เกษตรกรไทยปี 59 เป็นหนี้มากขึ้น ชี้ผลผลิตราคาตกและภัยธรรมชาติเป็นสาเหตุมากที่สุด

เกษตรกรไทยปี 59 เป็นหนี้มากขึ้น ชี้ผลผลิตราคาตกและภัยธรรมชาติเป็นสาเหตุมากที่สุด

เกษตรกรไทยปี 59 เป็นหนี้มากขึ้น

ชี้ผลผลิตราคาตกและภัยธรรมชาติเป็นสาเหตุมากที่สุด

 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและพยากรณ์ทางการเกษตร (แม่โจ้โพลล์) สำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรทั่วประเทศ จำนวน 800 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20 – 31 กรกฎาคม 2559 ในหัวข้อ “ภาวะหนี้สินของเกษตรกรไทย ปี 2559” โดยมีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสอบถามเกษตรกรไทยเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ และภาระหนี้สิน 2) เพื่อสอบถามสาเหตุที่ส่งผลต่อปริมาณหนี้สิน และ 3) แนวทางในการบริหารจัดการหนี้สินด้วยตนเองของเกษตรกรไทย โดยมีผลสำรวจดังนี้

จากการสอบถามกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2559 เกษตรกรร้อยละ 45.18 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ผ่านมา ส่วนร้อยละ 36.42 มีชีวิตความเป็นอยู่ที่แย่ลง มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 18.40 ที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า เกษตรกรถึงร้อยละ 90.03 มีภาระหนี้สิน โดยส่วนใหญ่มีหนี้สิน ไม่เกิน 100,000 บาท (ร้อยละ 41.02) รองลงมาได้แก่ มากกว่า 200,000 บาท (ร้อยละ 33.14) และระหว่าง 100,001 – 200,000 บาท (ร้อยละ 25.84) ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คาดว่าจะสามารถชำระหนี้จำนวนดังกล่าวได้ภายในระยะเวลาระหว่าง 6 – 10 ปี (ร้อยละ 41.19) ไม่เกิน 5 ปี (ร้อยละ 38.98) และมากกว่า 10 ปี (ร้อยละ 19.83) ตามลำดับ 

20161008103018.jpg

โดยเมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงแหล่งเงินกู้ พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 79.95 กู้ยืมเงินมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รองลงมาได้แก่ กองทุนหมู่บ้าน (ร้อยละ 58.01) สหกรณ์การเกษตร (ร้อยละ 34.55) แหล่งเงินกู้นอกระบบ (ร้อยละ 15.39) ธนาคารพาณิชย์ (ร้อยละ 9.71) และอื่นๆ เช่น ยืมญาติพี่น้อง (ร้อยละ 1.13) ตามลำดับ
เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับภาระหนี้สินในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า ในปี 2559 เกษตรกรถึงร้อยละ 47.88 มีภาระหนี้สินมากขึ้น ส่วนร้อยละ 40.28 มีภาระหนี้สินที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปีที่ผ่านมา มีเกษตรกรเพียงร้อยละ 11.84 ที่มีภาระหนี้สินลดลง

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างถึงสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณหนี้สิน พบว่า เกษตรกรมีความเห็นว่าการที่ราคาผลผลิตตกต่ำ และภัยธรรมชาติต่างๆ เช่น ภัยแล้ง หรือน้ำท่วม เป็น 2 สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาระหนี้สินในระดับมาก (2.53 คะแนน) รองลงมาได้แก่ การลงทุนทางการเกษตร เช่น ซื้อเครื่องมือ/เครื่องจักรทางการเกษตร (2.27 คะแนน) การใช้จ่ายเพื่อเป็นค่าเล่าเรียนบุตรหลาน (2.11 คะแนน)  และการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าจำเป็น เช่น สร้างบ้าน ค่าอาหาร ยารักษาโรค (2.07 คะแนน) ตามลำดับ ส่วนการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอำนวยความสะดวก เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาระหนี้สินในระดับปานกลาง (1.85 คะแนน) 

ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงแนวทางในการบริหารจัดการหนี้สินด้วยตนเอง พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ร้อยละ 64.57 จะรอความช่วยเหลือจากภาครัฐบาล เช่น โครงการยกระดับรายได้ของเกษตรกร โครงการพักชำระหนี้ รองลงมาได้แก่ การวางแผนควบคุมการใช้จ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ เช่น การจัดทำบัญชีครัวเรือน (ร้อยละ 45.52) ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก/สัตว์ที่เลี้ยงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น พืชที่ใช้น้ำน้อย (ร้อยละ 43.38) รวมกลุ่มเพื่อทำการระดมทุน หรือสร้างอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ (ร้อยละ 32.03) และการปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก/สัตว์ที่เลี้ยง โดยเน้นพืช/สัตว์ที่ให้ผลตอบแทนสูง (ร้อยละ 29.76) ตามลำดับ

เห็นได้ว่าภาระหนี้สินของเกษตรกรเป็นปัญหาที่เกิดจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่ยากต่อการควบคุม ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าว ภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนความรู้ พัฒนาเทคโนโลยี ส่งเสริมการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง สร้างอำนาจการต่อรองในการซื้อปัจจัยการผลิตและกำหนดราคาผลผลิต/สินค้าทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถรับมือและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและระบบเศรษฐกิจต่อไปได้ อีกทั้งสถาบันการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ควรพิจารณานโยบายการให้สินเชื่อ โดยมุ่งเน้นการให้สินเชื่อในรูปของสินเชื่อกลุ่มเกษตรกร แทนการให้สินเชื่อรายบุคคล เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีการรวมกลุ่มอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้เกษตรกรเองควรมีแนวทางการปรับตัว เช่น วางแผนควบคุมรายจ่ายเพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ เช่น จัดทำบัญชีครัวเรือน ปรับเปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูก (สัตว์ที่เลี้ยง) ให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพอากาศ และรวมกลุ่มเพื่อทำการระดมทุนหรือสร้างอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ เป็นต้น
 

อนึ่ง  แนวโน้มการพัฒนาการเกษตรของประเทศไทยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวในอัตราค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยสามารถขยายผลผลิตเพิ่มขึ้นได้ในอัตราถึงร้อยละ 5 ต่อปี เมื่อเทียบกับอัตราการขยายตัวการเกษตรของโลกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเพียงร้อยละ 2.5 ถึง 2.8 ต่อปีเท่านั้น ทำให้ภาคการเกษตรมีส่วนเสริมสร้างฐานะความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการเงินของประเทศในระยะที่ผ่านมา (สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2555) 

แต่หากพิจารณาถึงลักษณะของเกษตรกรในประเทศไทย จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อย มีความรู้ด้านการผลิตและการตลาดไม่มากนัก มีปัจจัยการผลิตจำกัด (ทุนน้อย) รวมถึงมีการถือครองที่ดินขนาดเล็ก ส่งผลให้การรับเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเป็นไปได้ช้ากว่าเกษตรกรรายใหญ่ การประหยัดต่อขนาดทำได้ยาก ประกอบกับโครงสร้างการตลาดที่ราคาผลผลิตถูกกำหนดโดยตลาดขายส่งในเมืองใหญ่ และแปลงลงมาสู่แหล่งผลิตโดยผ่านระบบพ่อค้าคนกลาง ซึ่งรู้ความเคลื่อนไหวของตลาดและราคาได้รวดเร็วและถูกต้องกว่ากลุ่มเกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรองในการซื้อขายผลผลิต 

ส่วนการซื้อขายสินค้าเกษตรผ่านระบบสหกรณ์หรือกลุ่มเกษตรกรยังพัฒนาไปได้น้อยมาก เกษตรกรผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังคงซื้อขายผ่านพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่นหลายขั้นตอน ทำให้เกษตรกรตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบอยู่มาก และไม่ได้รับประโยชน์จากราคาผลผลิตทางการเกษตรเต็มที่เท่าที่ควร ส่วนใหญ่จะเห็นได้ว่าราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ผู้ผลิตหรือเกษตรกรได้รับจะต่ำกว่าหรือใกล้เคียงต้นทุนการผลิตเท่านั้น อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นผลให้เกษตรกรต้องประสบกับปัญหาหนี้สินเพิ่มมากขึ้น โดยที่ผ่านมาแม้ว่าภาครัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จะมีนโยบายและกลไกการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง แต่ในทางปฏิบัติกลับพบปัญหาและอุปสรรคต่างๆ อาทิ ด้านเงินทุน การบริหารจัดการ และการทุจริต ทำให้หนี้สินของเกษตรกรยังคงเป็นปัญหาที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ