทักษิณเป็นภัยกับสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อแสวงหาแนวร่วมและสร้างอารมณ์ความ รู้สึกที่เข้มข้นขึ้น
 
อัน ที่จริง ทักษิณค่อนข้างระแวดระวังที่จะไม่โจมตีหรือท้าทายสถาบัน แต่เสื้อเหลืองก็โพนทะนาว่าทักษิณมีแผนการล้มเจ้าที่ฟินแลนด์ และใช้เสื้อเหลืองเพื่อประกาศว่าเป็นผู้ปกป้องสถาบัน การเมืองคณาธิปไตยก่อนหน้านี้เมื่อเกิดความขัดแย้งในส่วนหัวของชนชั้นนำด้วย กันเองก็จะต้องตัดสินด้วยการรัฐประหาร และคราวนี้ก็ได้เกิดขึ้นจริงในเดือนกันยายน 2549 แต่การเมืองแบบเก่าใช้ไม่ได้แล้ว รัฐประหารจึงไม่ได้ผล กองทัพไทยร่วมสมัยดูเหมือนว่าจะขาดประสบการณ์ในเรื่องนี้ และรัฐบาลที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งขึ้นก็ไม่ได้เรื่อง ดังที่พวกเดียวกันเองวิจารณ์กันอยู่ จึงสูญเสียความนิยมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเศรษฐกิจไทยโยงกับเศรษฐกิจโลกอย่างแนบแน่นและสังคมโลกไม่ยอมรับรัฐ ประหาร จึงต้องสถาปนารัฐบาลจากการเลือกตั้งโดยเร็ว และแม้ใช้เงินภาษีของประชาชนและใช้ข้าราชการรณรงค์เพื่อไม่ให้พรรคทักษิณชนะ การเลือกตั้ง ก็ไม่เป็นผล ฝ่ายทักษิณชนะการเลือกตั้ง จึงต้องยอมให้ก่อตั้งรัฐบาล
 
การ โจมตีทักษิณและนโยบายประชานิยมยิ่งขยายตัวต่อไปและรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ลดอำนาจของรัฐสภาและเพิ่มอำนาจให้กองทัพและฝ่ายตุลาการ กลุ่มคนเสื้อเหลืองขณะนั้นกลายเป็นม็อบที่มีกองทัพหนุนหลัง สามารถข่มขู่รัฐมนตรี เข้ายึดรัฐสภา ฝ่ายตุลาการตัดสินให้สองรัฐบาลเป็นโมฆะ รัฐมนตรีขาดคุณภาพที่จะเป็นรัฐมนตรี ยุบพรรคการเมืองสามพรรค ตัดสิทธิ ส.ส. 220 คนจากการเมืองเป็นเวลา 5 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเส้นขนานคือ กลุ่มคนเสื้อเหลืองก่นสร้างเหตุผลสนับสนุนอุดมการณ์ที่เป็นรากฐานให้เขาโจม ตีฝ่ายทักษิณ โดยชี้ว่านักการเมืองส่วนมากโกงกิน ชนะการเลือกตั้งเพราะซื้อเสียง ดังนั้น ผลการเลือกตั้งจึงขาดความชอบธรรม จึงเสนอแต่งตั้ง ส.ส. ทดแทนระบบการออกเสียงเลือกตั้ง หรือให้มีระบบตัวแทนตามสาขาอาชีพ หรือโอนอำนาจกลับไปที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ระบบข้าราชการและตุลาการ มีข้อเสนอให้มีการแต่งตั้ง 70 เลือกตั้ง 30
 
ขบวน การคนเสื้อแดงได้ผุดขึ้นเพื่อคานกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง โดยก่อนหน้านี้มีการใช้สีแดงเพื่อเป็นสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐประหาร 2549 มาก่อน แกนนำเสื้อแดงเป็นผู้นิยมทักษิณและพรรคไทยรักไทย ผู้สนับสนุนส่วนใหญ่ในระยะแรกมาจากภาคเหนือและอีสาน รวมทั้งแรงงานอพยพซึ่งทำงานที่กรุงเทพฯ แต่ก็มีผู้สนับสนุนที่เป็นนักวิชาการ นักธุรกิจ และชนชั้นกลางที่ไม่ได้รักคุณทักษิณ แต่เชื่อว่าต้องเข้าร่วมขบวนเพื่อปก ป้องประชาธิปไตย บางคนไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 2549 จึงเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพลเมืองเน็ต คนรุ่นใหม่ที่ไม่สนใจทักษิณเลย แต่สนใจประชาธิปไตยมากกว่า ขบวนการนี้ใช้สื่อมวลชนที่โยงกับวิทยุชุมชนและโทรทัศน์ดาวเทียมเช่นเดียวกับ เสื้อเหลือง ปลายปี 2552 ก่อตั้งโรงเรียน นปช. กลุ่มต่างๆ ที่สนับสนุนในพื้นที่จัดกิจกรรมหาเงินบริจาค รณรงค์เพื่อระดมมวลชนเป็นประจำ อาจมีบางส่วนที่มีแนวคิดสังคมนิยม หรือนิยม republicanism แต่จากการวิเคราะห์ของหลายสายพบว่าส่วนหลังนี้อาจเป็นกลุ่มน้อย
 
กลาง ปี 2551 เสื้อเหลืองและเสื้อแดงปะทะกันประปราย โดยฝ่ายเสื้อเหลืองอ้างว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์ ปะทะกับเสื้อแดงซึ่งอ้างว่าปกป้องประชาธิปไตย ปลายปี 2551 รัฐบาลฝ่ายทักษิณซึ่งชนะการเลือก ตั้งเมื่อปี 2550 ถูกบีบให้ออก ด้วยแรงผลักดันจากกองทัพ คำพิพากษาของศาล และกระบวนการรัฐสภา ตั้งแต่นั้นมา ข้อเรียกร้องของกลุ่มเสื้อแดงคือ ให้การเลือกตั้งทั่วไปภายใต้หลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียงเป็นตัวกำหนดว่าใครจะ เป็นรัฐบาลและต้องการให้แก้รัฐธรรมนูญ โดยอยากให้กลับไปหาฉบับรัฐธรรมนูญ 2540 โดยอาจมีการแก้ไข สร้างวาทกรรมเรียกตัวเองว่าไพร่ เรียกฝ่ายตรงข้ามว่าอำมาตย์ และประณามระบบสองมาตรฐาน เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าวาทกรรมเหล่านี้มีนัยของความไม่พอใจความไม่เท่าเทียม กันทางเศรษฐกิจ อำนาจ กระบวนการยุติธรรม โอกาสและวัฒนธรรมรวมอยู่ด้วย
 
โดย สรุป วิกฤตการเมืองมีองค์ประกอบของความขัดแย้งในส่วนหัวของชนชั้นนำที่ดำเนินอยู่ แต่มีประเด็นเรื่องการท้าทายโครงสร้างอำนาจเดิมจากพลเมืองที่ตระหนักในสิทธิ อำนาจทางการเมืองของตน ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยและต้องการปกป้องสิทธิอำนาจเหล่านั้นด้วย ทักษิณและพรรคพวกตั้งใจลดทอนอำนาจของระบบราชการและคณาธิปไตยเดิมที่มีพรรค ประชาธิปัตย์เป็นตัวแทน ณ จุดเริ่มต้น เป็นเพียงความขัดกันของบรรดาส่วนหัวของชนชั้นนำ พรรคประชาธิปัตย์ขณะนี้อยู่ในอำนาจและพยายามทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ทักษิณหวน คืนสู่อำนาจได้อีก แต่ความขัดแย้งดังกล่าวเอ่อล้นไปไกลกว่ากลุ่มชนชั้นนำ ทักษิณได้กลายเป็นตัวแทนของพลเมืองระดับล่างและกลางที่ต้องการสังคมที่ไม่ เลือกปฏิบัติ พลังพลเมืองตรงนี้เองที่ได้ผลักดันให้ทักษิณกลายเป็นนักการเมืองแนวประชา นิยมเหมือนที่เกิดในประเทศอื่นๆ ก่อนหน้าเช่นในละตินอเมริกาแต่เป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ทักษิณผันตัวเองเป็นนักการเมืองประชานิยมที่อ้างอิงความชอบธรรมจากแรงสนับ สนุนของประชาชน ดังนั้น เขาจึงกลายเป็นเสมือนคบไฟให้มวลชนได้ใช้เสียงเลือกตั้งเป็นเครื่องมือปรับ ปรุงชีวิตและสถานะของกลุ่มเขา แต่ความเชี่ยวจัดในการใช้ประชานิยมเพื่อก้าวสู่อำนาจ ประกอบกับความมั่งคั่งมหาศาลของทักษิณ ทำให้ชนชั้นกลางต้องการยึดโยงกับสถาบันดั้งเดิมคือกองทัพและสถาบันพระมหา กษัตริย์ เพื่อทดแทนกับจำนวนอันน้อยนิดของกลุ่มตนเมื่อเทียบกับมวลชนระดับล่างและกลาง ที่สนับสนุนทักษิณ การระดมมวลชนของคนเสื้อเหลืองก็ได้ขยายมวลชนของคนเสื้อเหลือง ท้ายที่สุด ความขัดแย้งในหมู่ชนชั้นนำด้วยกันเองได้ขยายขอบเขตกลายเป็นความขัดแย้งเพื่อ หาผู้สนับสนุนของสองขบวนการที่ขัดกัน ดังที่ได้กล่าวว่า ขบวนการเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเป็นสงครามความคิดและสงครามแย่งชิงมวลชนไปใน ท้ายที่สุด
 
ขบวน การสังคมทั้งสองนำไปสู่การอภิปรายในประเด็นที่ว่าการเมืองไทยควรพัฒนาไปใน แนวทางใด กลุ่มคนเสื้อแดงต้องการปกป้องระบบการเลือกตั้งให้ย้อนกลับสู่กรอบกติกา 2540 เป็นหลักเกณฑ์ในการลดสองมาตรฐาน ซึ่งเป็นหัวใจของอำนาจภายใต้ระบบคณาธิปไตยเดิม แต่กลุ่มคนเสื้อเหลืองก็ได้ย้อนแย้งอย่างมีประเด็นว่า ประชาธิปไตยที่ขาดระบบตรวจสอบและการคานอำนาจที่ได้ผลเป็นอันตรายและเป็นระบบ ที่ไร้ เสถียรภาพ พวกเขาต้องการกฎหมายที่เข้มแข็ง หลักการศีลธรรมที่สูงกว่านี้ มีการพูดถึงการเมืองจริยธรรม ต้องการกำกับควบคุมคอร์รัปชั่นและการแสวงหากำไรเกินควรอย่างโจ่งแจ้งของ นักการเมืองทั้งหลาย
 
ความ ขัดแย้งในบรรดาส่วนหัวของชนชั้นนำและขบวนการทางสังคมที่ก่อตัวขึ้นโยงเข้า ด้วยกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีทักษิณ เป็นตัวเชื่อม ตรงนี้เพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะทักษิณมีบุคลิกเป็นบุคคลหลายแพร่งที่ขัดแย้งในตัวเอง แพร่งหนึ่ง เขาอาจจะนิยมความเป็นสมัยใหม่ และเป็นนักธุรกิจที่ผันตัวเป็นนักการเมืองประชานิยม อีกแพร่งหนึ่ง เป็นบุคคลที่หยามเหยียดประชาธิปไตยเป็นที่สุด แต่ได้กลายเป็นผู้ปกป้องประชาธิปไตย อีกแพร่งหนึ่ง เขาโกงกินเงินจากภาษีประชาชนได้อย่างหน้าตาเฉยและหาประโยชน์จากระบบสอง มาตรฐานตลอดเวลา แต่ให้ภาพว่า ด่าคอร์รัปชั่นและสองมาตรฐาน แต่ประวัติศาสตร์ก็เต็มไปด้วยบุคคลที่มีบุคลิกเหล่านี้มิใช่หรือ และทักษิณก็มิใช่คนเดียวที่มีบุคลิกเช่นนั้น
 
สำหรับ บทสรุปเป็นเรื่องที่ยากมากและคิดไม่จบว่าจะสรุปอย่างไร … เราคงต้องย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นที่พูดถึงขบวนการทางสังคมของทศวรรษ 2530 ที่ผจญกับความอ่อนแอและอาจถูกกลบกลืนไปโดยขบวนการทางสังคมเสื้อเหลืองเสื้อ แดงดังที่ได้กล่าวมา จุดอ่อนสำคัญประการหนึ่งของขบวนการประชาชนก่อน 2540 คือการที่ขบวนการประชาชนตัดสินใจว่าจะไม่เข้าแข่งขันเพื่อเป็นรัฐบาลด้วยตัว เอง แต่จะดำเนินการเมืองรอบนอก แบบใช้ยุทธศาสตร์ในท้องถนน ดาวกระจาย การผลักดันอะไรต่างๆ ตรงนี้นำเราไปสู่คำถามว่าเราจะมีบทเรียนจากจุดอ่อนนั้นอย่างไร
 
ขบวน การทางสังคมเสื้อเหลืองเสื้อแดงจะสามารถเข้าไปแข่งขันกันในระบบรัฐสภา ประชาธิปไตยได้หรือไม่ จริงๆ แล้วเรามีความเอือมระอากันตามสมควรกับการต่อสู้กันในท้องถนน หากสามารถเข้าไปต่อสู้กันในรัฐสภา คาดว่าจะมีผลในการลดการใช้ความรุนแรงได้มาก ดังนั้น ประเด็นสำคัญตอนนี้คือทำอย่างไรที่จะให้สงครามความคิดและสงครามการแย่งมวลชน หลุดออกจากถนนแล้วเข้าสู่กรอบกติกาทางการเมืองที่ทุกฝ่ายจะยอมรับกันได้ใน ระบบรัฐสภา ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า เรายังมีประสบการณ์ในเรื่องนี้ไม่มากพอ ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะถูกรบกวนด้วยพลังนอกรัฐสภาอยู่เสมอ โดยเฉพาะการรัฐประหาร การรัฐประหารเกิดขึ้นครั้งใดได้ทำลายกระบวนการเรียนรู้ที่สั่งสมมา และย้อนกลับไปสู่ระบอบเดิมและนำเอาความสัมพันธ์ในระบอบเดิมที่เหลวเละกลับ เข้ามาอยู่ตลอด
 
ดัง นั้น ถ้าจะพูดกันต่อไปว่าอะไรเป็นอุปสรรคที่จะทำให้ขบวนการสังคมพัฒนาต่อไปในแนว ทางสร้างสรรค์ ก็คิดว่าน่าจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงกับกองทัพในการเมืองไทย สถาบันอื่นๆ ก็เริ่มปรับตัวและเปลี่ยนแปลง แต่กรณีกองทัพ รัฐประหาร 2549 ทำให้กองทัพเข้ามายืนใน ฐานของอำนาจอย่างเป็นทางการ และมีสถาบันรองรับคือ รัฐธรรมนูญ 2550 อีกเรื่องที่ต้องคิดกันคือ ความกลัวพลังของราษฎร หรือพลังของประชาชนในหัวใจของกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นนำบางส่วนที่อาจยัง ยึดติดกับระบบคณาธิปไตย และไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะทำให้สภาพของตัวเองเปลี่ยนแปลง ไป แต่ถ้าคิดในทางบวก การเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น เพราะไม่มีเกมที่เป็น zero-sum game ถ้าจะ zero-sum game ก็ต้องตายกันครึ่งประเทศ ซึ่งจะเป็นความเสียหายอย่างมหาศาล ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์ที่พูดเรื่อง game theory อยากเสนอว่า ต้องเปลี่ยนจาก zero-sum game เป็นเกมที่จะก้าวไปด้วยกันและตกลงกันว่าต้องใช้กติกาอะไร
 
ดัง นั้น ทางออกของการเมืองไทยขณะนี้จึงเป็นเรื่องที่ว่าจะมีการพัฒนาสู่พรรคการเมือง ทั้งสองฟากที่ข้ามพ้นทักษิณและการเมืองที่ใช้เงินจำนวนมาก ทั้งนี้ ตามที่มีนักวิเคราะห์และฝ่ายเสื้อแดงเสนอว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยของการเลือกตั้งอีกต่อไป ข้อเสนอนี้ต้องการการพิสูจน์ รวมถึงทำอย่างไรจึงจะหาทางออกให้กองทัพได้ลดบทบาทของตัวเองอย่างสง่างามและ ไม่ทำให้ต้องเสียอกเสียใจมากนัก.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ