หลังจบคดี"สุรนันท์" ยังเหลืออีก 4 คดีในศาลปกครองฟ้องสรรหากสทช.ไม่โปร่งใส
22ส.ค.54- นายไพโรจน์ มินเด็น โฆษกศาลปกครอง เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังมีอีก 4 คดีที่เกี่ยวพันกับกรณีการสรรหาคณะกรรมการ กสทช. คดีที่ 1 คดีหมายเลขดำที่ 1063/2554 ระหว่างนายสมยศ เลี้ยงบำรุง ร้องคณะกรรมการสรรหา กสทช. กับพวก รวม 2 คน ร้องว่ากระบวนการสรรหามิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากอนุญาตให้ผู้สมัครบางรายลงสมัครเป็นผู้มีคุณสมบัติหลายด้าน จึงร้องขอให้เพิกถอนกระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการ กสทช.
คดีที่ 2 หมายเลขคดีดำที่ 1181/2554 ระหว่างนายสุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล ร้องประธานคณะกรรมการสรรหาร กสทช. กับพวกรวม 3 คน กรณีเห็นว่าคุณสมบัติของผู้ร้องขัดกฎหมาย เนื่องจากเป็นกรรมกดารบริษัทที่ดำเนินกิจการด้านโทรคมนาคม โดยขอให้ดำเนินการสรรหาใหม่ทั้งหมด
คดีที่ 3 หมายเลขคดีดำที่1190/2554 ระหว่างนายรัฐทรัพย์ นิชิด้า ร้องสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภากับพวกรวม 2 คน โดยร้องว่ากรรมการสรรหา 6 คนไม่มีคุณสมบัติ และขอให้เพิกถอนมติและระเบียบของสำนักเลขาธิการวุฒิสภา
คดีที่ 4 คดีดำที่ 1218/2554 ระหว่างนายณัฐศิลป์ จงสงวน ร้องสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภากับพวกรวม 2 คน ด้วยเหตุผลและคำขอแบบเดียวกับคดีของนายรัฐทรัพย์
โฆษกศาลปกครองเปิดเผยว่าคดีที่ 2 ซึ่งเป็นเรื่องคุณสมบัติเฉพาะตัวนั้นทางศาลปกครองน่าจะมีการพิจารณาคดีในเร็ว ๆ นี้ ส่วนคดีที่ 1 ,3 และ 4 นั้นเนื่องจากมีผู้ร้องร้องว่ามีปัญหาขัดกับระหว่างมาตรา 14 อนุ 1 ของ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ฯ กับรัฐธรรมนูญ คือเรื่องคุณสมบัติของกรรมการสรรหาที่เป็นกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และประเด็นที่ร้องเกี่ยวกับกระบวนการสรรหา กสทช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลปกครองได้พิจารณาแล้วว่าจะต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นขัดรัฐธรรมนูญ และอยู่ในขั้นตอนการส่งศาลรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ทำสามคดีจึงต้องรอการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนที่จะดำเนินการพิจารณาของศาลปกครองต่อไป
นายไพโรจน์ยังระบุด้วยว่าโดยหลักบริหารจัดการแล้วการพิจารณาคดีในหมวดเดียวกัน ทางอธิบดีศาลปกครองจะจ่ายคดีให้กับองค์คณะเดียวกัน แต่ข้อพิจารณาของคดีแต่ละคดีจะเป็นการหยิบยกมาตามข้อร้องของผู้ร้องแต่ละราย ซึ่งในกรณีคดีของนายสุรนันท์ องค์คณะอาจหยิบยกเรื่องกระบวนการสรรหาในส่วนที่เกี่ยวพันกับคำร้องในคดีของสุรนันท์เข้ามาประกอบคำพิพากษา แต่ทั้งนี้ไม่ได้มีผลผูกพันว่าตุลาการทุกคน หรือในกรณีคดีที่อยู่ในองค์คณะเดียวกัน จะต้องหยิบประเด็นที่พิพากษาไปแล้วมาพิจารณาในส่วนของคดีอื่น ๆ ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของตุลาการแต่ละคน ที่จะดูงว่ากระบวนการในแต่ละส่วนเกี่ยวข้องกับส่วนของผู้ร้องคนใด