14 มี.ค. 2558 เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก โฮงเฮียนแม่น้ำโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้มีการจัดงาน “2 ทศวรรษน้ำโขงกับการพัฒนา” ระหว่างวันที่ 12-14 มี.ค. 2558 โดยมีเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และคนลุ่มน้ำต่างๆ ชาวบ้าน และผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
กิจกรรมในงาน ประกอบด้วย การพาสื่อมวลชน สำรวจพื้นที่ ติดตามการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง และการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ เฟสที่ 2 ในพื้นที่พรมแดนไทย-ลาว บริเวณ อ.เชียงแสน-เชียงของ พิธีกรรมเจริญพุทธมนต์ และเจริญภาวนาแม่น้ำโขง เพื่อใช้กิจกรรมทางศาสนาในการเชื่อมร้อยการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ และนิทรรศการข้อมูลแม่น้ำโขง นิทรรศการภาพถ่าย ภาพวาด โปสเตอร์องค์ความรู้เรื่องทรัพยากรแม่น้ำโขง พันธุ์ปลา และเวทีศิลปวัฒนธรรมเพื่อแม่น้ำโขง
ส่วนในวันนี้ (14 มี.ค.) มีการจัดเวทีเสวนา 2 ทศวรรษทิศทางการพัฒนาแม่น้ำโขง ผลกระทบข้ามพรมแดน และทิศการกำกับการลงทุนแม่น้ำโขงข้ามพรมแดนรัฐชาติ และกิจกรรมรณรงค์สาธารณะ คำประกาศเชียงของเพื่อสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร
เว็บไซต์ transbordernews เผยแพร่ คำประกาศแม่น้ำโขงชุมชนน้ำโขงจี้ผู้นำไทยเจรจาจีน 6 รัฐบาลลุ่มน้ำโขงต้องปกป้องประชาชน-ระบบนิเวศ ระบุเนื้อหา ดังนี้
14 มีนาคม 2558 วันหยุดเขื่อนโลก International Day of Action for Rivers, against Dams, and for People
วันนี้ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย มีการจัดกิจกรรมเพื่อรวมพลังลูกหลานของแม่น้ำโขง พวกเราซึ่งเป็นคนท้องถิ่น คนหาปลา คนขับเรือ เกษตรกร ชาวไร่ชาวนา เป็นผู้ที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติจากแม่น้ำโขงตลอดมา พบว่าแม่น้ำโขงซึ่งเป็นดังเช่นแม่ของพวกเราถูกทำร้ายมาโดยตลอด นับตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบนในจีนเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนเป็นต้นมา จนบัดนี้สร้างเสร็จไปแล้วถึง 6 เขื่อน
พวกเราที่อาศัยอยู่ริมน้ำโขงใน 3 อำเภอของเชียงราย ตั้งแต่เชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น และตลอด 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ล้วนแต่เห็นความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงในรอบหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะระดับน้ำที่ผันผวนไม่เป็นไปตามฤดูกาล ส่งผลเสียหายต่อระบบนิเวศน้ำโขงที่เชื่อมไปยังลำน้ำสาขา เกษตรริมน้ำ การหาปลา การคมนาคม แหล่งน้ำ เศรษฐกิจท้องถิ่น ฯลฯ
พวกเรามีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนใดๆ อีกบนแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะตอนบนในจีน หรือตอนล่าง เพราะเขื่อนที่ปิดกั้นสายน้ำโขงไม่ว่าจะอยู่ในเขตอธิปไตยของรัฐชาติใดๆ แต่ผลกระทบเกิดขึ้นกับระบบนิเวศ ปลา และมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในเขตแดนประเทศใด
สำหรับเราที่เชียงราย ขณะนี้ทราบข่าวว่านอกจากเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง ที่กำลังก่อสร้างหรือเตรียมการจะสร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ยังมีความเคลื่อนไหวที่จะสร้างเขื่อนขึ้นอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะเขื่อนปากแบง ซึ่งจะกั้นน้ำโขงไม่ไกลจากชุมชนริมโขงใน 3 อำเภอของจังหวัดเชียงราย
เรายืนยันในสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า แต่การตัดสินใจต่างๆ เกี่ยวกับแม่น้ำโขงกลับถูกรวบรัด โครงการระดับแสนล้านบาทแต่กลับถูกตัดสินใจโดยผู้มีอำนาจเพียงไม่กี่คน ในขณะที่สร้างผลกระทบต่อคนนับหมื่นนับแสนอย่างที่เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้ว แท้จริงแล้วชาวบ้านผู้ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำ ควรเป็นผู้มีสิทธิในการจัดการทรัพยากรส่วนรวมอย่างยั่งยืน แต่สิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง
เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยตระหนักถึงปัญหาแม่น้ำโขง ในฐานะปัญหาสำคัญเกี่ยวกับปากท้องของประชาชนในอย่างน้อย 8 จังหวัด รัฐบาลต้องยอมรับสิทธิของชาวบ้าน ให้ชาวบ้านมีส่วนในการคิดร่วม วางแผนร่วม และประโยชน์ร่วม การตัดสินใจทุกอย่างต้องอยู่บนฐานของความรู้และข้อมูลที่เพียงพอ มิใช่ตัดสินใจเพราะเม็ดเงิน
รัฐบาลไทย และหน่วยงานราชการไทยที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ต้องทำหน้าที่ดูแลปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนริมน้ำโขงอย่างจริงจัง ไม่ใช่เกรงใจรัฐบาลเพื่อนบ้าน หรือเกรงใจกลุ่มทุน มากกว่าความทุกข์ยากของประชาชน เพราะการสร้างกั้นเขื่อนแม่น้ำโขง ผลกระทบข้ามพรมแดนเป็นสิ่งที่มาสามารถหลีกเลี่ยงได้ อย่างน้อยรัฐไทยควรหยิบยกประเด็นความเดือนร้อนของชาวบ้านริมแม่น้ำโขงขึ้นมาเจรจากับรัฐจีนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปิด-เปิดประตูเขื่อน เพราะเชื่อว่าความเสียหายและความเดือดร้อนของชุมชนท้ายน้ำจะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ตราบเท่าที่รัฐจีนเข้าใจว่าตัวเองเป็นเจ้าของแม่น้ำโขงตอนต้นและคิดแต่ผลประโยชน์ของประเทศจีนเป็นหลัก
แม่น้ำโขงคือสายเลือดในภูมิภาค แต่รัฐบาล 6 ประเทศในลุ่มน้ำ นับตั้งแต่จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม กลับเพิกเฉยต่อปัญหาเขื่อนแม่น้ำโขงที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง กลไกต่างๆ ในภูมิภาคที่มีอยู่ไม่สามารถแก้ปัญหาความเดือดร้อนได้ เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลในภูมิภาค ต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นวาระเร่งด่วนทันที
ในวันนี้ ซึ่งเป็นวันหยุดเขื่อนโลก ยังมีพี่น้องจากลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำแม่แม่แจ่ม-แม่ปิง ลุ่มน้ำอิง ลุ่มน้ำชมพู และลุ่มน้ำอื่นๆ มาร่วมแสดงจุดยืนร่วมกัน ณ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ที่นี้
หยุดหากำไรจากสมบัติของภูมิภาค แม่น้ำไม่ใช่สินค้า