14 ก.ย. 2558 เมื่อเวลาประมาณ 13.30 น. เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม และโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) แถลงข่าวกรณีเหมืองทองคำจังหวัดเลยขู่ฟ้องนักเรียน ม.4 และคณะผู้จัด ‘ค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ ตอน นักสืบลำน้ำฮวยแท้ๆ แน๊ว’ จากการรายงานข่าว ‘นักข่าวพลเมือง: ค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ’ ออกอากาศเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2558 ทางช่องไทยพีบีเอส
รายงานข่าวก่อนหน้านี้ระบุว่า เจ้าหน้าที่จากเหมืองทองคำและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เรียกนักเรียนชั้น ม.4และพ่อแม่ให้ไปพบเพื่อพูดคุย และระบุให้ไปแจ้งความกับตำรวจไว้ว่ามีผู้บอกบทให้พูดกล่าวโทษการทำเหมืองทองคำที่เป็นต้นเหตุให้เกิดมลพิษในลำน้ำฮวยเพื่อจะได้กันไว้เป็นพยาน และจะทำการฟ้องคดีแก่คณะผู้จัดค่ายฯ ทั้งหมดที่มีรูปปรากฏอยู่ในรายการนักข่าวพลเมืองในฐานะที่เป็นผู้อยู่เบื้องหลัง รวมทั้งจะฟ้องต่อสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสด้วย
ตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมร่วมกันอ่านแถลงการณ์ “หยุดทำลายเสรีภาพ หยุดปิดกั้นการเรียนรู้เยาวชน” ระบุว่า ค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ “ตอน นักสืบลำน้ำฮวย แท้ๆ แน๊ว” ที่จัดขึ้น ณ วัดโนนสว่าง บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ระหว่างวันที่ 28 – 30 ส.ค. 2558 เป็นค่ายที่ให้เยาวชนในพื้นที่เรียนรู้ประเด็นสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และภูมิปัญญา ในพื้นที่ 6 หมู่บ้านรอบลำน้ำฮวย เพื่อให้เยาวชนรู้จักตัวตน รู้จักชุมชน และเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับตนเอง เชื่อมโยงเยาวชนกับผู้ใหญ่ในพื้นที่
แต่การดำเนินงานที่ผ่านมาคณะผู้จัดค่ายต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทหารและหน่วยงานรัฐ ตลอดเวลาที่ดินเนินงาน อาทิ การพยายามสร้างเรื่องเชื่อมโยงค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของเข้ากับสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเหมืองทองในพื้นที่ เป็นการบิดเบือนวัตถุประสงค์ของการจัดค่าย การกดดันให้ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยผุกกลับคำอนุญาตใช้สถานที่ การโทรศัพท์ไปกดดันให้ท่านเจ้าอาวาสวัดโนนสว่าง ไม่ให้คณะผู้จัดฯ ใช้สถานที่ของวัด และโทรศัพท์ไปหาชาวบ้านเรื่องไม่อนุญาตให้มีการจัดค่ายในครั้งนี้ หากจะจัดต้องทำหนังสือขออนุญาต อีกทั้งผู้ใหญ่บ้านภูทับฟ้าได้ประกาศเสียงตามสายไม่ให้เยาวชนไปร่วมค่าย
จนกระทั่งสถานการณ์ล่าสุดที่ผู้ใหญ่บ้านภูทับฟ้าและชายผู้อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่เหมืองแร่ทองคำได้เข้ามาพูดคุยในลักษณะของการข่มขู่ น.ส.วันเพ็ญ คุนนา นักเรียนชั้น ม.4 หนึ่งในผู้เข้าร่วมค่าย
“เหตุการณ์ในครั้งนี้ คณะผู้จัดค่ายตั้งคำถามกับสังคมไทยว่า หากการจัดค่ายเยาวชน ที่มีเจตนาและวัตถุประสงค์ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาเยาวชน ให้รักถิ่นฐานบ้านเกิด กลับถูกคุกคาม คัดค้าน โดยผู้มีอำนาจ แล้วสังคมไทยจะหลงเหลือเสรีภาพให้ทำอะไรอย่างอื่นอีกได้บ้าง” ตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมระบุ
นอกจากนั้น คณะผู้จัดค่ายแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้ 1.หยุดคุกคาม ข่มขู่หรือกระทำการใดๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดความหวาดกลัวของเยาวชน ครอบครัว และประชาชนในพื้นที่ 2.เจ้าหน้าที่รัฐต้องเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่ถูกรับรองโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้
3.ทางคณะผู้จัดค่ายฯ ขอยืนยันว่า จะจัดกิจกรรมต่อเนื่องต่อไปตามแผนการเรียนรู้ที่ได้ออกแบบไว้กับเยาวชน และ 4.เหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการจัดค่ายเยาวชนฯ ครั้งนี้ ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของทางคณะผู้จัดในนามของเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมเท่านั้น
“พวกเราในนามเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ขอเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในสังคมได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้การใช้อำนาจ กฎหมาย มาข่มขู่ คุกคาม และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน ประชาชนในพื้นที่เกิดขึ้นอย่างนี้อีกต่อไปไม่ว่าที่ไหนก็ตาม” ตัวแทนเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมกล่าว
ด้าน ศักดิ์สินี เอมะศิริ ผู้ประสานงานทีมข้อมูลและสื่อ กล่าวว่า การผลิตสื่อเป็นเป้าหมายหนึ่งของการเรียนรู้เรื่องการสื่อสารในค่าย และยืนยันว่าเนื้อหาที่ได้มีการสื่อสารออกไปไม่ได้เป็นการบิดเบือน แต่เป็นข้อมูลที่เยาวชนและคนในชุมชนรับรู้อยู่แล้ว ตรงนี้เป็นการแสดงเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกในสิ่งที่ชาวบ้านมีส่วนได้ส่วนเสียและกระทบต่อความเป็นอยู่ อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หากมีใครที่เห็นว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงก็ขอให้มีการชี้แจงและแสดงหลักฐานต่อสาธารณะ
ส่วนดาวัลย์ จันทรหัสดี เจ้าหน้าที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า เป็นสิทธิของชาวบ้านที่จะเฝ้าระวังและเรียนรู้ผลกระทบต่อโครงการต่างๆ ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และประเทศชาติจะได้หรือเสียจากโครงการนั้นๆ ในส่วนของเด็กๆ เองก็ควรมีสิทธิที่จะได้รับการฝึกฝนตนเองเพื่อที่จะเฝ้าระวังสุขภาพ วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่
“ทุกคนมีสิทธิที่จะเฝ้าระวังผลกระทบ เป็นสิทธิของมนุษย์ที่จะอยู่อย่างปลอดภัย ทั้งต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต” ดาวัลย์กล่าว
แถลงการณ์เครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม จากเหตุการณ์ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 ก.ย. 2558 มีชายอ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่เหมืองแร่ทองคำพร้อมด้วยผู้ใหญ่บ้านภูทับฟ้าได้เข้ามาพูดคุยในลักษณะของการข่มขู่ น.ส.วันเพ็ญ คุนนา กรณีรายงานข่าวผ่านรายการนักข่าวพลเมืองถึงผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำสู่ลำน้ำฮวย ในนามเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ผู้จัดค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ “ตอน นักสืบลำน้ำฮวย แท้ๆ แน๊ว” ที่จัดขึ้น ณ วัดโนนสว่าง บ้านนาหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย ระหว่างวันที่ 28 – 30 ส.ค. 2558 ซึ่งเป็นค่ายที่ให้เยาวชนในพื้นที่เรียนรู้ประเด็น สภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และภูมิปัญญา ในพื้นที่ 6 หมู่บ้านรอบลำน้ำฮวย เพื่อให้เยาวชนรู้จักตัวตน รู้จักชุมชน และเห็นความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งแวดล้อมกับตนเอง เชื่อมโยงเยาวชนกับผู้ใหญ่ในพื้นที่ การดำเนินงานที่ผ่านมาคณะผู้จัดค่ายต้องเผชิญกับแรงกดดันจากทหารและหน่วยงานรัฐ ตลอดช่วงระยะเวลาที่ดำเนินงาน อาทิ 1.การพยายามสร้างเรื่องเชื่อมโยงค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของเข้ากับสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งเรื่องเหมืองทองในพื้นที่ เป็นการบิดเบือนวัตถุประสงค์ของการจัดค่าย จึงทำให้ผู้ใหญ่บ้านไม่อนุญาตให้ทางคณะผู้จัดเข้าไปจัดค่ายในพื้นที่และผู้ปกครองบางส่วนไม่อนุญาตให้เยาวชนเข้าร่วมกิจกรรม 2.การกดดันให้ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยผุก กลับคำอนุญาตใช้สถานที่ของโรงเรียน ในกำหนดการจัดค่ายครั้งแรก ผู้ใหญ่บ้านภูทับฟ้า ได้นำทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมาเชิญผู้จัดไปชี้แจงกับนายทหารในค่ายศรีสองรัก จนทำให้ค่ายเยาวชนฯ ต้องเลื่อนออกไปโดยอ้างเรื่องความมั่นคงในพื้นที่ 3.และการจัดค่ายเยาวชนฮักบ้านเจ้าของ เมื่อวันที่ 28-30 ส.ค. ที่ผ่านมา มีความพยายามของผู้ใหญ่บ้านภูทับฟ้า และนายทหารที่รับผิดชอบในพื้นที่ที่ไม่อยากให้ค่ายเยาวชนฯ นี้เกิดขึ้น โดยการโทรศัพท์ไปกดดันให้ท่านเจ้าอาวาส วัดโนนสว่าง ไม่ให้คณะผู้จัดฯ ใช้สถานที่ของวัด และยังโทรศัพท์ไปหาชาวบ้านเรื่องไม่อนุญาตให้คณะผู้จัดฯ จัดค่ายในครั้งนี้ หากจะจัดต้องทำหนังสือขออนุญาต อีกทั้งผู้ใหญ่บ้านภูทับฟ้าได้ประกาศเสียงตามสายว่าไม่ให้เยาวชนไปร่วมค่าย สถานการณ์เหล่านี้ เป็นเพียงสถานการณ์บางส่วนที่คณะผู้จัดค่ายต้องเผชิญและแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งสถานการณ์ล่าสุดที่ผู้ใหญ่บ้านภูทับฟ้าและชายผู้อ้างตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่เหมืองแร่ทองคำได้เข้ามาพูดคุยในลักษณะของการข่มขู่ น.ส.วันเพ็ญ คุนนา นักเรียนชั้น ม.4 หนึ่งในผู้เข้าร่วมค่าย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คณะผู้จัดค่ายเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องและชอบธรรม การใช้คำพูดข่มขู่ ฉกฉวยโอกาสเอาเปรียบจากการไม่รู้กฎหมายของชาวบ้าน และให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในพื้นที่ ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน เหตุการณ์ในครั้งนี้ คณะผู้จัดค่ายตั้งคำถามกับสังคมไทยว่า หากการจัดค่ายเยาวชน ที่มีเจตนาและวัตถุประสงค์ในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ การพัฒนาเยาวชน ให้รักถิ่นฐานบ้านเกิด กลับถูกคุกคาม คัดค้าน โดยผู้มีอำนาจ แล้วสังคมไทยจะหลงเหลือเสรีภาพให้ทำอะไรอย่างอื่นอีกได้บ้าง สุดท้ายนี้คณะผู้จัดค่ายจึงอยากจะขอแสดงจุดยืนของพวกเราที่มีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้ 1.หยุดคุกคาม ข่มขู่หรือกระทำการใดๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดความหวาดกลัวของเยาวชน ครอบครัว และประชาชนในพื้นที่ 2.เจ้าหน้าที่รัฐต้องเคารพสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ที่ถูกรับรองโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้ 3.ทางคณะผู้จัดค่ายฯ ขอยืนยันว่า จะจัดกิจกรรมต่อเนื่องต่อไปตามแผนการเรียนรู้ที่ได้ออกแบบไว้กับเยาวชน โดยมีเจตนารมณ์เพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในพื้นที่ในด้านต่างๆ และที่สำคัญให้พวกเขาเข้าใจรากเหง้า ภูมิปัญหา คุณค่า และรู้รักษาบ้านเกิดของตนเอง 4.เหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการจัดค่ายเยาวชนฯ ครั้งนี้ ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของทางคณะผู้จัดในนามของเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมเท่านั้น สุดท้ายนี้ เราเชื่อว่าค่ายเด็กและเยาวชนเป็นกระบวนการเรียนรู้บนฐานชุมชนที่สำคัญ ยิ่งเป็นพื้นที่ปัญหากระบวนการจัดการเรียนรู้เช่นนี้ยิ่งมีความจำเป็น ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ปลุกสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อหาหนทางจัดการความขัดแย้งด้วยความรัก ความรู้ และความเข้าใจอย่างสันติร่วมกัน พวกเราในนามเครือข่ายคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม ขอเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ในสังคมได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้การใช้อำนาจ กฎหมาย มาข่มขู่ คุกคาม และปิดกั้นสิทธิเสรีภาพการเรียนรู้ของเด็ก เยาวชน ประชาชนในพื้นที่เกิดขึ้นอย่างนี้อีกต่อไปไม่ว่าที่ไหนก็ตาม “พื้นที่คนรุ่นใหม่ พื้นที่เสรีภาพ” |