เขื่อนประเทศไทย ….ไปให้พ้นเลข 7

เขื่อนประเทศไทย ….ไปให้พ้นเลข 7

เขื่อนประเทศไทย ….ไปให้พ้นเลข 7

มนตรี จันทวงศ์ โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง

20 พฤษภาคม 2557

                   เมื่อเกิดแผ่นดินไหวครั้งใด เราก็จะเคยชินกับการรายงานขนาดของความรุนแรงเป็นเท่านั้นหน่วยเท่านี้หน่วย ตามมาตราริคเตอร์ และในทันทีทันควันเช่นกัน หน่วยงานที่เป็นเจ้าของเขื่อนใหญ่ ๆ ทั้งหลายก็พร้อมใจกันออกมาประกาศว่า เขื่อนในความรับผิดชอบนั้นได้ถูกออกแบบให้รับกับแผ่นดินไหวได้ถึง 7 หน่วยตามมาตราริคเตอร์ ดังนั้นเชื่อมั่นว่าเขื่อนทุกเขื่อนมีความแข็งแรงมั่นคงปลอดภัย ฟังดูแล้วมันออกจะง่ายไปหรือเปล่า เพราะโดยปกติการออกแบบสร้างเขื่อน จะออกแบบให้รับกับแรงสั่นสะเทือนสูงสุดที่เดินทางมาบนผิวโลก ที่เดินทางมาถึงตัวเขื่อน[1] ซึ่งเป็นค่าที่คำนวณมาจากสมการที่มีตัวแปรสำคัญ คือ ขนาดของแผ่นดินไหว(หน่วยตามมาตราริคเตอร์), ระยะห่างจากจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหว(กิโลเมตร) และระยะห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว(กิโลเมตร)  โดยแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้ง จะส่งแรงสั่นสะเทือนมากระทำต่อเขื่อน แตกต่างกันไปตาม ขนาด และ ระยะทาง ดังนั้นการออกแบบสร้างเขื่อนให้รับกับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว จึงไม่ได้ผูกติดกับเฉพาะตัวเลข 7 หน่วยตามมาตราริคเตอร์เพียงปัจจัยเดียวเท่านั้น

                    กรณีของเขื่อนแม่สรวย ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ภายหลังเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 หน่วยตามมาตราริคเตอร์ เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 มีศูนย์กลางที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงรายนั้น  เขื่อนแม่สรวยมีระยะห่างจากจุดเหนือศูนย์กลางเป็นระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ต่อมากรมชลประทานได้ยืนยันว่า เขื่อนแม่สรวยถูกออกแบบให้รองรับแผ่นดินไหวได้ถึง 7 หน่วยตามมาตราริคเตอร์  และจากการตรวจสอบเบื้องต้นด้วยสายตา โดยวิศวกรของกรมชลประทาน ยืนยันว่าโครงสร้างเขื่อนยังมั่นคง แข็งแรง ถึงแม้ว่าจะมีรอยแตกด้านข้างของตัวเขื่อน แต่เป็นรอยแตกเดิม และแผ่นดินไหวครั้งนี้ ไม่มีผลต่อรอยแตกเดิม และจะมีการตรวจสอบอย่างละเอียดต่อไป

คำชี้แจงของกรมชลประทานยังไม่สามารถตอบคำถามได้ทั้งหมดว่า เขื่อนแม่สรวยอยู่ในสภาพมั่นคง แข็งแรงสมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็นต์หรือไม่ เพราะเป็นการแถลงที่ยังไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างละเอียด เนื่องจากสภาพของเขื่อนแม่สรวยบางส่วนมีรอยแตกร้าวและเอียงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเกิดขึ้นก่อนที่จะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้เสียอีก  ดังนั้นคำถามเบื้องต้นคือ แรงสั่นสะเทือนที่กระทำต่อตัวเขื่อนมีค่าเป็นเท่าไหร่, เขื่อนถูกออกแบบให้รับกับแรงสั่นสะเทือนได้สูงสุดเท่าไหร่, การติดตามความมั่นคงปลอดภัยของเขื่อนแม่สรวยมีการดำเนินการอย่างไร  และรอยแตกร้าวที่มีปรากฏเดิมเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะสร้างความเสียหายอย่างไรต่อโครงสร้างของเขื่อนแม่สรวยในระยะยาว

                   คำถามแรกที่ว่า แรงสั่นสะเทือนหรืออัตราเร่งบนพื้นผิวโลก ที่มากระทำต่อเขื่อนมีค่าเป็นเท่าไหร่นั้น  จากข้อมูลแผ่นดินไหวระหว่างวันที่ 5 – 11 พฤษภาคม 2557 และเกิดอาฟเตอร์ช็อค (After shock) ที่มีความรุนแรงมากกว่า 5 หน่วยตามมาตราริคเตอร์ อีกหลายครั้งในเขตอำเภอแม่สรวย โดยการเกิดแผ่นดินไหวครั้งแรกขนาด 6.3 หน่วยตามมาตราริคเตอร์นั้น มีระยะห่างจากจุดเหนือศูนย์กลางประมาณ 16 กิโลเมตร และอาฟเตอร์ช็อคที่มีขนาดมากกว่า 5 หน่วยตามมาตราริคเตอร์อีก 3 ครั้ง (รายละเอียดตามตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 ระยะห่างจากจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวถึงเขื่อนแม่สรวย

วันที่

 

 

(พค. 2557)

เวลา

 

 

 

ละติจูด

 

 

(เหนือ)

ลองติจูด

 

 

(ตะวันออก)

ขนาด

 

(หน่วยตามมาตราริคเตอร์)

ความลึก

 

 

(กิโลเมตร)

ศูนย์กลาง

 

 

(จ.เชียงราย)

ระยะจากจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหว ถึง

เขื่อนแม่สรวย (กิโลเมตร)*

5

18:08:42

19.685

99.687

6.3

7

อ.พาน

16

5**

19:06:19

19.7

99.62

5.1

5

อ.แม่สรวย

9

6**

6:04:55

19.7

99.62

5.2

7

อ.แม่สรวย

9

6**

7:58:19

19.7

99.53

5.6

2

อ.แม่สรวย

2.25

หมายเหตุ

ที่มา: http://www.seismology.tmd.go.th/inside_2excel.php?begin=2014-05-04 17:00:00&end=2014-05-11 16:59:59

* การคำนวณระยะทางโดยโปรแกรม Google map, ** After shock

ในการคำนวณหาค่าอัตราเร่งบนพื้นผิวโลกนั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ ได้ศึกษาและประมาณค่าอัตราเร่งบนพื้นผิวโลกไว้ โดยในรัศมีจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวระยะทาง 25 กิโลเมตร จะมีค่าอัตราเร่งบนพื้นผิวโลก เท่ากับ 0.11 g (รายละเอียดตามตารางที่ 2)

ตารางที่ 2 เปรียบเทียบระหว่างระยะทางจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวกับค่าอัตราเร่งบนพื้นผิวโลก

ระยะทางจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว (กิโลเมตร)

ค่าอัตราเร่งบนพื้นผิวโลก (g)

10

0.27

25

0.11

50

0.04

100

0.01

ที่มา: หน่วยวิจัยธรณีวิศวกรรมแผ่นดินไหว ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมและฐานราก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ http://www.gerd.eng.ku.ac.th/News/2014_May/EQ_Thailand_6.3M.pdf

                   โดยสรุปนั้น แรงสั่นสะเทือนที่มีค่าเป็นอัตราเร่งบนผิวโลก ที่เขื่อนแม่สรวยมีค่าเท่ากับ 0.11 g อย่างไรก็ตามปัจจุบันกรมชลประทานได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดค่าความเร่ง (Accelerograph) ที่เขื่อนแม่สรวย ซึ่งสามารถวัดขนาดของแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวที่มาถึงตัวเขื่อนได้ อุปกรณ์ดังกล่าวมีการตรวจวัดและแสดงผลแบบทันที (real time) แต่จนถึงวันนี้กรมชลประทานก็มิได้แสดงผลการตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนต่อสาธารณะ[2] โดยเฉพาะกับชุมชนที่อยู่ท้ายเขื่อนเพื่อสร้างความมั่นใจแต่ประการใด

คำถามที่สอง เขื่อนแม่สรวยถูกออกแบบให้รับกับแรงสั่นสะเทือนได้สูงสุดเท่าไหร่  ในประเด็นนี้กรมชลประทานเองก็ควรแถลงให้ชัดเจน เนื่องจากเขื่อนแม่สรวยมีโครงสร้างทั้งที่เป็นเขื่อนดิน, ตัวเขื่อนคอนกรีตบดอัด และสันเขื่อนคอนกรีตบดอัด ซึ่งมีการออกแบบให้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวสูงสุดได้ไม่เท่ากัน โดยดูได้จากรายงานฉบับสุดท้าย รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สรวย[3] ได้ระบุการออกแบบค่าความเร่งเพื่อรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ในส่วนของการวิเคราะห์เสถียรภาพของตัวเขื่อนคอนกรีตบดอัด (Central RCC Block) และเขื่อนดิน (Embankment) ใช้ค่าความเร่งสูงสุดของการสั่นสะเทือนเท่ากับ 0.1 g (หน้า 3 – 162) และในส่วนของการวิเคราะห์เสถียรภาพของสันเขื่อนคอนกรีตบดอัด (RCC Crest Structures) ใช้ค่าความเร่งสูงสุดของการสั่นสะเทือนเท่ากับ 0.2 g (หน้า 3 – 162) ดังนั้นจึงอาจสรุปในเบื้องต้นได้ว่าเขื่อนแม่สรวย มีการออกแบบให้รับแรงสั่นสะเทือนที่มีความเร่ง 0.1 – 0.2 g

คำถามที่สาม กรมชลประทานได้ดำเนินการตรวจสภาพความปลอดภัยของเขื่อนอย่างไร คำถามนี้ยังคงต้องการคำอธิบายอย่างชัดเจนเช่นกัน เพื่อให้ชุมชนที่อยู่ท้ายน้ำได้มีความมั่นใจในมาตรการตรวจสอบเขื่อนแม่สรวยของกรมชลประทาน เช่น กรมชลประทานควรมีการรายงานการทำงานของอุปกรณ์ ตรวจสอบพฤติกรรมเขื่อนแบบ ประชาชนสามารถเข้าถึงได้แบบ real time ที่ระบุไว้ในรายงานฉบับสุดท้าย รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำแม่สรวย โดยระบุการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมเขื่อน โดยอ้างอิงจากแบบก่อสร้างเขื่อน ซึ่งได้แสดงไว้ในตารางที่ 3 โดยกรมชลประทานสามารถสร้างเครือข่ายการตรวจสอบข้อมูลจากอุปกรณ์ต่าง ๆ นี้ร่วมกันกับชุมชนที่อยู่ท้ายน้ำได้

ตารางที่ 3 การติดตั้งอุปกรณ์เพื่อติดตามตรวจสอบพฤติกรรมเขื่อนแม่สรวย

อุปกรณ์ที่ติดตั้ง (ตามแบบก่อสร้าง)

วัตถุประสงค์ของการติดตั้งอุปกรณ์

จำนวน

เครื่องวัดแรงดันน้ำ (Piezometer)

เพื่อตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำและวัดแรงดันน้ำยกตัว (Uplift Pressure) ใต้เขื่อนคอนกรีตบดอัด และเพื่อวัดแรงดันน้ำในหลุมที่เจาะระบายน้ำ (Deainage Holes) บริเวณด้านเหนือน้ำ (Heel) ของเขื่อนคอนกรีตบดอัด

16

เครื่องวัดแรงดันน้ำ (Piezometer)

เพื่อตรวจสอบการรั่วซึมของน้ำผ่านตัวทำนบดินและใตเขื่อนดินทั้งสองข้าง และหลุมเจาะสังเกตการณ์ (Observation wells) บริเวณท้ายเขื่อนดิน (Downstream Toe)

49

Seepage Flow Meter Chamber

วัดแรงดันน้ำและอัตราการรั่วซึมของน้ำผ่านตัวทำนบดินและมวลหินฐานราก

2

Relief Well

หลุมเจาะเพื่อระบายแรงดันน้ำที่อาจเพิ่มขึ้น ในกรณีที่มีการเพิ่มหรือลดระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนอย่างรวดเร็ว

10

Pore Pressure Cell

วัดแรงดันน้ำในมวลหินฐานราก

4

Joint meter

เครื่องวัดการเคลื่อนตัวของเขื่อนคอนกรีตบดอัด

6

Pendulum Equipment

วัดการทรุดตัวของฐานราก บริเวณใต้เขื่อนคอนกรีตบดอัด

2

Thermocouples

วัดอุณหภูมิของตัวเขื่อนคอนกรีต

17

Surface Monument

วัดการทรุดตัวของทำนบดิน

26

Inclinometer

วัดการเคลื่อนตัวของทำนบดิน

4

 

สรุป

เขื่อนแม่สรวยซึ่งตั้งอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 16 กิโลเมตร จึงได้รับแรงกระทำจากแผ่นดินไหวในระดับ 0.11 g ในการเกิดครั้งแรก ซึ่งเป็นการรับแรงสั่นสะเทือนของเขื่อนที่ออกแบบไว้สูงสุดต่อตัวเขื่อนคอนกรีตบดอัดและเขื่อนดิน จากนั้นยังได้รับแรงกระทำในระดับสูงต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 3 ครั้งในวันที่ 5 และ 6 พฤษภาคม อย่างไรก็ตามยังไม่มีการคำนวณแรงกระทำจากแผ่นดินไหวของการเกิดอาฟเตอร์ช็อค  โดยเฉพาะการเกิดแผ่นดินไหว 5.6 หน่วยตามมาตราริคเตอร์ในเช้าวันที่ 6 พฤษภาคม ซึ่งมีศูนย์กลางเกิดห่างจากสันเขื่อนแม่สรวยไปทางทิศเหนือมีระยะเพียง 2.25 กิโลเมตร และมีความลึกเพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น ดังภาพข้างล่างนี้

 

                   ดังนั้นประเด็นการออกแบบให้เขื่อนรองรับแผ่นดินไหวได้ 7 หน่วยตามมาตราริคเตอร์ อาจจะไม่ใช่สาระสำคัญอีกต่อไป เพราะการออกแบบให้เขื่อนสามารถรองรับการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวนั้น จะคำนวณออกแบบมาในความสามารถทนต่อค่าอัตราเร่งสูงสุดของการสั่นสะเทือนบนพื้นผิวโลก

          แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวของวันที่ 5 พฤษภาคมขนาด 0.11 g นั้น ถือว่าเป็นแรงสั่นสะเทือนที่มีความรุนแรงมาก การที่เขื่อนแม่สรวยต้องรับแรงสั่นสะเทือนในอัตราที่สูงมากเช่นนี้ และไม่ได้เกิดปัญหาในลักษณะเขื่อนพิบัติตามมา แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างเขื่อนโดยรวมยังคงมีความแข็งแรง อย่างไรก็ตามมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดเช่นกัน ที่จะต้องมีการติดตามตรวจสอบอย่างละเอียดเชิงโครงสร้างอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการตรวจสอบรอยแตกร้าว รอยทรุดเอียง ซึ่งปรากฏอยู่ทั่วไปที่เขื่อนแม่สรวย ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไรเช่นกัน

                   คำถามต่อความมั่นคงปลอดภัยในระยะยาวของเขื่อนแม่สรวย และการสร้างระบบเตือนภัยที่มีประสิทธิภาพสูงสุด จะยังคงเป็นคำถามที่อยู่ในใจโดยเฉพาะกับประชาชนที่อาศัยอยู่ใต้เขื่อน ถึงวันนี้เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว กรมชลประทานไม่ควรท่องแต่เลข 7 เพียงประการเดียว[4] เพื่อยืนยันในความปลอดภัยของเขื่อน หากแต่ควรต้องเปิดบทบาทของตนเองในการสร้างกระบวนการที่โปร่งใส มีส่วนร่วมกันกับชุมชนและสังคมอย่างจริงจัง ในการสร้างกลไกเพื่อร่วมกันตรวจสอบ ดูแลความปลอดภัยของเขื่อนแม่สรวย และพัฒนาระบบเตือนภัยในพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพร่วมกัน  เพื่อให้ชุมชนท้ายเขื่อนสามารถอยู่ร่วมกับเขื่อนแม่สรวยได้อย่างอุ่นใจและปลอดภัย เนื่องจากประชาชนต้องอาศัยอยู่ที่นี่ตลอดไป ขณะที่เขื่อนแม่สรวยก็จะมีอายุนับถอยหลังไปเรื่อย ๆ หากเขื่อนมีอายุ 100 ปี วันนี้ก็นับถอยหลังไปแล้ว 15 ปี.

 


[1] หรือค่าอัตราเร่งสูงสุดบนพื้นผิวโลก (มีหน่วยเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ของแรงโน้มถ่วงของโลก หรือค่า g)

[2] กรมชลประทานจะเผยแพร่รายงานการตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว สามารถเข้าดูได้จากลิงค์  http://kromchol.rid.go.th/survey/Earthquake/PDF%20file%20Earthquake/

[3] โดย บริษัท พรี ดีเวลลอปเมนท์ คอนซัลแตนท์ จำกัด (กรกฎาคม 2546)

[4] หมายถึงเขื่อนสามารถรับแผ่นดินไหวขนาด  7 หน่วยตามมาตราริคเตอร์ได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ