หนี่ ธ่อ ซอ ปกาเกอะญอ วันรวมญาติเพื่อสืบสานวิถีวัฒนธรรม
หากไม่นับคนลัวะ ชนเผ่าปกาเกอะญอเป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่สุดในบรรดาชนเผ่าภาคเหนือของประเทศไทย ตามความเชื่อที่บอกต่อกันมารุ่นต่อรุ่นของคนปกาเกอะญอ ได้มีการตั้งถิ่นรกรากในดินแดนระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำสาละวินมาเป็นระยะเวลาพันกว่าปีแล้ว ก่อนที่จะมีอาณาจักรล้านนา ในยุคสร้างบ้านแปงเมือง ของอาณาจักล้านนา คนลัวะได้ต่อสู้ด้วยการต้านทานทางทหารกับพญาเม็งรายผู้ก่อตั้งอาณาจักรล้านนา ในที่สุดคนลัวะก็พ่ายแพ้และตกเป็นเชลยศึก แต่คนปกาเกอะญอต่อสู้ด้วยการหนีขึ้นเขาบ้างและไปในที่ที่ห่างไกลจากอิทธิพลของอาณาจักรใหญ่ ไม่ว่าในป่าหรือในที่ทุรกันดาร โดยไม่ยอมตกเป็นทาสและเชลยศึก เพื่อรักษาความเป็นอิสระทางวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชนเผ่าปกาเกอะญอเอาไว้
แต่เมื่อมีการแบ่งพรมแดนประเทศในสมัยอาณานิคมอังกฤษปกครองพม่า และอาณานิคมฝรั่งเศสปกครองลาว คนปกาเกอะญอที่อยู่ในพื้นที่สยามถูกผนวกเข้าเป็นพลเมืองของสยามประเทศจนไม่สามารถหนีข้ามพรมแดนได้อีกต่อไป ภายใต้การเมืองการปกครองของสยามประเทศซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็น ประเทศไทย ได้มีการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ระบบอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้พื้นที่ชนบทเช่น พื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์ถูกพัฒนาเพื่อให้เป็นแหล่งป้อนวัตถุดิบจากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อเอื้อต่อการผลิตในระบบอุตสาหกรรมของเมืองใหญ่ๆ พื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์กลายเป็นผู้ผลิตขั้นปฐมภูมิให้แก่ระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมในที่สุด
แต่อย่างไรก็ตามชุมชนปกาเกอะญอเองก็พยายามปรับตัวเพื่อยืนหยัดในภูมิปัญญา ตามองค์ความรู้และวัฒนธรรมของชนเผ่า แม้จะมีกระแสทุนนิยมเข้ามารุกเร้าอย่างเข้มข้นก็ตาม โดยปัจจุบันชนเผ่าปกาเกอะญอได้รับการยอมรับจากสังคม โดยเฉพาะแวดวงสังคมที่ทำงานด้านทรัพยากรสิ่งแวดล้อมว่าเป็นชนเผ่าที่มีวิถีการอยู่กับป่าและมีภูมิปัญญาในการดูและรักษาป่าที่ยั่งยืนที่สุดเผ่าหนึ่งในโลกนี้ ชนเผ่าปกาเกอะญอหรือภาษาทางการไทยเรียกว่า กะเหรี่ยงปัจจุบันมีจำนวนประชากรในประเทศไทยมากกว่า 500,000 คน ตั้งถิ่นฐานครอบคลุม 15 จังหวัดได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย เพชรบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งนับเป็นชนเผ่าพื้นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทยขณะนี้ แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์ของชนเผ่าปกาเกอะญอหลายอย่างได้เลือนหายไปในสังคมปกาเกอะญอในประเทศไทย โดยเฉพาะปีใหม่ปกาเกอะญอ ซึ่งน่าจะเป็นวันสำคัญทางวัฒนธรรมของปกาเกอะญอกลับไม่มีการรื้อฟื้นมาจัดอย่างเป็นทางการ โดยชุมชนที่ถือคริสต์ได้ถือเอาปีใหม่สากลมาแทนปีใหม่ของตน ชุมชนที่นับถือพุทธก็ถือเอาปี๋ใหม่เมืองหรือสงกรานต์มาแทนปีใหม่ของตน จึงเกิดคำถามแก่ลูกหลานปกาเกอะญอและสังคมปกาเกอะญอว่าในขณะที่ชนเผ่าอื่นเช่น ม้ง มีปีใหม่ม้ง ลีซูมีปีใหม่ลีซู เป็นต้น แล้วปีใหม่ตามวัฒนธรรมคนปกาเกอะญอไม่มีหรือ
มูลนิธิภูมิปัญญาชาติพันธุ์ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านวัฒนธรรม ได้ร่วมกับ องค์กรเครือข่าย ภาคีที่ทำงานในพื้นที่ชุมชนปกาเกอะญอจากหลากประเด็นหลายพื้นที่เช่น เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม มูลนิธิการศึกษาเพื่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-สาละวิน มูลนิธิชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย คริสตจักรกะเหรี่ยงแบ๊พติสแห่งประเทศไทย ศูนย์เยาวชนคาทอลิคสังฆมลฑลเชียงใหม่ สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมชาวไทยภูเขา สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและสังคม สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โครงการพระบัณฑิตอาสาบนพื้นที่สูง ศูนย์อบรมพระคริสต์ธรรมสิโลอัม ได้ร่วมกันศึกษาถึงความเป็นมาของวันปีใหม่ปกาเกอะญอ จนได้ข้อค้นพบว่าปีใหม่ปกาเกอะญอนั้นได้มีชื่อเฉพาะที่เป็นภาษาปกาเกอะญอว่า “หนี่ ธ่อ ซอ” ซึ่งจะพิจารณาดูที่พระจันทร์เป็นหลัก โดยมีชุดความรู้ของคนปกาเกอะญอที่มีการนับเดือนหรือปฏิทินแบบฉบับของปกาเกอะญอเอง แต่ชุดความรู้วันสำคัญได้เลือนหายจากสังคมปกาเกอะญอประเทศไทยมากว่า 40 ปี ดังนั้นทางองค์กรภาคีเครือข่ายที่ทำงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมปกาเกอะญอได้มีความเห็นร่วมกันว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการฟื้นวันสำคัญทางประเพณีปีใหม่ของชนเผ่า ให้กลับมาทำหน้าที่เป็นวันชนเผ่าปกาเกอะญออีกครั้ง
ปีนี้นับเป็นเรื่องที่น่ายีนดีสำหรับคนปกาเกอะญอประเทศไทย ที่ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ได้ผ่านความเห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมได้เสนอ แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง ซึ่งครอบคลุมเรื่องของประเพณีวัฒนธรรมที่สำคัญของชนเผ่า การฟื้นประเพณีปีใหม่ปกาเกอะญอจึงเป็นการสนองตอบนโยบายนี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในพื้นที่ชุมชนปกาเกอะญอ ด้วยเหตุนี้เครือข่ายองค์กรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอเห็นว่ามีความจำเป็นที่ต้องมีเวทีมาคุยกันเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ของชนเผ่าและร่วมระดมความคิดในการกำหนดทิศทางและจัดกระบวนการขับเคลื่อนของชนเผ่าเพื่อการดำรงความเป็นชาติพันธุ์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในยุคปฏิรูป โดยเลือกวันปีใหม่ตามวัฒนธรรมปกาเกอะญอ เพื่อฟื้นวันรวมญาติของชนเผ่าปกาเกอะญอให้เป็นพื้นที่ในการพบปะแลกเปลี่ยนสังสรรค์ทางประเพณีของวัฒนธรรมชนเผ่า ภายใต้ชื่องาน “หนี่ ธ่อ ซอ วันปีใหม่รวมญาติปกาเกอะญอและมหกรรมดนตรีนานาชาติพันธุ์”ขึ้นในวันที่ 14 และ15 มกราคม 2554 นี้
เพื่อเป็นพื้นที่เวทีในการระดมความคิดเห็นร่วมกันของคนชนเผ่าปกาเกอะญอในการกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนอนาคตของชนเผ่าในยุคปฏิรูป
เพื่อรื้อฟื้นประเพณี หนี่ ธ่อ ซอ ปีใหม่วันรวมญาติปกาเกอะญอทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ เจตนารมณ์มติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงให้เกิดเป็นรูปธรรมจริงในชุมชนปกาเกอะญอ
เพื่อสร้างพื้นที่และกระบวนการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมสำหรับเยาวชนชนชาติพันธุ์และสาธารณะผ่านงานประเพณีและพิธีกรรมทางวัฒนธรรมของชุมชน
โดยจัดกิจกรรมที่บ้านแม่ปอน หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านกลาง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
กำหนดการ หนี่ ธ่อ ซอ ปกาเกอะญอ วันรวมญาติเพื่อสืบสานวิถีวัฒนธรรม
14-15 มกราคม 2554
ณ บ้านแม่ปอน ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดชียงใหม่
วันที่/เวลา กิจกรรม
14 มกราคม 2554 เวลา 18.00 น.
– กล่าวต้อนรับโดยการขับลำนำ ธา จากโมะโชะ ในพื้นที่
– กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ โดย บาทหลวงชาญชัย เต็มอรุณรุ้ง
– กล่าวเปิดงาน โดย นายก่อชิ เพชรพนาไพร นายกเทศบาลบ้านหลวง
– การแสดงต้อนรับโดยเยาวชนแม่ปอน
– การแสดงดนตรี กะเหรี่ยงโพล่ง โดยพาตี่อยู่โป่ย หยกสถาพรกุล
– ผู้อาวุโสกล่าวโอวาท โดยครูศรีแก้ว ศรีประเสริฐ
– การแสดงดนตรี โดยตือโพ
– การแสดงจากนักเรียน ศิลปะการต่อสู้
– การแสดงดนตรี โดยพาตี่ทองดี ตุ๊โพ
– การแสดงรำตง จากพี่น้องโพล่ง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
– การแสดงดนตรี โดยศิลปินอ๊อด วิฑูรย์
– การแสดงรำไฟ จากเยาวชน เครือข่าเกษตรกรภาคเหนือ
– การแสดงรำเชือกสามัคคี จากพี่น้องโพล่ง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
– การแสดงดนตรี โดยจุ๊ย
– การนับถอยหลังปีใหม่ปกาเกอะญอ การเฉลิมฉลอง จุดพลุ 7 ลูก
– กล่าวอวยพร โดย พระสังฆราช สังฆมลฑลเชียงใหม่
(พิธีกรประจำวัน อาจาย์ประชัน ผาตินันธ์)
15 มกราคม 2554
08.30- เป็นต้นไป (พิธีกรประจำวัน คุณชิ สุวิชาน )
– อูแกว ส่งสัญญาณการเปลี่ยนสู่ปีใหม่
– ตั้งแถวจัดขบวน
– เดินขบวนพร้อมกับตีฆ้อง กลอง ฉาบ ดุริยางค์โรงเรียนบ้านแม่ปอน
– กล่าวรายงานต่อประธาน โดย นายซันนี่ แดนพงพี
– ประธานกล่าวเปิด โดยนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม
– ตีโกล๊ะ เปิดพิธี โดย ประธานและตัวแทนผู้อาวุโสปกาเกอะญอ
– ยกเสากระดูกปลา โดยตัวแทนจากพี่น้องโพล่ง
– ยกสุ่มไก่ โดยตัวแทนจากพี่น้องสกอร์
– เชิญ ธงชาติไทย พร้อมร้องเพลงชาติไทย
– ปัก เชกอ, เชวา และเชซู โดยเยาวชนตัวแทนผู้ชาย หญิงโสด และแม่บ้าน
– ร้องเพลงประจำชนเผ่าปกาเกอะญอ
– กล่าวปฐกถา โดย พะตี่มูเสาะ เสนาะพรไพร ผู้อาวุโสชาวปกาเกอะญอ
– สานส์ แสดงความยินดีจากเครือข่ายองค์กรต่าง ๆ
– เพลงสดุดีมหาราชา
– รับประทานอาหารเที่ยงร่วมกัน (อาหารพื้นบ้านปกาเกอะญอ)
13.30 เวทีเสวนาสาธารณะ “เขตวัฒนธรรมพิเศษ ตามมติ ครม. 3 สิงหาคม 2553 และทิศทางการมีส่วนร่วมของชนเผ่าปกาเกอะญอในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีผู้ร่วมเวทีจาก ตัวแทนแกนนำคนปกาเกอะญอ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ ตัวแทนเครือข่ายชาติพันธุ์ รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย ตัวแทนคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย ประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายทรัพยากรและสิทธิเพื่อฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง นักวิชาการ
– ดำเนินรายการโดย คุณณาตยา แวววีรคุปต์ จากรายการเวทีสาธารณะ สถานีโทรทัศน์ทีวีไทย
19.30 เป็นต้นไป พิธีกรช่วงค่ำ นายสรศักดิ์ เสนาะพรไพร
– กล่าวชี้แจงวัตถุประสงค์ บาทหลวงชาญชัย เต็มอรุณรุ้ง
– กล่าวเปิดงาน โดยบุญเลิศ บุรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่
– รำตง
– ทอค์โชว์ข้ามเผ่า
– บรรเลงเตหน่าโดย พาตี่อยู่โป่ย
– รำเชือกสามัคคี
– แสดงดนตรีปกาเกอะญอร่วมสมัย โดย ชิ และผองเพื่อน
– พิธีปิด (ใช้รูปแบบปิรามิคแห่งศรัทธา), เพลงสรรเสริญพระบารมี