ภาพการควบคุมตัว จากเพจ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement – NDM
21 ม.ค. 2559 พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เผยแพร่แถลงการณ์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ‘ยุติการจับกุมผู้ต้องสงสัยตามหมายจับโดยวิธีการอุ้ม’ กรณีการควบคุมตัว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ ‘จ่านิว’ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา เมื่อเวลาประมาณ 22.30 น. ของวันที่ 20 ม.ค. 2559 บริเวณประตูเชียงรากหนึ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยกลุ่มบุคคลแต่งกายแบบทหาร
ต่อมาพบว่ามีการนำตัวสิรวิชญ์ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยบันทึกจับกุมของ สน.นิมิตรใหม่ได้ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับการประสานจากเจ้าหน้าที่ทหาร กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ค่ายจักรพงษ์ (ร.2 พัน 2 รอ.) ว่าได้เชิญตัวนายสิรวิชญ์มาให้ไปรับตัว ที่ ถ.ไมตรีจิตตัดนิมิตรใหม่
ภาพจากกล้องวงจรปิด นาทีที่จ่านิว (ใส่เสื้อสีขาว) โดนอุ้ม#ตามหาเพื่อน
Posted by ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement – NDM on Wednesday, January 20, 2016
แถลงการณ์มีรายละเอียด ดังนี้
แถลงการณ์ ยุติการจับกุมผู้ต้องสงสัยตามหมายจับโดยวิธีการอุ้ม
ตามที่เป็นข่าวในทางสาธารณะและสื่อออนไลน์ว่ามีการจับกุมนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว”นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แกนนำกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา เมื่อเวลาประมาณ 22.30 น. ของวันที่ 20 มกราคม 2559 โดยภายหลังมีการเผยแพร่ภาพวงจรปิดของทางมหาวิทยาลัยพบเห็นเป็นกลุ่มบุคคลแต่งกายแบบทหารมาด้วยรถกระบะจำนวนสองคัน เดินออกจากรถเข้าจับกุมชายใส่เสื้อสีขาวแล้วขึ้นรถกระบะขอออกไปจากบริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (ฝั่งประตูเชียงราก) ขณะนั้นนายสิรวิชญ์ฯ และเพื่อนจำนวนสองคนกำลังเดินบนทางเดินทางหลังจากการรับประทานอาหาร เพื่อนทั้งสองคนจึงเป็นพยานเห็นเหตุการณ์อย่างชัดเจนพร้อมกับกลุ่มประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง สถานที่เกิดเหตุอยู่บนถนนที่มีผู้คนสัญจรไปมา ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ซึ่งนอกจากเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพในร่างกายนายสิรวิชญ์แล้ว ยังเป็นการกระทำที่อุกอาจในพื้นที่สาธารณะที่คุกคามสิทธิมนุษยชนสร้างความหวาดกลัวในชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนเป็นการทั่วไปด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งมีหมายความว่า การจับกุมคุมขังลักพาหรือกระทำด้วยประการใดที่เป็นการลิดรอนเสรีภาพในร่างกายต่อบุคคล ซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ได้รับคำสั่งการสนับสนุนหรือการรู้เห็นเป็นใจจากเจ้าหน้าที่รัฐ และมีการปฏิเสธว่ามิได้มีการจับกุมคุมขังลักพาหรือการะการนั้น แม้ว่าการบังคับให้สูญหายในกรณีนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์เป็นเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง เพราะต่อมาได้มาการนำตัวมาส่งให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนิมิตรใหม่ ในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 21 มกราคม 2559 ดังปรากฎในบันทึกการจับกุมซึ่งจัดทำขึ้นในเวลา 03.00 น. โดยอ้างว่าเป็นการติดตามจับกุมตามหมายจับ
จากกรณีที่เกิดขึ้นนี้มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเห็นว่า การที่เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวและจับกุมผู้ต้องสงสัยตามหมายจับศาลทหารนั้นต้องกระทำตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา และซึ่งเป็นหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้และมาตรฐานระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน อีกทั้งต้องหลีกเลี่ยงการดำเนินการในเวลากลางคืน เนื่องจากนายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์มิได้เป็นผู้ต้องสงสัยในคดีที่มีความรุนแรงหรือมีพฤติกรรมไปในทางการใช้ความรุนแรง นายสิรวิชญ์เป็นนักกิจกรรมนักศึกษาที่ดำเนินกิจกรรมทางสังคมเพื่อการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งทางราชการสมควรมีวิธีการที่ละมุนละม่อมและการดำเนินการตามกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้กำหนดขึ้นเพื่อบุคคลทุกคนภายใต้กฎหมายเดียวกัน รวมทั้งผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมืองหรือผู้ที่ถูกออกหมายจับโดยศาลทหาร และหากมีการควบคุมตัวในสถานที่เปิดเผยซึ่งได้รับรองอย่างเป็นทางการ ต้องไม่ควบคุมตัวโดยปราศจากการติดต่อกับโลกภายนอก และจะต้องสามารถเข้าถึงทนายความและแพทย์ที่เป็นอิสระ เป็นต้น ด้วยสิทธิดังกล่าวเหล่านี้เป็นหลักประกันเพื่อคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ป้องกันการถูกซ้อมทรมานการอุ้มหายและการปฎิบัติอย่างไร้มนุษยธรรมและย่ำยีศักดิ์ศรี รวมทั้งสิทธิในชีวิตของผู้ถูกควบคุมตัวและจะปฎิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้กระทำความผิดมิได้
มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอเสนอให้นายกรัฐมนตรีโปรดดำเนินการดังนี้
1.ขอให้มีการตรวจสอบอย่างจริงจังและอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับเหตุการณ์คืนวันที่ 20 มกราคม ต่อเนื่องวันที่ 21 มกราคม 2559 ว่าเป็นการกระทำของผู้ใด หน่วยงานใด และขอให้มีการแสดงความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว และทำให้แน่ใจว่าจะไม่เกิดพฤติกรรมอุกอาจรุนแรงต่อนักกิจกรรมทางสังคม นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนอีก
2. เมื่อปรากฏว่ามีข้อเท็จจริงที่เชื่อได้ว่า การบังคับบุคคลให้สูญหาย ได้แก่ การจับ ควบคุมตัว ลักพาตัว หรือวิธีการอื่นใดในการทำให้บุคคลสูญเสียอิสรภาพ กระทำโดยตัวแทนของรัฐ บุคคลหรือกลุ่มบุคคลโดยการอนุญาต การสนับสนุน หรือ การรู้เห็นเป็นใจจากรัฐ และรัฐปฏิเสธการกระทำนั้น หรือโดยปกปิดชะตากรรม หรือสถานที่อยู่ของบุคคลนั้น ทำให้บุคคลนั้นต้องตกอยู่ภายนอกความคุ้มครองของกฎหมาย ขอให้มีการดำเนินการทั้งทางอาญาและทางวินัยต่อเจ้าหน้าที่ที่กระทำ สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำดังกล่าวด้วย
การอุ้มหายเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับให้สูญหาย โดยรัฐจะต้องไม่ยินยอมให้เกิดขึ้นได้อีกต่อไป ไม่ว่าจะสถานการณ์ เหตุผล หรือต่อบุคคลใดๆ ทั้งสิ้น
บันทึกการจับกุมจ่านิว จากเพจ ขบวนการประชาธิปไตยใหม่ New Democracy Movement – NDM