องค์กรประชากรข้ามชาติจี้สอบเหตุวิสามัญโรฮิงญา ชี้ ‘กักตัวไม่มีกำหนด’ ความล้มเหลวการใช้ กม.

องค์กรประชากรข้ามชาติจี้สอบเหตุวิสามัญโรฮิงญา ชี้ ‘กักตัวไม่มีกำหนด’ ความล้มเหลวการใช้ กม.

เครือข่ายด้านประชากรข้ามชาติและผู้ลี้ภัย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องขอให้ยุติการกักขังบุคคลหรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยโดยไม่มีกำหนด และให้มีการสอบสวนกรณีวิสามัญฆาตกรรมชาวโรฮิงญาที่ จ.พังงาอย่างอิสระ ชี้กรณีที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงความล้มเหลวในการบังคับใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ที่ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

20162505021235.jpg

24 พ.ค. 2559 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) และเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (Coalition for the Rights of Refugees and Stateless Persons) เผยแพร่แถลงการณ์ เรียกร้องขอให้ยุติการกักขังบุคคลหรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยโดยไม่มีกำหนด และให้มีการสอบสวนกรณีวิสามัญฆาตกรรมชาวโรฮิงญาที่ จ.พังงาอย่างอิสระ 

จากเหตุการณ์ชาวโรฮิงญา 21 คน หลบหนีจากห้องกักตัวของสำนักตรวจคนเข้าเมือง จ.พังงา โดยขณะเข้าควบคุมตัว เจ้าหน้าที่วิสามัญฆาตรกรรมชาวโรฮิงญาไป 1 ราย โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อการป้องกันตนเอง

แถลงการณ์
เรียกร้องขอให้ยุติการกักขังบุคคลหรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัยโดยไม่มีกำหนด
และให้มีการสอบสวนกรณีวิสามัญฆาตกรรมชาวโรฮิงญาที่จังหวัดพังงาอย่างอิสระ

ตามที่ปรากฎเป็นข่าวว่าเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 เวลาประมาณ 01.00 นาฬิกา ได้เกิดเหตุการณ์ที่ชาวโรฮิงญา ซึ่งอยู่ในห้องกัก ภายใต้การควบคุมของสำนักตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดพังงา ได้พยายามหลบหนีออกจากห้องกัก ซึ่งต่อมาทางพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวกลับมาได้จำนวน 5 คนในวันต่อมา แต่พบว่าในขณะที่มีการพยายามควบคุมตัวผู้ที่หลบหนีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการวิสามัญฆาตรกรรมชาวโรฮิงญาไปหนึ่งราย โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันตน

เครือข่ายประชากรข้ามชาติซึ่งเป็นเครือข่ายฯ ในการติดตามการดำเนินนโยบายของรัฐในการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งสถานการณ์ของการเข้าเมืองของชาวโรฮิงญาในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ พบว่า ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มีความพยายามในการดำเนินการกวาดล้างกลุ่มขบวนการที่เกี่ยวข้องกับการขนย้ายคนอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเป็นที่จับตามองเรื่องการแก้ไขจัดการปัญหาด้านการค้ามนุษย์ คือกรณีการพบศพนิรนามมากกว่า 30 ศพ ที่ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และมีการขยายผลการสอบสวนทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมและดำเนินคดีแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์มากกว่า 80 ราย ซึ่งคดียังอยู่ในการพิจารณาคดีของศาลอาญา กรุงเทพมหานคร

อย่างไรก็ตามยังมีชาวโรฮิงญาบางส่วนที่ไม่ได้รับการปฏิบัติในฐานะการเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ที่จะต้องถูกดำเนินคดีภายใต้พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองและถูกควบคุมอยู่ในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของเครือข่ายฯ พบว่า ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหลายแห่งไม่ได้เหมาะสมต่อการควบคุมบุคคลผู้ต้องกักเป็นระยะเวลานาน ผู้ต้องกักหลายรายมีสภาพกล้ามเนื้ออ่อนแรง มีปัญหาทางระบบหายใจ ระบบทางเดินอาหาร มีการกักขังเด็กและเยาวชนที่มีอายุตั้งแต่ 4-18 ปี มีอย่างน้อยหนึ่งกรณีที่ เป็นเด็กชายอายุ 4 ขวบเสียจากความเจ็บป่วยในระหว่างที่อยู่ในห้องกัก การกักตัวมากกว่า 12 เดือนจนถึง 2 ปี ซึ่งทำให้เกิดความเครียดย่อมเปิดช่องทางให้ขบวนการค้ามนุษย์ กลุ่มนายหน้าเข้าไปแสวงหาโอกาสในการดำเนินการได้มากขึ้น

ทางเครือข่ายฯ เห็นว่า “การกักตัวเพื่อรอการผลักดันกลับ” ที่ไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองเช่นนี้ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความความพยายามหลบหนีออกจากสถานที่ควบคุมตัวของผู้ต้องกัก กระทั่งมีการวิสามัญฆาตกรรมต่อบุคคลที่พยายามหลบหนี กรณีที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นการสะท้อนถึงความล้มเหลวในการบังคับใช้พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองของรัฐที่ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างที่สุดเครือข่ายฯ รวมทั้งองค์กรและรายชื่อบุคคลแนบท้าย จึงขอเรียกร้องต่อรัฐไทยในการดำเนินมาตรการ ดังต่อไปนี้โดยเร่งด่วน 

1. ยุติการกักขังชาวโรฮิงยาจำนวนมากกว่า 400 คนที่ดำเนินการมามากกว่า 12 เดือน และให้ใช้การควบคุมตัวภายนอกห้องกักภายใต้อำนาจตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง มาตรา 54 ในการให้ประกันภายใต้เงื่อนไข หรือมาตรา 17 ในการผ่อนผันอยู่ในประเทศ โดยคำนึงถึงการเป็นบุคคลที่แสวงหาที่ลี้ภัย / ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้

2. ยุติการกักขังเด็กและเยาวชนที่เดินทางเข้ามาในประเทศพร้อมกับผู้ปกครอง หรือเดินทางเข้ามาคนเดียว และให้ดำเนินการปกป้องและคุ้มครองที่เหมาะสมภายใต้พระราชบัญญัติเด็กแห่งชาติ พ.ศ.2546

3. ให้ดำเนินการตรวจสอบเหตุวิสามัญชาวโรฮิงยา โดยหน่วยงานภายนอกหรือคณะทำงานที่เป็นอิสระจากหน่วยงานที่รับผิดชอบปฏิบัติการดังกล่าว และให้ดำเนินการไต่สวนการเสียชีวิตตามมาตรา 150 ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ทั้งนี้รัฐบาลควรประสานงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศและภาคประชาสังคมเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป

การกักขังอย่างไม่มีกำหนดคือการประหารชีวิตที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group)
เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ (Coalition for the Rights of Refugees and Stateless Persons)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ