เจตนารมณ์ 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตย
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล
ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาอยู่ท่ามกลางผู้รักประชาธิปไตยทั้งรุ่นใหม่รุ่นเก่า และยิ่งยินดีเป็นพิเศษที่ได้พบปะกับมิตรสหายที่ร่วมต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ เมื่อ 40 ปีก่อนในวันเวลาเดียวกันนี้ คนหนุ่มสาวแห่งยุคสมัยได้พร้อมใจกันเคลื่อนกำลังออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับมวลมหาประชาชนประกาศตนไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการ มันเป็นการต่อสู้อันมีชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะฝ่ายหนึ่งกุมอำนาจรัฐด้วยอำนาจกระบอกปืน ขณะที่ฝ่ายเรามีสองมือเปล่าและหัวใจเปี่ยมความฝัน ชัยชนะในครั้งนั้นสอนเราว่าเจตนารมณ์เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าในชีวิตของคนคนหนึ่งหรือการเติบโตของประชาชาติหนึ่ง เจตจำนงแน่วแน่เป็นเรื่องสำคัญโดยตัวมันเอง โดยเฉพาะเมื่อมาจากคนเรือนแสนเรือนล้านที่ผนึกกันเป็นหนึ่งเดียว
ถามว่าเจตนารมณ์ของ 14 ตุลาคืออะไร เรื่องนี้จริงๆ แล้วไม่ต้องโต้เถียงกันอีก ก่อนการลุกสู้ครั้งนั้น ประชาชนไทยต้องเจ็บช้ำอยู่ใต้ระบอบเผด็จการนานหลายปี ความฝันก็ดี ความแค้นก็ดี ล้วนถูกบ่มเพาะจากสภาวะปราศจากสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นคนถูกเหยียบย่ำทำลาย ไม่ต้องเอ่ยถึงความเป็นอยู่ยากลำบากอันเนื่องมาจากการเมืองที่ผูกขาด
สภาพดังกล่าวทำให้เราปรารถนาเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย อยากเห็นประเทศไทยเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม มันเป็นเช่นนั้นตั้งแต่วันนั้นและยังคงเป็นเช่นนั้นจนถึงวันนี้ ประชาธิปไตยที่ปรารถนาย่อมแยกไม่ออกจากจินตนาการถึงชีวิตที่ดีกว่า ดังนั้น เราไม่ต้องการเพียงระบอบการปกครองของชนชั้นนำที่ผูกขาดอำนาจแล้วประแป้งให้ดูดีกว่าเดิม หากเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่เปิดกว้างให้ประชาชนทุกหมู่เหล่ามีส่วนร่วมในฐานะทางการเมืองเท่าเทียมกัน เป็นกระบวนการทางการเมืองที่แนบแน่นอยู่กับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน สามารถตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้ผู้คนได้อย่างแท้จริง
ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถหลอมรวมจุดหมายและวิธีการไว้ด้วยกันได้อย่างแน่นแฟ้น ด้วยเหตุนี้เราจึงสามารถจับโกหกได้ เมื่อมีใครแยกสองส่วนนั้นออกจากกัน หรือบอกเราว่าจุดหมายอยู่ที่ประชาธิปไตย แต่วิธีการกลับกลายเป็นอย่างอื่น
คนเราจะบรรลุความเป็นเสรีชนได้อย่างไรหากไม่สามารถเลือกรัฐบาลที่ตัวเองพอใจและบอกโลกได้ว่าตัวเองต้องการออะไร ความเสมอภาคของมนุษย์จะปรากฏเป็นจริงด้วยวิธีไหนหากไม่ใช่สิทธิเสียงที่เท่ากันในการกำหนดชะตากรรมของบ้านเมือง ความเป็นธรรมก็เช่นกัน เราคงไปถึงจุดนั้นไม่ได้ถ้าผู้คนที่เสียเปรียบไม่สามารถผลักดันให้รัฐคุ้มครองผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของพวกเขา ดังนั้น ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่การปกครองที่เลื่อนลอย หรือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิที่จับต้องไม่ได้ หากเป็นความสัมพันธ์ทางอำนาจที่เรียบง่ายชัดเจนและมีสาระใจกลางของปรัชญาอยู่หนึ่งประโยคเท่านั้น คือ ให้ประชาชนเป็นนายตัวเอง
ในแนวคิดประชาธิปไตย ไม่มีใครมีสิทธิปกครองผู้อื่นได้ เพราะทุกคนมีความเป็นพลเมืองเท่าเทียมกัน ดังนั้น การเป็นนายตัวเองจึงหมายถึงการปกครองตนเอง ซึ่งเมื่อแปลงเป็นระบอบการเมืองแล้วเท่ากับว่ารัฐบาลต้องมาจากความเห็นชอบของประชาชน ในขณะที่ประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความต้องการของเขา แต่ก็อีกนั่นแหละ แค่คิดเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายแล้ว สำหรับสังคมที่ไม่เคยชินกับความเสมอภาค และยิ่งไม่เคยชินกับการลุกขึ้นยืนกับการลุกขึ้นยืนอย่างทระนงของประชาชนธรรมดา ดังนั้น การเคลื่อนไหวของกรรมการชาวนาและบรรดานักศึกษาที่เห็นอกเห็นใจในช่วงหลัง 14 ตุลา 16 จึงถูกป้ายสีอย่างเป็นระบบ และถูกให้ร้ายว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงในสายตาของชนชั้นปกครองไทย พวกเขาพยายามทำทุกอย่างเพื่อสกัดการเติบโตของพลังประชาธิปไตย ของชนชั้นล่างๆ ที่เสียเปรียบ กระทั่งในที่สุดได้ก็ได้ใช้วิธีโหดเหี้ยมป่าเถื่อน ผสานกำลังอันธพาลเข้ากับเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเข้าล้อมปราบฆ่าฟันนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ 6 ตุลา 19
คงไม่ต้องย้ำ ท่านทั้งหลายคงรู้สึกเองอยู่แล้วว่า พื้นที่เล็กๆ ที่เราใช้ประชุมกันอยู่นี้เคยเป็นทั้งศูนย์กลางแห่งเสรีภาพและอนุสรณ์สถานของฝ่ายประชาชน เป็นที่ที่เราทั้งเคยปักธงแห่งชัยชนะและเช็ดเลือดของผองเพื่อนที่จากไป แน่นอน การต่อสู้อาจสิ้นสุดลงเพียงเพราะประชาชนถูกปราบปราม หลังปี 2519 เราอาจพูดได้ว่าประเทศไทยตกอยู่ในสภาพของสงครามกลางเมืองและมันได้สั่นคลอนเผด็จการอำนาจรัฐอย่างถึงราก การต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธของนักศึกษาและประชาชนขยายตัวออกไปอย่างไม่หยุดยั้ง จนกระทั่งชนชั้นปกครองในเวลานั้นจำเป็นต้องทบทวนท่าทีของตน อันที่จริงสงครามไม่ใช่สิ่งพึงปรารถนาของผู้ใด เนื่องจากมันคือกองไฟที่อาศัยชีวิตมนุษย์เป็นฟ่อนฟืน กระนั้นก็ตาม เมื่อต้องเลือกระหว่างการต่อสู้อย่างถึงเลือดถึงเนื้อกับการยอมจำนนกับการกดขี่ข่มเหง ก็คงมีน้อยคงนักที่จะเลือกชีวิตอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี แม้ว่าท้ายที่สุด ความผันผวนของสถานการณ์สากลผนวกกับความผิดพลาดขององค์กรนำจะทำให้กองกำลังทางอาวุธต้องสลายตัวลง แต่ความไม่ยอมศิโรราบของหนุ่มสาวสมัยนั้นก็ส่งผลกระเทือนหนักหน่วงต่อชนชั้นนำผู้กุมอำนาจแห่งรัฐ มันทำให้พวกเขาตระหนักว่า การปกครองแบบก่อน 2516 เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว จึงต้องเร่งปรับตัวเข้าหาระบอบประชาธิปไตย ถึงจะยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ก็ตาม
ถามว่าเราเรียนรู้อะไรบ้างจากประวัติศาสตร์ช่วงนี้ คำตอบแรกคือ ประชาชนสามารถคัดหางเสือประวัติศาสตร์ได้ ถ้าเราร่วมมือร่วมแรงกันผลักดันบ้านเมืองไปในทิศทางที่เราต้องการ แต่เราคงต้องยอมรับว่า เส้นทางเดินของประวัติศาสตร์มิใช่เส้นทาง มันยอกย้อน คดเคี้ยว กระทั่งวกกลับได้เป็นบางครั้ง เส้นทางเดินของประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน จากการต่อสู้ 14 ตุลา ถึงวันนี้ เวลาผ่านมาถึง 40 ปี ถ้านับจากวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งเป็นหมุดหมายแรกแห่งการปักธงประชาธิปไตยของสังคมไทย เวลาก็ผ่านมานานกว่า 80 ปี อย่างไรก็ตาม เวลาที่ผ่านไป ไม่ใช่พื้นที่ที่ว่างเปล่า แค่นับเฉพาะ 40 ปีหลังเราก็จะพบว่ามีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกหลายครั้งทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว ในจำนวนนี้เป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 3 ครั้ง คือในปี 2519, 2534, 2549 ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการใช้กำลังรุนแรงโดยฝ่ายรัฐ ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กรณีพฤษภาคม 2535 และกรณีกระชับพื้นที่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553
เช่นนี้แล้ว เราจึงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า อะไรเล่าเป็นอุปสรรคกั้นขวางไม่ให้บ้านเมืองนี้สามารถตั้งรัฐบาลได้อย่างสันติต่อเนื่อง อะไรทำให้ประชาชนต้องหลั่งเลือดครั้งแล้วครั้งเล่าเพียงเพราะเขาไม่เห็นด้วยกับผู้กุมอำนาจ ด้วยเหตุอะไรหรือ ระยะ 40 ปีที่ผ่านมา ประชาธิปไตยจึงไม่สามารถหยั่งรากมั่นคงในประเทศไทย ผมเองในฐานะปัจเจกชนอาจจะมองปัญหาไม่ครบถ้วน แต่เท่าที่เห็น คิดว่า อุปสรรคใหญ่ของประชาธิปไตยน่าจะมาจากเหตุปัจจัย 3 อย่างที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน คือ อิทธิพลของชนชั้นนำภาครัฐที่เคยผูกขาดอำนาจการปกครองมาก่อน ฐานะครอบงำของวัฒนธรรมอำนาจนิยมซึ่งไม่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย และสภาพกำลังของฝ่ายประชาธิปไตยยังไม่มีลักษณะคงเส้นคงวา
ขออนุญาตให้เวลาเพิ่มเติมกับประเด็นเหล่านี้
เราคงต้องยอมรับว่า ประชาธิปไตยเป็นความคิดทางการเมืองและระบอบการเมืองที่ค่อนข้างใหม่สำหรับประเทศที่มีอายุหลายร้อยปีอย่างไทย ดังนั้น แม้ว่าประชาธิปไตยจะสะท้อนจิตวิญญาณยุคสมัย และขั้นตอนสูงขึ้นของวิวัตนาการทางสังคม แต่ก็มีข้อเสียเปรียบที่ต้องแตกหน่อผลิใบบนผืนดินที่เต็มไปด้วยอำนาจเก่า ความคิดเดิม พูดง่ายๆ ว่า ประชาธิปไตยจะโตใหญ่ขยายตัวไม่ได้เลย หากไม่สามารถช่วงชิงพื้นที่จากความคิดอื่น อำนาจอื่น ขณะเดียวกันผู้พิทักษ์แนวคิดเดิมและผู้ปกครองแต่เดิมก็ย่อมดิ้นรนต่อต้านเพื่อรักษาพื้นที่ตน อันนี้เป็นกฎธรรมดาของประวัติศาสตร์สังคม ดังนั้น ตลอด 40 ปีมานี้ นาฏกรรมทางการเมืองของไทยจึงหมุนวนรอบห้อมล้อมรัฐประหารและการต่อต้านรัฐประหารซึ่งผูกพ่วงไปมาสลับกันระหว่างรัฐบาลเผด็จการและรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประชาชนได้รับอิสรเสรีภาพและเชิดชูความเท่าเทียมของมนุษย์ต้องหลั่งเลือดครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ประชาธิปไตยมีที่อยู่ที่ยืน
ถามว่าทำไมชนชั้นนำแต่เดิมไม่ยอมรับและเปิดทางให้ประชาธิปไตยโดยง่าย ทั้งที่การต่อต้านของฝ่ายประชาชนทำให้เห็นแล้วว่าระบอบอำนาจนิยมเป็นสิ่งล้าหลังทางประวัติศาสตร์ ในยุคนี้สมัยนี้การบังคับบัญชาราษฎรจากข้างบนลงมา นอกจากการหักล้างศักดิ์ศรีความเป็นคนแล้ว ยังไม่สอดคล้องกับสภาพความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้นทั่วโลก คำตอบมีอยู่ว่า นอกจากต้องการรักษาสัดส่วนในพื้นที่อำนาจที่พวกเขาเคยครอบครองแล้ว ชนชั้นนำเก่ายังมีชุดความคิดที่พวกเขาเชื่อว่าถูกต้องประชาธิปไตยด้วย หรืออย่างน้อยก็ถูกต้องว่าประชาธิปไตยในความหมายที่สมบูรณ์ ยิ่งไปกว่านั้น เราต้องยอมรับว่า สังคมไทยประกอบด้วยมวลชนจำนวนไม่น้อยที่สมาทานชุดความคิดแบบอำนาจนิยม อุปถัมภ์นิยม และชาตินิยมที่คับแคบและแยกออกจากประโยชน์สุขของประชาชน แนวคิดทั้งปวงนี้บางด้านเหมือนเป็นเรื่องธรรมดา แต่บางด้านก็ขัดแย้งกับคุณค่าประชาธิปไตยแบบประสานงา และยังถูกผลิตอย่างตั้งอกตั้งใจ และขยายเป็นพิเศษหลังรัฐประหารทุกครั้ง พูดอีกแบบก็คือ แทนที่ประชาธิปไตยไทยจะตั้งอยู่บนฐานวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับมัน วัฒนธรรมที่เน้นย้ำเสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรม การณ์กลับกลายเป็นว่าประชาธิปไตยไทยยังไม่มีฐานวัฒนธรรมที่เหมาะสมคอยเกื้อหนุนและห้อมล้อมให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เช่นนี้แล้วจึงมีความเป็นไปได้ตลอดว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือผู้นำการเมืองบนเวทีประชาธิปไตย จะถูกกล่าวหาว่ามีความผิดทางวัฒนธรรมทั้งๆ ที่บางเรื่องมันไม่ได้เกี่ยวกับกิจการบ้านเมืองเลย ขณะเดียวกันก็เป็นไปได้เสมอที่มวลชนผู้ซาบซึ้งกับวัฒนธรรมเก่าจำนวนไม่น้อยจะออกมาเคลื่อนไหวโค่นล้มรัฐบาลด้วยวิธีนอกระบบ หรืออย่างน้อยก็ออกมาต้อนรับการรัฐประหารโดยไม่คำนึงถึงผลเสียระยะยาว
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าประชาธิปไตยมีพลังรองรับอย่างแน่นหนา คงเส้นคงวา เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่และซับซ้อนพอสมควร การที่เหตุการณ์ อย่าง 14 ตุลาคมเกิดขึ้นได้ หรือเหตุการณ์ในปี 2535 และ 2553 เกิดขึ้นได้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าพลังประชาชนที่คัดค้านการผูกขาดอำนาจนั้นมีมากพอที่จะขับพลังอำนาจนิยมให้ถอยร่นออกไป แต่การจะทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีเสถียรภาพยังเป็นอีกเรื่องและจำเป็นต้องอาศัยเงื่อนไขมากกว่านี้ พูดง่ายๆ สั้นๆ ก็คือว่า ประชาธิปไตยไทยต้องมีฐานพลังทางสังคมที่พร้อมแบกพันธะในการพิทักษ์รักษาและเสริมความมั่นคงในขอบเขตที่กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ มิฉะนั้นอาจตกเป็นฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำอีก
ถามว่าแล้วชนกลุ่มไหนเล่าที่พร้อมทำหน้าที่ดังกล่าว
ช่วงหลังการต่อสู้ 14 ตุลาคม ชนชั้นผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมเคยมีพลังทางการเมืองอย่างมหาศาล แต่หลังรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 ขบวนกรรมกรแรงงานถูกควบคุมเข้มงวดจนไม่อาจฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ ทุกวันนี้คนงานในระบบเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานไม่ถึงร้อยละ 1 เพราะการก่อตั้งสหภาพแรงงานนั้นทำได้ยาก ผู้นำคนงานมักถูกนายทุนกลั่นแกล้ง กีดขวางไม่ให้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว กระทั่งถูกปลดจากงาน ถูกคุกคามทำร้ายโดยที่ฝ่ายรัฐยืนข้างฝ่ายทุนเสมอมา ดังนั้น ในสภาพที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดและไร้การจัดตั้งเป็นส่วนใหญ่ คงไม่ง่ายที่พลังกรรมกรจะเป็นพลังสำคัญของฝ่ายประชาธิปไตย
ลองหันมามองพลังนักศึกษา ในอดีตนักศึกษาและปัญญาชนเคยเป็นกองหน้าที่ฮึกห้าวเหิมหาญในการบุกเบิกพื้นที่เสรีภาพให้ประชาชนหมู่เหล่าต่างๆ หลังการปราบกวาดล้างปี 2519 มหาวิทยาลัยถูกอำนาจรัฐและพลังอนุรักษ์ดัดแปลงให้เป็นเพียงโรงเลี้ยงเด็กของชนชั้นกลาง ยิ่งมาถึงยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งประกอบด้วยระบบการค้าเสรีการบริโภคเสรี สังคมไทยก็เปลี่ยนไปมาก ประชาการในมหาวิทยาลัยก็เปลี่ยนไปด้วย พื้นที่ในมหาวิทยาลัยถูกยึดครองโดยบุตรหลานของผู้มีรายได้สูง มีความใฝ่ฝันในชีวิตกระจัดกระจายและกระเจิดกระเจิงไปตามจินตนาการส่วนตัวมากกว่าจะมีสายใยใดกับสังคมต้นกำเนิด และยิ่งไม่มีสำนึกผูกพันกับชนชั้นผู้เสียเปรียบ ดังนั้น เราจึงพูดได้ว่า เราไม่มีขบวนนักศึกษาในความหมายเดิม แม้จะมีนักศึกษากลุ่มย่อยที่เอาธุระอยู่บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่แล้วอาจต้องอาศัยสถานการณ์ที่พิเศษมากๆ ในการปลุกพวกเขาให้ตื่นรู้ในเรื่องความเป็นมาและความเป็นไปในสังคม
แต่ก็อีกนั่นแหละ เรื่องนี้คงปัดความรับผิดชอบทางศีลธรรมให้เยาวชนฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะชนชั้นกลางในระดับตัวพ่อตัวแม่เองก็ไม่ได้ดีกว่าเท่าใด โดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมืองหลวงที่มักแกว่งไกวอยู่ระหว่างประชาธิปไตยกับอำนาจนิยม ในอดีตคนชั้นกลางในเมืองเคยสร้างคุณูปการใหญ่หลวงในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย ไม่ว่าปี 2516, 2535 เขาล้วนเป็นกำลังหลักในการต่อต้านเผด็จการ น่าเสียดายที่มาถึงวันนี้คนชั้นกลางดั้งเดิมกำลังกลายเป็นฐานที่มั่นใหญ่ของแนวคิดอนุรักษ์นิยม จากการที่เคยผลักดันประวัติศาสตร์ให้ก้าวไปข้างหน้า พวกเขากลับกลายเป็นชนชั้นที่อยากหยุดประวัติศาสตร์ไว้ในจุดที่ตัวเองได้เปรียบในทุกด้าน ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สาเหตุหลักน่าจะมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจทุนนิยม เน้นการส่งออก การค้าลงทุนแบบไร้พรมแดน เงื่อนไขดังกล่าวเพิ่มความมั่นคงให้คนชั้นกลางเดิมหลายเท่าและแยกชีวิตพวกเขาออกจากส่วนที่เหลือของสังคม ดังจะเห็นได้จากตัวเลขการถือครองทรัพย์สินที่คนบนสุด 20% แรกของจำนวนประชากรไทย มีทรัพย์สินมากกว่าคน 20% ที่อยู่ข้างล่างถึงเกือบ 70 เท่า ความแตกต่างทางฐานะทางเศรษฐกิจเช่นนี้ นับวันทำให้ชนชั้นกลางเก่ามีโอกาสในชีวิต วิถีชีวิตเหนือกว่าคนไทยอีกมหาศาล และยังตัดเฉือนความสัมพันธ์ที่เคยมีระหว่างพวกเขาและชนชั้นอื่นๆ ด้วย ดังนั้น นอกเหนือจากปัจเจกบุคคลที่มีสายตากว้างไกลอันมีอยู่น้อยนิด เราอาจจะกล่าวได้ว่า ในปัจจุบันคนชั้นกลางส่วนใหญ่ไม่สนใจ ไม่เห็นใจชะตากรรมคนส่วนใหญ่ที่อยู่ล่างจากตน พวกเขามักหมกมุ่นกับเรื่องส่วนตัว การบริโภค การสร้างสไตล์ในชีวิตที่วิจิตรบรรจง กระทั่งนิยามความดีความงามและความจริง หลุดลอยไปจากความถูกต้องเป็นธรรมทางสังคม
โดยนัยยะทางการเมืองแล้ว สภาพดังกล่าวหมายความว่า ชนชั้นกลางเก่ามีความอ่อนไหวสูงต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่อาจกระทบฐานะตน ที่ผ่านมาเหตุการณ์ได้พิสูจน์แล้วว่า จำนวนไม่น้อยพร้อมสนับสนุนวิธีการนอกระบบในการเปลี่ยนรัฐบาล ถ้าหากมันจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าโลกตัวเองจะไม่ถูกโยกไหวสั่นคลอน เช่นนี้แล้วประชาธิปไตยได้จึงขาดพลังที่สำคัญไปอย่างน่าเสียหาย
อย่างไรก็ตาม การเติบใหญ่ทุนนิยมของโลกาภิวัตน์ไม่ได้เปลี่ยนฐานะและโลกทัศน์ของคนชั้นกลางในเมืองฝ่ายเดียว แต่กวาดต้อนคนในหัวเมืองและในชนบทมาไว้ในกรอบทุนนิยมด้วย ทำให้พวกเขามีฐานะทางชนชั้นและวิธีคิดที่ต่างไปจากเดิมเช่นกัน นักวิชาการหลายท่านยืนยันตรงกันว่า ระยะหลังชนบทไทยเปลี่ยนมาก เกิดการแบ่งตัวทางชนชั้นอย่างชัดเจน กล่าวคือ นอกเหนือจากการอพยพเข้ามาขายแรงงานและประกอบอาชีพอิสระในเมืองแล้ว ชาวนาชาวไร่อีกมหาศาลได้เปลี่ยนฐานะจากเกษตรกรแบบเก่าเป็นผู้ประกอบการรายย่อย ผลิตเพื่อขายและกลายเป็นผู้เล่นอีกกลุ่มตลาดทุนนิยม แม้คนชั้นกลางใหม่เหล่านี้ไม่ได้มีฐานะยากจนในความหมายสัมบูรณ์ แต่พวกเขาก็ยังเสียเปรียบนานัปการในโครงสร้างสังคมที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดราคาผลผลิต การเข้าถึงทุน เข้าถึงสวัสดิการ เข้าถึงโอกาสทางการศึกษา พูดง่ายๆ คือ ทั้งๆ ที่มีจำนวนมหาศาลและมีคุณูปการในกระบวนการผลิตในประเทศไทย แต่พี่น้องเหล่านี้เป็นชนชั้นที่ถูกมองข้ามหรือไม่มีตัวตน จึงไม่แปลกที่พวกเขาต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อประกาศการดำรงอยู่ และไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชนชั้นกลางใหม่เหล่านี้จะต้องการพื้นที่ทางการเมืองของตนเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองในตลาดเสรี และเพิ่มอำนาจขับเคลื่อนนโยบายที่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตน
อันนี้นับเป็นข่าวดีจากมุมมองประชาธิปไตย เพราะใครเล่าจะต้องการเสรีภาพเท่ากับคนที่ต้องการบอกโลกว่าพวกเขามีเรื่องเดือดร้อน ใครเล่าจะต้องการระบอบนี้เท่ากับผู้คนที่แสดงหาความเสมอภาคและความเป็นธรรม ในฐานะผู้ผ่านศึก 14 ตุลาคม ผมเห็นว่าการเคลื่อนไหวของพี่น้องเหล่านี้ตั้งอยู่บนเจตนารมณ์เดียวกับการต่อสู้เมื่อ 40 ปีก่อน เพียงแต่บริบทของยุคสมัยอาจเปลี่ยนไปบ้าง แต่กล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว มันเป็นการผูกโยงประชาธิปไตยกับความฝันถึงชีวิตที่ดีกว่า สังคมที่ดีกว่า ส่งเสริมให้ผู้คนมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นแก่นแท้ของปรัชญาประชาธิปไตย
แน่นอน มันเป็นเรื่องธรรมดาทางประวัติศาสตร์ที่ชนชั้นใหม่ต้องขอแบ่งพื้นที่ทางการเมืองในความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ดำรงอยู่ และเรื่องธรรมดาเช่นกันที่ปฏิบัติการเช่นนี้ย่อมนำสู่การปะทะกับชนชั้นเดิม ปัญหามีอยู่ว่า พลังใหม่นี้จะนำพาสังคมไทยไปได้ไกลแค่ไหน หรือจะต้านทานพลังปฏิปักษ์ประชาธิปไตยได้เพียงใดและอย่างไร ที่สำคัญกว่านั้นอีกคือ สังคมไทยจะสามารถปรับความสันพันธ์ทางอำนาจระลอกนี้ได้ลงตัวหรือไม่ โดยไม่ต้องจ่ายราคาแพงเท่าในอดีต
กล่าวสำหรับการยืดหยัดพิทักษ์ประชาธิปไตยนั้น ผมเชื่อมั่นว่า คนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดและคนชั้นกลางค่อนไปทางล่างในเมืองหลวง ตลอดจนปัญญาชนที่เห็นอกเห็นใจคงจะยืนอยู่ในจุดนี้ไปอีกนาน ด้วยเหตุผลเรียบง่าย คือ พวกเขาไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น พูดให้ชัดขึ้นก็คือ ความเสียเปรียบทางชนชั้นอันสืบเนื่องจากโครงสร้างทุนนิยมนั้น ไม่อาจแก้ไขหรือชดเชยด้วยวิธีอื่น นอกจากเพิ่มอำนาจต่อรองผู้เสียเปรียบด้วยวิธีการทางการเมือง ด้วยเหตุดังนี้ เวทีประชาธิปไตยจึงขาดไม่ได้สำหรับคนเล็กคนน้อย เพราะนั่นเป็นพื้นที่เพียงแห่งเดียวในการแสดงตัวตน สามารถสร้างทางเลือกในระดับนโยบายและ สามารถอาศัยสิทธิพลเมืองสนับสนุนผู้แทนทางการเมืองที่ขานรับความต้องการของพวกเขา อันที่จริง ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเท่ากับช่วยชุบชีวิตให้ระบบรัฐสภาไทยซึ่งก่อนหน้านี้มักถูกออกแบบให้อ่อนแอต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับอำนาจการนำของชนชั้นนำที่มาจากภาคราชการ ในอีกด้านความเคลื่อนไหวในรูปขบวนการชนชั้นกลางใหม่ต่างจังหวัด ก็กดดันให้พรรคการเมืองที่เคยจำกัดตัวในกลุ่มผลประโยชน์แคบๆ เดินแนวทางมวลชนมากขึ้น แม้จะยังไม่ใช่พรรคมวลชนในความหมายที่เต็มรูป แต่ปรากฏการณ์เช่นนี้นับเป็นพัฒนาการสำคัญของประชาธิปไตย
จะว่าไปความเคลื่อนไหวของพี่น้องเหล่านั้นนับว่าต่างจากการเมืองภาคประชาชนแบบดั้งเดิม ในด้านหนึ่งพวกเขายังต้องอยู่ในตลาดทุนนิยม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็อยู่ในภาพทีเสียเปรียบสุด สภาพดังกล่าวจึงต้องเกาะติดและต่อรองกับการเมืองภาคตัวแทน เพื่อจะได้อาศัยนโยบายของรัฐมาช่วยคุ้มครองและถ่วงดุลข้อเสีย ในทางตรงกันข้าม กำลังของการเมืองภาคประชาชนในแบบฉบับเดิม มักมาจากกลุ่มชนที่อยากถอยห่างจากตลาดเสรี ต้องการบริหารจัดการชีวิตเรียบเรียบในท้องถิ่นของตัวเองในท้องถิ่นต่างๆ โดยปราศจากการแทรกแซงของรัฐและทุนใหญ่ ด้วยเหตุดังนี้ ประชาธิปไตยในสายตาของขบวนการเมืองภาคประชาชนจึงมักเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ การกระจายทรัพยากร รวมทั้งลดอำนาจลดบทบาทการเมืองแบบตัวแทนควบคู่ไปกับการขยายพื้นที่ของประชาธิปไตยทางตรง
ตามความเห็นของผม การเมืองของคนเล็กคนน้อยทั้งสองกระแสล้วนเป็นส่วนหนึ่งของพลังประชาธิปไตย และไม่จำเป็นต้องขัดแย้งกัน เนื่องจากจุดร่วมของทั้งสองฝ่ายคือ ไม่ต้องการระบอบอำนาจนิยม และต่างฝันถึงอิสรภาพ ความเป็นธรรมที่ตัวเองพึงได้รับ ฝันถึงชีวิตที่ไม่ถูกละเมิดล่วงเกิน
อย่างไรก็ตาม เราคงต้องยอมรับว่า ความตื่นตัวของชนชั้นกลางใหม่ในชนบทนั้น แม้จะสำคัญมากสำหรับการขยายตัวของประชาธิปไตย แต่ก็ไม่เพียงพอขับประชาธิปไตยไปสู่ขั้นตอนใหม่ หากไม่มีปรากฏการอีกอย่างเกิดขึ้นในเวลาที่ประจวบเหมาะกันคือ การเกิดขึ้นของกลุ่มทุนใหม่ที่เติบใหญ่อย่างรวดเร็วในยุคโลกาภิวัตน์ ชนชั้นของกลุ่มทุนนี้ก็มีปัญหาคล้ายชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดที่คิดว่าตนเองต้องการพื้นที่ทางการเมืองที่ควรได้รับ และหนทางที่พวกเขาจะเข้าไปแทนที่ชนชั้นนำเก่าในศูนย์อำนาจก็ต้องอาศัยเวทีประชาธิปไตยด้วย เมื่อสภาพเป็นเช่นนี้ จุดหมายของ 2 ฝ่ายจึงมาบรรจบกัน และกำลังทางสังคมของทั้ง 2 ส่วนที่โดยพื้นฐานแล้วต่างกัน ก็ได้กลายมาเป็นหุ้นส่วนทางการเมืองที่เหลือเชื่อในกระบวนการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งได้ขึ้นคุมอำนาจและจัดการระบบเศรษฐกิจโดยรวม ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งได้รับนโยบายที่ตอบสนองปัญหาของตน ไม่ว่าการกำหนดราคาผลผลิตการเกษตร การเข้าถึงเงินทุน การแก้ไขปัญหาหนี้สิน การเข้าถึงสวัสดิการ ฯ พูดตามความจริง ปรารถนาที่จะเห็นประชาธิปไตยกินได้ไม่ใช่ความฝันใหม่แต่อย่างใด มันมีมาตั้งแต่การต่อสู้ 14 ตุลาคม เมื่อนักศึกษาปัญญาชนผนึกกำลังกรรมกรชาวนาเรียกหาค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมและที่ดินสำหรับผู้หว่านไถ แต่ทั้งหมดนี้ต้องถือเป็นเรื่องใหม่ในระบบรัฐสภาไทย เพราะเป็นครั้งแรกที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีอำนาจต่อรองจริง และนโยบายพรรคการเมืองเป็นสิ่งจับต้องได้ เกิดผลเป็นรูปธรรมแทนสัญญาลมๆ แล้งๆ เหมือนที่ผ่านมา
แน่ล่ะ คนอยู่บนเวทีอำนาจมือไม้ย่อมต้องเปรอะเปื้อน และผู้นำรัฐบาลที่เป็นทางเลือกของชนชั้นกลางใหม่ก็มีข้อผิดพลาดใหญ่อยู่หลายประการ แต่สิ่งนี้ไม่อาจลบล้างความจริงที่ว่า โดยสาระใจกลางแล้วการเมืองเป็นเรื่องนโยบาย และตราบใดที่รัฐบาลมีนโยบายทีเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ ประเด็นอื่นถ้าไม่คอขาดบาดตายต้องนับเป็นเรื่องรอง ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบอบการเมือง แม้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งมีความผิดร้ายแรง แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตย และปัญหาก็ยังคงต้องแก้ไขด้วยวิธีการประชาธิปไตย
แต่ก็อีกนั่นแหละ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองย่อมก่อให้เกิดสถานการณ์ที่มีผู้ได้และเสียประโยชน์ ดังนั้นภายในเวลาไม่กี่ปี่หลัง 2540 สถานการณ์ได้บ่มเพาะความขัดแย้งอย่างคาดไม่ถึง และในที่สุดก็นำไปสู่รัฐประหาร 2549 นับเป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งด้วยวิธีการนอกระบบ และไม่ว่าเหตุผลจะเขียนไว้เช่นใด เจตจำนงสูงสุดได้ปรากฏในภายหลังว่า มันคือความพยายามพาประเทศไทยกลับไปสู่ระบบรัฐสภาก่อน 2540 ซึ่งมีองค์ประกอบของอำนาจนิยมผสมบางส่วน และมีข้อกำหนดหลายอย่างที่สกัดการเติบโตของนักการเมืองและพรรคการเมือง
ถามว่าทำไมเหตุการณ์เช่นนี้ยังเกิดขึ้นอีกแม้สังคมจะเปลี่ยนไปมากแล้ว สังคมไทยก็เปลี่ยนมากเช่นกัน ทำไมเรายังต้องพบกับวิธีการเปลี่ยนรัฐบาลที่ถอยหลังเข้าคลองขนาดนั้นอีก แน่นอน ความผิดพลาดของผู้นำรัฐบาลนั้นมีอยู่จริงและสร้างความไม่พอใจให้คนจำนวนไม่น้อย แต่ในความคิดของผม ความขัดแย้งหลักคือความขัดแย้งของชนชั้นนำเก่าที่สูญเสียฐานะการนำ กับชนชั้นนำใหม่ที่ขึ้นกุมอำนาจด้วยวิธีการต่างจากเดิม ความขัดแย้งดังกล่าวถูกทำให้แหลมคมขึ้นด้วยบรรยากาศความไม่พอใจรัฐบาลของกลุ่มทุนเก่าตลอดจนคนในเมืองหลวงที่หวั่นไหวกับความเปลี่ยนแปลงโดยกลุ่มทุนใหม่ และไม่คงเส้นคงวาทางประชาธิปไตย การก่อรัฐประหารครั้งนั้นจึงมีเงื่อนไขทางสังคมรองรับ
อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดใหญ่หลวงของรัฐประหาร 2549 มิได้เป็นเรื่องของหลักการเท่านั้น หากยังเป็นเรื่องการประเมินกำลังของคู่ต่อสู้ด้วย พวกเขามองข้ามการมีอยู่ของมวลชนมหาศาลที่ประกอบเป็นชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดและชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างในเมือง มองไม่เห็นการมีอยู่ของปัญญาชนและชนชั้นกลางเก่าบางส่วนที่ผูกพันและหวงแหนระบอบประชาธิปไตย มองไม่เห็นศักยภาพของการตอบโต้ของชนชั้นนำใหม่ที่โตมากับทุนนิยมโลกาภิวัตน์ เรื่องจึงไม่จบลงง่ายๆ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 50 ความขัดแย้งที่ตามมากลับยิ่งรุนแรงและซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ความขัดแย้งเรื่องประชาธิปไตยได้ลุกลามสู่ระดับมวลชนและหมิ่นเหม่ต่อการก่อรูปเป็นสงครามกลางเมือง
มิตรสหายทั้งหลาย พี่น้องทั้งหลาย ผมทราบดีว่าเรื่องราวข้างต้นแทบจะเป็นการเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน ทุกท่านก็คงจะทราบดีอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย กระนั้นก็ตาม ผมจำเป็นต้องเอ่ยถึงสภาพดังกล่าวเพื่อบอกพวกท่านว่าผมยืนตรงไหนและคิดอย่างไร
ในการพิจารณาเหตุการณ์ที่เกิดในบ้านเรา ท่านจะสังเกตว่าผมจงใจหลีกเลี่ยงไม่เอ่ยชื่อ บุคคล องค์กร ตัวละครใดๆ ออกมาอย่างชัดเจน เนื่องจากอยากให้ชวนท่านมามองปัญหาประชาธิปไตยในระดับโครงสร้างและเงื่อนไขแวดล้อมทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงสร้างทางชนชั้นที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็วและมีส่วนอย่างสูงในการกำหนดสถานการณ์ทางการเมือง
ทุกวันนี้คนไทยในยุคโลกาภิวัตน์ไม่ใช่ราษฎรก้อนเดียวที่หน้าตาเหมือนกันหมดอีกต่อไป หากแยกเป็นหลายชนชั้นและชั้นชน นอกจากนี้ภายในชนชั้นเดียวกันยังแบ่งเป็นหลายหมู่เหล่าอันนำมาซึ่งความหลากหลายของผลประโยชน์ ความแตกต่างทางความคิด สภาวะทางจิต และวิถีชีวิตดำเนิน สภาพดังกล่าวคือความจริงทางภววิสัย ดังนั้นใครก็ตามต้องการมีบทบาทนำในการเปลี่ยนแปลงคมจึงต้องนำมันมาพิจารณาประกอบยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของตน เรื่องนี้หากมองข้ามไม่ใส่ใจอาจเสี่ยงต่อการจ่ายราคาที่แสนแพง
จริงอยู่ ปรากฏการณ์ทางสังคมนั้นมักอยู่เหนือการควบคุมและการเคลื่อนไหวของมวลชนอาจเกิดขึ้นเอง เป็นไปเอง ไม่จำเป็นต้องมีเจ้าภาพกำกับดูแลเสมอไป แต่ถ้าโยงเรื่องนี้กลับมายังประเด็นการสืบทอดเจตนารมณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่เป็นตัวเป็นตน สิ่งที่ต้องนำมาครุ่นคิด ย่อมไม่ใช่การเชิดชูอุดมคติอย่างเดียว หากยังมีวิธีการขับเคลื่อนประชาธิปไตยให้เติบใหญ่มั่นคงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
(มีต่อ)