หยุดรักเจ้าหนูอะตอมไม่ (ให้) ได้

หยุดรักเจ้าหนูอะตอมไม่ (ให้) ได้

8 atom

แปลและเรียบเรียง: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

หนังสือการ์ตูนช่วยเพิ่มเชื้อไฟให้คนญี่ปุ่นรัก เจ้าหนูปรมาณู (Astro Boy) ได้อย่างไรกัน

หากคุณกำลังขุดคุ้ยเอกสารทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับจุดยืนของญี่ปุ่นในการใช้พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ช่วงยุค 1970 คงจะเป็นการดีถ้าได้ล้วงลึกไปถึงเอกสารทางการเมือง งานวิจัย หรือคลังจดหมายเหตุต่างๆ

แต่ยังมีอีกวิธีที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คุณสามารถเดินทางข้ามเวลาไปเยี่ยมร้านหนังสือการ์ตูน (manga) ที่ฝั่ง ทะมะหรือฝั่งตะวันตกของโตเกียว (Western Tokyo) แล้วหยิบการ์ตูนวินเทจสัก 2 เล่มที่มีชื่อว่า Atom Goes to the Jungle และ The Jungle Sings Again ออกจากชั้นมาลองพลิกดู

อะตอม (Mighty Atom) หรือที่เราคุ้นเคยกันดีในอีกชื่อคือ เจ้าหนูปรมาณู (Astro Boy) เป็นผลงานของนักเขียนการ์ตูนชื่อดังชาวญี่ปุ่น เทะซึกะ โอซามุ (Tezuka Osamu) เล่าเรื่องราวของหุ่นยนต์เด็กชายที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อทดแทนการเสียชีวิตของลูกชายด๊อกเตอร์เทนมะ (Doctor Tenma)

เจ้าหนูอะตอมเป็นหุ่นยนต์จอมพลัง ถูกวาดด้วยลายเส้นสวยงาม และเป็นการ์ตูนที่เสียดสีสังคมได้อย่างขื่นขมไปในเวลาเดียวกัน

Atom Goes to the Jungle มีเนื้อหาทำนองว่า ในป่าแสนไกลโพ้น เหล่าสัตว์ต่างๆ กำลังวิตกกังวลว่าธรรมชาติกำลังจะทอดทิ้งพวกเขา เพราะสภาพอากาศเริ่มหนาวเย็นขึ้นเรื่อยๆ พืชและต้นไม้พากันเหี่ยวเฉาตาย สัตว์ทั้งหลายก็หิวโหย

พวกเขาเลยร้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหนูปรมาณู เริ่มถกเถียงกันอย่างจริงจังว่าพวกเขาจะใช้ไฟฟ้าพลังน้ำ(hydropower) เพื่อเพิ่มความร้อนไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะแหล่งน้ำกลายเป็นน้ำแข็งหมด น้ำมันก็กำลังหมดลงในไม่ช้าเช่นกัน

ทางเลือกเดียวที่มีคือการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เจ้าหนูอะตอมเหาะมาไกลจากญี่ปุ่นสู่ผืนป่า แล้วพวกเขาก็รวมพลังกันสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันยกใหญ่ แม้แต่เจ้าไฮยีนาก็ยังออกปากขอช่วยอีกแรง เจ้าหนูตัวเล็กๆ กุลีกุจอช่วยกันกางพิมพ์เขียว พวกเขาวุ่นวายกันเพื่อความหวังเดียว พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์

ในไม่ช้าพวกเขาก็แก้ปัญหาสภาพอากาศวิกฤตได้อย่างสดใสและปลอดภัย แถมยังต่อยอดด้วยการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ประดิษฐ์ (artificial sun) เพื่อช่วยการเจริญเติบโตของต้นไม้ และให้วิตามิน D ในปริมาณที่พอเหมาะอีกด้วย

เทะซึกะ โอซามุมักยืนยันเสมอว่าเขาไม่เคยมีแนวคิดที่จะชักจูงเด็กๆ ให้เห็นดีเห็นงามกับอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น และไม่ตั้งใจเชื่อมโยงเรื่องพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์กับป่าด้วย

อย่างไรก็ตาม การ์ตูนเจ้าหนูอะตอมได้รับการผลิตเป็นแผ่นพับเพื่อแจกให้แก่เด็กๆ ที่ไปทัศนศึกษาที่โรงงานไฟฟ้า เนื้อหาในแผ่นพับสื่อสารผ่านลายเส้นและตัวการ์ตูนที่น่ารักว่า พลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ปลอดภัย

ส่วนเจ้าหนูปรมาณูตอน Jungle Sings Again ก็เริ่มจากการสงสัยว่าพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ปลอดภัยจริงหรือไม่ ก่อนได้รับการพิสูจน์ว่าปลอดภัยจริง

8 atom1

เหล่าสัตว์อีกกลุ่มหนึ่งที่ทรมานกับสภาพอากาศที่คล้ายคลึงกันเดินทางมาญี่ปุ่นเพื่อศึกษาที่มหาวิทยาลัยพลังงานนิวเคลียร์ หลังจากเรียนจบ พวกเขาเฉลิมฉลอง และกลับไปบ้านเพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

เจ้าหนูอะตอมถึงขั้นการันตีว่ามันปลอดภัยมาก ขนาดที่ว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหว โรงไฟฟ้าก็ยังอยู่รอดปลอดภัย

ในที่สุดเหตุการณ์แผ่นดินไหวก็เกิดขึ้นตามเวลาที่คาดการณ์ไว้ ก่อให้เกิดสึนามิขนาดย่อม ฝูงสัตว์จำนวนหนึ่งหนีไปเพราะหวาดผวากับผืนดินที่สั่นไหวและต้นไม้ที่โค่นล้ม สุดท้ายพวกเขากลับมาหาสิงโตเจ้าป่าที่ยังยืนหยัดอยู่ที่บ้าน สิงโตต้อนรับพวกเขาหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ไม่ได้รับความเสียหายอะไรเลย เหล่าสัตว์ถึงได้มั่นใจว่าสิ่งที่เจ้าหนูอะตอมยืนยันนั้นถูกต้องมาตลอด พวกเขาเอ่ยคำขอบคุณกับเจ้าหนูอะตอมกันให้แซ่ซ้อง

แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เทคโนโลยีด้านพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นยังอยู่ในขั้นที่ห่างไกลกับความสมบูรณ์แบบในหนังสือการ์ตูนอย่างมาก

เพราะเมื่อปี 2554 เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิโจมตีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ (Fukushima Daichi) ทำให้โรงไฟฟ้าระเบิด แกนเตาปฏิกรณ์ละลาย และสุดท้ายโลกที่อ่อนไหวของเราก็ได้พบพานกับมหันตภัยระเบิดนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ภัยพิบัติการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล (Chernobyl)

อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่พยายามป้อนคำหวานนิทานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์กู้โลก จริงๆ แล้วก็หลงพอใจกับโรงงานที่มีการควบคุมที่อ่อนเปลี้ย

เจ้าหนูปรมาณูอาจเป็นการ์ตูนที่ดูเกินจริงไปสักหน่อย แต่มันก็สะท้อนได้ดีว่าในรอบหลายสิบปี สังคมญี่ปุ่นถูกชักนำด้วยข้อมูลที่ว่าให้หยุดวิตกกังวลและรักเจ้าหนูอะตอมต่อไป

นิทรรศการ Atoms for Peace ที่เมืองฮิโระชิมะ (Hiroshima) เริ่มจัดในปี 2499 นับเป็นเวลา 11 ปีหลังจากที่เมืองทั้งเมืองถูกกวาดล้างด้วยระเบิดนิวเคลียร์ และนิทรรศการก็ยังดำเนินมาจนกระทั่งญี่ปุ่นมีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์มากกว่า 50 เครื่อง

ภัยพิบัติที่ฟุกุชิมะทำให้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งหมดถูกระงับการใช้งาน แต่ญี่ปุ่นก็กำลังจะรีสตาร์ทอีกครั้ง นับหนึ่งใหม่กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เซ็นได (Sendai nuclear power station)

เมื่อวันเสาร์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับดูแลด้านนิวเคลียร์ (Nuclear Regulation Authority : NRA) ของญี่ปุ่นให้คำยืนยันว่าเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับฟุกุชิมะจะไม่เกิดซ้ำรอยอีกแล้วภายใต้การปฏิบัติการของพวกเขา

แต่ก็น่าคิดว่าความปลอดภัยที่แท้จริงนั้น มีอยู่จริงหรือ

ที่มา+รูป : http://www.aljazeera.com/blogs/asia/2015/08/comic-books-fooled-japan-myth-atomic-safety-150809075202734.html

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ