ลงพื้นที่กับทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS : ตอนที่ 2 น่าอิจฉาคนที่อยู่ในป่า

ลงพื้นที่กับทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS : ตอนที่ 2 น่าอิจฉาคนที่อยู่ในป่า

บันทึกการเดินทาง  ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน กับทีมนักข่าวพลเมือง Thai PBS
ตอนที่ 2 น่าอิจฉา… คนที่อยู่ในป่า

ฝนที่บ้านทับเขือ-ปลักหมูในเทือกเขาบรรทัด ตกๆหยุดๆ เป็นธรรมชาติของผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีครั้งหนึ่งผมกำลังยกกล้องขึ้นมาเพื่อสัมภาษณ์ชาวบ้านให้ชี้ว่าเขตตรงไหนคือเขตโฉนดชุมชน ตรงไหนคือเขตอุทยานแห่งชาติ คุยกันอยู่ดีๆ ท้องฟ้าก็แจ่มใส แต่สักพักฝนก็ตกปรอยลงมา ผมวิ่งไปหลบในสวนต้นยางที่ยังพอจะกันฝนได้บ้าง ในขณะเดียวกันชาวบ้านกลับค่อยๆเดิน มาหลบฝน นึกในใจว่านี่เรากลัวฝนหรือนี่ หรือเพราะว่าเราอยู่ในเมืองนาน จนค่อยๆเหินห่างจากธรรมชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

ในวันที่ 2 ที่ผมตามทีมพี่โต้ง Thai PBS ลงภาคใต้ไปอบรมนักข่าวพลเมือง จ.ตรัง ตามแผนการอบรมคือวันนี้จะให้ชาวบ้านที่มาอบรม ลงพื้นไปทำข่าวจริงๆ บางส่วนก็ทำข่าวอยู่ในบริเวณพื้นที่การฝึกอบรมนั่น บางส่วนก็เก็บภาพและมีประเด็นที่จะสื่อสารแล้ว และบางส่วนก็ไปทำข่าวที่บ้านทับเขือ-ปลักหมู เทือกเขาบรรทัด การเดินทางเข้าไปในบ้านทับเขือยากลำบากมากๆ ต้องใช้มอเตอร์ไซค์ที่เบรกแข็งแรง ขับไต่ขึ้นเขา ระหว่างที่ผมกำลังนั่งซ้อนมอเตอร์ของชาวบ้านเพื่อขึ้นไปทำข่าวนั่น ก็คิดว่า “โห… เดินทางกันลำบากแบบนี้เวลาจะลงไปซื้อของ หรือซื้อกับข้าวล่ะทำยังไง ข้างบนนั่น Seven ไม่มีแน่ๆ” พอขึ้นไปถึงที่บ้านทับเขือแล้วที่หนักกว่าไม่มี Seven เสียอีก คือที่นี่ไม่มีไฟฟ้า มีเพียงแผงโซล่าเซล ซึ่งผมคิดว่าให้ปริมาณไฟฟ้าไม่เพียงพอแน่ๆ ผมเกิดคำถามขึ้นว่าถ้าเป็นเรา เราอยู่จะได้หรือไม่ แล้วชาวบ้านเขามีความคิดอย่างไรกับการใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ โดยปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวก เหมือนกับที่เราเคยชิน

พี่จิ๋ว เป็นชาวบ้านทับเขือซึ่งพาผมกับชาวบ้านที่มาจากอีกชุมชนหนึ่งเดินดูชุมชนของตนเอง เมื่อผมมองไปรอบๆข้าง ก็มีแต่ต้นยางที่ปลูกตามแนวเชิงเขาตัดกับภูเขาสูงใหญ่ที่อยู่เบื้องหน้า เมือหยุดตัวนิ่ง ก็ได้ยินแต่เสียงลมพัด และเสียงใบไม้ที่เสียดสีกัน เมือหายใจเข้าไปลึกๆ ก็มีแต่อากาศที่บริสุทธิ์ ที่ทำให้รู้สึกสดชื่น พี่จิ๋วชี้ให้ดูว่าที่นี่มีการทำเกษตร 4 ชั้นเพื่อปลูกพืชผักสวนครัว และปลูกผลไม้เก็บกิน

เกษตร 4 ชั้นเป็นการปลูกพืชที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของพืชที่มีความสูงต่างกัน เพื่อรักษาระบบนิเวศ และความสมดุลตามธรรมชาติ และเป็นการใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด พืชที่ปลูกในชั้นที่ 1  ซึ่งเป็นชั้นบนสุด เป็นไม้ยืนต้นเช่น ต้นยาง ทุเรียน หมาก จำปาดะ ชั้นที่ 2 จะปลูกต้นไม้ที่ความสูงกลางๆ เช่นมังคุด ลองกอง ชั้นที่ 3 ปลูกพืชที่ไม่ใช่ไม้ยืนต้นเช่น พริก มะเขือ ผักเหลียง ผักป่า ส่วนชั้นที่ 4 ปลูกพันธุ์พืชที่มีหัวในดิน เช่น ข่า ขมิ้น กลอย เป็นต้น
ผมถามชาวบ้านหลายคนที่นั่นว่าถ้าให้เลือกระหว่างอยู่ในป่า กับอยู่ในเมือง พวกเขาจะเลือกอะไร คำตอบออกมาเป็นเอกฉันท์ว่าขออยู่ในป่าดีกว่า มีชาวบ้านคนหนึ่งบอกว่าเคยลงไปอยู่ในเมืองมาแล้วตอนสมัยยังเป็นหนุ่มๆ ไปทำงานในเมือง วุ่นวายทั้งสังคม และวุ่นวายทั้งคน เราอยู่ของเราแบบนี้ดีกว่าสบายทั้งกาย และทั้งใจ

อาจเป็นเพราะธรรมชาติที่ไร้การปรุงแต่ง ส่งผลให้จิตใจของชาวบ้านที่นี่ ก็ไร้ซึ่งการปรุงแต่งเช่นเดียวกัน น่าคิดว่าสังคมเมืองที่มีแสงสี เต็มไปด้วยการการปรุงแต่งนั้น ส่งผลต่อจิตใจของคนเมืองด้วยหรือไม่ จนทำให้สังคมในเมืองวุ่นวาย และคนก็วุ่นวาย

ชาวบ้านทับเขือ-ปลักหมู เทือกเขาบรรทัดจังหวัดตรังที่ผมได้ขึ้นมาสัมผัสชีวิตความเป็นอยู่ ในครั้งนี้ คงจะมีความสุขมากกว่านี้ครับ ถ้าไม่ต้องต่อสู้กับรัฐ ที่ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับที่ทำกินของชาวบ้าน ซึ่งได้อยู่อาศัยในพื้นที่แห่งนี้มาอย่างยาวนาน เพียงเท่านั้นยังไม่พอ ยังถูกดำเนินคดีข้อหาทำให้โลกร้อนเพียงเพราะปลูกพืชผักสวนครัวและกรีดยางหารายได้เลี้ยงตัวเองเท่านั้น

ถ้ารัฐคือคนเมือง ที่ผมบอกว่าสังคมเมืองที่มีแสงสี เต็มไปด้วยการปรุงแต่งนั้น ส่งผลต่อจิตใจของคนเมืองด้วยหรือไม่ จนทำให้สังคมในเมืองวุ่นวาย และคนก็วุ่นวาย คงเป็นเรื่องจริง อย่างปฏิเสธไม่ได้ครับ คนในเมืองวุ่นวายยังไม่พอ ยังพลานวุ่นวายมาถึงคนในป่าอีกเสียด้วย …

//////////////////////////////

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ