6 ปีปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองกับการขานรับของประเทศไทย
ระหว่างวันที่ 7-9 สิงหาคม 2556
ณ หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวัดสวนดอก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
วันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 6 ปีแล้ว ซึ่งในการจัดงานแต่ละครั้งที่ผ่านมานั้น ทาง คชท.ได้เลือกประเด็นที่สำคัญและเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในแต่ละปีมาเป็นแกนเรื่องหลักของงาน เริ่มตั้งแต่ปีแรกได้มีการประกาศตัวตนของชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยตามปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง (UNDRIP) ในปีถัดมาได้เน้นในประเด็นทางวัฒนธรรมเชื่อมกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติทุกรูปแบบ (CERD) ในปี 2552 มีจุดเน้นเรื่องการฟื้นฟูวิถีการจัดการทรัพยากรโดยชุมชนบนพื้นที่สูง หลังจากนั้นในปี 2553 ได้เน้นย้ำในเรื่องของการจัดการศึกษาทางเลือกสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย ต่อมาปี 2554 เป็นการแสดงจุดยืนในเรื่องอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย และเมื่อปี 2555 เป็นการจัดงานร่วมกับสำนักกิจการชาติพันธุ์ กรมการพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยมีประเด็นเน้นในเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ภายใต้ร่มพระบารมี
ปี 2556 นี้ ทางแกนนำและกองเลขานุการ คชท. ได้มีความเห็นร่วมกับภาคีองค์กรและเครือข่ายกัลยาณมิตร เพื่อจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย โดยเน้นประเด็นการติดตามความก้าวหน้า หลังจากมีการสถาปนาวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย รวมถึงร่วมวิเคราะห์ ถอดบทเรียนการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐและขบวนชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย นับตั้งแต่มีการประกาศรับรองปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง จากเวทีสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2550 ซึ่งสอดคล้องกับที่สหประชาชาติได้กำหนดจัดประชุมชนเผ่าพื้นเมืองโลกในระหว่างวันที่ 22-23 กันยายน 2557 เพื่อติดตามวิเคราะห์สรุปบทเรียนการดำเนินงานของรัฐภาคีนับตั้งแต่ได้มีการประกาศปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีสถานการณ์ที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นที่พึ่งพิงป่าอันเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะเผยแพร่ให้ข้อมูลกับพี่น้องชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย แกนนำชนเผ่าพื้นเมือง ที่ปรึกษา และกองเลขานุการ คชท.จึงได้กำหนดที่จะจัดงานมหกรรมชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยประจำปี 2556
กิจกรรมหลัก ๆ ในงาน
1. การแสดงวิถีชีวิตที่สะท้อนคุณค่าทางวัฒนธรรมและปัญหาที่ชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยประสบอยู่ (งานแสดงวัฒนธรรมแบบมีความหมาย เนื้อหาสาระเน้นให้การศึกษากับสาธารณะและรัฐบาล)
1.1 แสดงละครชุมชนจากคณะเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง
1.2 แสดงและจำหน่ายสินค้าและอาหารพื้นบ้าน
1.3 แสดงศิลปะดนตรี กวีศิลป์ และการละเล่นพื้นบ้าน
1.4 นิทรรศการ
ส่วนที่ 1 : นิทรรศการของแต่ละเครือข่ายประเด็น เช่น การศึกษา สุขภาพ สัญชาติ ภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โฉนดชุมชน ฯลฯ
ส่วนที่ 2 : นิทรรศการขบวนชนเผ่าพื้นเมือง เช่น เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท) กับ สภาชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (สชชท.)
ส่วนที่ 3 : ภาพถ่ายมานุษยวิทยา โดยศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (9-25 สิงหาคม 2556)
2. กิจกรรมวิชาการ เพื่อแลกเปลี่ยนนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผนพัฒนาของรัฐ และประสบการณ์การแก้ไขปัญหาของชนเผ่าพื้นเมือง
2.1 เวทีอภิปรายความเป็นมาและเนื้อหาสาระของปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และเรียนรู้ความคืบหน้าในการดำเนินการของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีวิทยากรร่วมอภิปรายจากกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ผู้แทนชนเผ่าพื้นเมืองในเวทีถาวรสหประชาชาติว่าด้วยประเด็นชนเผ่าพื้นเมือง เลขาธิการสหพันธ์เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองอินโดนีเซีย (AMAN) และผู้แทนชนเผ่าพื้นเมืองจากประเทศไทย
2.2 เวทีเสวนาวิชาการ เรื่อง “การวิพากษ์การดำเนินงานตามนโยบายรัฐ และการปฏิบัติตามปฏิญญาฯ ของรัฐบาลไทย” (สิทธิในที่ดิน เขตแดน และทรัพยากร นโยบายและแผนพัฒนาของรัฐบาลที่ส่งผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมือง สิทธิในการกำหนดตนเองโดยใช้แนวทาง FPIC และการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลของชนเผ่าพื้นเมือง)
2.3 เวทีแสดงจุดยืนของชนเผ่าพื้นเมืองต่อรัฐบาลไทยที่เชื่อมโยงกับหลักปฏิบัติตามปฏิญญาฯ
3. กิจกรรมรณรงค์สาธารณะ
3.1 หนังสั้น (ติดต่อ Thai PBS)/สารคดีปฏิญญา/สารคดี REDD+
3.2 การตั้งประเด็นคำถาม-ความคิดเห็น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเขียนลงโปสการ์ดและนำเสนอผ่านผืนผ้า
3.3 กิจกรรมการเดินรณรงค์จากหอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ไปยังอนุสาวรีย์สามกษัตริย์
3.4 การจัดรายการเวทีสาธารณะร่วมกับ Thai PBS (วันที่ 9 สิงหาคม)
3.5 สื่อสังคมออนไลน์ เช่น ถ่ายทอดสดทาง Internet (วิทยุและทีวี) Facebook อีเมล์กลุ่ม เป็นต้น
4. การจัดทำรายงานและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐ
4.1 จัดทำรายงานเชิงวิเคราะห์ต่อการดำเนินงานของรัฐบาล ในเรื่อง พรบ. เงินกู้กับผลกระทบต่อชนเผ่าพื้นเมือง, REDD+, ที่ดิน และทรัพยากรป่าไม้, สัญชาติ, สิทธิสุขภาพ, การศึกษา, สิทธิเด็ก และสิทธิกระบวนการยุติธรรม
4.2 ดำเนินการยื่นข้อเสนอต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์ประสานงานการจัดงาน:
ผู้ประสานงานโครงการ: นายศักดิ์ดา แสนมี่ (ผู้ประสานงานกองเลขานุการ คชท.)
ที่ติดต่อ: สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (ศ.ว.ท./IMPECT)
252 ม.2 ต.สันทรายน้อย อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ 50210 โทร 0-5339-8591,
Fax.: 0-5339-8592, Email: nipt.secretariat@gmail.com, sakda.saenmi@gmail.com