21ส.ค.54 – ลุ้นคำสั่งศาลปกครองกลางชี้คดีสรรหา กสทช. สาขาเศรษฐศาสตร์ หลังตุลาการผู้อ่านคำแถลงสรุปกระบวนการสรรหาไม่โปร่งใส เหตุประธานสรรหาใช้ดุลยพินิจไม่ชอบ อาจกระทบถึงกระบวนการสรรหาทั้งหมด
โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 19 ส.ค.54 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลาง นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 1173/2554 ระหว่าง นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร (ผู้ฟ้องคดี) กับ คณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) (ผู้ถูกฟ้องคดี) เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยผู้ฟ้องคดี กล่าวหาว่า ประธานคณะกรรมการสรรหากรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กับพวก ดำเนินการสรรหา กสทช. โดยไม่โปร่งใส เนื่องจากไม่เสนอชื่อผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นผู้ได้คะแนนเป็นอันดับ 5 ในสาขาเศรษฐศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ต่อประธานวุฒิสภา แต่กลับมีมติคัดเลือกใหม่ในวันที่ 29 เม.ย. และเสนอชื่อนายยุทธ์ ชัยประวิตร เป็นผู้เข้ารอบแทน
นายกฤตยชญ์ ศิริเขต ตุลาการนอกองค์คณะคดีที่เข้าร่วมรับฟังข้อเท็จจริงทั้งหมด ได้แถลงความเห็นในห้องพิจารณาคดีว่า กรณีพิพาทเป็นกรณีการสรรหา กสทช. ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของรัฐและผลประโยชน์สาธารณะ เมื่อไม่มีกฎหมายยกเว้นให้ประธานคณะกรรมการสรรหา กสทช. ปฏิบัตินอกเหนือจากระเบียบที่ได้กำหนดไว้ จึงไม่อาจใช้ดุลยพินิจดำเนินการ ดังนั้นการที่ประธานคณะกรรมการสรรหาสั่งให้มีการลงมติคัดเลือกผู้เข้ารอบเพิ่มเติมขึ้นอีกครั้งในวันที่ 29 เม.ย. 2554 จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งกับเกณฑ์การคัดเลือกที่กำหนดไว้ และเป็นการใช้ดุลยพินิจไม่ชอบ การคัดเลือกในวันดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การที่ นายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ประธานคณะกรรมการสรรหา ทราบดีว่า นายอรรถชัย บุรกรรมโกวิท มีคุณสมบัติต้องห้ามตาม พ.ร.บ. กสทช. เนื่องจากเป็นกรรมการ อสมท เพราะอยู่ในบอร์ดชุดเดียวกัน แต่ไม่แจ้งให้คณะกรรมการสรรหาทราบ อ้างว่าจะเกิดความไม่เป็นธรรมกับนายอรรถชัยนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วพบว่าข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวร้ายแรงจนอาจทำให้กระบวนการคัดเลือกเสียไปได้ ดังนั้นการปกปิดข้อเท็จจริงกล่าวถือเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของนายอรรถชัยมากกว่าผู้สมัครคนอื่น นอกจากจะผิดต่อหลักความเป็นกลางแล้ว ยังถือเป็นการยกเว้นการกระทำที่ไม่สุจริต และทำให้การคัดเลือกดังกล่าวขัดต่อ พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติทางปกครอง รวมถึงการที่ประธานไม่เปิดเผยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับผู้สมัครให้กรรมการท่านอื่นทราบเพื่อให้ลงมติว่าตนมีสิทธิจะลงคะแนนหรือไม่ จึงเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ชอบ และทำให้กรรมการที่เหลือพิจารณาโดยไม่ได้รับข้อเท็จจริงเพียงพอ กระบวนการดังกล่าวจึงไม่ชอบมาแต่ต้น
เมื่อปรากฏผลการลงคะแนนด้านเศรษฐศาสตร์ โดยผู้ถูกฟ้องคดีได้คะแนนเป็นลำดับที่ 5 และการลงคะแนนในส่วนของนายอรรถชัยในลำดับที่ 4 ต้องเสียไปด้วยเหตุบกพร่องในองค์ประกอบที่เป็นสาระสำคัญ จึงถือว่ามีผู้ฟ้องเป็นผู้ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 4 สมบูรณ์ด้วยชอบด้วยกฎหมาย ถือเป็นการคัดเลือกที่มีข้อยุติเด็ดขาดแล้ว ดังนั้นการที่คณะกรรมการสรรหาเสนอรายชื่อต่อประธานวุฒิสภา โดยไม่มีชื่อนายสุรนันท์ จึงเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่าสมควรพิพากษาให้เพิกถอนมติเสนอรายชื่อเพิ่มเติมในวันที่ 29 เม.ย. และให้เสนอบัญชีรายชื่อที่มีชื่อผู้ถูกฟ้องคดี ก่อนที่วุฒิสภาจะลงคะแนนคัดเลือก กสทช.
นายไพโรจน์ มินเด็น โฆษกศาลปกครอง ชี้แจงเรื่องคำแถลงดังกล่าว เป็นคำแถลงของตุลาการนอกองค์คณะ ตามกระบวนการพิจารณาคดีของศาลปกครองที่ต้องมีการถ่วงดุลระหว่างตุลาการองค์คณะกับตุลาการนอกองค์คณะที่เข้าร่วมฟังข้อเท็จจริงในคดี ซึ่งความเห็นดังกล่าวจะไม่ผูกพันองค์คณะผู้พิพากษาที่จะออกคำพิพากษาในวันที่ 22 ส.ค. นี้ แต่ถ้าองค์คณะผู้พิพากษามีความเห็นต่างจากนี้จะต้องมีเหตุผลชี้แจงให้ชัดเจน
ส่วนการจะล้มกระบวนการสรรหาทั้งหมดได้หรือไม่ ต้องดู พรบ.กสทช. ที่ระบุชัด ใน ม.15 ว.6 บอกว่ากระบวนสรรหาจะเดินหน้าต่อไปแม้มีการฟ้องร้อง เว้นแต่ศาลปกครองจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ศาลมีอำนาจที่จะอาศัยข้อยกเว้นนี้ได้ ซึ่งในคำพิพากษาวันจันทร์ อาจจะมีการสั่งการในจุดนี้ด้วยขึ้นอยู่ดุลพินิจของศาล เกี่ยวกับการจะให้ชะรอหรือระงับการดำเนินการสรรหา แต่หลักคือศาลจะต้องพิพากษาตามคำขอ ซึ่งนายสุรนันท์ มีคำขอท้ายฟ้องแค่ให้ส่งชื่อ ให้เพิกถอนการดำเนินการที่ทำไปแล้ว และให้ชดใช้ค่าะรรมเนียมศาลจึงไม่กระทบต่อกระบวนการสรรหาทั้งหมด
ส่วนการแถลงพาดพิงว่า ประธานคณะกรรมการสรรหาได้กระทำผิดอย่างร้ายแรงในการที่รู้อยู่แล้วว่า มีบอร์ดอสมท. เข้ารอบมาด้วย แต่ไม่แจ้งคนอื่นนั้นองค์คณะที่่ทำคำพิพากษาอาจจะเห็นด้วยกับความเห็นนี้หรือไม่ก็ได้ และคู่กรณีคดีนี้หรือคดีอื่น อาจจะหยิบไปอ้างอิงได้ แต่ไม่ใช่แนวคำพิพากษาที่จะต้องยึดตามและให้น้ำหนักอย่างชัดเจน กระบวนการหลังจากนี้องค์คณะตุลาการในคดีนี้จะประชุมและทำคำพิพากษา