2 ก.ย. 2558 สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association) รายงานว่า เวลาประมาณ 09.30 น. ศาลจังหวัดเพชรบุรีได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้ยกคำร้องในคดีการขอให้ปล่อยตัวนายพอละจี รักจงเจริญ หรือนายบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ที่ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 และข้อเท็จจริง ดังนี้
1.เมื่อศาลชั้นต้นรับคำร้องของนางสาวพิณนภา ผู้ร้อง ที่ยื่นขอให้ปล่อยตัวนายบิลลี่ ศาลชั้นต้นต้องดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวแล้วพิจารณาคำร้องของผู้ร้องและพยานที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนก่อนว่าคดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ หากเห็นว่าคำร้องของผู้ร้องมีมูลจึงมีหมายเรียกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามคำร้องและทางไต่สวนของผู้ร้องอ้างว่าเป็นผู้คุมขังนายบิลลี่และให้นำตัวนายบิลลี่ผู้ถูกคุมขังมาศาล และให้นายชัยวัฒน์กับพวกดังกล่าวแสดงให้เป็นที่พอใจแก่ศาลว่าการคุมขังเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย
แต่ศาลชั้นต้นกลับหมายเรียกนายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่ฯ ซึ่งล้วนอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของนายชัยวัฒน์ และร่วมอยู่ในเหตุการณ์เดียวกันมาไต่สวน โดยไม่ได้มีคำสั่งก่อนว่าคดีของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่อาจนำคำเบิกความของพยานดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีนี้ได้
2.ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยว่า คำร้องของผู้ร้องมีมูลหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลขั้นต้นพิจารณามีคำสั่งอีก โดยพิจารณาเฉพาะคำเบิกความพยานของผู้ร้อง คือ นางสาวพิณนภา และนายกระทง โชควิบูลย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านโป่งลึก ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่าเป็นเพียงพยานบอกเล่า ไม่ได้รู้เห็นว่านายชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้หรือไม่ และนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ที่ผู้ร้องนำเข้าไต่สวนเป็นพยานเพิ่มเติมนั้นก็เป็นเพียงพยานแวดล้อมกรณีข้อพิพาทระหว่างเจ้าหน้าที่ฯ กับชุมชนกะเหรี่ยง โดยไม่ได้รู้เห็นเรื่องการหายตัวไปของนายบิลลี่แต่อย่างใด
ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่านายชัยวัฒน์กับพวกควบคุมตัวนายบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนคำเบิกความของนายชัยวัฒน์และเจ้าหน้าที่ฯ กับบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดนั้น ไม่สามารถรับฟังได้เนื่องจากเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูล จึงพิพากษายกคำร้อง
ที่มาภาพ: สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association)
ด้านคณะทนายความ ใหความเห็นว่า การยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 เป็นช่องทางหนึ่งในกรณีที่รู้หรือสงสัยว่าบุคคลใดถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เป็นมาตรการที่อาจใช้เพื่อป้องกันการบังคับให้บุคคลสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้
อย่างไรก็ตามปัญหาและช่องว่างในการพิจารณาคดีประเภทนี้คือ ผู้ถูกควบคุมตัวหรือผู้ถูกคุมขังจะอยู่ในการควบคุมหรือคุมขังของเจ้าหน้าที่ ประจักษ์พยานก็มักจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือภายใต้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ พยานเอกสาร พยานวัตถุ ก็มักจะอยู่ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่ จึงเป็นเรื่องยากที่จะให้ผู้ร้องซึ่งเป็นญาติของผู้ถูกควบคุมตัวหรือผู้ถูกคุมขังเป็นฝ่ายพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าบุคคลใดถูกควบคุมตัวหรือถูกคุมขังโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
โดยหลักการจึงควรเป็นภาระการพิสูจน์ของเจ้าหน้าที่ที่ควบคุมตัวหรือคุมขังเป็นฝ่ายพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อศาล
ขณะที่ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่มีความสำคัญต่อนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรม การบังคับให้บุคคลใดสูญหายเป็นเรื่องที่รัฐจะต้องกำหนดมาตรการอย่างเด็ดขาดในการสืบสวนหาความจริง เพื่อไม่ให้กรณีเช่นนี้เกิดขึ้นอีก โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนทั้งในและระหว่างประเทศต่างมีข้อเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ให้มีความคืบหน้าโดยเร็วและอย่างเป็นอิสระ
แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีการกำหนดความรับผิดทางอาญากรณีมีการบังคับให้บุคคลสูญหายตามกฎหมายของไทย แต่ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหายแล้ว ในฐานะรัฐภาคีจึงควรใช้มาตรการที่จำเป็นทั้งหมดเพื่อป้องกันการบังคับให้สูญหายและไม่ให้ผู้กระทำลอยนวลพ้นผิดเนื่องจากความผิดฐานบังคับให้สูญหาย
คดีดังกล่าว สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557 นายบิลลี่ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย ถูกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวและได้หายตัวไปในระหว่างการควบคุมตัวดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2557 ภรรยาของนายบิลลี่จึงดำเนินการใช้มาตรการทางกฎหมาย โดยยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 ต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ พิเศษ 1/2557 เพื่อขอให้มีการไต่สวนฉุกเฉิน ในการค้นหาความจริงของการควบคุมตัวนายบิลลี่
ต่อมาศาลจังหวัดเพชรบุรีและศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาในทำนองเดียวกันว่า จากการไต่สวนพยานทั้งปากนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และเจ้าหน้าที่อุทยาน 4 คน รวมถึงนักศึกษาฝึกงาน 2 คน ให้การสอดคล้องกันว่าได้มีการปล่อยตัวนายบิลลี่ไปแล้ว พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบยังรับฟังไม่ได้ว่ามีการคุมขังนายบิลลี่ไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำร้องขอผู้ร้องจึงไม่มีมูล
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2558 นางสาวพิณนภา ผู้ร้อง จึงได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในประเด็นดังต่อไปนี้
1. เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมีหน้าที่ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 แต่เนื่องจากเจ้าหน้าที่ฯ มีความขัดแย้งกับนายบิลลี่ในกรณีการเผาทำลาย ไล่รื้อ บ้านเรือนและทรัพย์สินของชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จึงอาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฯ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินคดี และนำไปสู่การควบคุมตัวนายบิลลี่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันอาจทำให้เกิดอันตรายต่อเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของนายบิลลี่
2. การพิสูจน์ว่านายบิลลี่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้วหรือไม่นั้น โดยหลักการรับฟังพยานหลักฐาน ภาระการพิสูจน์เป็นของฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในการควบคุมตัว ไม่ใช่ภาระการพิสูจน์ของญาติผู้ถูกควบคุมตัว และตุลาการจะต้องทำหน้าที่ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานให้ถึงที่สุดว่านายบิลลี่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้วจริง เมื่อไม่ปรากฏหลักฐานบันทึกการจับ บันทึกของกลาง และบันทึกการปล่อยตัว จึงไม่อาจเชื่อได้ว่านายบิลลี่ได้รับการปล่อยตัวไปแล้ว และเชื่อได้ว่านายบิลลี่ยังคงอยู่ในการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ฯ
3. พยานที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับฟังล้วนแล้วแต่อยู่ใต้บังคับบัญชาและการดูแลของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ซึ่งเบิกความขัดแย้งกับคำให้การในชั้นสอบสวนในประเด็นการปล่อยตัวนายบิลลี่อันเป็นข้อสำคัญในคดี โดยพนักงานสอบสวนได้พบพยานหลักฐานใหม่ที่ยืนยันว่า นายบิลลี่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว จึงขอให้ศาลฎีกาไต่สวนพยานเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวเนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่ภายหลังการพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์และมีสาระสำคัญถึงขนาดที่จะทำให้เปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลฎีกาได้