27 มี.ค. 2558 สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกแถลงการณ์ เรื่องการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนระบุ “ประยุทธ์” เข้าใจการทำงานของสื่อคลาดเคลื่อน กรณีแสดงความไม่พอใจการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล รวมทั้งการนำเสนอข่าวลูกเรือประมงไทยที่ถูกหลอกไปทำงานที่อินโดนีเซีย ของนางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย
“การนำเสนอข่าวของเพื่อนร่วมชาติที่ต้องทนทุกข์ทรมานในต่างแดน ถือเป็นการทำหน้าที่ของสื่อ นำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อหวังให้เกิดการแก้ไข ส่วนผลกระทบที่จะตามมาในประเด็นการค้ามนุษย์ตามที่นายกรัฐมนตรีกังวลนั้น ไม่น่าจะเกิดจากการรายงานข่าวดังกล่าวเนื่องจาก ประเทศหรือองค์กรที่ทำงานด้านการค้ามนุษย์นั้นมีข้อมูลที่หลากหลายจากแหล่ง ต่างๆ” แถลงการณ์ระบุ
พร้อมชี้การแสดงท่าทีเกรี้ยวกราดและคำพูดที่รุนแรงต่อการทำงานของสื่อมวลชนต่อสาธารณะนั้น ถือเป็นความสุ่มเสี่ยงที่นายกรัฐมนตรีจะถูกเข้าใจว่าเป็นเผด็จการ ไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์และการตรวจสอบ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตัวนายกรัฐมนตรีเองรวมทั้งประเทศชาติด้วย
สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ระบุด้วยว่า การนำเสนอข่าวสาร ความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชนที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ไร้จรรยาบรรณ ไม่ว่าใครในประเทศนี้ล้วนมีสิทธิ์ทักท้วง ตำหนิ ติติง ร้องเรียนไปยังองค์กรวิชาชีพสื่อ หากไม่พอใจในการกำกับดูแลกันเองของสื่อก็สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ ที่สำคัญการชี้แจงให้สังคมทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร สื่อนำเสนอคลาดเคลื่อน หรือบิดเบือนตรงไหน เป็นวิธีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องที่ได้ผล ยิ่งผู้ชี้แจงมีตำแหน่งถึงนายกรัฐมนตรีย่อมมีความน่าเชื่อถือสูง
“สถานการณ์ของประเทศช่วงนี้มีความละเอียดอ่อนจำเป็นที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น สื่อ หรือรัฐบาลจะต้องช่วยกันประคับประคอง การเปิดกว้าง รับฟัง และเข้าใจในการทำหน้าที่ที่อาจแตกต่างกันแต่มีเป้าหมายร่วมกันคือเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ จะทำให้เราผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง” แถลงการระบุ
ผู้สื่อข่ารายงานว่า เมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกแถลงการณ์ เรื่อง ชี้แจงบทบาทการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้วิพากษ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนว่านำเสนอโดยขาดข้อเท็จจริง และไม่คำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศชาติ ด้วยเช่นกัน (คลิกอ่าน https://thecitizen.plus/node/5064)
แถลงการณ์ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
จากกรณีที่นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แสดงความไม่พอใจการทำหน้าที่ของผู้สื่อข่าวที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ รัฐบาล รวมทั้งการนำเสนอข่าวลูกเรือประมงไทยที่ถูกหลอกไปทำงานที่อินโดนีเซีย ของนางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ดังปรากฏเป็นข่าวแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศนั้น ชี้ชัดว่า นายกรัฐมนตรีมีความเข้าใจต่อการทำงานของสื่อมวลชนที่คลาดเคลื่อน การนำเสนอข่าวของเพื่อนร่วมชาติที่ต้องทนทุกข์ทรมานในต่างแดน ถือเป็นการทำหน้าที่ของสื่อ นำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อหวังให้เกิดการแก้ไข ส่วนผลกระทบที่จะตามมาในประเด็นการค้ามนุษย์ตามที่นายกรัฐมนตรีกังวลนั้น ไม่น่าจะเกิดจากการรายงานข่าวดังกล่าวเนื่องจาก ประเทศหรือองค์กรที่ทำงานด้านการค้ามนุษย์นั้นมีข้อมูลที่หลากหลายจากแหล่ง ต่างๆ นอกจากนี้การแสดงอาการไม่พอใจของนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้อธิบายว่าตนเองเป็นมนุษย์ มีความรู้สึก เป็นสิ่งที่สังคมสามารถเข้าใจได้ หากแต่การแสดงท่าทีเกรี้ยวกราดและคำพูดที่รุนแรงต่อการทำงานของสื่อมวลชนต่อ สาธารณะนั้น ถือเป็นความสุ่มเสี่ยงที่นายกรัฐมนตรีจะถูกเข้าใจว่า เป็นเผด็จการ ไม่ยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์และการตรวจสอบ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตัวนายกรัฐมนตรีเองรวมทั้งประเทศชาติด้วย การนำเสนอข่าวสาร ความเห็น วิพากษ์วิจารณ์ของสื่อมวลชน ที่ไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม ไร้จรรยาบรรณ ไม่ว่าใครในประเทศนี้ล้วนมีสิทธิ์ทักท้วง ตำหนิ ติติง ร้องเรียนไปยังองค์กรวิชาชีพสื่อ หากไม่พอใจในการกำกับดูแลกันเองของสื่อก็สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ ที่สำคัญการชี้แจงให้สังคมทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร สื่อนำเสนอคลาดเคลื่อน หรือบิดเบือนตรงไหน เป็นวิธีการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องที่ได้ผล ยิ่งผู้ชี้แจงมีตำแหน่งถึงนายกรัฐมนตรีย่อมมีความน่าเชื่อถือสูง สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความเป็นห่วงในกรณีดังกล่าว สถานการณ์ของประเทศช่วงนี้มีความละเอียดอ่อนจำเป็นที่ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็น สื่อ หรือรัฐบาลจะต้องช่วยกันประคับประคอง การเปิดกว้าง รับฟัง และเข้าใจในการทำหน้าที่ที่อาจแตกต่างกันแต่มีเป้าหมายร่วมกันคือเพื่อ ประโยชน์ของประเทศชาติ จะทำให้เราผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย |