มพบ.จี้ผู้ประกอบการรถทัวร์เยียวยาผู้บริโภค แนะถอนใบอนุญาตเดินรถหากพบทำผิดซ้ำซาก

มพบ.จี้ผู้ประกอบการรถทัวร์เยียวยาผู้บริโภค แนะถอนใบอนุญาตเดินรถหากพบทำผิดซ้ำซาก

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องผู้ประกอบการรถให้เยียวยาผู้บริโภคทันทีและห้ามบริษัทประกันกดค่าเสียหาย เรียกร้องกรมการขนส่งเพิกถอนใบอนุญาตบริษัทเดินรถทำผิดซ้ำซาก 

20150810163043.jpg

ที่มาภาพ: http://www.consumerthai.org/

8 ต.ค. 2558 จากกรณีรถโดยสารปรับอากาศ 2 ชั้น ประจำทางสายภูเก็ต-สตูล เลขข้างรถ 734-3 ม.4 ข สีชมพู ของบ.ตรังร่วมมิตรขนส่ง ทะเบียนป้ายเหลือง 10-1558 ตรัง ขณะจอดซ่อมเชื่อมเก้าอี้ของคนขับรถ โดยภายในรถมีผู้โดยสารนั่งอยู่ภายในรถ เกิดไฟได้ลุกไหม้ทั้งคัน ทำให้ผู้โดยสารสำลักควันและไม่สามารถออกจากรถได้เนื่องจากประตูปิดล็อคอัตโนมัติ ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ทุบทำลายกระจกหน้าต่างด้านข้างท้ายของรถเข้าช่วยเหลือผู้โดยสาร พร้อมนำส่ง รพ.พังงา มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2558 

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์ว่ากรณีดังกล่าวนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่น่าเกิดขึ้น ซึ่งโดยทั่วไปนั้นผู้ประกอบการรถต้องตรวจสภาพรถโดยสารที่กรมการขนส่งทุก 6 เดือน 

“ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบความพร้อมใช้งานของรถโดยสาร ทั้งความมั่นคงแข็งแรง ระบบความปลอดภัยต่างๆ ในรถ และก่อนการให้บริการต้องมีการตรวจสอบให้รัดกุม เพราะรถทัวร์เป็นรถคันใหญ่และบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมาก กรณีนี้เห็นถึงความพยายามซ่อมแซมซึ่งมีความชำรุดบกพร่องขณะใช้งาน โดยทั่วไปขณะซ่อมแซมจะไม่มีผู้โดยสารอยู่บนรถ เพราะเป็นเรื่องความไม่ปลอดภัย นั่นก็คือรถมีทั้งน้ำมัน ระบบไฟฟ้า เมื่อเกิดไฟลัดวงจรเกิดขึ้นทำให้ผู้โดยสารมีอันตราย เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าพนักงานมีความประมาทเป็นอย่างมากที่ไม่ให้ผู้โดยสารลงจากรถก่อน จนก่อให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้นแบบที่เป็นข่าว” หัวศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค 

นางนฤมลกล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีการเรียกร้องความเสียหายนั้นผู้บริโภคสามารถเรียกร้องความเสียหายได้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถยนต์และบริษัทประกันภัย รวมทั้งผู้ประกอบการเอง ทั้งการรักษาพยาบาล ทรัพย์สินของผู้ประสบอุบัติเหตุ หรือกรณีเสียชีวิต

“อยากเรียกร้องให้ผู้ประกอบการรถโดยสารและบริษัทประกันภัยออกมาแสดงความรับผิดชอบกรณีดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอให้ผู้เสียหายหรือญาติไปติดต่อกับบริษัทประกัน ที่สำคัญคือไม่ควรกดราคาการชดเชยความเสียหาย ควรให้ผู้บริโภคเบิกได้ตามสิทธิเต็มจำนวนทั้งการรักษาพยาบาล ทุพลภาพหรือเสียชีวิต” 

พร้อมกันนี้หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคได้เรียกร้องไปยังกรมการขนส่งทางบกให้กำกับดูแลด้านการตรวจสภาพรถโดยสารอย่างใกล้ชิด รวมทั้งให้กำหนดอายุการใช้งานของรถโดยสาร เพราะช่วงที่จะมีการตรวจสภาพรถนั้นผู้ประกอบการฯจะดูแลรถให้อยู่ในสภาพดี แต่หลังจากนั้นอาจเกิดความชำรุดบกพร่องของรถและเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุดังหลายๆ กรณีที่ผ่านมา 

“กรณีที่เกิดอุบัติเหตุกรมการขนส่งนั้นนอกจากจะจัดการกับผู้ประกอบการรถแล้ว ยังต้องจัดการกับผู้ถือใบอนุญาตเส้นทางเดินรถด้วย เพราะเป็นส่วนที่ต้องช่วยกันดูแลเรื่องความปลอดภัย ซึ่งถ้าพบว่าผู้ประกอบรถโดยสารเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งในเส้นทางเดิม ควรเพิกถอนใบอนุญาตการเดินรถ เพราะไม่มีความพร้อมในการประกอบธุรกิจและไม่พร้อมรับผิดชอบต่อชีวิตผู้โดยสาร ควรเปิดโอกาสให้บริษัทอื่นเข้ามาประกอบการแทนจะดีกว่า” นางนฤมลกว่าทิ้งท้าย 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ