รายงานโดย ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
14 มิ.ย. 2559 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2559 เวลาประมาณ 21.30 น. ชาวบ้านชุมชนหนองจาน ต.นาหนองทุ่ม อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น แจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารจากค่ายมหาศักดิพลเสพ ร.8 พ.2 อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น จำนวน 3 นาย แต่งชุดในเครื่องแบบครึ่งค่อนพร้อมพกอาวุธปืนเข้าไปในพื้นที่ชุมชนในยามวิกาล เพื่อสอบถามข้อมูลในพื้นที่
ขณะที่ชาวบ้านกำลังให้รายละเอียดถึงข้อมูลในพื้นที่นั้น เจ้าหน้าที่ทหารบอกว่า อยากขอเชิญแกนนำชุมชนไปร่วมดื่มน้ำเย็น ในค่ายทหาร ร.8 พ.2 แต่ยังไม่ได้ระบุวันและเวลา
ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตุว่า อาจมาจากสาเหตุ ที่ชาวบ้านในชุมชนได้ออกมาเดินรณรงค์เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินของตนเอง เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2559 ร่วมกับกลุ่มขบวนการอีสานใหม่ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคประชาชน นักกิจกรรม และนักศึกษา ที่จัดกิจกรรม walk for rights เดินเพื่อสิทธิชีวิตคนอีสาน โดยวางแผนเดินทางไปทั่วภาคอีสานระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร เป็นระยะเวลากว่า 35 วัน
สำหรับข้อมูลชุมชนหนองจานเคยได้รับผลกระทบจากโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ในเขตป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) โดยเจ้าหน้าที่ให้อพยพออกจากพื้นที่ พร้อมแจ้งว่าจะจัดสรรที่ทำกินให้ใหม่ แต่ที่ดินจัดสรรที่มีเจ้าของเดิมครอบครองอยู่แล้ว จึงรวมตัวกันคัดค้านและร่วมกับชาวบ้านในภาคอีสาน คัดค้านโครงการ คจก. กระทั่งรัฐบาลต้องยกเลิกโครงการไปในปี 2535
เมื่อกลับเข้ามาพื้นที่เดิม ชาวบ้านชุมชนหนองจานได้มีกระบวนการแก้ไขปัญหาอย่างมีส่วนร่วมกับอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน กระทั่งผลักดันให้เกิดโครงการจอมป่า (Joint Management of Protected Areas – JoMPA) เป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนสามารถจัดการป่าและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำกินและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีความสุข และสงบมาอย่างต่อเนื่อง
กระทั่งรัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2558 หัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน มีหนังสือแจ้งให้ทราบว่าจะมีการลงพิสูจน์สิทธิ์ที่ดินทำกิน ชุมชนเกรงว่าจะเป็นนโยบายการทวงคืนผืนป่า และรัฐจะนำมติ ครม.30 มิ.ย. 2541 ซึ่งเป็นนโยบายที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ดังนั้น ตัวแทนในอีกหลายชุมชนกว่า 300 คน ได้เดินทางไปยังที่ทำการอุทยานภูผาม่าน เพื่อร่วมพูดคุยกับหัวหน้าอุทยานฯ นายอำเภอชุมแพ พร้อมปลัดอำเภอ และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูผาม่าน กระทั่งได้ข้อยุติร่วมกัน
แต่ระยะหลังที่ผ่านมา การพูดคุย 3 -4 ครั้ง เจ้าหน้าที่ก็พยายามที่จะใช้หลักการเดิมเรื่อยมา แต่ชาวบ้านในชุมชนได้ทำการคัดค้านและมีการเจรจาร่วมกันมาโดยตลอด