ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อกรณีการส่งกลับผู้ลี้ภัยในพื้นที่สังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
โดยทางกลุ่มได้ส่งต่อแถลงการณ์ฉบับนี้ไปยังสือมวลชนและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ระบุว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) ตั้งแต่วันที่ 8-11 พฤศจิกายน 2553 ที่ยังไม่เป็นการยุติ โดยเฉพาะในพื้นที่ด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี อันส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยชาวกะเหรี่ยงราว 5,000 คน ซึ่งจำนวนเกินครึ่งเป็นเด็ก และที่เหลือส่วนใหญ่เป็นหญิงและคนชรา หลั่งไหลเข้ามาหลบภัยสงครามในโรงเรียนซองกาเลีย สาขาบ้านด่านเจดีย์สามองค์, โบสถ์ในคริสตจักรภาคที่ 16 รวมถึงตามบ้านเรือนในพื้นที่ใกล้เคียง
จากสถานการณ์จริงในพื้นที่เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2553 เวลาประมาณ 05.30-07.30 น. เสียงปืนจากฝั่งประเทศพม่าก็ยังคงดังอย่างเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามในเวลาเดียวกันทหารที่ประจำการอยู่ในพื้นที่กลับแจ้งให้ผู้อพยพกะเหรี่ยงที่หลบภัยอยู่ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งมีจำนวนกว่า 600 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กกว่า 250 คน ที่เหลือเป็นผู้หญิงและผู้สูงอายุ ให้มารวมตัวกันที่หน้าด่านฯบริเวณชายแดนไทย-พม่าตั้งแต่เวลา 05.30 น. เป็นต้นมา เพื่อส่งกลับอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 จากการสอบถามผู้อพยพจำนวนหนึ่งรวมทั้งทหารบางนายที่ประจำการในพื้นที่ ต่างให้ข้อมูลเป็นทิศทางเดียวกันว่า“สถานการณ์ในประเทศพม่าสงบแล้ว ปลอดภัย ผู้ลี้ภัยสามารถกลับบ้านได้ ไม่มีอะไร” ซึ่งขัดแย้งกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างสิ้นเชิง ที่เสียงปืนยังคงดังอยู่หลายครั้ง รวมถึงทหารเองก็ได้แจ้งให้ผู้อพยพย้ายสถานที่รอส่งกลับจากหน้าด่านฯไปอยู่ในบริเวณวัดบ้านเจดีย์ ซึ่งมีความปลอดภัยมากกว่า ล่าสุดเมื่อเวลา 08.00 น. ภายหลังจากที่เสียงปืนสงบ ทางทหารได้แจ้งให้ผู้อพยพเดินทางกลับประเทศพม่าด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว ระหว่างรอ ไม่มีการจัดอาหาร น้ำดื่ม และนมสำหรับผู้ลี้ภัย โดยเฉพาะเด็กเล็ก
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 เวลา 17.30-18.30 น. ทหารได้ผลักดันผู้อพยพกลับอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก โดยเวลาประมาณ 16.00 น. ได้แจ้งให้ผู้อพยพกลุ่มหนึ่งที่พักอาศัยชั่วคราวอยู่ในบริเวณใกล้เคียงโรงเรียนซองกาเลียฯ ซึ่งมีจำนวนประมาณ 700 คน ให้เก็บสิ่งของและมารวมตัวกันที่บริเวณสนามหญ้าหน้าโรงเรียนเพื่อจะได้จัดการโดยสะดวก ต่อมาเวลา 16.45 น. ทหารได้แจ้งต่อว่า จะมีคนมามอบอาหารและน้ำดื่มให้ผู้อพยพ ขอให้ผู้อพยพเดินทยอยไปรวมตัวกันที่หน้าด่านชายแดนไทย-พม่า ทำให้ผู้อพยพที่เริ่มจับจองสถานที่เพื่อพักผ่อนในยามค่ำคืน ต้องออกจากโรงเรียนและเดินตามกันไปยังด่านฯที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 700 เมตร เมื่อผู้อพยพไปถึงที่ด่านฯ ได้มีทหารผู้ใหญ่มามอบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง และน้ำดื่มให้จริง แต่เมื่อมีการมอบสิ่งของเรียบร้อยแล้ว กลับพบว่า ทางทหารได้ผลักดันให้ผู้ลี้ภัยเดินกลับออกไปยังฝั่งประเทศพม่าอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้ให้ย้อนกลับมาที่เส้นทางเดิม ทั้งนี้ผู้ลี้ภัยจำนวนหนึ่งที่ได้รับการสอบถามต่างเล่าคล้ายคลึงกันว่า “งง สับสน เพราะทหารบอกว่าให้มารับของและก็กลับบ้านได้แล้ว ปลอดภัยแล้ว อยู่ที่นี่ไม่ได้แล้ว” มีรายงานข่าวว่า ผู้อพยพที่ถูกส่งกลับในวันดังกล่าวได้ย้อนข้ามกลับมาที่ประเทศไทยอีกครั้งหนึ่งประมาณ 200 คน ภายหลังจากที่ได้ยินเสียงปืนดังมาตั้งแต่เวลา 22.00 น.
ทางศูนย์ข่าวข้ามพรมแดนมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง ดังนี้
1. การส่งกลับผู้ลี้ภัยไปสู่ความเสี่ยงภัยต่อความไม่ปลอดภัยจากการดำเนินชีวิตต่อ ถือเป็นการละเมิดกฎจารีตระหว่างประเทศว่าด้วยหลักการการไม่ส่งผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย (non-refoulement policy) เนื่องจากชาวบ้านกลุ่มนี้เป็นเด็กเล็กกว่าครึ่ง ที่เหลือส่วนใหญ่เป็นหญิงกับคนชรา ข้อเท็จจริงคือ แม้ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวจะอยู่ในพื้นที่มาก่อน พวกเขาก็ไม่ไว้วางใจว่าจะเดินทางกลับได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากการสู้รบเพิ่งผ่านพ้นไปไม่นาน สถานการณ์ยังคงไม่มั่นคง นอกจากนั้น แหล่งข่าวท้องถิ่นแจ้งว่าว่า กองกำลัง DKBA กำลังระดมพลเพื่อสู้รบต่อไป ขณะนี้มีส่วนที่เพิ่งเคลื่อนพลมาจากแห่งอื่นด้วย
2. การขาดนโยบายและวิถีปฏิบัติในการจัดการกับปัญหาการอพยพลี้ภัยที่ชัดเจนและเหมาะสมต่อสถานการณ์จริงที่เกิดสงครามระหว่างทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยรายวัน
ด้วยเหตุนี้ ทางศูนย์ข่าวข้ามพรมแดนขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทย
1. ระมัดระวังในการส่งกลับผู้ลี้ภัยที่เข้ามาใหม่เนื่องจากการสู้รบรายวันในปัจจุบัน จนกว่าจะมีผลการตรวจสอบอย่างโปร่งใสด้วยการมีส่วนร่วมประเมินสถานการณ์ของสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติและตัวแทนผู้ลี้ภัย ว่าผู้ที่กลับไปจะปลอดภัยหรือไม่เสี่ยงภัยความตาย
2. ดูแลและทำให้มั่นใจว่าให้ผู้ลี้ภัยได้เข้าถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างสมควร ระหว่างลี้ภัยในประเทศไทย
3. หาทางออกให้แก่ผู้ลี้ภัยใหม่ให้ชัดเจน รวมถึงการทบทวนนโยบายเรื่องการส่งกลับผู้ลี้ภัย ด้วยการมีส่วนร่วมของทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องว่าเหมาะสมต่อสถานการณ์ดีแล้วหรือไม่ อย่างไร
รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ : ศูนย์ข่าวข้ามพรมแดน crossborder.newsagency@gmail.com