สร้างเขื่อนดอนสะโฮง สะเทือนถึงชี-มูล

สร้างเขื่อนดอนสะโฮง สะเทือนถึงชี-มูล

10 พฤศจิกายน 2557, อุบลราชธานี – ในเวทีให้ข้อมูลเรื่องการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงซึ่งจัดโดยกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่เวทีมหาวิทยาลัยราชภัฎอุบลราชธานี ได้มีเครือข่ายภาคประชาชนร่วมคัดค้านการสร้างเขื่อนดอนสะโฮง โดยเห็นว่าแม้เขื่อนสร้างอยู่บนพื้นที่ของ สปป.ลาว แต่ผลกระทบเกิดขึ้นกับคนทั้งลุ่มน้ำ แนะรัฐไทยต้องรับฟังความเห็นไปปฏิบัติ และต้องแสดงจุดยืนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนไทย

คำปิ่น อักษร เครือข่ายกลุ่มคนฮักน้ำของ เล่าถึงบรรยากาศของเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ว่า กรมทรัพยากรน้ำได้เชิญประชาชนประมาณ 150 คนจากหลายจังหวัดเข้ามาให้ความคิดเห็นเรื่องเขื่อนดอนสะโฮง เช่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ ยโสธร ขอนแก่น ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนที่อยู่ติดแม่น้ำโขง เช่น เชียงราย อุบลราชธานี นั้นกลับไม่ได้ถูกเชิญให้เข้าร่วม เครือข่ายกลุ่มคนฮักน้ำของ เครือข่ายชุมชนเมือง สมัชชาคนจน และประชาชนในพื้นที่แม่น้ำโขงประมาณ 70 คนจึงตัดสินใจเดินทางมาเข้าร่วมเวทีนี้ด้วยตนเอง

ซึ่งเมื่อเดินทางมาถึงได้มีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และเจ้าหน้าที่ทหารบอกกับพวกตนว่า ไม่สามารถเข้าไปข้างในเวทีได้ โดยต้องได้รับอนุญาตจากกรมทรัพยากรน้ำเสียก่อน กระทั่งมีการตกลงกันได้จึงมีการปล่อยให้เครือข่ายภาคประชาชนเข้าไปร่วมเวที ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการกล่าวเปิดเวทีไปแล้ว ขณะที่ในเวทีได้มีเจ้าหน้าที่นักวิชาการของกรมทรัพยากรน้ำให้ข้อมูลตามเอกสารที่ สปป.ลาว ให้มาทั้งหมด โดยในเวทีนี้ชาวบ้านที่เข้าร่วมได้ชูป้ายแสดงความเห็นคัดค้านการสร้างเขื่อนดอนสะโฮงด้วยเหตุผลว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้กระทบเฉพาะคนในประเทศลาวเท่านั้น

“บริเวณฮูสะโฮงซึ่งเป็นจุดที่มีการสร้างเขื่อน เป็น 1 ใน 16 ช่องของสี่พันดอน ซึ่งมีลักษณะพิเศษคือ ปลาสามารถขึ้นลงในลำน้ำโขงได้ทั้งฤดูแล้ง และฤดูฝน การสร้างเขื่อนในพื้นที่นี้จึงเท่ากับเป็นการปิดกั้นเส้นทางปลาด้วย จึงไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน ขณะเดียวกันรัฐไทยควรทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับชาวบ้าน นำความคิดเห็นที่ได้ไปปฏิบัติ ไม่ใช่จัดเพียงพิธีกรรมเท่านั้น” คำปิ่น อักษร กล่าว

ขณะที่ กฤษกร ศิลารักษ์ หรือ ไพจิต ศิลารักษ์ ศูนย์ภูมิปัญญาไทบ้านปากมูน ให้ความเห็นในเวทีนี้ว่า การรับฟังความเห็นนี้จัดเพื่ออะไร เพราะโครงการนี้ได้รับการอนุมัติไปแล้ว ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นข้ามพรมแดนจากการสร้างเขื่อนจะจัดการและรับผิดชอบอย่างไร ทำไมรัฐไทยจึงไม่ปกป้องสิทธิ์ของประเทศ แต่กลับเอื้อให้มีการสร้างเขื่อน ทั้งที่ตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านเช่น กัมพูชา เวียดนาม ก็มีการคัดค้านโครงการนี้อย่างเปิดเผย แต่กรมทรัพยากรน้ำในฐานะตัวแทนรัฐไทยกลับไม่มีท่าทีที่จะปกป้องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนไทย

ด้าน สมปอง เวียงจันทร์ กลุ่มสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล ให้ความเห็นในเวทีเช่นกันว่า ไม่ควรมีการสร้างเขื่อนในจุดฮูสะโฮง เนื่องจากเป็นการปิดกั้นเส้นทางของปลา ทำให้ปลาไม่สามารถเดินทางขึ้นลงไปยังแม่น้ำสาขาเหมือนดังเดิม ที่ผ่านมาการมีเขื่อนปากมูลก็สร้างปัญหาให้กับเส้นทางปลาอยู่แล้วกระทั่งมีการเรียกร้องให้เปิดประตูเขื่อนถาวรเพื่อทำให้ปลาเดินทางได้ตามธรรมชาติ ครั้งนี้หากมีเขื่อนดอนสะโฮง ต่อให้เปิดประตูเขื่อนปากมูลก็ไม่สามารถทำให้ปลาเดินทางไปยังแม่น้ำมูล แม่น้ำชี ได้อย่างปกติแน่นอน

ภาพประกอบโดย : คำปิ่น อักษร

20141011165207.jpg20141011165217.jpg20141011165226.jpg20141011165230.jpg20141011165238.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ