27 ก.ย. 2559 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยใน 12 จังหวัด ได้แก่ สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา อุทัยธานี ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยนาท พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และสุราษฎร์ธานี พร้อมบูรณาการหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังและทรัพยากรปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วน รวมถึงเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคและสิ่งสาธารณะประโยชน์ได้รับความเสียหายให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว
ฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องบริเวณภาคเหนือ และภาคกลาง ประกอบกับมีปริมาณน้ำจากฝนตกสะสม ทำให้เขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลาก ดินสไลด์ และน้ำเอ่อล้นตลิ่งใน 12 จังหวัด รวม 33 อำเภอ 137 ตำบล 738 หมู่บ้าน แยกเป็น
ภาคกลาง 7 จังหวัด 21 อำเภอ 114 ตำบล 540 หมู่บ้าน ได้แก่
สิงห์บุรี น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ อ.อินทร์บุรี ประชาชนได้รับผลกระทบ 40 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,789 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว
อ่างทอง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.ป่าโมก อ.เมืองอ่างทอง และอ.วิเศษชัยชาญ ประชาชนได้รับผลกระทบ 566 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำระดับเพิ่มขึ้น
พระนครศรีอยุธยา น้ำจากการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไหลเข้าท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อ.เสนา อ.บางบาล อ.ผักไห่ อ.พระนครศรีอยุธยา อ.บางไทร และ อ.บางปะอิน รวม 71 ตำบล 417 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 17,382 ครัวเรือน
อุทัยธานี น้ำในแม่น้ำตากแดดเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.สว่างอารมณ์ อ.บ้านไร่ และอ.ทัพทัน รวม 8 ตำบล 36 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 565 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 10,081 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำทรงตัว
ลพบุรี น้ำท่วมพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองลพบุรี และอ.บ้านหมี่ รวม 8 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 10,040 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 5,000 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
นครสวรรค์ น้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.ลาดยาว อ.ไพศาลี อ.ท่าตะโก อ.ชุมแสง และอ.โกรกพระ พื้นที่การเกษตรเสียหาย รวม 420 ไร่ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
ชัยนาท น้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรใน อ.สรรพยา รวม 7 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 850 ครัวเรือน 2,250 คน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 14,962 ไร่
ภาคเหนือ 4 จังหวัด 11 อำเภอ 17 ตำบล43 หมู่บ้าน แยกเป็น
พิจิตร น้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ อ.ทับคล้อ ประชาชนได้รับผลกระทบ 20 ครัวเรือน ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
พิษณุโลก น้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่การเกษตรใน อ.บางระกำ ประชาชนได้รับผลกระทบ 343 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 1,980 ไร่ บ่อปลา 11 บ่อ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
เพชรบูรณ์ น้ำจากแม่น้ำป่าสักเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ อ.วิเชียรบุรี พื้นที่การเกษตรเสียหาย 130 ไร่ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ
สุโขทัย น้ำจากแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองสุโขทัย อ.สวรรคโลก อ.ศรีสำโรง อ.กงไกรลาศ และ อ.บ้านด่านลานหอย ประชาชนได้รับผลกระทบ 4,618 ครัวเรือน พื้นที่การเกษตรเสียหาย 40,703 ไร่ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตรใน อ.กงไกรลาศ
ภาคใต้ รวม 1 จังหวัด 1 อำเภอ 6 ตำบล 20 หมู่บ้าน ได้แก่
สุราษฎร์ธานี น้ำจากคลองอิปันล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ อ.พระแสง รวม 6 ตำบล ประชาชนได้รับผลกระทบ 259 ครัวเรือน 1,155 คน ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว พร้อมประสานการระบายน้ำกับหน่วยชลประทานในพื้นที่อย่างใกล้ชิด รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ชุมชน เขตเศรษฐกิจ เพื่อสูบน้ำที่ท่วมขังไปยังพื้นที่รองรับน้ำ อีกทั้งแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแก่ประชาชน รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่พร้อมรถบรรทุกขนาดใหญ่ เรือท้องแบน อำนวยความสะดวกในการสัญจรและขนย้ายสิ่งของแก่ประชาชน ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภค และสิ่งสาธารณะประโยชน์ให้ใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว
สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย