วันแรงงาน’ 59 – ขบวนแรงงานร้องรัฐขึ้นค่าจ้าง คุมราคาสินค้า รับอนุสัญญา ILO ปฏิรูปประกันสังคม

วันแรงงาน’ 59 – ขบวนแรงงานร้องรัฐขึ้นค่าจ้าง คุมราคาสินค้า รับอนุสัญญา ILO ปฏิรูปประกันสังคม

1 พ.ค. 2559 เนื่องในวันกรรมกรสากล หรือวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม ในปีนี้ขบวนของผู้ใช้แรงงานทั้งแรงงานในระบบ นอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ยังคงจัดกิจกรรมเดินขบวนกันอย่างคึกคัก

สมานฉันท์แรงงานไทยยัน 6 ข้อสนอเดิม

voicelabour.org รายงานว่า ในส่วนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) และองค์กรสมาชิกจากกลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ ได้มีการยื่นข้อเรียกร้อง 6 ข้อ ต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2559 แล้ว ซึ่งในวันนี้ก็ได้มีการเดินรณรงค์จากหน้ารัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

20160205023423.jpg

ที่มาภาพ: voicelabour.org

ข้อเรียกร้องที่จะเสนอต่อรัฐบาล 6 ข้อ มีรายละเอียด ดังนี้

1. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง เพื่อให้กลไกของลูกจ้าง สหภาพแรงงาน เป็นส่วนช่วยให้คนงานเข้าถึงสิทธิ และเป็นกลไกในการเป็นเกราะป้องกันไม่ให้คนงานถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นส่วนช่วยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน การค้ามนุษย์ที่ประเทศไทยถูกจับตามองเป็นพิเศษจากสังคมโลก และรัฐบาลยังไม่มีกลไกที่ดีพอในการแก้ไขปัญหา การรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นโอกาสที่ดีของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่งจะได้รับความนิยม ความชื่นชมจากนานาชาติ

2. รัฐต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจหรือการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ตามข้อเสนอของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ที่ได้ยื่นต่อรัฐบาลก่อนหน้านี้ โดยสาระสำคัญให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการขยายงาน การพัฒนาศักยภาพหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในการให้บริการประชาชน และยุติการแทรกแซงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ ปรับโครงสร้างการบริหารงานรัฐวิสาหกิจใหม่ ให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วยภาครัฐ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชน เพื่อให้เกิดระบบธรรมาภิบาล ความโปร่งใส สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกัน

3. รัฐต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการวางมาตรการอย่างเข้มข้นต่อการละเมิดสิทธิแรงงาน การคุกคาม และการเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงานในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่นายจ้างมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมายแม้ในยามที่รัฐบาลประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมถึงข้อจำกัดของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ที่จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงาน ในการนัดหยุดงาน การปิดงาน การเจรจาต่อรอง และการไม่พยายามบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีที่นายจ้างของสถานประกอบการบางแห่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน

4. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม ให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าที่มีรายได้พอเพียงเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ทั้งนี้ โครงสร้างค่าจ้างของแรงงานให้มีการปรับค่าจ้างทุกปี โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ ทักษะฝีมือ และลักษณะงาน และรัฐจะต้องทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ในปี พ.ศ.2557 และปี พ.ศ. 2558 ซึ่งในปัจจุบันจากผลสำรวจค่าใช้จ่ายของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ แรงงานจะอยู่ได้ต้องมีค่าจ้างวันละ 360 บาท ต้องเท่ากันทั่วประเทศ และรัฐต้องยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด

5. รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ (ประธานกรรมการและเลขาธิการต้องเป็นมืออาชีพ มาจากการสรรหา ผู้ประกันตนต้องมีส่วนร่วมการเลือกตั้งผู้แทนโดยตรง) กำหนดให้ประกันสังคมถ้วนหน้าของคนทำงานทุกคนโดยการคุ้มครอง ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม มีสิทธิประโยชน์ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน และการปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์ กรณีสงเคราะห์บุตร เดิม 400 บาท/ต่อเดือน เพิ่มเป็น 600 บาท/ต่อเดือน รวมถึงการยกเลิกการใช้เงินที่ไม่เกิดประโยชน์ ไม่ครอบคลุมผู้ประกันตนทุกคน เช่น การทำปฏิทิน การทำเสื้อวันแรงงาน การจัดอบรมเรื่องสิทธิประโยชน์ประกันสังคม รวมถึงการใช้เงินไปดูงานต่างประเทศที่ไม่ได้นำมาพัฒนาระบบบริหารจัดการที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ประกันตน ให้ยกเลิกไป

6. รัฐบาลต้องดำเนินการจัดตั้งธนาคารแรงงาน ให้เป็นของผู้ใช้แรงงาน เพื่อผู้ใช้แรงงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจให้กับผู้ใช้แรงงาน ในการสร้างฐานเศรษฐกิจและเพื่อเป็นแหล่งทุน และส่งเสริมการออมให้กับผู้ใช้แรงงาน

20160205023448.jpg

ที่มาภาพ: Nok Voice Labour 

 

ขบวนสภาองค์การลูกจ้างยื่น 15 ข้อถึงนายกฯ

ด้านกลุ่มสภาองค์การลูกจ้าง 15 แห่ง และ 1 สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ บางส่วนได้เดินรณรงค์จากลานพระบรมรูปทรงม้าไปยังท้องสนามหลวง เพื่อร่วมกับสภาองค์การลูกจ้างสภาลูกจ้างแห่งชาติ (สสช.) ในฐานะประธานจัดงานวันแรงงานชาติปี 2559 ยื่นข้อเรียกร้องแก่ พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีข้อเรียกร้องของขบวนผู้ใช้แรงงาน ดังนี้

1. ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่87 และ98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรอง

2. ให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ พร้อมทั้งควบคุมราคาสินค้าอุปโภค และบริโภค 

3. ให้รัฐบาลปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน ดังนี้

3.1 ให้แก้ไขกฎกระทรวงเกี่ยวกับบัตรรับรองสิทธิให้ใช้ได้ทุกโรงพยาบาล

3.2 ให้ประกาศให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ที่ขาดจากการเป็นผู้ประกันตน เข้ามาขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้ใหม่ ตามระยะเวลาที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด

3.3 ให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนประกันสังคมมาตรา 40

3.4 ให้ยกระดับการจ่ายค่ารักษาพยาบาลทางการแพทย์กรณีเจ็บป่วย อุบัติเหตุฉุกเฉิน ตามความเป็นจริง

3.5 ให้เพิ่มเงินทดแทนการขาดรายได้จากอุบัติเหตุจากการทำงานเดิม 60% เพิ่มเป็น 100% ของค่าจ้าง

4. ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการนำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมของผู้ใช้แรงงานเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

5. ให้รัฐบาลตรากฎหมายตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับลูกจ้างในกรณีที่สถานประกอบกิจการปิดกิจการ เลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงในการทำงาน

6. ให้รัฐบาลยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้กรณีค่าชดเชยของลูกจ้างภาคเอกชนและเงินตอบแทนความชอบของพนักงานรัฐวิสาหกิจ รวมถึงเงินได้อื่นๆ ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้ายของลูกจ้าง

7. ให้รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกา การจัดเก็บเงินสะสม และเงินสมทบเพื่อเป็นกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างตามบทบัญญัติว่าด้วยเงินกองทุนสงเคราะห์ ในหมวด 13 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 (มาตรา 163)

8. ให้รัฐบาลสนับสนุนและผลักดันกฎหมายพัฒนารัฐวิสาหกิจและยุตินโยบายการแปรรูปหรือแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจให้เป็นบริษัทเอกชน หรือยุบรัฐวิสาหกิจ

9. ให้รัฐบาลยกระดับสำนักความปลอดภัยแรงงาน เป็นกรมความปลอดภัยแรงงาน

10. ให้รัฐบาลจัดงบประมาณสนับสนุนมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

11. ให้รัฐบาลบังคับให้สถานประกอบกิจการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 11/1 โดยเคร่งครัด

12. ให้กระทรวงแรงงานเร่งปรับปรุงกฎหมายเพื่อคุ้มครองส่งเสริม และพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบให้มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบ หน่วยงาน และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และจัดตั้ง “กรมคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนา คุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ” ขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ

13. ให้กระทรวงแรงงาน จัดงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัยลูกของแรงงานที่ตั้งขึ้นมาแล้วอย่างต่อเนื่อง

14. รัฐบาลต้องจัดให้มีระบบบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า เพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ครอบคลุมประชากรทุกคน และเพียงพอต่อการดำรงชีวิตไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจนหรือสัดส่วนรายได้เฉลี่ยของประเทศไทย

15. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติปี 2559

 

สหพันธ์แรงงานสิ่งทอ ขอค่าจ้าง 421 – คสช.คืนประชาธิปไตย

ด้านประชาไทรายงานว่า สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย (ส.พ.ท.) ได้ออกแถลงการณ์ วันกรรมกรสากล โดยเสนอประเด็นต่าง ๆ ให้ผู้ใช้แรงงานและประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ร่วมกันรณรงค์ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ 1. รัฐบาล คสช.ต้องคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนโดยเร็ว 2. สังคมไทยต้องเป็นรัฐสวัสดิการ 3. ค่าจ้างต้องเพียงพอต่อการดำรงชีพและเป็นธรรมคือวันละ 421 บาท

4. รัฐต้องให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในสมาคมและคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาฯฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ฉบับที่ 135 ว่าด้วยการคุ้มครองและอำนวยความสะดวกแก่ผู้แทนสหภาพแรงงานในการปฏิบัติหน้าที่ และฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองครรภ์มารดา 5. รัฐต้องจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อการพัฒนาสหภาพแรงงาน 6. รัฐต้องจัดเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า และ 7. สตรีมีสิทธิ์ทำแท้งเมื่อไม่พร้อมมีบุตร

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเรื่องต่าง ๆเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม โดยเร่งด่วนและเป็นการคืนความสุขให้ประชาชนอย่างแท้จริง

แถลงการณ์ของสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ยังระบุด้วยว่า 1 พ.ค.ของทุกปีเป็นวันกรรมกรสากล หรือ May Day สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ได้เข้าร่วมจัดกิจกรรมวันกรรมกรสากลเหมือนเช่นทุกปี เพื่อร่วมรำลึกถึงวันที่กรรมกรทั่วโลกลุกขึ้นสู้เพื่อชีวิตใหม่ ต่อต้านการบังคับข่มขู่ และการกดขี่ข่มเหงทุกรูปแบบ ให้คนหลุดพ้นจากความหิวโหย ความยากแค้นและไร้ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ถึงแม้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรรมกรและประชาชนผู้รักความเป็นธรรมได้ต่อสู้มาอย่างต่อเนื่อง แต่หาได้หลุดพ้นจากความหิวโหย การกดขี่ ขูดรีด หรือมีสิทธิเสรีภาพมากกว่าเดิมไม่ อันเนื่องมาจากว่าพวกเรายังไม่สามารถหลุดพ้นจากกรอบความคิดแบบอนุรักษ์นิยม โดยเฉพาะในปัจจุบันการกดขี่ขูดรีดจากระบบทุนต่าง ๆ ยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

จากสถานการณ์ทางการเมืองในอดีตชนชั้นปกครองไทย ได้ใช้กำลังความรุนแรง และปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนอย่างโหดเหี้ยมหลายครั้ง เช่น การรัฐประหาร 2490 การรัฐประหาร 2501 เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 การรัฐประหาร 2549 การปราบปรามประชาชน เดือนเมษายน 2552 และเมษายน-พฤษภาคม 2553

“ปัจจุบันความขัดแย้งในสังคมไทยเป็นความขัดแย้งทางชนชั้น เนื่องจากกลุ่มทุนอนุรักษ์นิยม ต้องการทำลายขบวนการกรรมกร ขบวนการประชาชนผู้รักประชาธิปไตย ซึ่งพวกเขาจะใช้กลไกลรัฐทุกอย่างเป็นเครื่องมือกำจัดขบวนการประชาธิปไตยของประชาชนจนนำมาสู่การรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นับวันความขัดแย้งยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการทำรัฐประหารของชนชั้นปกครองเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ทำให้การพัฒนาสร้างสรรค์ประเทศในทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หยุดชะงักและไม่รู้เมื่อไหร่ประเทศจะกลับคืนสู่ภาวะปกติ ตามระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากลนิยมที่ทั่วโลกยอมรับ” แถลงการณ์สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในส่วนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียงร่วมรณรงค์วันกรรมกรสากลเดินขบวนยื่นหนังสือต่อนายสุรชัย ขันอาสา ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี โดยมีข้อเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างที่เป็นธรรม 421 บาท ให้รัฐรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับ 87 และ98 ว่าด้วยสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม รัฐต้องจัดสวัสดิการให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน รัฐต้องส่งเสริมและคุ้มครองความปลอดภัยในสถานประกอบการ และประกันสังคมต้องเพิ่มสิทธิประโยชน์การทำฟันฟรีทุกกรณี

20160205023700.jpg

ที่มาภาพ: Adda Suzuki

 

นายกฯ ปราศรัยเปิดงานวันแรงงาน 59 รับข้อเรียกร้อง 15 ข้อ แต่ไม่รับปากทำได้หมด

20160205024734.jpg

ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th

กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ปะรำพิธีท้องสนามหลวง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2559 ภายใต้คำขวัญวันแรงงานแห่งชาติปี 2559 “แรงงานพัฒนา พาเศรษฐกิจมั่นคง ดำรงชาติ ศาสน์ กษัตริย์” โดยมี พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงานข้าราชการ สภาองค์การลูกจ้าง 17 องค์กร องค์กรรัฐวิสาหกิจ และเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ร่วมงานอย่างพร้อมเพรียง 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า วันนี้ถือว่าโชคดีที่อากาศไม่ร้อนเหมือนปีที่ผ่านมา เพราะก่อนวันแรงงานฝนตกลงมาแสดงว่าทุกอย่างกำลังเริ่มจะดี แต่ทุกอย่างย่อมต้องมีเมฆหมอกฝนฟ้าและพายุ แต่พอสงบแล้วทุกอย่างจะสว่างสดใส ตนเองก็จะได้สบายใจและมีความสุขขึ้นอีกนิดหนึ่ง ส่วนสถานการณ์ปัจจุบันเราต้องเร่งสร้างความรับรู้ว่ารัฐบาลได้ทำได้แล้วบ้าง และอะไรที่ไม่ได้ทำ อะไรที่ยังอยู่ในกระบวนการ ส่วนข้อเรียกร้องทั้ง 15 ข้อที่ทางคณะกรรมการแรงงานเสนอมานั้นจำได้ว่าปีที่แล้วบางข้อก็ขอมา บางอย่างก็ทำไปบ้างแล้ว ซึ่งก็จะมีการพิจารณาต่อไป แรงงานถือเป็นกลไกสำคัญของประเทศ ถือเป็นเครื่องจักรที่มีอยู่หลายส่วนทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม กฎหมาย คุณธรรม ซึ่งเครื่องจักรทุกตัวต้องช่วยกันเพื่อเดินหน้าประเทศ 

นายกฯ กล่าวว่า ในส่วนรัฐบาลมีวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ให้เร็วที่สุด อย่างน้อย 5 ปีข้างหน้าเราจะต้องเป็นประเทศที่มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ทั้งหมดจะหยุดในแผนของสภาพัฒน์ฯ แผนฉบับที่ 12-15 ทุก 5 ปีเราจะต้องมีการพัฒนา ซึ่งแรงงานก็อยู่ในส่วนนี้ด้วย ขอร้องว่าเราอย่ามองวันนี้หรือพรุ่งนี้เท่านั้น เราต้องมองไปถึง 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยต้องพัฒนาไปเป็นประเทศ 4.0 ในส่วนของภาคแรงงานรัฐบาลยืนยันว่าจะดูแลทุกภาคส่วนทั้งแรงงานในระบบและแรงงานอิสระ ซึ่งดีใจที่วันนี้ผู้ประกอบอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็มาอยู่ในนี้ด้วย ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากกองทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่ จะดูแลคุ้มครองคุณภาพของแรงงาน สิ่งสำคัญนอกจากแรงงานในประเทศแล้วก็ต้องมองไปถึงแรงงานนอกประเทศด้วยเพื่อที่เราจะได้ส่งเสริมแรงงานต่าง ๆ ให้ตรงกับความต้องการเพราะอีกไม่กี่ปีเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนแปลงเข้าสู่โลกยุคใหม่ มีการใช้คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์มากขึ้น การใช้แรงงานไม่มีฝีมือจะลดลง เราต้องเตรียมความพร้อม ขณะเดียวกันแม้เราจะมีแรงงานเป็นล้านคนแต่ความต้องการก็ยังไม่เพียงพอกับบางกิจการ ดังนั้นทุกคนจะต้องเพิ่มพูนความรู้ของตัวเอง วันข้างหน้าจะได้สามารถเลือกงานหรือโรงงานได้ 

“15 ข้อที่ขอมานั้น พูดกันมา 2 ปีแล้ว แต่จะให้กลับจากหน้ามือเป็นหลังมือสักทีเดียวแล้วให้เกิดคงไม่ได้ เพราะมันพันกันหลายอย่าง ก็ต้องมาดูว่าจะส่งผลกระทบกับคนส่วนใหญ่หรือไม่ขอให้เข้าใจด้วย ผมไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้ประเทศมีความเข้มแข็ง ประชาชนมีรายได้ ขอให้แรงงานทุกคนพัฒนาตัวเองให้มีความพร้อมกับโรงงานที่เรียกว่าอุตสาหกรรมใหม่ ผมไม่ต้องการให้มีการลดคนงาน หรือเงินเดือนเหมือนที่ต่างประเทศทำกัน และไม่ต้องห่วงรัฐบาลเองได้สนับสนุนและเอื้ออำนวยให้บริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุน ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มงาน อย่างปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) ที่ผ่านมามีปัญหามาก เราจำเป็นต้องแก้ทั้งระบบ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย กฎหมายที่เกี่ยวกับไอยูยูกว่า 90 ฉบับต้องออกใหม่ทั้งหมด ไม่รู้ว่าที่ผ่านมาทำอะไรกันอยู่ จนต้องมาเดือดร้อนทุกวันนี้ ถ้าทำให้ทุกอย่างดี มีมาตรฐานรวมทั้งกฎหมายที่สร้างความชอบธรรมก็จะไม่เกิดปัญหาหรือผลกระทบต่าง ๆ” นายกฯกล่าว 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า 30 ข้อที่รัฐบาลทำอยู่คือการสนับสนุนให้ทุกคนมีงานและมีรายได้ ไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกระบบ รวมถึงอาชีพอิสระ ทุกคนต้องมีค่าตอบแทนที่ดีและเป็นทำสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์มา 70 ปี สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระชนมายุปีนี้ 84 พรรษา ตนไม่ได้บอกหวย แต่อยากจะบอกว่าทั้งสองพระองค์ทรงทำงานหนัก เราทุกคนจึงควรทำงานถวาย 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้แรงงานต้องมีหลักประกันความมั่นคง มีการจัดรัฐสวัสดิการเหมาะสม สร้างความเข้มแข็งในด้านทักษะแรงงาน วันหน้าค่าแรงจะต้องมากกว่า 400 – 500 บาท แต่เราต้องปรับปรุงตัวเองด้วย โดยในปี 2560 จะเกิดโรงงานใหม่ๆ 5 – 6 พันแห่ง เนื่องจากโรงงานเก่าๆ ต้องปิดตัว โรงงานใหม่เป็นโรงงานที่มีเทคโนโลยีทันสมัยมากขึ้น ขณะนี้เรากำลังมีการพัฒนาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ จะมีการสร้างรถไฟเยอะแยะ ซึ่งต้องมีการจ้างแรงงาน หลังจากเราหยุดพัฒนาไประยะหนึ่ง วันนี้ต้องมาเร่งให้เร็วขึ้น สิ่งที่รัฐบาลและคสช.ทำวันนี้เหมือนหัวขบวนที่คอยขับเคลื่อนประเทศ เพราะหยุดนิ่งมานาน แต่เวลานี้แรงแทบไม่พอ ต้องช่วยกันเข็น เพราะตนเหมือนคนขับหัวรถจักรที่แรงน้อยเต็มทีมาเดินหน้า ถ้าแรงส่งไม่พอทุกคนต้องช่วยกันเข็น อย่าเป็นรถที่สวนขบวนมาก็แล้วกัน แล้วไม่ใช่ปล่อยให้หัวรถจักรไปแค่หัวเดียวแล้วขบวนไม่ตามมา ปล่อยให้พุ่งชน ควรไปกันทั้งขบวนอย่างมั่นคง ซึ่งต้องแก้ปัญหาเป็นชั้น ๆ จากอดีตที่ไม่ได้มองดูเลยว่าจะเอาเงินมาจากไหน ท่ามกลางการส่งออกที่ลดลงจากปัญหาเรื่องของคุณภาพ นวัตกรรมที่ไม่เพียงพอ อย่ามองว่าประเทศเราเป็นประเทศเล็ก แต่เป็นประเทศใหญ่ และแรงงานบ้านเรามีความขยัน ดังนั้น เราต้องพัฒนาตัวเองเพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอ 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า อย่างเรื่องของการศึกษารัฐบาลก็พยายามปฏิรูปในเรื่องของ 5 แท่ง ใช้มาตรา 44 เข้าไปแก้ปัญหา ไม่เหมือนในอดีตที่งบประมาณแตกออกไปหมดจนรวมกันไม่ได้ ตนไม่อยากพูดปัญหาเก่าๆ แต่ต้องพูดเพื่อเล่าถึงความเป็นมาของปัญหา ดังนั้น แรงงานต้องเรียนรู้เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของแรงงาน ผู้ประกอบการเองต้องมีส่วนช่วยให้แรงงานของตัวเองได้ศึกษาต่อ เพราะวันนี้โลกแข่งขันกันสูง และเราเองอยากให้ประเทศชาติสงบเรียบร้อยอยู่แบบนี้เพื่อเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตย ไม่ใช่มาทะเลาะกัน ขอแค่ 5 ปี ให้มั่นใจว่าสิ่งที่ได้ทำมาไม่ได้ล้มเหลว และที่ทำไม่ได้หวังแม้แต่คะแนนเสียงเดียว เพียงแต่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกคน ยืนยันรัฐบาลดูแลทุกภาคส่วนเท่าเทียมกัน ส่วน 15 ข้อเรียกร้องของแรงงานนั้นตนรับไปดู แต่ไม่รับปากว่าจะทำได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ตนกำลังขอความร่วมมือกับมิตรประเทศในเรื่องของการจ้างแรงงานที่ขณะนี้พบว่าต่างประเทศมีความต้องการแม่บ้านที่มีทักษะในการดูแลเด็กและผู้สูงอายุ รวมถึงแม่ครัวร้านอาหารไทยจำนวนมาก ซึ่งแรงงานเหล่านี้ได้เงินมหาศาล เดี๋ยวรัฐบาลจะเปิดช่องทางหาคนที่มีอาชีพเหล่านี้ไปทำงานต่างประเทศ 

นายกฯ กล่าวว่า อยากให้ดูการสาธิตฝีมือแรงงานในโทรทัศน์ที่มีทุกช่อง นอกจากดูละคร ตนไม่ได้รังเกียจละคร สมัยก็ดู แต่เดียวนี้ไม่ดูเพราะมาเจอละครชีวิตจริง ตนเปิดดูทีวีไล่ไปหลายช่องเจออะไรก็จำมา อยากให้คิดแบบนี้ แรงงานคนไหนยังไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม ให้เข้ามา วันหน้าต้องสนับสนุนภาคการรวมกลุ่มการผลิตให้ได้ สหพันธ์แรงงานก็ต้องไปดูผู้ที่ประกอบการอยู่ที่บ้านด้วย ประเทศไทยมีคนว่างงานไม่ถึงร้อยละ 1 ส่วนที่ไม่ว่างงานเพราะขยันต่อสู้ รัฐบาลต้องเสริมตรงนี้ ป้องกันเรื่องการหลอกลวงผิดกฎหมาย โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ หรือที่ยังไม่จดทะเบียนมักจะถูกรังแก รวมถึงต้องมีการปรับปรุงการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อให้ผู้ประกอบการมั่นใจ 

นายกฯ กล่าวว่าปัญหาการค้ามนุษย์ รัฐบาลนี้ไม่มีการปล่อยปะละเลยเหมือนเมื่อก่อน ใครเห็นสิ่งที่เป็นปัญหาหรือเดือดร้อนให้แจ้งมา ใครเรียกรับผลประโยชน์ หรือทุจริตจะตรวจสอบทันที สถานประกอบการที่ไม่ผ่านการตรวจแรงงานใน 5 ปี ต้องตรวจทั้งหมด ถ้าพบไม่ถูกต้องจะเล่นงานผู้ประกอบการ แต่ถ้าดีอยู่แล้วก็อย่าไปประท้วง ผู้ลงทุนที่มาประเทศไทย เขาขออย่างเดียวให้ประเทศไทยสงบสุขแบบที่ตนเข้ามา โดยสิ่งที่เรากำลังดำเนินการในการปฏิรูปทุกระยะ เขาเห็นด้วยทุกประการ วันนี้ไม่ได้กลัวตนที่ว่าตนเข้ามาแบบนี้เขาไม่ขายของ เขาขายทุกคนอยู่ที่ว่าจะขายอย่างไรเท่านั้น เราต้องใช้เวลาเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ 

“วันนี้ต้องบริหารทั้งระบบทั้งรัฐ และผู้ประกอบการ และแรงงานทุกประเภท เพิ่มความร่วมมือกับต่างประเทศในยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศ อันไหนขาดก็เอามาช่วย ส่วนอันไหนที่ดีอยู่แล้วให้ยกเป็นหัวหน้างาน แค่นี้เราก็รวยกันเละแล้ว ประเทศแข็งแรง ที่ผ่านมามีการทำรายจ่ายแบบเกินดุล วันนี้สิทธิในการรักษาฟรีทั้งคนรวย คนจนเท่ากันหมด เป็นสิทธิที่ไม่ว่ากัน ส่วนการศึกษาเรียนฟรี บางคนขอให้ถึงระดับอุดมศึกษา จริงแล้วตนเองอยากส่งให้ถึงระดับต่างประเทศเลยถ้ามีเงิน ซึ่งต้องปรับแก้ในห้วงระยะเวลานี้ไปก่อน แล้วจะต้องดีขึ้น นี่คือสิ่งที่อดทนทำทุกวันนี้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับแรงงานที่ได้รับสารพิษ ไปตรวจมาแล้วก็ฟังหมอบ้าง ส่วนโรงงานที่ได้มาตรฐานแล้วไม่อยากให้เกิด แล้วจะไปทำงานที่ไหนตนก็นึกไม่ออก ต้องทำให้มีคุณภาพ มีมาตรการป้องกันให้ดีขึ้น สิ่งที่มีปัญหาวันนี้คือโครงการลงทุนของรัฐ 4 แสนกว่าล้าน ทำไม่ได้ เพราะมีแรงต้านจากหลายฝ่าย ถ้าปีหน้าทำไม่ได้เงินก็จะค้างท่อ และแรงงานก็ไม่มีงานทำ อยากให้แรงงานทุกคนเป็นเหมือนสมาชิกขององค์กร เพื่อสร้างจริยธรรม ถ้าเราเรียกร้องเกินไปบริษัทก็ต้องปิดตัว เดือดร้อนไปหมด แต่ถ้ามีสิ่งใดไม่เป็นไปตามกฎหมายให้บอกเราจะแก้ให้ ขณะที่การคุ้มครองลูกจ้างผู้ประกันตน เรากำลังทำอยู่ทั้งหมด รวมถึงครอบคลุมแรงงานที่ทำงานบ้าน วันนี้ก็มีค่ารักษาฟันเพิ่มขึ้น ขณะนี้อยู่ในกระบวนการ นี่คือสิ่งที่เพิ่มมาจากค่าแรง 300 บาทที่เราไม่รู้ตัว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ