เรื่อง: สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ
เหตุการณ์ระเบิดบริเวณแยกราชประสงค์ ใจกลางแหล่งธุรกิจการค้าของกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงค่ำวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ตามมาติดๆ ด้วยสถานการณ์สะเทือนขวัญคนร้ายโยนระเบิดละเเวกท่าเรือสาทรในวันถัดมา ก่อให้เกิดการส่งข่าวสารในโลกออนไลน์กันแบบต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นทั้งเนื้อหา หรือรูปภาพ
เพียงไม่กี่นาทีต่อมา สารบางอย่างที่ส่งกลายเป็นข้อมูลที่ถูกกุขึ้น บางคนตั้งคำถามถึงความปลอดภัย บางคนเศร้า สงสาร และหลายคนกำลังสาปแช่ง รวมถึงพยายามจินตนาการถึงคนร้ายในมโนสำนึกของตน
ความหวังดีที่ถูกส่งต่อด้วยข้อมูลผิดพลาด อาจนำความผิดใจและเกลียดชัง แล้วเราจะอยู่กันอย่างไรท่ามกลางความสับสนรุนแรงแบบนี้ ลองมาอ่านทัศนะของ เอกพันธ์ ปิณฑวณิช รักษาการผู้อำนวยการ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จาก 5 คำถาม และ 5 คำตอบสำคัญ
01 เราควรวางตัวอย่างไรในโลกโซเชียล ทั้งการแสดงความเห็น และการแชร์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ
ต้องยอมรับว่าข้อมูลใน โซเชียลมีเดีย มีความเร็วมาก แต่ข้อเสียของความเร็วคือ ยิ่งเร็วเท่าไหร่ ความถูกต้องแม่นยำอาจมีน้อยลงเท่านั้น เป็นตรรกะธรรมดาที่เมื่อมีเวลาในการกลั่นกรองน้อยลง ความละเอียดก็น้อยลง อย่างไรก็ตาม ในการรับข้อมูลต่างๆ เรามักเชื่อแหล่งข้อมูลที่มีลักษณะว่าเราเชื่อ มีความชอบ หรือข้อมูลในข่าวตรงกับความคิดเรา
ในขณะเดียวกันก็อาจปฏิเสธข้อมูลที่เราไม่เชื่อแหล่งข่าว ข้อมูลที่เราไม่ชอบ หรือไม่ตรงกับความคิด ถ้าเป็นในลักษณะนี้ การแชร์ การโพสต์ ก็จะเป็นการกระจายข่าวสารที่มีข้อเท็จจริงน้อย แต่มีอารมณ์ความรู้สึกเยอะ ถึงแม้ข้อมูลบางอย่างอาจดูเหมือนมีการวิเคราะห์ แต่ก็เป็นการวิเคราะห์ที่ลำเอียง ไม่ว่าจะลำเอียงเพราะชอบ หรือลำเอียงเพราะไม่ชอบก็ตาม
ทั้งนี้ การรับข้อมูลข่าวสารดังกล่าวควรมีลักษณะที่ฟังไปเรื่อยๆ คิดตามแบบไม่ต้องมีอารมณ์เป็นที่ตั้ง ฟังหลายๆ ทาง จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ให้คิดว่ามันอาจเป็นอย่างอื่นได้เสมอ
02 กระบวนการตรวจสอบในต่างประเทศมีการจัดการอย่างไรหลังเกิดเหตุ
ปกติในกรณีที่เป็นการก่อวินาศกรรม ก็จะมีหลายหน่วยงานเข้าร่วมตรวจสอบ ทั้งที่เป็นลักษณะของการร่วมกันทำงานเป็นทีม และในลักษณะที่เป็นการตรวจสอบการตรวจสอบ ทั้งนี้ก็จะเกิดความโปร่งใสในขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน และพิสูจน์หลักฐานต่างๆ รวมทั้งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรม สามารถที่จะนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้
03 ท่ามกลางความตกใจ เราควรมีการเตรียมใจ เตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร
เรื่องนี้คงตอบยาก แต่ถ้าให้พูดถึงประสบการณ์ที่เคยผ่านระเบิดมาหลายครั้ง ยอมรับว่าไม่มีวิธีการใดที่เป็นวิธีที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ และไม่เคยมีที่ใดที่ปลอดภัยที่สุด หลายๆ ครั้งเราอาจจำเป็นต้องใช้สัญชาตญาณ ตัวเราเองจะรับรู้ว่าเราอยู่ในที่ และเวลาที่มีความปลอดภัยหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการไม่ตระหนกจนเกินไป จะทำให้การใช้ชีวิตของเราเป็นปกติได้เร็วขึ้น คือเราคงต้องจัดการกับตนเองและผู้คนรอบตัว กล่าวคือดูแลไม่ให้ตนเองตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์จนเกินกว่าเหตุ หรือพยายามไม่ทำให้ตนเองเป็นส่วนหนึ่งที่กระพือข่าวสารที่อาจขาดข้อเท็จจริง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งข่าวสารที่จะทำให้เกิดความแคลงใจกันของคนในสังคม หรือแม้กระทั่งข่าวสารที่อาจก่อความเข้าใจผิด หรือเกลียดชังกัน ในกรณีที่สถานการณ์ไม่มีความเลวร้ายลงไปกว่านี้ คิดว่าการให้โอกาสกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการสืบสวนสอบสวนเพื่อให้ความจริงปรากฏ และนำคนผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรมก็เป็นสิ่งจำเป็น เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องการเวลา พวกเราในฐานะประชาชนคงต้องอดทนให้กระบวนการดังกล่าวสามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
04 สื่อหรือผู้มีส่วนรับผิดชอบ ควรนำเสนอหรือให้สารอย่างไรแก่คนทั่วไป
ข้อเท็จจริงเป็นสิ่งจำเป็นในเวลาแบบนี้ ผู้คนต้องการข้อมูลและพร้อมที่จะรับ และเชื่อในข้อมูลเหล่านั้น ถ้าข้อมูลขาดข้อเท็จจริงหรือมีการปิดบัง หรือบิดเบือน ผู้คนก็จะได้ข้อมูลเหล่านั้น และใช้ข้อมูลเหล่านั้นการการวิเคราะห์ วิจารณ์ หรือเผยแพร่ต่อแบบไม่มีข้อเท็จจริง ผลกระทบอย่างหนึ่งของเหตุการณ์ความรุนแรงที่มีความสะเทือนใจของคนในสังคมมาก ก็คืออารมณ์และความรู้สึกจะบดบังข้อเท็จจริงได้ ฉะนั้น ข้อเท็จจริงจึงมีความสำคัญ
05 หลังจากนี้ เราควรมีมาตรการรับมือ หรือสร้างความเชื่อมั่นให้ทั้งคนไทยและต่างประเทศอย่างไร
มาตรการในการรับมือคงอธิบายได้ยาก เนื่องจากตอนนี้เราเองยังไม่แน่ใจว่าเรารับมืออยู่กับใครหรืออะไรบ้าง แต่ละอย่างมีความรุนแรงมากน้อยขนาดไหน ทั้งนี้ ไม่ว่าจะใช้มาตรการใดในเรื่องใดก็ควรคำนึงถึงความพอเหมาะพอดีต่อสถานการณ์ เช่น ใช้มาตรการในการตรวจค้นรถยนต์เข้มข้นก็ไม่ควรทำให้มากถึงขั้นเดินทางกันไม่ได้ ควรดูความพอเหมาะพอควร
ส่วนในเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นนั้น ถ้ากลไกทั้งภาครัฐและภาคประชาชนมีศักยภาพที่ทำให้คนในประเทศเห็นว่า กลไกเหล่านั้นสามารถให้ความคุ้มครองหรือสร้างความปลอดภัยในชีวิตของผู้คนได้ ความเชื่อมั่นก็จะเกิดขึ้นตามมา สำหรับคนต่างชาติก็เช่นเดียวกัน แต่ก็คงต้องใช้เวลา ทั้งในการสร้างกลไก และการทำให้กลไกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ