ร่าง พ.ร.บ.แร่ ผ่านวาระ 1 สนช.ตั้ง กมธ.ศึกษารายละเอียด 60 วัน

ร่าง พ.ร.บ.แร่ ผ่านวาระ 1 สนช.ตั้ง กมธ.ศึกษารายละเอียด 60 วัน

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติ 148 ต่อ 1 เสียง ผ่าน พ.ร.บ.แร่ วาระที่ 1 แล้ว สั่งตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณารายละเอียดใน 60 วัน ก่อนตีกลับ สนช.เห็นชอบ

20161703173229.jpg

17 มี.ค. 2559 สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews เผยแพร่ข่าว ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (17 มี.ค.2559) มีมติ 148 ต่อ 1 เสียง รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. … พร้อมทั้งได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ เพื่อพิจารณารายละเอียดในประเด็นต่างๆ จำนวน 21 ราย โดยกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน ก่อนส่งกลับมาให้ สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

วัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เพราะที่ผ่านมามีบทเรียนเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเหมืองคลิตี้และเหมืองปิล็อค ที่ จ.กาญจนบุรี เหมืองทองคำที่ จ.พิจิตร

อย่างไรก็ตาม ขอตั้งข้อสังเกตในมาตรา 9 ที่ห้ามไม่ให้ทำเหมืองแร่ในพื้นที่ที่แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ กำหนดให้มีการสงวน หวงห้าม หรืออนุรักษ์ไว้ เว้นแต่มีความจำเป็นในทางเศรษฐกิจและไม่สามารถหาพื้นที่อื่นทดแทนได้ โดยต้องได้ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าต้องมีการกำหนดเด็ดขาดไม่จำเป็นต้องไปขอความเห็นชอบจาก ครม.

สนิท อักษรแก้ว สมาชิก สนช. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือคณะกรรมการแร่ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ และคณะกรรมการแร่ระดับจังหวัด ซึ่งเห็นว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการยังไม่ครอบคลุมตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข กรมประมง ตัวแทนจากกระทรวงกลาโหม เป็นต้น เนื่องจากบางพื้นที่เกี่ยวกับความมั่นคง บางพื้นที่ทำเหมืองในทะเล ซึ่งต้องมีตัวแทนบุคคลเหล่านี้ ในฐานะมีความรู้ความเชี่ยวชาญ

อรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า หาก ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะต้องทำแผนแม่บทว่าในการให้ประทานบัตร การทำเหมืองแร่ จะต้องปฏิบัติอย่างไรได้บ้าง ยืนยันว่าทาง ครม.ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และประชาชน

อนึ่ง ร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. … ที่ผ่านการพิจารณาวาระที่ 1 นั้น กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้จัดทำขึ้น มีทั้งสิ้น 188 มาตรา ซึ่งที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักวิชาการ นักอนุรักษ์ และเครือข่ายภาคประชาสังคมว่า สาระสำคัญอาจเข้าข่ายเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำ และให้อำนาจแก่ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มากเกินไป

อาทิ มาตรา 11 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ ให้ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดพื้นที่ใดๆ ให้เป็นเขตสำหรับดำเนินการสำรวจ การทดลอง การศึกษา หรือการวิจัยเกี่ยวกับแร่ได้

มาตรา 12 ระบุว่า เพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจประกาศกำหนดพื้นที่ให้เป็นเขตแหล่งแร่ เพื่อการทำเหมืองได้เป็นอันดับแรกก่อนการสงวน หวงห้าม หรือใช้ประโยชน์อย่างอื่นในพื้นที่นั้น โดยพื้นที่ที่จะกำหนดให้เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองแร่ได้

มาตรา 49 ระบุว่า เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการแร่และการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการแร่ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศเพื่อแบ่งการทำเหมืองออกเป็น 3 ประเภท โดยการทำเหมืองประเภทที่ 1 ได้แก่ การทำเหมืองในเนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ ให้เจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องที่ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการแร่จังหวัดที่มีการทำเหมืองเป็นผู้ออกประทานบัตร

ที่มา: สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม Greennews

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ